คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง / ตีรถะยาตรา : การแสวงบุญยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามคติฮินดู

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเพิ่งไปร่วมงานสัมมนาทางวิชาการซึ่งจัดโดยภาควิชาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีหัวข้อว่า “การท่องเที่ยวกับมนุษยศาสตร์ การท่องเที่ยวในยุคเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งทำให้ผมสนใจประเด็นเรื่องการแสวงบุญในฐานะการท่องเที่ยวทางศาสนา

ผมเข้าใจเองว่า การท่องเที่ยวเพื่อการสันทนาการล้วนๆ ไม่ใช่มโนทัศน์โบราณ คนสมัยก่อนจะไปไหนก็มีวัตถุประสงค์หลัก เช่น ทำธุรกิจค้าขายต่างเมือง เยี่ยมญาติพี่น้อง หรือไปแสวงบุญ (Pilgrimage) คือไปยังบุณยสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อวัตถุประสงค์ทางศาสนาเป็นหลัก การพักผ่อนเที่ยวชมสถานที่และหย่อนใจคงเป็นของแถมพกมาเท่านั้น ไม่มีประเภทเที่ยวเฉยๆ อย่างในปัจจุบัน

แต่มีผู้บอกว่า ก็มีที่กษัตริย์เสด็จประพาสป่าที่ปรากฏในตำนานโบราณต่างๆ ไปหย่อนใจ ไปล่าสัตว์ แต่ผมคิดว่าการเที่ยวแบบนั้นไม่รู้ว่าจะนับเป็นเที่ยวอย่างความหมายสมัยใหม่ได้ไหม เพราะพระราชาไม่ได้ไปประพาสที่แปลกถิ่น แต่เที่ยวไปภายใน “ราชอุทยาน” ก็คือป่าที่กำหนดอาณาเขตไว้แล้วสำหรับการประพาสโดยเฉพาะ

ส่วนคนทั่วๆ ไป ก็ล้วนเดินทางไปด้วยวัตถุประสงค์อื่นๆ ทั้งนั้น ตราบจนเรามีระบบการทำงานแบบที่แยกวันหยุดกับวันทำงานออกจากกันแล้ว จึงค่อยมีท่องเที่ยวเพื่อสันทนาการอย่างในปัจจุบัน

ผมเข้าใจว่า “การแสวงบุญ” น่าจะเป็นรูปแบบของการเดินทางที่ปฏิบัติกันมากที่สุดของคนทั่วไป กระทำกันในทุกศาสนา

 

ในศาสนาฮินดูที่ผมพอจะรู้บ้าง มีศัพท์เฉพาะสำหรับการแสวงบุญ เรียกว่า “ตีรถะยาตรา” (Tirthayatra) ในปัจจุบันคำว่า ยาตรา หมายถึงการเดินทางทั่วๆ ไปด้วย โดยเฉพาะในสังคมไทยก็มีคำนี้ใช้ ส่วนนักแสวงบุญเรียกว่า ยาตรี หรือยาตริกะ

คำว่า “ตีรถะ” (Tirtha) มีความหมายที่ซับซ้อนและน่าสนใจเป็นพิเศษ คำนี้แปลว่าท่าข้ามหรือท่าน้ำ และยังมีความหมายถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์โดยทั่วๆ ไปก็ได้ แสดงให้เห็นว่า แต่โบราณ แม่น้ำมีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ ยังมีนัยถึงการ “ก้าวข้าม” ไปสู่อีกฝั่ง อันได้แก่ โมกษะหรือความหลุดพ้น

ท่านอาจารย์กังวล คัชชิมา แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เขียนไว้ในเฟซบุ๊กว่า ตีรถะ ในพฤหัทธรรมปุราณะ ได้กำหนดไว้ว่า เขียงเท้าของพราหมณ์, หลังวัว, ลำตัวของภรรยา, นัยน์ตาทั้งคู่ และหูขวาของเรา (ผมอ่านแล้วก็สาธุว่า เรานี่ก็ได้บุญทุกวันเพราะได้สัมผัสลำตัวภรรยาอันศักดิ์สิทธิ์)

ส่วนใน “ปัทมปุราณะ” ได้กำหนดว่า “ตีรถะ” ได้แก่ สถานที่ทุกแห่งที่ได้ทำพิธีอัคนิโหตระ และพิธีศราทธ์, สถานที่สำหรับบูชา, เรือนที่มีการเรียนคัมภีร์พระเวท, คอกวัว, สถานที่พักอาศัยอยู่ของผู้ที่ดื่มโสมะ, สวนดอกไม้, ที่ที่ซึ่งมีอัศวตีรถะ, ที่ที่มีการสวดคัมภีร์ปุราณะ, สถานที่ที่ครูอาจารย์ยืนอยู่, สถานที่ที่อาศัยอยู่ของภรรยาผู้ภักดี หรือบิดา หรือบุตรผู้ประเสริฐ

