สุรชาติ บำรุงสุข | 1919-2019 : ร้อยปีแห่งสงคราม

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“มีแต่คนตายแล้วเท่านั้นที่ได้เห็นการสิ้นสุดของสงคราม”

George Santayana, 1922

ปี2019 กำลังจากไป แต่หากย้อนอดีตกลับไปเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา เราจะได้เห็นสงครามที่โลกต้องเผชิญในบริบทของเวลาและสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป

บทความนี้จึงขอเสนอทบทวนหนึ่งศตวรรษของสงครามในสี่เรื่องใหญ่

และหวังว่าจะเป็นบทเรียนสำหรับโลกปัจจุบันในปีใหม่นี้

100 ปีสากลที่ 1

รัสเซียเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 ในวันที่ 1 สิงหาคม 1914 อันเป็นผลจากการประกาศสงครามของเยอรมนี

แต่การเข้าสงครามใหญ่กลายเป็นปัญหาสำหรับรัฐบาลกษัตริย์ของพระเจ้าซาร์อย่างมาก เนื่องจากการเมืองภายในของรัสเซียมีปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะแรงต่อต้านรัฐบาล ประกอบกับความพยายามที่จะปฏิรูปประเทศในช่วงสงครามไม่ประสบความสําเร็จ

ปัจจัยสงครามจึงกลายเป็นแรงกดดันที่สำคัญอีกส่วน เพราะกองทัพรัสเซียไม่ประสบความสําเร็จในสนามรบ เช่น หลังจากเข้าสงครามเพียงเดือนเดียว กองทัพรัสเซียประสบความสูญเสียใหญ่ในการรบที่ทะเลสาบมาซูเรียน (The Battle of Masurian Lake)

หรือสูญเสียใหญ่อีกครั้งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับการรุกใหญ่ของกองทัพผสมออสเตรีย-เยอรมนีในปี 1915

กระแสการประท้วงรัฐบาลปรากฏชัดในตอนกลางปี 1916 ตามมาด้วยการประท้วงของคนงานและการต่อต้านรัฐบาลที่ขยายตัวอย่างกว้างขวาง

จนนำไปสู่ความสำเร็จของการปฏิวัติบอลเชวิกในปี 1917 และในปลายปีนี้ รัสเซียตกลงยอมทำสนธิสัญญาหยุดยิงกับเยอรมนี

แม้สงครามจะยุติลง แต่สงครามภายในของรัสเซียยังคงดำเนินต่อไป

และในเดือนมีนาคม 1919 พรรคมีการเปิดประชุมสมัชชาครั้งที่ 1 ขององค์กรคอมมิวนิสต์สากล (The Communist International) ที่มอสโกอันเป็นสัญญาณว่า นับจากนี้รัสเซียจะเป็น “เซ็นเตอร์” ของโลกคอมมิวนิสต์ ซึ่งสิ่งนี้ถูกมองว่าเป็นภัยต่อโลกตะวันตก

องค์กรนี้ทำหน้าที่เผยแพร่อุดมการณ์ของโลกตะวันออก ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของความขัดแย้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นดังศูนย์กลางของชาวพรรคคอมมิวนิสต์ในการเมืองโลก

ฉะนั้น ในทางอุดมการณ์ กำเนิดของสากลที่ 1 จึงเป็นต้นธารทางประวัติศาสตร์หนึ่งของกำเนิดสงครามเย็น

100 ปีสนธิสัญญาแวร์ซายส์

สงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติด้วยการหยุดยิงในวันที่ 11 พฤศจิกายน 1918 แต่การหยุดยิงมิได้หมายความว่าสงครามจบลงอย่างสมบูรณ์ เยอรมนียังไม่ยอมลงนามสันติภาพ ฝรั่งเศสจึงกดดันอย่างมาก

