เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ฟรานซิส การ์นิเยร์” นักสำรวจอินโดจีนรุ่นสอง ผู้ยอมพลีชีพเพื่อฝรั่งเศส

เพ็ญสุภา สุขคตะ

สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ประเทศฝรั่งเศสได้ส่งคนมาสำรวจดินแดนแถบอินโดจีนหลายต่อหลายรุ่น

รุ่นแรกสุดที่แวดวงนักประวัติศาสตร์กล่าวขวัญถึงกันอย่างกว้างขวางคือ “อ็องรี มูโอต์” (Henri Mouhot) เขาเป็นนักธรรมชาติวิทยา เดินทางมาสำรวจถิ่นอุษาคเนย์ระหว่างปี ค.ศ.1858-1860 (พ.ศ.2401-2403) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4

เขาผู้นี้เดินทางตัดเข้ามาถึงภาคตะวันตกสุดของสยามด้วย ซึ่งปี 2402 เป็นช่วงเวลาที่กำลังมีการก่อสร้างพระราชวังพระนครคีรี ที่เมืองเพชรบุรีพอดี

ชาวฝรั่งเศสอีกคนที่เข้ามาในนามของ “นักล่าอาณานิคมตัวพ่อ” ที่คนไทยยุคสมัยหนึ่งถูกปั่นให้ชังน้ำหน้านักหนา ก็คือ “เมอสิเยอร์ ฌ็อง มารี ออกุสต์ ปาวี” (Monsieur jean Marie August Pavie) หรือที่นิยมเรียกย่อๆ ว่า “ม.ปาวี” มาจากคำว่า Mission Pavie เป็นนักการทูตฝรั่งเศสที่มีบทบาทอย่างสูงในยุคที่สยามมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436)

ม.ปาวี ถือเป็นชาวฝรั่งเศสรุ่นที่ 3 ที่เข้ามาป้วนเปี้ยนเวียนวนสำรวจตรวจสอบมรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมในอินโดจีนว่ามีความอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใดบ้าง

บุคคลที่เรากำลังจะกล่าวถึงนี้มีนามว่า “ฟรานซิส การ์นิเยร์” (Francis Garnier) เขาคือชาวฝรั่งเศสรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาสืบสานภารกิจต่อจากอ็องรี มูโอต์ ก่อนจะส่งไม้ต่อไปยัง ม.ปาวี เพียงแต่ว่าคนไทยรู้จักเขาน้อยกว่าคนอื่นๆ

ทั้งนี้ บทบาทของเขาที่เข้ามาเฉียดกรายหรือพันพัวในสยามนั้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า และจีน

 

ฟรานซิส การ์นิเยร์
นายทหารเรือผู้ตะลุยฝ่าแม่น้ำโขง

ฟรานซิส การ์นิเยร์ ชื่อเต็มในภาษาฝรั่งเศสของเขาคือ “มารี โยเซฟ ฟรองซัวส์ การ์นิเยร์” (Marie-Joseph-Fran?ois Garnier) ซึ่งเป็นชื่อที่ยาวเหยียด และคำว่าฟรองซัวส์ในภาษาฝรั่งเศสก็ตรงกับคำว่าฟรานซิสในภาษาอังกฤษ เขาจึงใช้ชื่อ Francis แทนเพื่อให้ชาวเอเชียเรียกขานได้สะดวก

การ์นิเยร์เกิดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ.1839 (พ.ศ.2382) ที่ย่านแซงต์เอเตียน กรุงปารีส เติบโตในครอบครัวทหาร เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนนายเรือกรุง Brest เมื่อปี ค.ศ.1856

ปี ค.ศ.1860 ทันทีที่จบการศึกษา เขาถูกส่งไปประจำการในกองเรือรบฝรั่งเศสลาดตระเวนเขตน่านน้ำระหว่างจีนและเวียดนาม

ช่วงนั้นฝรั่งเศสกำลังรบชนะเวียดนามตอนใต้ และเข้ายึดครองเขต “โคชินไชน่า” มาเป็นอาณานิคมได้หมาดๆ

ปี ค.ศ.1863 นายทหารเรือหนุ่ม ฟรานซิส ซึ่งมีอายุเพียง 24 ปีได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอเมืองโชลอน (Cholon) แขวงสำคัญตั้งอยู่ห่างจากไซ่ง่อนเพียง 5 กิโลเมตร เป็นย่านที่มีชุนชนชาวจีนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น

