จัตวา กลิ่นสุนทร : 40 ปี การเมืองไทย ไม่ได้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดี

เทคโนโลยีก้าวไกล การสื่อสารขนส่ง การรับรู้ข่าวสารของผู้คน หนังสือพิมพ์ สื่อกระดาษต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปทั้งหมดอย่างรวดเร็ว ธุรกิจการเงินเป็นเพียงการหมุนเวียนเปลี่ยนไปของตัวเลขในบัญชี

เมื่อต้องเดินทาง แทบจะไม่จำเป็นต้องมีเงินสดติดตัว ขอเพียงมีโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงเครื่องเดียวก็เกินพอ

แต่ในเวลาเดียวกัน ประเทศของเรายังไม่ไปไหนไกล ยังแบ่งเป็น “สองมาตรฐาน” หรือหลายมาตรฐาน

ยังนิยมชมชื่นเกาะอยู่กับ “เผด็จการ” และทำท่าหนีไม่พ้นการ “ปฏิวัติรัฐประหาร” (อีก)

การกดขี่เอารัดเอาเปรียบประชาชนยังคงดำรงอยู่กับกติกาจากกลุ่มผู้กุมอำนาจ

การเริ่มต้นอีกครั้งกับการปกครองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ด้วยการเลือกตั้ง โดยคนควบคุมกติกายังแบ่งเป็นฝักฝ่ายหลังผ่านพ้นการยึดอำนาจ ซึ่งชนชั้นปกครองร่วมมือกับทหารและนักการเมืองไร้อุดมการณ์

ยกเลิก ทำลาย “รัฐธรรมนูญ” เพื่อกำหนดกฎกติกาขึ้นใหม่สำหรับปกครองประเทศ ด้วยฝีมือนักกฎหมายที่พร้อมเป็น “ผู้รับใช้” ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก เพื่อให้กลุ่มอำนาจได้สืบทอดยึดครองประเทศต่อไป

เมื่อการปกครองประเทศไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกาสากล ยังมีการแบ่งชนชั้น ช่องว่างระหว่างความร่ำรวยกับยากจนที่กว้างอยู่แล้วย่อมถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน ยิ่งจะกลายเป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้นๆ เนื่องจากความสัมพันธ์ ความร่วมมือในการติดต่อค้าขายส่งออก นำเข้า และอื่นๆ ระหว่างประเทศไม่ราบรื่น

ประเทศเราเกิดรัฐบาลที่ได้อำนาจบริหารมาแบบไม่ตรงไปตรงมา จากแพ้เลือกตั้ง แต่กลายเป็นชนะด้วยได้รับการสนับสนุนร่วมมือของกลุ่มอำนาจ ผลประโยชน์ และนักการเมืองจอมปลอม

พลิกความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ให้เปลี่ยนไป ประเทศจึงได้แต่คนหน้าเดิมๆ ที่บริหารประเทศล้มเหลวมาแล้วหลายปี ทั้งที่ไม่มีฝ่ายค้าน เรามีผู้นำที่ไม่เป็นมืออาชีพ สติปัญญาผิดเพี้ยน และไม่เป็นที่ยอมรับจากประเทศที่เจริญแล้ว ย่อมเป็นเรื่องยากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่บ้านเมืองของเราจะต้องยากจนและล้าหลังต่อไป

 

เมื่อมีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้ง ซึ่งมี “ผู้กำหนด” กฎกติกามารยาท และกรรมการทั้งหลายเป็นพวกเดียวกันทั้งหมด เราได้ “ผู้นำ รัฐมนตรี” ที่บริหารประเทศหน้าซ้ำๆ เดิมๆ ที่ทำงานบริหารมาแล้วถึง 5 ปี แต่ไม่มีผลงานปรากฏ

บ้านเมืองทรุดโทรมล้าหลัง ไม่มีนโยบายอะไรใหม่ นอกจากลอกเลียนเอามาจากรัฐบาลก่อนๆ แต่กลับทำได้ไม่เท่าของเดิม

คนจากพรรคการเมืองหนึ่ง (ยังร่วมรัฐบาลอยู่) ที่ก่อนหน้านี้วิ่งกันอยู่บนถนน ถือธงนำหน้าม็อบบุกกรมตำรวจบ้าง เที่ยวเป่านกหวีดไล่คนนั้นคนนี้ตามห้างสรรพสินค้าบ้าง ปิดกรุงเทพฯ กันจนบ้านเมืองทรุดโทรม เชื้อเชิญทหารจากกองทัพออกมายึดอำนาจเบ็ดเสร็จ แล้วเสพติดไม่ยอมลง พวกเขาเหล่านั้นได้เป็น “รัฐมนตรี” สมใจอยาก หลังจากเปลี่ยนพรรคไปสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ แต่ไม่มีผลงานอะไรปรากฏ