จากสิ่งที่ปุราณะบอกไว้ แสดงให้เห็นความคิดฮินดูว่า บุญสถานอาจเป็นสิ่งใกล้ตัวมากๆ เช่น เท้าพราหมณ์ ลำตัวภรรยา คือสิ่งที่เราพึงเคารพ กับสถานที่โดยธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งอันเนื่องด้วยบุณยบุคคล เช่นที่ที่มีครูบาอาจารย์ นักบุญ คนดีอาศัยอยู่ก็นับว่าเป็นตีรถะได้หมด

ศาสนาไชนะหรือเชน เรียกพระชินเจ้าหรือพระศาสดาทั้งหลายว่า พระตีรถังกร คือแสดงความเป็นบุญบุคคลว่านำไปสู่ความหลุดพ้นได้ ตีรถะ คำนี้บาลีว่า ติตถะ ผันเป็นติตถิยะ พระรุ่นเก่าๆ ใช้ว่า เดียรถีย์ เป็นคำมีความหมายเชิงลบ ที่จริงมีความหมายแค่ว่า เป็นผู้อยู่นอกพุทธศาสนา

ในมหาภารตะ มีบรรพหนึ่งกล่าวว่า ก็ร่างกายของเราแต่ละส่วนยังมีความสะอาดไม่เท่ากัน ในแผ่นดินก็เช่นกัน ก็ย่อมมีที่ที่สะอาดน้อยมากไม่เท่ากัน ที่ไหนสะอาดบริสุทธิ์ก็พึงไปเยือน

 

สรุปว่า สถานที่อันควรแสวงบุญในคติฮินดูนั้น ถ้าแบ่งโดยลักษณะตามธรรมชาติได้แก่ แม่น้ำ เช่น คงคา, ยมุนา ภูเขา เช่น ไกรลาศ (ไกลาส) ป่า เช่น ทัณฑการัณยะ (ซึ่งหลายเมืองก็อ้างว่าป่าของตัวเป็นทัณฑการัณยะ) ประเภทที่เกี่ยวกับเทพเจ้าต่างๆ ประเภทที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญและคุรุครูบาอาจารย์

การยาตราในสมัยโบราณ ใช้การเดินเท้า เรียกว่า “ปาทยาตรา” ค่อยๆ เดินไปทีละก้าวจนกว่าจะถึง แม้สมัยนี้จะมีรถมีราใช้กันแล้ว แต่ปาทยาตราก็ยังนิยมกระทำกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มนักบวช

นอกจากนี้ ยังมี “ทัณฑวัตยาตรา” คือการเดินไปกราบไป เช่นเดียวกับที่ชาวทิเบตยังคงปฏิบัติในปัจจุบัน และที่แปลกที่สุด คือบางตีรถะมีคนที่ “กลิ้ง” ไปบนพื้นเพื่อแสดงความเคารพ เรียกว่า “กพทยาตรา” หรือหากกระทำรอบสถานที่จะเรียกว่า อังคประทักษิณา

ท่านว่า การกลิ้งนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของการชำระล้างบาปอกุศล ทั้งยังเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงสุดด้วย เพราะกลิ้งไปบนพื้นถนนของอินเดียอันร้อนระอุนี่คงทรมานมิใช่น้อย

 

เมื่อไปถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ กิจกรรมหลักคือการ “ทัศนา” (ทรรศนะ) คือมองดูนั่นแหละครับ แปลอย่างตรงไปตรงมาเลย เพราะคนฮินดูคิดว่า การได้เห็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือบุคคลศักดิ์สิทธิ์ จัดเป็นบุญกิริยาแบบหนึ่ง คือมองด้วยตาเนื้อ เพื่อได้เห็นด้วยผัสสะอายตนะของเรา แล้วซึมซาบเอาไว้ในใจเพื่อให้เห็นด้วยตาใจอีกที

ในเทวตำนานทั้งหลาย ทั้งฝ่ายฮินดูและพุทธฝ่ายวัชรยาน จึงให้ความสำคัญกับการได้เห็นพระเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ที่เราเฝ้าปฏิบัติบูชามากๆ ต้องพากเพียรจนกว่าจะได้ยลโฉมท่านเหล่านั้น ซึ่งได้แสดงความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณของเรา

นอกจากจะไปดูไปเห็นแล้ว ยังมีการทำบูชาในรูปแบบต่างๆ การลงสนานกายอาบน้ำ การทำ “ปรายัศจิต” หรือการชำระมลทินโทษ การให้ทาน ฟังธรรมคำสอน ลอยอัฐิ ทำศราทธพรตอุทิศให้บรรพชน ทำสมาธิภาวนา หรือขับร้องสรรเสริญ

เป้าหมายของการไปแสวงบุญ มีตั้งแต่การได้ชำระบาปมลทินโทษ แต่บาปมลทินเหล่านั้น ไม่ได้ชำระเพราะเราลงอาบน้ำหรือทำพิธีกรรมเท่านั้น แต่เพราะความยากลำบากอันเกิดขึ้นจากการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินด้วยเท้า สิ่งนี้จะค่อยๆ ช่วยชำระมลทินโทษไปเรื่อยๆ เมื่อชำระมลทินก็สร้างเสริมบุญกุศล ความศรัทธาให้งอกเงยต่อไปอีก

