จรัญ มะลูลีม : การศึกษาสมัยใหม่ของมหาวิทยาลัยมุสลิมในอินเดีย

ที่อลิการ์ ท่านทูตชุตินทรและคณะ รวมทั้งผู้ให้ความช่วยเหลือนักศึกษาไทยมาตลอดทั้งที่ดารุลอุลูมฯ และอลิการ์ คือ นาวาบ อมีร เรซา (Nawab Aamir Reza) คหบดีแห่งลัคเนาว์ได้เดินทางมาจากเมืองลัคเนาว์ เมืองหลวงของรัฐอุตตรประเทศเพื่อมาพบปะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมุสลิมอลิการ์

ในการพบปะเพื่อแนะแนวด้านการศึกษา ท่านทูตชุตินทรกล่าวถึงการใช้ชีวิตด้านการศึกษา พร้อมยกตัวอย่างการศึกษาที่เหมาะสมกับความถนัดของตนเองให้เห็นในหลายกรณีซึ่งเป็นประโยชน์ในการกลับไปประกอบอาชีพในประเทศไทย

หลังจากนั้นก็เป็นการเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะห้องสมุดเมาลานา อะซาด (Maulana Azad Librray) ซึ่งเป็นห้องสมุดอันดับต้นๆ ของเอเชียที่มีหนังสือนับล้านเล่มให้นักศึกษาได้ค้นคว้า

รวมทั้งสถานที่สำคัญอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย

ก่อนที่จะเดินทางกลับกรุงนิวเดลีพร้อม ม.ล.ปิยวรรณ คงศักดิ์ ภริยา

 

ก่อนหน้านี้ท่านทูตชุตินทรได้ให้ข้อคิดเห็นว่าทำไมต้องมาเรียนที่อินเดีย ในคราวที่ไปเยือนนักศึกษาที่ดารุลอุลูมฯ ตามโครงการกงสุลสัญจร ซึ่งคำพูดดังกล่าวได้ถูกนำมาเปิดในงานประจำปีที่ 6 ของสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์ (The 6th Annual AMU Alumni Meeting 2019) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ปี 2562 ณ Tree in Town ซอยรามคำแหง 53 ซึ่งมีผู้ร่วมงานราว 600 คน รวมทั้งผู้บริหารของสถานทูตอินเดียในประเทศไทยและศิษย์เก่าที่เป็นคนอินเดีย แต่ทำงานในประเทศไทย (ทั้งในองค์การระหว่างประเทศ และในฐานะนักธุรกิจ) โดยท่านทูตชุตินทรกล่าวว่า

คนไทยมาเรียนที่อินเดียเพื่อเป็นแนวหน้าที่จะแสวงหาประโยชน์จากการก้าวขึ้นมาทางการเมืองและเศรษฐกิจของอินเดียเหมือนกัน

อินเดียนี้ถือเป็น Native English Speaker และคนอินเดียก็เป็นคนส่วนใหญ่ของประชากรโลก เพราะฉะนั้น การมาเรียนที่อินเดียนอกจากจะได้ภาษาอังกฤษแล้วยังจะได้ของแถมอย่างอื่น เช่น ภาษาฮินดีหรืออะไรอย่างนี้ เหมือนคนพูดจีนได้ก็คือไปดูว่าเขาอยู่กันยังไง ดีไหม ลำบากอะไรไหม แล้วรัฐบาลก็จะช่วยด้วยในเรื่องของนักศึกษามุสลิม ที่นี่มีนักศึกษามุสลิมประมาณ 200 กว่าคน จะไปเยี่ยม เราก็จะไปออกกงสุลสัญจรด้วย เช่น ดูแลเขาเรื่องเอกสารและอะไรต่ออะไร

เท่าที่เราค้นพบ นักศึกษามุสลิมมาที่นี่เพราะว่ามีโรงเรียนที่ดี เขาบอกกันปากต่อปาก จริงๆ นักศึกษามุสลิมก็น่ารัก มาร่วมกิจกรรมของสถานทูตทั้งหมด เช่น การวางดอกไม้จันทน์ในตอน ร.9 สวรรคต ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ เป็นภาพที่แสดงถึงสังคมไทยที่เป็นพหุสังคม เพราะว่ามีพระสงฆ์ มีนักศึกษามุสลิม มีคนไทย สิกข์ เป็นต้น

และก็แน่นอนมีนักการทูตจากต่างประเทศหรืออะไรอย่างนี้ ซึ่งก็เป็นภาพที่เราแสดงออกไปว่าเราอยู่ร่วมกัน

 

สําหรับผมในการพบปะกับนักศึกษาที่อลิการ์ ผมเองก็ได้ใช้ประสบการณ์ในการเล่าเรียนที่นี่ในฐานะนักเรียนทุนของรัฐบาลอินเดีย (University Grands Commission) บอกกล่าวแก่น้องนักศึกษาที่มาเรียนต่อที่นี่ว่าควรจะใช้เวลาเรียนอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะรู้จักอินเดียให้ลึกซึ้งมากกว่าการมองอย่างผิวเผินแล้วด่วนสรุป

เมื่อกลับเมืองไทยแล้วควรเริ่มต้นชีวิตอย่างไร ซึ่งสมาคมศิษย์เก่าอลิการ์ได้มีการประสานงานกับนักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ๆ ให้มาพบปะและพูดคุยว่าจะปักหลักชีวิตไปในทางใดบ้าง สมาคมจะช่วยได้อย่างไร

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภารกิจของสมาคมศิษย์เก่าที่ต้องช่วยเหลือผู้ที่จบการศึกษาทุกคน