คนที่เคยประกาศฉาดฉานว่ารัก “ประชาธิปไตย” ต่อต้าน “เผด็จการ” เกลียดการ “ปฏิวัติ รัฐประหาร”

แต่ทุกวันนี้สนับสนุนรัฐบาลที่แปลงร่างมาจากเผด็จการได้อย่างหน้าตาเฉย

บอกตรงๆ ว่าสิ้นศรัทธากับ “ผู้แทนราษฎร” ซึ่งเคยตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อบ้านเมืองของเราพัฒนาขึ้น การศึกษายกระดับขึ้น อาจทำให้ผู้แทนฯเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มีคุณภาพมากกว่าเดิม

แต่เอาเข้าจริง จนถึง พ.ศ.นี้ ส.ส.ของประเทศเรายังย่ำอยู่ในบ่อน้ำเน่าและผลประโยชน์ เป็นได้แค่เพียงผู้(แทน)สนับสนุน “เผด็จการ” ให้สืบอำนาจต่อไปเท่านั้น

ประเทศนี้มีการ “เลือกตั้ง” ทั่วไปเมื่อตอนต้นปี (2562) เวลาผ่านพ้นไปราว 10 เดือน คนไทยได้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ยังทำอะไรไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน ต้องเที่ยววิ่งชักชวนเชื้อเชิญ

บางครั้งใช้เหยื่อล่อตามที่สื่อเรียกว่ากล้วยเพื่อหาเสียง หามือ ส.ส.มาเพิ่มเติมในสภา

 

พรรคการเมืองซีกรัฐบาลทำอะไร อย่างไร ก็ถูกต้องไปทั้งหมด เริ่มต้นตั้งแต่ก่อตั้งพรรคแล้วเรียกระดมทุน เชื้อเชิญซื้อหาอะไรต่อมิอะไรกวาดต้อนต่อรองเข้ามารวมสุมกันอยู่ก็ไม่เคยถูกตรวจสอบ ไม่เหมือนพรรคตรงกันข้าม ที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ไม่ต้องการเผด็จการ ทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ผิดหมด บางคนได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภากลับถูกสกัดให้หลุดพ้นออกไป ถ้าจะว่าไป เมื่อนักฟุตบอลไม่มีสนามให้เล่น ก็ต้องไปเตะกันตามถนนหนทาง

คนที่อยากสืบทอดอำนาจ อยากเข้าสู่อำนาจ ต้องการเป็นรัฐบาล กลับหน้าไม่อาย

ประวัติเลวร้ายสีเทาดำมาจากไหนก็อ้าแขนรับเอาเข้ามารวมกัน เพื่อจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

คุณภาพผู้แทนฯ ที่รู้ๆ เห็นๆ กันอยู่ ขอโทษ..พยายามทำใจวางตัวเป็นกลางทางการเมืองจริงๆ ยังรับไม่ได้

คิดว่าประชาชนของประเทศนี้(มัน)โง่ จนมองไม่เห็น ดูไม่ออกหรือยังไงไม่ทราบ?

ดันทุรังจะบริหารประเทศกันต่อไป?

 

อันที่จริงไม่ต้องการจะพูดถึงมาตั้งแต่เห็น “คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตะแบงใช้วิธีการคิดคำนวณเพื่อให้ได้จำนวนผู้แทนฯเข้ามาเพื่อจะจัดตั้งรัฐบาลให้ได้แล้ว ปลงเสียจนมาถึงจุดที่ว่า จะทำอะไรก็ทำกันเข้าไปเถอะ เซ็งจนเบือนหน้าหนี ตั้งแต่พรรคเล็กๆ ที่ได้รับคะแนนจากประชาชนทั้งประเทศสองหมื่นสามหมื่นเสียง กลับได้เป็นผู้แทนราษฎรพรรคละ 1 คน

มันอะไรกันนักหนา ทำไมกล้าดูถูกประชาชนกันถึงขนาดนั้น?

