อนุสรณ์ ติปยานนท์ : อาหารรสคุ้นของยาย

ปากะศิลป์ฉบับอ่านใหม่ (10)

นานเหลือเกินที่เขาไม่ได้กลิ่นอันคุ้นเคย

นานเหลือเกินที่เขาไม่ได้ลิ้มรสชาติที่คุ้นชิน

นานเหลือเกินที่เขาไม่ได้นึกถึงชื่อของมัน

นานเหลือเกินจนเขาจดจำรสชาติที่แน่นอนไม่ได้

สิ่งเดียวที่หลงเหลือในความทรงจำซีดจางของเขาคือแม่เป็นผู้ปรุงอาหารจานนี้ให้เขาได้ทาน

ครั้งแรกที่แม่ปรุงอาหารจานนี้ให้เขาได้ทาน เขาน่าจะมีอายุราวห้าหรือหกขวบ ขาดเกินไปจากที่ว่าคงไม่กี่มากน้อย

วันนั้นเป็นวันเกิดของยาย เป็นธรรมเนียมของบ้าน ของครอบครัวที่เมื่อวันเกิดของยายเวียนมาถึง ลูก-หลานของยายจะจัดงานวันเกิดขึ้นที่บ้าน

ตอนเช้ายายจะเป็นคนลงมือทำอาหารเองเพื่อใส่บาตร โดยมีตาเป็นผู้ไปรับพระมาจากวัด พระจะรับบาตรและฉันเช้าที่บ้าน

พิธีกรรมทางศาสนาจะเสร็จสิ้นลงเมื่อยามสาย และหลังจากนั้นมหกรรมอาหารจะเริ่มต้นขึ้น

ยายมีลูกมากถึงหกคน ทุกคนล้วนมีครอบครัว และทุกครอบครัวล้วนมีหลานเล็กๆ ให้ยายได้นับนิ้วทบทวนอยู่เสมอ

ในวันงาน เด็กทุกคนที่โตพอช่วยเหลืออะไรได้ จะถูกเกณฑ์เข้าไปในครัว บ้างก็ทำหน้าที่ซาวข้าว บ้างก็ทำหน้าที่เด็ดผัก บ้างก็ทำหน้าที่ปอกหอม ปอกกระเทียม เด็ดก้านพริก ปอกขิง ปอกข่า ตำเครื่องแกง

ในขณะที่ลูกเขย ลูกสะใภ้ของยายจะทำหน้าที่คิดค้นรายการอาหาร

กฎมีอยู่ว่า หนึ่งครอบครัวต้องทำอาหาร ของคาวสองอย่าง ของหวานหนึ่งอย่าง และทุกอย่างนั้นต้องเสร็จก่อนเที่ยงอันเป็นเวลาอาหารกลางวันของยาย

 

ในวันอื่นยายจะทานอาหารที่ซ้ำซาก จำเจ และในปริมาณที่เล็กน้อย

มื้อเช้ายายจะทานข้าวต้มกับปลาสลิดทอด

มื้อเที่ยงยายจะทานข้าวสวยกับกุ้งฝอยต้มบีบมะนาว

ในมื้อเย็นยายจะทานข้าวสวยกับน้ำพริก จะเป็นน้ำพริกกะปิ น้ำพริกมะม่วง น้ำพริกมะขามสด หรือน้ำพริกตาแดง แล้วแต่อารมณ์ของยาย

แต่สิ่งที่สำคัญคือผักสดจำนวนมากที่ยายทั้งเก็บจากบริเวณสวนและจากตลาดสดที่ยายไปเดินเล่นในช่วงบ่าย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปริมาณอาหารในแต่ละมื้อที่ยายทานนั้นเป็นไปอย่างเล็กน้อยเต็มที อาจเป็นเพียงเก้าหรือสิบคำก่อนที่ยายจะเรียกใครสักคนในบริเวณนั้นมาเก็บถาดที่ใส่อาหารของยาย