หากพิจารณาจุดเริ่มต้นสงครามในปี 1914 ที่แม้จะเป็นดังความขัดแย้งของรัฐมหาอำนาจยุโรป แต่ด้วยความเป็นจักรวรรดิที่มีอาณานิคมอยู่ในโพ้นทะเล สงครามที่เกิดขึ้นจึงขยายอาณาบริเวณทางภูมิรัฐศาสตร์มากกว่าจะเป็นเพียงการต่อสู้ของบรรดาผู้ปกครองยุโรปเท่านั้น และขยายตัวไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของโลกด้วย จนอาจกล่าวได้ว่าการต่อสู้ในครั้งนี้มีลักษณะของ “มหาสงครามแห่งจักรวรรดิ” อย่างแท้จริง

สำหรับจักรวรรดิฝรั่งเศสแล้ว จักรวรรดิเยอรมนีเป็นภัยคุกคามโดยตรง ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เกิดสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (The Franco-Prussian War) ในปี 1870-71 ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และชัยชนะครั้งนี้เปิดโอกาสให้ปรัสเซียก้าวขึ้นเป็นผู้นำของบรรดารัฐที่พูดภาษาเยอรมัน อันนำไปสู่การรวมชาติและก่อตัวจนกลายเป็นจักรวรรดิเยอรมนีในที่สุด

ด้วยสถานะทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวพรมแดนประชิดกับฝรั่งเศส ต่างฝ่ายจึงเห็นอีกฝ่ายเป็นภัยคุกคาม

ขณะเดียวกันการสร้างจักรวรรดิเช่นนี้ก็ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อจักรวรรดิรัสเซีย เพราะมีพรมแดนประชิดกันด้วย

ในการแข่งขันของจักรวรรดิ เมื่อเยอรมนีก่อตัวขึ้นเป็นรัฐมหาอำนาจใหม่ของยุโรป ย่อมเป็นการท้าทายโดยตรงต่ออังกฤษซึ่งเป็นมหาอำนาจเก่าของยุโรป

ดังนั้น แม้สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง แต่ทัศนะในการมองปัญหาภัยคุกคาม โดยเฉพาะในกรณีของฝรั่งเศสไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด โจทย์ที่สำคัญหลังสงครามโลกคือ จะทำอย่างไรให้ภัยคุกคามจากเยอรมนีสิ้นสุดลง และคำตอบที่ชัดเจนจากฝรั่งเศสคือ สันติภาพที่จะเกิดขึ้นจะต้องไม่เปิดโอกาสให้เยอรมนีฟื้นตัว โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจและการทหาร กล่าวคือ ระเบียบใหม่หลังสงครามจะต้องมี “เยอรมนีที่อ่อนแอ” และไม่เป็นภัยคุกคามอีก

การกำหนดทิศทางเช่นนี้ ทำให้สนธิสัญญาแวร์ซายส์ที่เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 1919 กลายเป็น “บทลงโทษหนัก” ต่อรัฐผู้แพ้สงคราม สิ่งที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็น “สันติภาพที่เข้มงวด” สำหรับเยอรมนี และในอีกด้านสนธิสัญญานี้ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของรัฐผู้ชนะสงครามที่จะใช้ดำเนินการบังคับอย่างไรก็ได้ เช่น เยอรมนีจะต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามสูงถึง 6,600 ล้านปอนด์

ในที่สุดแล้วการบีบคั้นอย่างหนักภายใต้ข้อกำหนดของสนธิสัญญานี้ได้กลายเป็น “เชื้อเพลิง” อย่างดีที่นำไปสู่การขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ และพรรคนาซีในปี 1933

ดังนั้น เมื่อฮิตเลอร์มีอำนาจแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ การละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายส์

เริ่มต้นในปี 1935 ด้วยการเอาพื้นที่เขตถ่านหินที่ฝรั่งเศสเอาไปกลับด้วยการลงประชามติของประชาชนในแคว้นซาร์ (Saar)

การหันกลับสร้างอำนาจกำลังรบของกองทัพเยอรมนี และเปิดการเกณฑ์ทหารใหม่หลังสงครามในปี 1935