เชื่อเถอะ ถึงจะลงทุนทุ่มเททุกอย่างตะแบงลากกันไปเรื่อยๆ จนบ้านเมืองยากจนทรุดโทรมพังพินาศ ถึงจุดหนึ่งประชาชนจะทนไม่ได้ ย่อมเสื่อม และ “สิ้นศรัทธา”

ย้อนรำลึกถึงท่าน(ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (ถึงแก่อสัญกรรม) นายทหารมาดสุขุมนุ่มลึก นักบริหารเลือดทหาร อ่อนน้อมถ่อมตน บอกว่าไม่มีความรู้ด้าน “เศรษฐกิจ การเมือง” ซึ่งกล่าวออกตัวก่อนเข้ารับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” เมื่อปี พ.ศ.2523 ว่า “ผมไม่พร้อมจะเป็นนายกฯ ไม่ได้เตรียมตัวจะเป็น–” และ “ผมไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมือง–”

แต่ในที่สุดท่านก็ต้องเป็น “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 16) และอยู่ในตำแหน่งนี้ถึง 8 ปี 5 เดือน (มีนาคม 2523-สิงหาคม 2531)

ก่อนจะกล่าวอีกประโยคหนึ่งต่อหัวหน้าพรรคการเมือง 5 พรรคภายหลังการเลือกตั้ง ที่ไปเชิญท่านให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกว่า “ผมพอแล้ว”

เส้นทางการทหาร การเมือง ของ “ปูชนียบุคคล” ควรได้รับการสืบสานเจตนารมณ์ ควรเป็นแบบอย่างของนายทหารรุ่นหลังๆ จากกองทัพ อย่างน้อยก็ความเป็น “ประชาธิปไตย”

ถึงขนาดเอ่ยฝากหัวหน้าพรรคการเมืองทั้งหลายก่อนลาจากตำแหน่งว่า “ขอให้ช่วยกันประคับประคองประชาธิปไตยกันต่อไปด้วย–”

ท่านเป็นทหารที่จงรักภักดี เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นผู้มีระเบียบวินัย ซื่อสัตย์สุจริต และเมื่อมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็สามารถบริหารบ้านเมืองในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจทรุดโทรม ผันผวน ขาดแคลน ให้สามารถฟื้นคืนกลับมาด้วยการความกล้าหาญในการตัดสินใจ “ลดค่าเงินบาท” และ “พัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก”

เป็นที่จดจำมาถึงทุกวันนี้ และดูเหมือนว่าเหล่าทหารที่กำลังหลงใหลในอำนาจ หวานชื่นอยู่กับการเมือง พยายามดำเนินรอยตามท่าน รวมทั้งโครงการต่างๆ ทางภาคตะวันออกที่หวังจะฟื้น “เศรษฐกิจ” แต่ดูเหมือนว่าคงจะเป็นไปไม่ได้กับเวลาที่ผ่านเลยมาเฉียด 40 ปีแล้ว

แต่นโยบายของพวกเขาทุกวันนี้ยังย่ำอยู่ที่เดิมๆ ไม่ได้แหลมคมก้าวไกล?

 

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ (สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์) ทำงานกันอย่างสนุก เพราะในช่วงระยะเวลารัฐบาล (ป๋า) พล.อ.เปรม ค่อนข้างจะครบรสชาติ เกิด “ปฏิวัติ รัฐประหาร” แต่ได้กลายเป็น “กบฏ” ถึง 2 ครั้ง (1-3 เมษายน 2523 และ 9 กันยายน 2528 /มีตัวละครเอก เป็น พล.ต.มนูญ รูปขจร ทั้ง 2 หน) มีนายทหารระดับ (บิ๊ก) “ผู้บัญชาการทหารบก” ต้องการดำเนินรอยตามท่านรัฐบุรุษ จนแทบเกิดการขัดแย้ง- – –

การปรับ “คณะรัฐมนตรี” โดยพรรคกิจสังคมของอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งร่วมรัฐบาลครั้งแรก แล้วถอยออกมา และกลับเข้าร่วมอีก การ “ยุบสภา” การเลือกตั้งทั่วไป ฯลฯ

การเมืองดังกล่าวล้วนมีรสชาติเป็นเรื่องราวที่ “หนังสือพิมพ์” เมื่อหลายทศวรรษต้องพยายามวิเคราะห์เจาะลึกเพื่อนำข่าวมาเสนอ แต่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากลำบากกับรัฐบาลของ(ป๋า) พล.อ.เปรม เพราะท่านไม่ยอมพูด

เวลาร่วม 40 ปี คุณภาพของ “ผู้นำ- ผู้แทนฯ”ประเทศนี้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า