ครม.ลากยาวไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 5 ปี ถอยเพื่อฟังความรอบด้าน หรือแค่ยื้อเวลา!!

หงายเงิบไปตามๆ กัน หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ มีมติให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ ไปจัดทำขั้นตอนการรับฟังความเห็นประชาชน และผู้มีส่วนได้เสีย หรือประชาพิจารณ์ใหม่อีกรอบ

ซึ่งมติดังกล่าวเท่ากับเป็นการยกเลิกมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเช่นกัน ซึ่งได้เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าต่อไป ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ (พีดีพี) 2015 เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้ หลังโครงการชะลอมาตั้งแต่ปี 2558

ทั้งนี้ ตามแผนที่ กพช. คาดการณ์คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะเข้าระบบปี 2565 เลื่อนจากแผนพีดีพีที่ระบุต้องเข้าระบบปี 2562

แต่เมื่อสถานการณ์พลิกเป็น “โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ต้องเริ่มใหม่” ที่ประชุม ครม. จึงคาดการณ์ช่วงเวลาเข้าระบบของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ไว้ที่ปี 2567 แทน

หรือเท่ากับล่าช้าถึง 5 ปี

 

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม. มีมติให้กระทรวงพลังงานนำข้อกังวลของประชาชนในประเด็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อแผนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาดำเนินการรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียใหม่อีกครั้ง หากผ่านการพิจารณาแล้วก็ให้เสนอรายงานดังกล่าวต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

“มติของ ครม. ครั้งนี้เพื่อให้เกิดการรับฟังความเห็นประชาชนตามที่กังวล ถือเป็นการย้อนกลับมาดำเนินการในขั้นแรกๆ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้น 3 ขั้น 4 ขั้น 5 จนถึงขั้นสุดท้าย แต่ไม่อยากให้เน้นประโยคว่าเริ่มใหม่ เพราะมติ ครม. ไม่ได้ขัดแย้งกับมติของที่ประชุม กพช. ที่ให้เดินหน้าโครงการในขั้นตอนของรายงานด้านสิ่งแวดล้อม เพียงแต่เปลี่ยนแปลงรายละเอียดการปฏิบัติ และอยากให้เกิดช่วงเวลาที่ประชาชนจะยุติความขัดแย้งแล้วร่วมกันแสดงความเห็นอย่างรอบด้านเท่านั้น”

พล.ท.สรรเสริญกล่าวย้ำ

 

เป็นท่าทีของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ต้องการให้การทำประชาพิจารณ์ใหม่ เป็นประเด็นที่แสดงถึงความอ่อนแอของรัฐบาลที่ไม่เด็ดขาดในการตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้!!!

อย่างไรก็ตาม พล.ท.สรรเสริญได้ยอมรับเมื่อถูกถามถึงกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา เฟส 1 และเฟส 2 รวม 2,000 เมกะวัตต์ที่มีการรับฟังความเห็นจากประชาชน กำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ และปัจจุบันมีประชาชนที่ระบุว่าเป็นชาวสงขลากำลังต่อต้านอยู่ รูปแบบเดียวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

“ผลจากการพิจารณาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ครั้งนี้ จะเป็นโมเดลเพื่อใช้กับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้ากระบี่”

 

ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในมุมของ กฟผ. โดย นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ยอมรับว่า มติของ กพช. เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ เป็นเพียงยกที่ 1 ในการเดินหน้าโครงการเท่านั้น เพราะรัฐบาลยังไม่อนุมัติโครงการ เพียงแต่ให้เดินหน้าต่อเพราะคนในพื้นที่ให้การสนับสนุน กพช. เลยปลดล็อกให้เดินต่อ

“สิ่งที่ กฟผ. จะต้องทำคือ เดินหน้าตามระเบียบ อะไรที่ห้ามก็ไม่ทำ แต่ยอมรับว่าฝ่ายต้านเขาคงไม่ยอม อธิบายเท่าไหร่คงไม่ฟัง ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือ ผู้ที่ขออนุญาตชุมนุมมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่ใช่กระบี่”

นอกจากนี้ นายกรศิษฏ์ ยังชี้ให้เห็นวิธีเคลื่อนไหวของกลุ่มต้าน ว่า “เมื่อฝ่ายต้านเห็นว่าผู้ชุมชนในพื้นที่ไม่เอาด้วย ก็พยายามหาแนวร่วม ประกาศว่าทะเลอันดามันเป็นของคนทั้งประเทศ และปรับเกมด้วยการเข้ามาเล่นในเมือง มีการจับมือกับองค์กรทางสังคม นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเอกชนที่ทำธุรกิจด้านท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน ระบุว่าโรงไฟฟ้าทำลายสถานที่ท่องเที่ยว อยากถามว่าสาเหตุมาจากเรื่องไหนกันแน่ มาจากการท่องเที่ยวเองหรือเปล่า ทั้งขยะ น้ำเสีย จากโรงแรม รีสอร์ต เป็นการทำท่องเที่ยวแบบขัดหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ หากเอกชนมีความกังวล อยากถามว่ากล้าประกาศตัวหรือไม่ว่าจะไม่เที่ยวประเทศที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเลย (ยิ้ม)”