และการส่งกำลังพลเข้าไปในเขตปลอดทหารในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำไรน์ในปี 1936

หลังจากนั้น จากปี 1938-1939 ก็ตามมาด้วยการผนวกดินแดนไม่ว่าจะเป็นออสเตรีย สุเดเตน และเชโกสโลวะเกีย

สุดท้ายคือการบุกโปแลนด์ในวันที่ 1 กันยายน 1939 แล้วสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดในยุโรป

ในอีกด้านหนึ่งการกำเนิดของสันนิบาตชาติในวันที่ 10 มกราคม 1920 (และเป็นวันเดียวกับการเริ่มบังคับใช้สนธิสัญญาแวร์ซายส์) ซึ่งถูกออกแบบให้เป็นกลไกในการควบคุม “พฤติกรรมก้าวร้าว” ของรัฐในเวทีระหว่างประเทศ ด้วยความหวังว่าจะทำให้ไม่เกิดสงคราม

แต่ในมุมมองของเยอรมนีแล้ว สันนิบาตชาติคือ “องค์กรของผู้ชนะ” เกิดขึ้นเพื่อกดเยอรมนีไม่ให้มีโอกาสฟื้นตัวได้

ฉะนั้น เมื่อเยอรมนีฟื้นตัวในทางทหารแล้ว ฮิตเลอร์ก็ถอนตัวออก

ผลที่ตามมาชัดเจนคือ สันนิบาตชาติกลายเป็นเพียง “เสือกระดาษ” ไปทันที

บทเรียนจากสันนิบาตชาติบ่งบอกว่า ความหวังที่จะควบคุม “พฤติกรรมรุกราน” ของรัฐมหาอำนาจในเวทีโลกไม่ใช่เรื่องง่าย

และหลังจากปี 1935 สันนิบาตชาติก็ไม่ได้มีบทบาทจริงจัง (ญี่ปุ่นและเยอรมนีถอนตัวในปี 1933 ตามาด้วยอิตาลีในปี 1935) จนหมดสภาพลงในธันวาคม 1939

เราอาจจะต้องยอมรับว่า ในด้านหนึ่งสนธิสัญญาที่สร้าง “สันติภาพแบบเข้มงวด” คือ ชนวนใหญ่ของความขัดแย้งที่จะเกิดตามมาในอนาคต และเป็น 100 ปีที่เป็นบทเรียนของการเมืองโลกว่า สันติภาพของผู้ชนะสงครามที่วางอยู่บนพื้นฐานของความหวาดระแวงและการบีบคั้นนั้น ย่อมจะนำมาซึ่งการต่อสู้ครั้งใหม่

เพราะสงครามจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการปลดปล่อยพันธนาการจากสันติภาพเช่นนั้น

80 ปีสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อเยอรมนี “เท” สันนิบาตชาติและ “ฉีก” สนธิสัญญาแวร์ซายส์แล้ว

สิ่งที่เกิดในอนาคตก็คือ การกลับมาของสถานการณ์ความตึงเครียดครั้งใหม่

และสถานการณ์เช่นนี้นำไปสู่สงครามใหญ่ของยุโรปอีกหรือไม่

จนเมื่อฮิตเลอร์ตัดสินใจผนวกเชโกสโลวะเกียในเดือนมีนาคม 1939 แล้ว หลายฝ่ายเริ่มกังวลอย่างมากถึงการขยายอิทธิพลที่เกินจากคำอธิบายว่า ฮิตเลอร์จะขยายดินแดนเฉพาะในส่วนที่เป็นของเยอรมนีเท่านั้น

และเริ่มชัดเจนอีกว่าฮิตเลอร์จะเอาพื้นที่ส่วนที่เสียไปในการจัดทำ “ฉนวนโปแลนด์” ที่เปิดเป็นระเบียงออกสู่ทะเลที่เมืองดานซิกกลับคืน