ในความคิดของผู้ปกครองที่ส่งลูกหลานไปเรียนที่นี่ ส่วนหนึ่งมีความเห็นว่ามหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์เน้นการเรียนการสอนที่สามารถผลิตนักศึกษาเข้าสู่โลกปัจจุบันได้โดยทันที จึงเป็นการช่วยนักศึกษาเข้าสู่สังคมแห่งการงานหลังจากจบการศึกษาได้รวดเร็วกว่าการไปศึกษาในประเทศมุสลิมอื่นๆ ที่มีกระบวนการและขั้นตอนหลายขั้นตอนในการเข้าทำงาน

เท่ากับช่วยสร้างทรัพยากรในสังคมมุสลิม สังคมในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้และสังคมไทยโดยรวมได้เป็นอย่างดีและมีคุณภาพ

ในท้ายที่สุดผมขอปิดท้ายบทความเรื่องนักศึกษาไทยในอินเดียด้วยการนำเอาประวัติของมหาวิทยาลัยที่นำเสนอผ่าน Power point ของอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์ สาธารณรัฐอินเดีย คือ พล.ท.สะมีรุดดีน ชาฮ์ (Samiruddin Shah) ที่เคยเดินทางมาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน ปี 2555 จากการสนับสนุนของท่านทูตพิศาล มาณวพัฒน์ และคณะ ซึ่งมีใจความสำคัญ

ดังนี้

 

มหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นหลักสูตรการเรียนการสอนตามรูปแบบการศึกษาสมัยใหม่ ตั้งอยู่ที่เมืองอลิการ์ รัฐอุตตรประเทศ ห่างจากกรุงนิวเดลี (เมืองหลวง) ประมาณ 132 ก.ม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง 50 นาที

พื้นที่ของมหาวิทยาลัยประมาณ 1,056 เอเคอร์ (ประมาณ 2,661 ไร่)

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์ประกอบด้วย 12 คณะ (ศิลปศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีการพาณิชย์และการบัญชี กฎหมาย แพทยศาสตร์ สังคมศาสตร์ การบริหารจัดการและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์การเกษตร วิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิต และศาสนวิทยา เป็นต้น) 109 ภาควิชา เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนกว่า 355 หลักสูตร

นิตยสาร India Today ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่จัดลำดับสถานศึกษาในอินเดีย ได้จัดอันดับให้มหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์อยู่ในลำดับที่ 5 จากมหาวิทยาลัยทั้งหมดในอินเดียมากกว่า 200 แห่ง

โดยมหาวิทยาลัยห้าอันดับแรกของอินเดียประกอบไปด้วย 1.มหาวิทยาลัยเดลี (Delhi University) 2.มหาวิทยาลัยบานารัส ฮินดู (Banaras Hindu University) 3.มหาวิทยาลัยโกลกัตตา (Kolculta University) 4.มหาวิทยาลัยเยาวหราล เนห์รู (Jawahar Lal Nehru University) แห่งกรุงนิวเดลี และ 5.มหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์ (Aligarh Muslim University)

อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 มหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์ได้รับการจัดอันดับให้อยู่อันดับที่ 2 โดยมหาวิทยาลัยเยาวหราล เนห์รู อยู่ในอันดับที่ 1

มหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์ก่อตั้งโดยเซอร์ซัยยิด อะห์มัด ข่าน ซึ่งเป็นนักการศึกษา นักการเมือง นักปฏิรูปอิสลามและรัฐบุรุษในช่วงศตวรรษที่ 19 เซอร์ซัยยิดได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาให้กับสังคมมุสลิมในอินเดีย

 

นโยบายด้านการศึกษาของเซอร์ซัยยิด อะห์มัด ข่าน ประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 4 อย่างคือ

คงไว้ซึ่งแนวคิดและหลักการที่ดีงามของศาสนาอิสลาม

มุ่งเน้นความร่วมสมัย

รับฟังความคิดเห็นของชาวมุสลิมเป็นสำคัญ

ร่วมมือกับสังคมอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม

มหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์เป็นมหาวิทยาลัยที่ยอมรับในความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา หลังจากอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947 อินเดียได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี 1950 ซึ่งได้ระบุให้มหาวิทยาลัยอลิการ์มุสลิมเป็น “สถาบันการศึกษาที่มีความสำคัญของชาติ”

การออกแบบทางสถาปัตยกรรมแบบอังกฤษและการมีหอพักนักศึกษาอยู่ภายในมหาวิทยาลัยแยกเป็นบ้านพักนักศึกษาจำนวน 19 บ้านพัก เป็นอีกลักษณะเด่นที่ทำให้มหาวิทยาลัยอลิการ์แตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ

มหาวิทยาลัยมีห้องสมุด เมาลานา อะซาด (Maulana Azad Library) ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของอินเดีย มีหนังสือกว่า 1 ล้านเล่ม นายกรัฐมนตรีเยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียเป็นผู้วางศิลาฤกษ์และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในปี 1955

นอกจากนี้ ภายในห้องสมุด ทางมหาวิทยาลัยได้เก็บรักษาพระคัมภีร์อัลกุรอานที่เขียนโดยอักษรกูฟิก (Kufic) อายุกว่า 1,400 ปี และพระคัมภีร์อัลกุรอานของพระจักรพรรดิออรังเซบ (Aurangzeb) ซึ่งเป็นหนึ่งในจักรพรรดิชาวมุสลิมผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดียไว้เป็นสมบัติล้ำค่าของมหาวิทยาลัย