คนมองหนัง : “Elle-The Wind Journeys” หนังน่าสนใจจากเทศกาลเวิลด์ฟิล์มฯ

คนมองหนัง

เทศกาลเวิลด์ ฟิล์ม เฟสติวัล ออฟ แบงค็อก ที่จัดขึ้นระหว่างปลายเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เพิ่งผ่านพ้นไป

ผมมีโอกาสดูหนังในเทศกาลครั้งนี้จำนวน 5-6 เรื่อง

และคิดว่ามีหนังสองเรื่องที่ “เข้าถึง” ได้ไม่ยากจนเกินไป

ทว่า กลับแฝงเหลี่ยมมุมชวนขบคิด จนน่านำมาเล่าสู่กันฟัง

Elle

หนังที่เล่าเรื่องราวของตัวละครชาวฝรั่งเศสในสังคมฝรั่งเศส แต่เป็นผลงานของผู้กำกับฯ รุ่นเก๋าชาวเนเธอร์แลนด์ “พอล แฟร์โฮเวน”

หนังแนว “จิตวิทยา-เขย่าขวัญ” เรื่องนี้มีเนื้อหาสนุกดูไม่ยาก (ส่วนหนึ่งคงเพราะแฟร์โฮเวนเคยข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำหนังในฮอลลีวู้ดมาแล้ว) แต่ก็มีประเด็นคมคายเปิดกว้างให้ตีความต่อตามสไตล์ภาพยนตร์ยุโรปภาคพื้นทวีป

“Elle” เล่าเรื่องราวของสาวใหญ่เจ้าของบริษัทผลิตเกมคอมพิวเตอร์ ผู้ถูกชายลึกลับปิดหน้าปิดตาบุกเข้ามาลวนลามทางเพศถึงในบ้านพักมากกว่าหนึ่งครั้ง แต่หญิงวัยกลางคนกลับมีวิธีรับมือสถานการณ์ดังกล่าวอย่างผิดแผกจากธรรมดา

จนความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับชายลึกลับเปรียบเสมือน “เกม” เกมหนึ่ง ที่ถูกพัฒนาให้มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

คู่ขนานไปกับประเด็นการคุกคามทางเพศ หนังฉายภาพชีวิตส่วนตัวที่เต็มไปด้วยปมปัญหาของสาวใหญ่ตัวละครหลัก ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับอดีตสามีปัญญาชนที่กำลังควงลูกศิษย์สาว

ความสัมพันธ์ฉันชู้สาวระหว่างเธอกับสามีของเพื่อนสนิท

ความห่วงใยที่เธอมีต่อบุตรชายซึ่งเอาดีในชีวิตไม่ได้ แถมยังต้องรับภาระเป็นพ่อของเด็กทารกผิวสี ทั้งที่มิใช่ลูกของตนเอง

สายสัมพันธ์เปราะบางระหว่างเธอกับแม่วัยชรา ผู้มีรอยร้าวในชีวิต และเลือกเยียวยาตัวเองด้วยการควงชายหนุ่มรุ่นลูก

เรื่อยไปจนถึงบาดแผลสำคัญในจิตใจเธอ ซึ่งเป็นผลงานของพ่อบังเกิดเกล้า

กล่าวได้ว่าสารหลักของ “Elle” มีท่าทีแบบ “หลังสตรีนิยม” หรือ “โพสต์-เฟมินิสต์” ที่ถ่ายทอดภาพผู้หญิง ซึ่งเป็นทั้ง “ผู้ถูกกระทำ” และ “ผู้กระทำ (กลับ)”

ผู้หญิงที่ดีลกับผู้ชายอย่างมีชั้นเชิง-เขี้ยวลากดิน แถมบางคราวยังกดขี่เหยียดหยามกลั่นแกล้งผู้ชายด้วยซ้ำ และผู้หญิงที่ “สมคบ” กันผลัก/กำจัดผู้ชายออกไปจากชีวิตทีละคนๆ