หลังจากนั้นยายจะล้างมือในขันน้ำอะลูมิเนียมใบโปรด

หลังล้างมือยายจะพนมมือขึ้นเหนือหัวเป็นการขอบคุณแม่โพสพ

และลุกขึ้นจากที่นั่งอันไม่ได้ประกอบด้วยเก้าอี้หรือโต๊ะตั่งหรูหราใดๆ

หากแต่เป็นเพียงพื้นกระดานตรงชานเรือนของยายเท่านั้นเอง

ผมเคยร่วมวงทานอาหารกับยายบ่อยครั้ง ยายถือสาว่าจำเป็นมากที่คนเราไม่ควรกินข้าวคนเดียว “มีอะไรให้พูดให้สอนมากมายในวงข้าว อย่าไปสอนมันตอนอื่น สอนมันตอนก่อนกินและหลังกินนี่แหละ เด็กมันหนีเราไปไหนไม่ได้ สอนก่อนกินเพราะมันหิว มันต้องกินกับเรา สอนหลังกินเพราะมันอิ่ม มันลุกหนีเราไปเล่นไม่ได้เพราะมันจะจุกเอา” ยายพูดกับแม่ของผมแบบนี้ครั้งหนึ่ง

และทำให้เป็นที่รู้กันในหมู่หลานๆ ว่า ถ้าไม่อยากถูกยายกักตัวไว้เป็นเพื่อนกินข้าวโดยไม่จำเป็น อย่าผ่านไปทางวงข้าวของยายในเวลาที่ยายกินข้าว

แต่กระนั้นก็มีหลายหนที่ผมหนีไม่พ้น รวมถึงหลายหนที่ผมอยากกินข้าวกับยาย

 

ยายเป็นคนเก่าคนแก่ที่ไม่ชอบใช้และไม่ยอมใช้คำว่าทาน ยายชอบคำว่ากินมากกว่าคำใดๆ

“กินข้าวคือกินข้าว ไม่ใช่ทำทาน กินคือเอาข้าว เอาอาหารใส่ปาก ทานมันพูดแล้วแสลงปากเหมือนเราไปขอรับของแจก ของทานจากใครเขา” นั่นคือหนึ่งในบทเรียนที่ยายสอนระหว่างมื้ออาหารของผม

แต่ตอนนั้นผมก็ฟังยายน้อยเต็มที ค่าที่มัวแต่เพลิดเพลินกับการตักกุ้งฝอยของยายใส่ปาก ยายต้มกุ้งฝอยได้พอเหมาะ สุกพอที่เนื้อของมันจะหวานในปากและไม่สุกจนเละ

ในตอนนั้นผมยังไม่ประสีประสากับการที่ยายบีบมะนาวใส่กุ้งก่อนกินว่ายายทำเช่นนั้นไปทำไม และคิดว่ายายต้องการรสเปรี้ยวเท่านั้น กว่าจะรู้ว่ายายบีบลงไปเพื่อให้กุ้งที่ยายต้มมาพอเหมาะนั้นสุกดียิ่งขึ้น

กรดจากมะนาวทำให้กุ้งสุก หวาน และถ้าเราเหยาะน้ำปลาพริกลงไปก่อนจะคลุกกับข้าวสวย

สำรับอาหารง่ายๆ จานนี้ก็ทำให้ผมกินได้ไม่รู้เบื่อ จนหลายครั้งยายวางมือไปแล้วจากจานข้าว และนั่งเฝ้ามองผมกินข้าวด้วยความเพลิดเพลิน

ตอนนั้นเองที่ผมรู้สึกได้ว่ายายเป็นคนกินอาหารพออิ่ม ยายไม่เคยกินอาหารมากให้ผมเห็นเลย

เว้นแต่ในวันเกิดของยาย

 

ในวันเกิดของยาย ยายจะแต่งตัวด้วยผ้านุ่งผืนโปรด ผ้านุ่งของยายมีทั้งแบบที่เป็นผ้าพื้นและผ้าลายดอก โดยปกติยายจะนุ่งแต่ผ้าพื้น

แต่ในวันเกิดยายจะใส่ผ้าทอเป็นลายยกดอก

ผ้าเหล่านั้นจะถูกอบด้วยเทียนหอมอยู่ในหีบไม้ในห้องนอนของยาย

หนึ่งปีเท่านั้นที่ยายจะเลือกผ้านุ่งผืนแล้วผืนเล่า

หลังจากนั้นยายจะใส่ผ้านุ่งผืนดังกล่าวตลอดวัน นับตั้งแต่ใส่บาตรไปจนถึงฟังพระให้พร กินข้าวเที่ยง ไปจนถึงตอนเย็นที่ลูกของยายบางคนจะทำหน้าที่พิธีกรนำร้องเพลงสุขสันต์วันเกิดและนำเค้กที่แอบไปสั่งมาให้ยายออกมา