แม้อาจยอมรับว่าความต้องการนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะคนในดานซิกส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายเยอรมัน แต่ทุกคนรู้สึกคล้ายกันว่าเร็วไปหน่อยสำหรับฮิตเลอร์ที่เพิ่งผนวกเชโกสโลวะเกีย และพอกลางปีก็จะเรียกร้องเพิ่มเติมอีก

สำหรับรัฐบาลโปแลนด์แล้ว นี่เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อการโจมตีทางทหาร และเชื่อมั่นว่าอังกฤษจะให้การช่วยเหลือถ้าเยอรมนีเปิดสงคราม

แต่การจะทำให้คำมั่นดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือนั้น อังกฤษต้องสร้างพันธมิตรกับรัสเซีย แต่อังกฤษก็รีรอ เพราะความแตกต่างทางอุดมการณ์และความไม่มั่นใจ

จนฮิตเลอร์ฉวยโอกาสในการลงนามความตกลงไม่รุกรานกับรัสเซียได้ก่อน (a non-aggression pact) โดยมีความตกลงลับที่จะแบ่งโปแลนด์ให้เยอรมนีและรัสเซีย

การเจรจานี้ทำให้ฮิตเลอร์เชื่อมั่นว่า รัสเซียจะวางตัวเป็นกลางในความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น

และอังกฤษกับฝรั่งเศสจะไม่กล้าแทรกแซง เพราะมีความเสี่ยงสูง

ทัศนะของฮิตเลอร์เช่นนี้นำไปสู่การตัดสินใจบุกโปแลนด์ในวันที่ 1 กันยายน 1939

รัฐบาลอังกฤษยังมีความหวังที่จะเหนี่ยวรั้งภาวะสงครามในยุโรป ด้วยการเสนอให้เยอรมนีถอนทหาร และเปิดการประชุมระหว่างอังกฤษกับเยอรมนีขึ้น

แต่ไม่มีสัญญาณตอบใดๆ จากเบอร์ลิน อังกฤษจึงยื่นคำขาด… 11:30 น. ของวันที่ 3 กันยายน 1939 เยอรมนีจะต้องถอนตัวออกจากโปแลนด์

แต่ฮิตเลอร์ไม่ได้สนใจคำขาดนี้เลย เพราะมองว่าอังกฤษอ่อนแอเกินกว่าจะปกป้องโปแลนด์ได้ และรัสเซียที่เป็นกลาง ไม่เข้ามายุ่งกับประเด็นนี้จนกลายเป็นปัญหาสำหรับเยอรมนี

เมื่อคำขาดหมดเวลา อังกฤษจึงเกิดสถานะสงครามกับเยอรมนี

และตามมาด้วยการประกาศสงครามของฝรั่งเศส สงครามใหญ่หวนกลับมาเกิดในยุโรปอีกครั้ง และมีเวลาห่างจากกำเนิดสนธิสัญญาแวร์ซายส์เพียง 20 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นดัง “เวลาพักรบของรัฐยุโรป”… ยุโรปพัก 20 ปีเพื่อกลับเข้าสู่สงครามครั้งใหม่ และเยอรมนีเป็นผู้เริ่มเปิดการรบไม่แตกต่างจากปี 1914 แต่สงครามครั้งนี้ใหญ่ รุนแรง และโหดร้ายกว่าสงครามโลกครั้งก่อนมาก

มีเหตุปัจจัยหลายประการที่ถือเป็นสาเหตุของสงครามครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสันติภาพแบบแวร์ซายส์ สันนิบาตชาติที่อ่อนแอ ความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส นโยบายขยายอิทธิพลและดินแดนของเยอรมนี ตลอดรวมถึงสภาวะความตกต่ำของเศรษฐกิจโลกในช่วงต้นทศวรรษ 1930

เพราะปัญหาเศรษฐกิจนี้เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่พาฮิตเลอร์เข้าสู่อำนาจ

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือระบบระหว่างประเทศที่ไร้เสถียรภาพ และองค์กรที่ถูกออกแบบเพื่อการควบคุมนี้ก็เป็นเพียง “เสือกระดาษ” ที่ไม่มีบทบาทอย่างแท้จริง และสัมพันธมิตรยังขาดความชัดเจนในการยุติภัยคุกคามก่อนที่จะขยายตัวจากเหตุที่เกิดในปี 1935-1936