ตรงข้ามกับภาพของบรรดาผู้ชายในหนังที่เต็มไปด้วยคนแหยๆ ไม่ประสบความสำเร็จ โง่เง่า ยอมถอดกางเกงโชว์ของลับตามคำสั่งเจ้านายสตรี เป็นแมงดาเกาะผู้หญิงแก่ หรือต้องเก็บงำอำพรางปมลับความผิดบาปของตนเองเอาไว้

ขณะเดียวกัน บทบาทที่แฟร์โฮเวนส่งมอบให้ “อิซาเบล อุปแปร์” รับไปและถ่ายทอดออกมา ก็ชวนให้นึกถึงหนังของผู้กำกับฯ อื่นอีกหลายคน

บางเสี้ยวที่เธอมีอาการประสาทแดกบ้าบอนิสัยไม่ดี ผมนึกถึงหนังของ “วู้ดดี้ อัลเลน” บางส่วนที่เขย่าขวัญ-เลือดเย็น โดยผสมผสานกับประเด็นทางสังคมหรือสายสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างมนุษย์ ก็ชวนให้นึกถึงงานของ “มิคาเอล ฮาเนเก้”

นอกจากนี้ แม้ประเด็นจิกกัดพวกเคร่งศาสนาของหนังอาจ “ทื่อ” ไปสักนิด แต่ผมชอบฉากบอกลากันระหว่างเพื่อนบ้านหญิงสาวผู้เคร่งศาสนากับคุณป้าตัวเอกจอมเขี้ยวผู้เปี่ยมตัณหาราคะ ซึ่งฝ่ายแรกแสดงให้เห็นเป็นนัยๆ อย่างเรียบร้อยอ่อนหวานว่า “เฮ้ย! กูก็รู้ทันมึงนะ อีแก่”

เท่ากับหนังได้ตอกย้ำน้ำหนักความสำคัญลงไปยังเหล่าตัวละครหญิงให้ชัดเจนเด่นชัดขึ้นอีก

อีกข้อหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ บ่อยครั้งเวลาดู “หนังฝรั่งเศส” เรามักจะเห็นบริบทของความเป็นปัญญาชน หรือ “วัฒนธรรมชั้นสูง” บางอย่าง แต่ในหนังเรื่องนี้ กลับมีฉากหลังเป็นบริษัทผลิต “เกมคอมพิวเตอร์” ของตัวละครนำ

แถมยังมีตัวละครปัญญาชนที่พยายามหันมาเอาดีในอุตสาหกรรมเกมคอมพิวเตอร์อีกต่างหาก

จึงถือเป็นโอกาสนานๆ ครั้ง ที่เราจะได้เห็นตัวละครนำในหนังฝรั่งเศสประกอบอาชีพหรือใช้ชีวิตข้องเกี่ยวกับ “ป๊อปคัลเจอร์” สมัยใหม่

The Wind Journeys

หนังเมื่อปี 2009 ของผู้กำกับฯ ชาวโคลอมเบีย “ซิโร เกร์รา” ซึ่งผลงานล่าสุดของเขา คือ “Embrace of the Serpent” ได้รับเสียงตอบรับเป็นบวกจากแวดวงภาพยนตร์นานาชาติ ในฐานะหนังร่วมสมัยเรื่องสำคัญ ที่พูดถึงภาวะ “หลังอาณานิคม” ของทวีปอเมริกาใต้

(แฟนๆ มติชนสุดสัปดาห์คงเคยผ่านตาบทวิเคราะห์หนังเรื่องดังกล่าวโดย “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” มาบ้างแล้ว)

ดูเหมือน “The Wind Journeys” จะเลือกเดินในทิศทางตรงกันข้ามกับ “Embrace of the Serpent”

เพราะในขณะที่หนังเรื่องหลังมุ่งสำรวจปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “คนท้องถิ่น” กับ “คนนอก” หนังเรื่องแรกกลับแสดงนัยยะของการมุ่งสัญจรเพื่อหวนคืนสู่ “จิตวิญญาณ/รากเหง้า/องค์ความรู้ภายใน” โดย “คนใน”