ผมชอบตอนที่ยายตัดเค้กก้อนนั้นแล้วตักใส่จานให้หลานทุกคนที่ชอบของหวาน

ช่วงเวลานั้นเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ผมชอบมากในงานวันเกิดของยาย

แม้ว่าจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่ผมชอบมากที่สุด เพราะช่วงเวลานั้นอยู่ในเวลากลางวันที่ผมจะได้มีโอกาสลิ้มรสฝีมือทำอาหารของแม่

สำรับอาหารของแม่ประกอบไปด้วยของคาวสองอย่าง ของหวานหนึ่งอย่าง ตามคำสั่ง

ของหวานนั้นบางปีก็เป็นข้าวเหนียวถั่วดำ บางปีก็เป็นกล้วยบวชชี บางปีก็เป็นลอดช่อง

ของคาวนั้นบางปีก็เป็นต้มเนื้อ บางปีก็เป็นน้ำพริกลงเรือ บางปีก็เป็นแกงส้มปลาหมอ และบางปีก็เป็นปลาหมึกยัดไส้ต้มแบบน้ำใส

แต่สำรับหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนเลย เป็นสำรับประจำที่แม่ทำทุกปีและเป็นสำรับที่ผมเฝ้ารอทุกปีด้วยเช่นกัน นั่นคือ

“เป็ดตุ๋นมะนาวดอง”

 

แม่ไม่ใช่ลูกหลานของยายเพียงคนเดียวที่ทำสำรับอาหารซ้ำในทุกปี

ลูกสะใภ้ของยายคนหนึ่งที่เป็นภรรยาของลุงทำสะเต๊ะไก่ทุกปี และเป็นอาหารที่เด็กทั้งหลายรอคอยด้วยเช่นกัน

สะเต๊ะของป้าหอมกะทิ หอมเครื่องเทศ ไม่นับว่าไก่ของป้าที่นำมาทำสะเต๊ะนั้นได้รับการคัดมาอย่างดี

เนื้อของไก่จะผสมรวมไประหว่างไก่บ้านกับไก่พันธุ์ เมื่อถูกปิ้งจนสุก ความนุ่มของเนื้อไก่แทบจะไม่ต้องเคี้ยว

ป้าจะติดเตาถ่านแต่สาย คุมไฟจนได้ที่ก่อนจะเอาไก่ที่หมักไว้ตั้งแต่คืนก่อนขึ้นย่างไฟ

ระหว่างย่าง ป้าจะเอามัดใบเตยจุ่มกะทิทาไก่เป็นระยะ กลิ่นของใบเตยจะติดอยู่บนเนื้อไก่จางๆ หอมและอร่อย

พวกเราจะเวียนไปคว้าสะเต๊ะไก่ที่ได้ที่จากเตามาทีละไม้ ทีละไม้

ผมถือว่าสะเต๊ะไก่ของป้าคือของว่างที่เรียกน้ำย่อยได้อย่างดีก่อนจะถึงอาหารจานหลักของแม่

แม่เริ่มด้วยการดองมะนาวเอง ผมไม่แน่ใจว่ากิจกรรมที่ว่านี้เริ่มก่อนงานวันเกิดของยายกี่วัน แต่ที่แน่นอนคือแม่ทำเป็ดล่วงหน้าหนึ่งวัน

แยกเป็ดเป็นส่วน เคี่ยวน้ำซุป ปอกฟัก (ในปีต่อมาๆ เมื่อผมโตขึ้น นี่กลายเป็นกิจกรรมของผม)

ราวก่อนเที่ยง สิ่งของทั้งหมดนี้ลงไปอยู่ในหม้อขนาดใหญ่ แม่จะคนแล้วคนอีก จนเนื้อเป็ดนุ่ม