ความพยายามที่มิวนิกในปี 1938 จึงไม่มีความหมายและช้าเกินไป

จนไม่สามารถหยุดโมเมนตัมของเยอรมนีในปี 1939 ได้ โจทย์ประการหนึ่งเป็นคำถามสำคัญคือ โลกจะหยุดพฤติกรรมรุกรานของรัฐมหาอำนาจก่อนที่จะขยายตัวเป็นสงครามได้หรือไม่

30 ปีสิ้นสงครามเย็น

สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วยการกำเนิดของสงครามแบบใหม่ ที่รัฐมหาอำนาจใหญ่คือสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตมี “อาวุธนิวเคลียร์” เป็นพลังอำนาจ และไม่สามารถทำสงครามโดยตรงในแบบสงครามโลกได้

หากเกิดการแข่งขันในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการต่อสู้ทางอุดมการณ์ จนเกิดสภาวะที่เรียกว่า “สงครามเย็น” หรือภาวะที่สันติภาพหมายถึงการไม่มีสงครามของรัฐมหาอำนาจใหญ่ แต่ “สงครามร้อน” ในเวทีโลกไม่ได้หายไป หากเกิดในระดับที่ต่ำลงมาและเป็นการรบของชาติพันธมิตร

สงครามชุดนี้เริ่มต้นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เห็นถึงการแบ่งโลกเป็นสองค่ายทางอุดมการณ์ และต่อสู้ขับเคี่ยวอย่างเข้มข้น…

ยิ่งเข้มข้นมากเท่าใด อาวุธนิวเคลียร์ก็ยิ่งพัฒนามากเท่านั้น

และข้อดีที่สำคัญคือ คู่แข่งขันเป็นสอง จึงส่งผลให้การเมืองโลกเป็นแบบ “สองขั้ว” ในขณะที่ก่อน 1914 และก่อน 1939 โลกเป็นแบบ “หลายขั้ว” และความหลายขั้วเช่นนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพ แต่หลังจาก 1945 ความเป็นสองค่ายของโลก เป็นปัจจัยที่ไม่ทำลายเสถียรภาพมากเกินไป และนำไปสู่สภาวะที่เป็นดัง “สันติภาพยาว” (The Long Peace) ในเวทีโลก

แต่ในปี 1989 เกิดการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ในโปแลนด์ ตามมาด้วยการปรับเปลี่ยนตัวผู้นำโซเวียต และการล้มลงของรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกที่นำไปสู่การรวมชาติของเยอรมนี จนเกิดการ “ทุบกำแพงเบอร์ลิน” ก่อนที่ปีนี้จะปิดฉากลง ผู้นำสองมหาอำนาจใหญ่ประกาศชัดว่า “สงครามเย็นสิ้นสุดลงแล้ว” และการเมืองโลกแบบสองค่ายยุติตามไป

แม้ในช่วงต้นดูเสมือนว่าโลกเป็นแบบขั้วเดียวที่มีสหรัฐเป็น “มหาอำนาจเดี่ยว”

แต่เมื่อก้าวสู่ต้นศตวรรษที่ 21 เริ่มเห็นชัดว่าการเมืองโลกกลับมาสู่แบบหลายขั้วอีกครั้ง

คำถามสำคัญจากอดีตที่อดคิดไม่ได้คือ โลกหลายขั้วเช่นนี้จะนำพาเรากลับสู่ยุคสงครามโลกหรือไม่

หรือหวังว่าในที่สุดการแข่งขันในยุคนี้จะเหลือเพียงสองขั้วคือสหรัฐและจีน

อันจะนำไปสู่ “สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21”

และหากโชคดี เราจะมี “สันติภาพยาว” คู่ขนานกับการแข่งขันอย่างเข้มข้นอีกครั้ง!