แม้ “สื่อกลาง” ของการเดินทางกลับคืนสู่ “จิตวิญญาณภายใน” จะเป็นเครื่องดนตรีจาก “วัฒนธรรมภายนอก” อย่าง “หีบเพลงชัก” ก็ตาม

ด้านหนึ่ง เนื้อเรื่องของ “The Wind Journeys” ก็เจือกลิ่น “สัจนิยมมหัศจรรย์” แบบอเมริกาใต้อยู่นิดๆ หน่อยๆ ตลอดเวลา

แต่อีกด้าน ผมกลับรู้สึกว่านี่เป็น “หนังคาวบอย” ที่ใช้ “หีบเพลงชัก” เป็นอาวุธ และขี่ “ลา” เป็นพาหนะ โดย “ที่มา” และ “ที่ไป” ของตัวละครนำถูกทำให้คลุมเครือหรือเปิดกว้างต่อการครุ่นคิดตีความพอสมควร

หรือถ้าพูดกันแบบเว่อร์ๆ เราอาจเรียกขานให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น “หนังจอมยุทธ์ละติน” ได้ด้วยซ้ำไป (คือ มีทั้งจอมยุทธ์ยอดฝีมือ อาวุธ/เครื่องดนตรีปีศาจ ช่างซ่อมอาวุธที่เร้นกายในหุบเขา เรื่อยไปจนถึงเด็กหนุ่มที่ใฝ่ฝันอยากเป็นยอดคนของยุทธจักร)

จุดพีกแรกของหนัง น่าจะอยู่ตรงฉากดวลหีบเพลงในสังเวียนการแข่งขันเล็กๆ ระดับหมู่บ้าน ซึ่งสนุกมาก เพราะมีทั้งองค์ประกอบที่ว่าด้วย “เวทมนตร์” (มนต์ดำ) และการดวล/ด้นกลอนสดในลักษณะที่คล้ายๆ กับการร้อง “ลำตัด” ของบ้านเรา

อย่างไรก็ตาม ระหว่างดู ผมชักเริ่มเป็นห่วงว่าถ้าเกิดหนังดันเล่นกระบวนท่าแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมาอยู่เรื่อยๆ จนจบ มันจะกลายเป็น “โหมโรง” เอานา!

ซึ่งก็น่าดีใจ ที่ฉากดวลแบบนั้นมีปรากฏแค่ครั้งเดียว

เพราะต่อมา เมื่อตัวละครเอกเดินทางไปไกลขึ้น เวทีการประกวดก็ขยายใหญ่และมีมาตรฐานสูงขึ้น (จากด้นเดี่ยวกลายเป็นการแข่งขันในรูปแบบวง) ขณะเดียวกัน บรรยากาศการเล่นการเชียร์แบบบ้านๆ และปัจจัยเรื่องคุณไสยก็ถูกลดทอนน้ำหนักลงจน “หมดสิ้น”

และคนทำหนังก็ “แฟร์” พอที่จะฉายภาพให้เห็นว่า “จอมยุทธ์” ของเรา และหีบเพลงปีศาจของเขา สามารถพ่ายแพ้ได้

โดยเฉพาะเมื่อเขาทำตัวเป็น “ลี้คิมฮวง” ร่ายร้องเพลงเศร้าอุทิศให้กับสตรีที่ถูกตนเองทอดทิ้ง และลูกชายของเธอ ผู้ไม่เคยพบหน้าพ่อ

เพราะแน่นอนว่าพอเพลงที่ถูกบรรเลงโดยหีบเพลงชักมีสถานะเป็นบทบันทึกถึงความรวดร้าวส่วนบุคคล เพลงเพลงนั้นก็ย่อมจะไม่ “ป๊อป” และไม่อาจเอาชนะใจกรรมการ ตลอดจนคนดูหมู่มากได้

ตัวละครที่น่าสนใจพอๆ กับจอมยุทธ์หีบเพลงชักปีศาจ ก็คือ ไอ้เด็กหนุ่มที่ออกท่องโลกกว้างและพยายามสานความฝันจะเป็นนักดนตรีเอก ด้วยการดุ่มเดินติดตามยอดนักแอ็กคอร์เดี้ยนผู้นั่งเฉยชาอยู่บนหลังลา

ประมาณครึ่งเรื่องแรก มีคำถามเกิดขึ้นในใจผมตลอดว่า ไอ้หนุ่มนี่มันจะเป็น “อาฮุย” หรือ “ซานโช ปันซ่า” วะ?