ผมจำไม่ได้ว่าส่วนผสมทั้งหมดของมันนั้นมีสิ่งใดบ้าง อาจเป็นรากผักชี อาจเป็นพริกไทย อาจเป็นแม้กระทั่งซีอิ๊วขาวสูตรเฉพาะของแม่

สิ่งที่ผมจำได้คือรสชาติของมัน ที่แม้ว่าในภายหลังอีกเนิ่นนานแม้ผมจะได้กินเป็ดตุ๋นมะนาวดองจากที่ใดอีกก็ตาม

ผมไม่เคยพบรสชาติที่ใกล้เคียงเช่นนั้นอีก

 

หลังจากยายจากไป งานวันเกิดดังกล่าวก็ยุติลง แม่ไม่ทำเมนูเป็ดตุ๋นมะนาวดองอีก

และหลังจากแม่จากไป ผมก็ทำใจว่ารสมือของแม่ได้จากโลกนี้ไปแล้วด้วย

เป็นความผิดพลาดของผมเองที่ไม่จดบันทึกถึงสูตรอาหารนี้ของแม่

การพลัดพรากจากรสมือแม่คือการสูญเสียความทรงจำที่ยิ่งใหญ่

ผมกินเป็ดตุ๋นมะนาวดองในทุกที่ ทุกร้านอาหารที่มีโอกาส

แต่นั่นไม่ใช่รสชาติที่ผมคุ้นเคย

ผมบอกกับตนเองว่ามีบางสิ่งที่ขาดหายไป

ผมอยากเติมสิ่งที่ขาดหายไปนั้น แต่ผมจะเติมมันได้อย่างไรถ้าผมไม่รู้ว่าอะไรที่ขาดหายไป อะไรที่สูญสลายไปจากตรงนั้น

ผมจะเพิ่มเติมในสิ่งที่ผมเองก็ไม่เคยรู้ว่ามันมีอยู่ได้อย่างไร

หลายปีผ่านไป การตามหารสมือแม่ของผมประสบความสำเร็จ

มันช่างราวกับเป็นโชคชะตา ผมเดินอยู่ในพนมเปญ เหน็ดเหนื่อยและหิว

เท้าของผมพาผมเดินไปตามคำบอกเล่าของผู้คนว่ามีตลาดขนาดใหญ่อยู่ไม่ไกล ตลาดรัสเซีย พวกเขาบอกผมเช่นนั้น

มันเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่จริงๆ อาณาบริเวณรอบนอกของมันปรากฏแก่สายตาของผมแต่ไกล ร้านรวงจำนวนมาก รวมถึงร้านอาหารด้วยเช่นกัน

ผมนั่งลงที่ร้านแห่งหนึ่ง และเช่นเคยเมื่อผมเห็นหม้ออาหารที่ใส่เป็ดตุ๋นมะนาวดองปรากฏแก่สายตา ผมก็สั่งมัน

เป็นเรื่องอัศจรรย์ที่นับแต่คำแรก ผมระลึกได้ถึงแม่ นี่คือรสชาติที่แม่เคยทำ มันมาปรากฏอยู่ในดินแดนแห่งนี้ได้อย่างไร

ดินแดนที่ห่างไกลจากบ้านเกิดของผม ดินแดนที่ห่างไกลจากบ้านเกิดของแม่

ผมกินเป็ดตุ๋นมะนาวดองถ้วยแรกหมดลง สั่งถ้วยที่สอง

และเมื่อถ้วยที่สองหมดลง ผมก็เดินไปข้างในร้านพูดกับผู้เป็นเจ้าของร้านด้วยภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นว่าผมต้องการสูตรอาหาร

และผมขอสั่งให้เขาแบ่งปันให้ผมหนึ่งหม้อใหญ่ ผมจ่ายเงิน จดทุกอย่างที่เขากล่าวและเดินออกจากร้านไปยังวัดที่ใกล้ที่สุด

ยังเป็นเวลาเช้าอยู่ มื้อสุดท้ายของวันในวัดแถบนั้นยังไม่เริ่มขึ้น และผมจะเอาอาหารสำรับนี้ถวายต่อไปยังผู้ทรงศีล

และเมื่อถึงตอนที่พวกเขาให้พรผม ผมจะคิดถึงรสมือแม่