ผู้ว่าการ กฟผ. ยังแสดงข้อมูลกรณีที่กลุ่มต้านอ้างรายงานวิจัย ระบุว่า ถ่านหินเป็นฝุ่นอันตราย ซึ่ง กฟผ. ยืนยันงานวิจัยส่วนใหญ่ไม่มีการรับรอง เป็นงานวิจัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยบ้าง และเกี่ยวพันกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของโลก

“ขอพูดตามตรงว่าข้อมูลฝ่ายต้านโกหก ผมกล้าพูดเพราะตรวจสอบมาแล้ว แต่ที่ผ่านมาฝ่ายต้านชอบบอกว่า กฟผ. โกหก ซึ่งไม่เป็นความจริง”

 

อย่างไรก็ตาม นายกรศิษฐ์เองก็เคยยอมรับว่า ลึกๆ แล้วโรงไฟฟ้ามีโอกาสสะดุด นั่นคือ การต้องกลับไปรับฟังความเห็นของประชาชนใหม่อีกครั้งตามมติ ครม. วันที่ 21 กุมภาพันธ์

“การทำงานมีปัญหาอุปสรรคตลอด ไม่ราบรื่น แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินสังคมต้องรับรู้ นี่เป็นสาเหตุให้นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ตลอดว่าถ้าไฟฟ้าไม่พอ ไฟดับต้องรับผิดชอบร่วมกัน อย่างประเทศเยอรมนี ตอนนี้ประชาชนเริ่มรับค่าไฟไม่ไหวแล้ว หากสุดท้ายสะดุดอีก ผมไม่กลัว เพราะทำดีที่สุด ถ้าสร้างไม่ได้ก็ย้ายที่ และสุดท้ายถ้าไฟดับจะปลดผมก็ได้ เพราะผมทำเต็มที่แล้ว มีการเตรียมแผนสำรองพร้อม เช่น เปลี่ยนที่สร้าง หรือเปลี่ยนเชื้อเพลิง เพราะทุกอย่างมีความเสี่ยง ผมไม่อยากหวังอย่างเดียว ผมมีทั้งแผน 1 แผน 2 และแผน 3 รองรับ แต่ยืนยันว่าเชื้อเพลิงที่เหมาะสมที่สุดตอนนี้คือ ถ่านหิน”

และจากบทเรียนของโรงไฟฟ้ากระบี่ กอปรกับการที่โฆษกรัฐบาลออกมายอมรับว่า โรงไฟฟ้าเทพา มีโอกาสต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

นายกรศิษฐ์ยืนยันว่า “ตอนนี้ปฏิกิริยาของชุมชนในพื้นที่ให้การยอมรับดี แต่เริ่มมีคนนอกเข้าไปคัดค้าน มีทะเบียนรถยืนยันว่ามาจากจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่สงขลา ก็ต้องถามชุมชน ถามกลุ่มต้านว่าเคารพสิทธิชุมชนหรือไม่ ซึ่งที่เทพายังมีประเด็นเรื่องที่ดิน ซึ่งต้องใช้พื้นที่รวม 2,000 ไร่ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา 1 และเทพา 2 กำลังผลิตรวม 2,000 เมกะวัตต์ เข้าระบบตั้งแต่ปี 2564 ดังนั้น ต้องใช้ที่ดินสาธารณะ มีชาวบ้านบุกรุก 30-40 หลังคาเรือน ซึ่งรัฐน่าจะจัดการได้ และที่ดินของชาวบ้านเอง 300-400 หลังคาเรือน แต่กรณีที่ดินของชาวบ้านพบว่ามีการปั่นราคาขึ้นพอสมควร หากราคาสูงมากไม่สมเหตุสมผล ก็ต้องเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้าง เพราะเสี่ยงถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เรียกตรวจสอบ หรือหากรัฐบาลยังต้องการพื้นที่เดิมอาจใช้วิธีเวนคืนก็ได้ ทั้งหมดอยู่ที่รัฐบาลจะตัดสินใจ”

น่าจับตาว่าผลจากการถอยเพื่อฟังเสียงของประชาชนต่อโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ จะได้ข้อยุติประเด็นการยอมรับจากทุกส่วนหรือไม่ เพราะถ้ายังล้มเหลว โรงไฟฟ้าถ่านหินทุกโครงการก็ต้องพับโครงการทั้งหมด

เป็นการซื้อเวลาของรัฐบาลที่แยบยลที่สุด…

ส่วนผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหากภาคใต้เข้าสู่วิกฤตขาดแคลนไฟฟ้า…ใครคือผู้รับกรรม!!!