ช่วงที่ประจำการอยู่ในเวียดนาม ฟรานซิสทำงานอย่างแข็งขัน ถึงกับเขียนโครงการเสนอรัฐบาลฝรั่งเศสว่าควรมีการสำรวจเส้นทางตลอดสองฝั่งแม่น้ำโขง จากเวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย พม่า สู่ประเทศจีน เนื่องจากฝรั่งเศสกำลังช่วงชิงดินแดนต่างๆ ในเอเชียกับสหราชอาณาจักรอังกฤษ โดยที่อังกฤษเองก็หมายตาจีนไว้เช่นกันหลังจากที่ยึดครองอินเดียและพม่าไว้ได้แล้ว

ดังนั้น อีก 3 ปีถัดมา คือ ค.ศ.1866 เมื่อเขาอายุ 27 ปี เขาเป็นหนึ่งในคณะสำรวจเส้นทางแม่น้ำโขง ภายใต้การนำของผู้บัญชาการคณะสำรวจชื่อ นายพลดูดาร์ต เดอ ลาเกร (Doudart de Lagr?e) การ์นิเยร์ถือเป็นรองหัวหน้าคณะ พวกเขาถือว่าเป็นชาวยุโรปคณะแรกที่เดินทางเข้าสู่มณฑลยูนนานด้วยเส้นทางภาคใต้ของจีน

พวกเขาใช้เวลาสามปี (1866-1868) ในการแรมรอนระหกระเหินนอนกลางดินกินกลางป่า เพื่อร่วมผลักดันภารกิจหลักในการทำแผนที่ปักปันเขตแดน “อินโดจีนฝรั่งเศส” ให้สำเร็จ พวกเขาลัดเลาะพรมแดนกัมพูชา ล้านช้าง ล้านนา ของสยาม เพื่อขึ้นไปถึงมณฑลยูนนานของจีน ได้ค้นพบคำตอบว่า

“คงเป็นการยากทีเดียวที่ฝรั่งเศสจะสามารถนำกองทัพเรือจากแม่น้ำโขงขึ้นไปยึดจีนตอนใต้ได้โดยง่าย อย่าว่าแต่จะให้ชนะทางการเมืองเลย แม้แต่แค่คิดจะทำการค้ากับคนในภูมิภาคนี้ด้วยเส้นทางแม่น้ำโขงทะลุตลอดทั้งสาย ก็ยังยากลำบาก แต่ละช่วงเต็มไปด้วยเกาะแก่งภยันตราย หฤโหดสุดพรรณนา สัตว์ร้ายนานัป ไข้ป่าชุกชุม นักสำรวจอ่อนล้าราโรยพบแต่โรคภัยไข้เจ็บ”

ผลพวงจากการลงพื้นที่สำรวจของการ์นิเยร์และคณะคือ เมื่อพวกเขากลับคืนประเทศฝรั่งเศสในปีรุ่งขึ้น การ์นิเยร์และเพื่อนนักสำรวจอีกคนชื่อ หลุยส์ เดอลาปอร์ต (Louis Delaporte) ได้เรียบเรียงประสบการณ์การผจญภัยตลอดสองฟากฝั่งแม่น้ำโขงอันยากลำบาก ตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะ

ถือเป็นเอกสารที่บันทึกสภาพภูมิประเทศและวิถีชีวิตผู้คนหลากหลายชนเผ่าชาติพันธุ์ ทั้งเนื้อหาที่เป็นมุมมองของคนตะวันตก มีการวิพากษ์วิจารณ์ประเพณีของคนในท้องถิ่นด้วยทัศนคติที่ไม่เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพลายเส้นอันทรงคุณค่า ต่อมาหนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลจากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษโดย วอลเทอร์ อี.เจ.ทิปส์ (Walter E. J. Tips) ภายใต้หนังสือชื่อ The Mekong Exploration Commission Report (1866-1868)

 


มรณสังหารที่ฮานอย

ต่อมาเขาถูกส่งไปประจำการที่กรุงเซี่ยงไฮ้ประเทศจีนระยะหนึ่งเพื่อไปสอดส่องดูช่องทางการสอดแทรกอิทธิพลแข่งกับอังกฤษ