ส่วนเป้าหมายสูงสุดคือการได้บรรลุหลุดพ้น ดังนั้น ธรรมเนียมนี้บรรดานักบวชในอินเดียจึงยังนิยมกระทำกันอยู่ โดยถือว่าเป็นรูปแบบสำคัญในการปฏิบัติ

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายทางโลกอื่นๆ เช่นได้รับพรพิเศษ ได้ลูกที่ดี ได้ผัวที่ดี อะไรต่อมิอะไรอีกมากเท่าที่คนจะจินตนาการไปได้หรือเท่าที่เทวตำนานจะบอกไว้

 

เส้นทางการยาตราในศาสนาฮินดูมีทั้งแบบที่เรากำหนดแค่เป้าหมายปลายทาง หรืออาจเป็นเส้นทางที่มีตามประเพณี เช่นเส้นทางพาราณสี-ราเมศวรัม คือผู้แสวงบุญตักน้ำคงคาจากพาราณสี แล้วเดินเท้าลงใต้ไปเมืองราเมศวรัมเพื่อใช้น้ำนั้นรดสรงพระศิวลึงค์ “ราเมศวร” แล้วจึงตักน้ำทะเลจากราเมศวรัมเดินทางไปพาราณสีเพื่อใช้น้ำนั้นรดพระศิวลึงค์ “วิศนาถหรือวิศเวศวร” เป็นอันเสร็จการแสวงบุญ

แต่เส้นทางนี้หากเดินเท้ายังต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ายังมีผู้ทำอยู่

นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางตามรอยสถานที่สำคัญในเทวตำนาน เช่น อัษฏวินายกทั้งแปดของพระคเณศ ทวาทศชโยติลิงค์ทั้งสิบสองของพระศิวะ ศักติปีฐะของพระเทวี ซึ่งว่ากันว่ามีไม่น้อยกว่าห้าสิบเอ็ดแห่ง เป็นต้น

เทวสถานต่างๆ ในอินเดียมักจัดสถานที่ไว้รับรองผู้แสวงบุญ โดยเป็นที่พักง่ายๆ เรียกว่า “ธรรมศาลา” และยังจัดอาหารโรงทานให้ด้วย ปัจจุบันเทวสถานหลายแห่งทำให้ธรรมศาลากลายเป็นโรงแรมที่สะดวกสบาย และเกิดชุมชนคนค้าขายรอบๆ เทวสถานนั้น เป็นการสร้างงานให้ชุมชน

 

ครั้นเทคโนโลยีการเดินทางเจริญยิ่งขึ้นแล้ว ก็เกิดธุรกิจนำเที่ยวแสวงบุญโดยเฉพาะ การแพร่ขยายของการเดินทางโดยพาหนะต่างๆ ไม่ว่ามอเตอร์ไซค์ รถบัส ไปยันเฮลิคอปเตอร์ (เพื่อแสวงบุญในสถานที่อย่างภูเขาหิมาลัยหรือไกลาส) ก็มีขึ้นแล้วในอินเดียทุกวันนี้

กระนั้นก็ยังมีกลุ่มคนที่ยังนิยมแสวงบุญแบบเดิม (คือเดินเท้า) เช่น กลุ่ม “วารกรี” (Varkari) อันเป็นขบวนการภักดีในแคว้นมหาราษฎร์ที่สืบมาแต่ท่านชญาเนศวรและตุการาม เป็นขบวนการชาวบ้านที่เน้นความภักดีต่อพระกฤษณะในรูป “วิโฑพา” ยกเลิกเรื่องชนชั้นวรรณะ ใช้ชีวิตเรียบง่าย และมีภารกิจเดินทางแสวงบุญด้วยเท้าไปยังเมืองปัณฑรปุระทุกๆ ปี

ชาวไทยเราเองก็นิยมแสวงบุญในอินเดียมากขึ้น ซึ่งมีรูปแบบการเดินทางและที่พักสะดวกสบายกว่าชาวอินเดียมากๆ ถ้าเชื่อแบบฮินดูว่ายิ่งลำบากก็ได้ชำระอกุศล พวกเราที่ไปก็น่าจะได้ชำระอกุศลกันน้อยเหลือเกิน

แถมยังไปสร้างความแปลกแยก เช่น พยายามจะเข้าคิวพิเศษโดยใช้เงินทองบ้าง ไปแสดงอภิสิทธิ์ต่างๆ ไปแสดงความร่ำรวยประดามี และดูถูก “นักแสวงบุญ” ด้วยกัน

ผมคิดว่า เราควรทบทวนวิธีคิดเกี่ยวกับการแสวงบุญอีกครั้ง อย่างน้อยการไปแสวงบุญของเราจะได้มีความหมายต่อเส้นทางจิตวิญญาณของเรามากขึ้น

จริงไหมโยม