ด้วยความที่เขาเป็นคนมีฝัน มีไฟ มีความมุ่งมั่น (คล้ายจะเอาดีได้ไม่ยาก) ทว่า กลับไร้พรสวรรค์ (ทางดนตรีและอื่นๆ) อย่างแทบจะสิ้นเชิง

ฉากหนึ่งที่ผมรู้สึก “หวาดเสียว” มากๆ ก็คือ ฉากที่ไอ้หนุ่มคนนี้เข้าไปหลั่งเลือดพลีกายอุทิศตนตีกลองภายในพุ่มไม้ใหญ่ เพื่อขอรับศีลล้างบาป (โดยใช้เลือดจิ้งเหลน) จากปรมาจารย์กลองผู้หนึ่ง

จังหวะนั้น ดูเหมือนไอ้หนุ่มของเราจะกลายเป็น “อาฮุย” ที่บรรลุเพลงยุทธ์ และเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เรียบร้อยแล้ว

แต่สุดท้าย หนังก็ค่อยๆ ดึงเขากลับไปสู่จุดของการเป็น “ซานโช ปันซ่า” หรือ “คนแพ้ที่มีฝัน” ดังเดิม (ซึ่งดีแล้ว)

เช่นเดียวกับชะตากรรมของนักดนตรีตัวละครนำ ที่หลังจากเอาชนะในการดวลครั้งแรกแล้ว พี่แกก็พ่ายแพ้ พลาดหวัง เศร้าสร้อย ถูกซ้อม ไปไม่ถึงเป้าหมาย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ฉากหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ ฉากที่เขาถูกนักเลงท้องถิ่น “ว่าจ้างกึ่งบังคับ” ให้ไปบรรเลงเพลงประกอบการดวลดาบกลางสะพานไม้ริมน้ำระหว่างตัวแทนของสองแก๊ง/ชุมชน ซึ่งพี่แกก็ต้องยอมทำตาม แม้จะไม่ค่อยเต็มใจนัก

นั่นเป็นอีกจุดหนึ่งที่บ่งชี้ว่าพี่คนนี้แกก็เป็นแค่ “นักดนตรีธรรมดา” คนหนึ่ง มิใช่ “จอมยุทธ์ผู้วิเศษ” ที่สามารถใช้หีบเพลงชักพิฆาตดาบเหล็กลงได้

ท้ายสุด จาก “คาวบอย/จอมยุทธ์” นักเล่นหีบเพลงชักใน “The Wind Journeys” จึงค่อยๆ กลายสภาพเป็น “ดอน กิโฆเต้”

ส่วนหนังเรื่องนี้ก็บอกเล่านิทานการเดินทางเปี่ยมความหวัง อันมีบั้นปลาย คือ การหวนคืนสู่ “รากเหง้า” ซึ่งปรากฏกายขึ้นพร้อมกับ “ความว่างเปล่า-ร่วงโรย-เปลี่ยนผ่าน” และการต้องออก “เร่ร่อน” ต่อไปมิรู้จบของคนรุ่นหลัง

ซึ่งถือเป็นบทสรุปที่ทรงพลังไม่น้อยเลยทีเดียว

“Elle” กำลังจะมีโปรแกรมเข้าฉายเชิงพาณิชย์ในบ้านเรา พร้อมกับการเข้าชิงรางวัลออสการ์ของ “อิซาเบล อุปแปร์”

ส่วนผู้สนใจหนังเรื่อง “The Wind Journeys” คงต้องขวนขวายหาชมกันเอาเอง ผ่านสื่ออื่นๆ นอกโรงภาพยนตร์