แต่แล้วก็ต้องรีบเดินทางมาที่กรุงฮานอยในเดือนสิงหาคมปี ค.ศ.1873 เพื่อเคลียร์ปัญหาเรื่อง “แม่น้ำแดง” ทางตอนเหนือของเวียดนามที่ฝรั่งเศสต้องการเปิดด่านการค้าเสรีกับจีน

เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวฮานอยเป็นอย่างมาก ด้วยรู้สึกว่าพวกตนเสียเปรียบชาวจีนและฝรั่งเศสในทุกๆ ด้าน

การ์นิเยร์ต้องเผชิญหน้ากับการขัดขืนของชาวฮานอย ที่ช่วยกันตรึงกำลังปกป้องสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง ทั้งๆ ที่กองกำลังทหารฝรั่งเศสของฝ่ายการ์นิเยร์มีอาวุธยุทโธปกรณ์ครบครัน แต่ชาวเวียดนามกลับได้รับชัยชนะ ทั้งนี้เพราะชาวเวียดนามได้ขอความช่วยเหลือจาก “โจรจีนธงดำ” ที่นำโดย Liu Yung-fu มาร่วมรบ

ในที่สุดการ์นิเยร์ถูกสังหารมรณะคาสนามรบ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 1873 (พ.ศ.2416) ทำให้นักการทูตชาวฝรั่งเศสชื่อ Paul-Louis-F?lix Philastre ต้องรีบเจรจาถอนทัพออกจากเวียดนามเหนือในช่วงต้นปี 1874 ทันที

อนุสาวรีย์ฟรานซิส การ์นิเยร์ที่ฝรั่งเศส

ณจัตุรัสคามีย์ จูเลียง (Place Camille Julian) ไม่ไกลจากสวนมาร์โคโปโล กลางกรุงปารีส ผู้สัญจรผ่านไปมาจะพบอนุสาวรีย์รูปหล่อสำริดของอดีตนายทหารเรือผู้ยิ่งใหญ่ “ฟรานซิส การ์นิเยร์” ในลักษณะครึ่งตัว (torso)

เมื่อพินิจพิเคราะห์ให้ละเอียด จะพบว่ามีแท่นเสา 6 เหลี่ยม แทรกอยู่กึ่งกลางก่อนถึงฐานตอนล่างอีกชั้นหนึ่ง ทำเป็นรูปบุคคลนั่งขดขาไขว้หักเป็นทรงสามเหลี่ยมคล้ายกับโยคีในซุ้ม 6 ซุ้ม ดังที่เรียกว่าท่า “โยคาสนะ” (โยคะ + อาสนะ)

ประติมากรรมเหล่านี้เห็นได้ชัดว่ามีใบหน้าเป็นคนเวียดนาม เป็นการจำลองรูปเคารพของพระศิวะในศิลปะจามปายุคสุดท้ายซึ่งเริ่มมีกลิ่นอายของศิลปะจีน-เวียดนามเข้ามาผสมกับศิลปะจามปาแล้ว ที่เรียกว่ายุค “ถับมัม” มาเป็นต้นแบบ

อนุสาวรีย์ชิ้นนี้เป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิกชื่อ ออกุสต์ โวเดรอแมร์ (Auguste Vaudremer) ประติมากรผู้ปั้นรูปชื่อ เดอนีส เพิช (Denys Puech) จัดสร้างโดยกลุ่มศิลปินพี่น้องตระกูล “ธีเอโบต์” (Thi?baut Fr?res) เมื่อปี ค.ศ.1898

สิ่งที่น่าสนใจคือรูปปั้นของการ์นิเยร์นายทหารเรือผู้มีใบหน้ากระหยิ่มทระนงนั้น จัดวางอยู่บนฐานกลุ่มประติมากรรมหญิงเปลือยสามคน หญิงคนแรกนอนซมสลบไสลคล้ายหมดแรงต่อสู้ หญิงสาวคนที่สองซึ่งสวมมงกุฎช่อมะกอก (หนาม) เข้าไปประคองร่างหญิงคนแรก (หันบั้นท้ายให้ผู้ชม) หญิงสาวคนสุดท้ายชูแขนยื่นมงกุฎช่อมะกอกให้แก่การ์นิเยร์แต่โดยดีคล้ายยอมแพ้

สัญลักษณ์ของสตรีทั้งสามน่าจะหมายถึง เวียดนาม กัมพูชา ลาว ประเทศกลุ่มอินโดจีนที่ถูกปกครองโดยอาณานิคมฝรั่งเศสใช่หรือไม่