วิเคราะห์ : ออสซี่จะรอดยังไงจากวิกฤตไฟป่าครั้งเลวร้าย

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ไฟป่าออสเตรเลียแผลงฤทธิ์เผาบ้านเรือน ป่าไม้ ทุ่งนา เรือกสวนหลายล้านไร่นับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา กระทั่งถึงวันนี้ ฤทธิ์ยังไม่หมดสิ้น แถมยังมีแนวโน้มว่าจะลุกไหม้กินเวลาอีกยาวนานจนกว่าฝนจะตกกระหน่ำไปทั่วทวีป

นอกจากไฟป่าโหมกระพือ เขม่าควันฟุ้งกระจายคลุมท้องฟ้า ชาวออสซี่ยังเจอภัยแล้ง คลื่นความร้อน อุณหภูมิพุ่งสูง ต่างพากันเครียด เศร้าหมอง วิตกจริต

บางคนเป็นทุกข์หนักจากเหตุไฟเผาบ้านเรือนทรัพย์สินพินาศสิ้นเนื้อประดาตัว บางคนเป็นทุกข์ยิ่งกว่าเพราะสมาชิกครอบครัวเสียชีวิตในเปลวเพลิง

สื่อออสซี่ประโคมข่าวมหันตภัยมาตลอด จนกระทั่งเกิดจุดพีกสุดเมื่ออาสาสมัคร 2 คนประสบอุบัติเหตุรถคว่ำเสียชีวิตระหว่างเดินทางไปช่วยดับไฟป่าในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของนครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์

สื่อไปตามเบื้องหลังครอบครัวอาสาสมัครทั้งสองคนพบว่ามีลูกยังเล็ก หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู และเป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นก่อนเทศกาลคริสต์มาสเพียงไม่กี่วัน

 

ท่ามกลางภาวะวิกฤตอย่างนี้ ชาวออสซี่จึงร้องหาผู้นำประเทศให้หันมาดูแลเอาใจใส่ผู้ทุกข์ยากอย่างรวดเร็วฉับพลัน

แต่ทว่า นายสกอตต์ จอห์น มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ไม่อยู่ในประเทศ

สื่อไปขุดหาข่าวพบว่านายมอร์ริสันลาพักร้อนพาครอบครัวไปพักผ่อนที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา

นี่จึงเป็นประเด็นปลุกให้ชาวออสซี่โกรธแค้น รุมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง

ในโซเชียลมีเดียของออสเตรเลีย มีคำถามฮิตสุดๆ แพร่ไปทั่วว่า “คุณไปอยู่นรกขุมไหนรึ?”

คุณในที่นี้หมายถึงนายมอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนี่แหละ

นายมอร์ริสันได้รับรายงานจากหน่วยปราบไฟป่าว่าปฏิกิริยาของผู้คนร้อนแรงแค่ไหน จึงตัดโปรแกรมพักผ่อนทิ้งแล้วเดินทางกลับออสเตรเลียพร้อมคำแถลงขอโทษแสดงความเสียใจกับครอบครัวที่เสียชีวิตจากไฟป่า

กระนั้นนายมอร์ริสันยังยืนกรานว่า แผนปฏิบัติการกู้ภัยฉุกเฉินดับไฟป่าของออสเตรเลียดีที่สุดในโลก

 

นักข่าวถามว่า ภาวะโลกร้อนมีผลต่อการเกิดไฟป่าทั่วออสเตรเลียหรือไม่ นายมอร์ริสันแย้งว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับไฟป่าที่เกิดขึ้น

นายกฯ ออสซี่คนนี้ยังหนุ่มแน่น อายุเพิ่ง 51 ปี เป็นหัวหน้าพรรคลิเบอรัล อนาคตน่าจะไปไกล แต่ตอนนี้สะดุดขาตัวเองล้มอย่างแรงเพราะตัดสินใจพลาด ประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป

วิกฤตการณ์เกิดขึ้นในออสเตรเลีย คาดว่าเป็นจุดเปลี่ยนกระแสสังคม โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องโลกร้อนจะเป็นประเด็นใหญ่ เพราะทุกคนผ่านประสบการณ์ตรงทั้งจากอุณหภูมิพุ่งสูงขึ้น คลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และไฟป่าเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทั่วประเทศ

สื่อฉายภาพให้เห็นสภาพบ้านเรือนที่ถูกไฟเผาจนราบเรียบเหลือแค่กองขี้เถ้า

ผู้คนหนีรอดจากไฟป่าร่วมกันเล่าถึงเหตุการณ์ผ่านมาเปรียบเหมือนอยู่ในนรก มองไปตรงไหนก็เห็นแต่เปลวเพลิงร้อนระอุ

ภาพของนักผจญเพลิงในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ต้องใช้กำลังมากถึง 7 หมื่นคนตะลุยสู้กับไฟป่าอย่างหนักหนาสาหัส ขณะที่ไฟลุกไหม้พร้อมๆ กันนับ 100 จุด

หัวหน้าหน่วยกู้ภัยรับสารภาพกับสื่อว่า สภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยให้ไฟป่าแผดเผาอย่างไม่สิ้นสุด ทั้งจากอุณหภูมิร้อนจัด กระแสลมแรง อากาศแห้ง ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ โอกาสจะดับไฟให้หมดสิ้นยากมาก มีทางเดียวต้องรอว่าเมื่อไหร่ฟ้าจะเมตตาโปรยสายฝนลงมา

เฉพาะรัฐนิวเซาท์เวลส์ ฝนไม่ได้ตกมานานกว่า 12 เดือนแล้ว จึงเป็นวิกฤตภัยแล้งหนักสุด

 

ตั้งแต่เกิดไฟป่า ผู้บริหารรัฐนิวเซาท์เวลส์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถึง 2 ครั้ง เพื่อให้หน่วยกู้ภัยเข้าไปสกัดไฟป่าได้คล่องตัว

ส่วนอุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นนั้น สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลีย เปิดสถิติของเดือนธันวาคมปีนี้ อุณหภูมิในเมืองแอดิเลดของรัฐเซาท์ออสเตรเลีย 45.3 ํc และที่เมืองนูลลาร์บอร์ 49.9 c

นี่ยังไม่สิ้นธันวาคม แต่สถิติถูกทำลายไปเรียบร้อย

นอกจากอุณหภูมิเพิ่มสูงแล้ว คลื่นความร้อนแผ่ซ่านไปทั่วฝั่งตะวันออกของทวีปออสเตรเลีย เป็นผลของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Indian Ocean Dipole (IOD) มีสาเหตุจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลทางตอนใต้ด้านตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียบริเวณเขตศูนย์สูตร เย็นขึ้นอย่างผิดปกติ

ขณะที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลด้านตะวันตกของมหาสมุทรอินเดียเขตศูนย์สูตรอุ่นขึ้นผิดปกติ

ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ออสเตรเลียมีอากาศร้อนจัด คลื่นความร้อน และยังกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีทั้งฝนตกหนักและภัยแล้งในหลายพื้นที่

นักวิทยาศาสตร์ออสซี่บอกว่า ปรากฏการณ์ IOD ที่เกิดขึ้นนี้รุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี

 

มหันตภัยที่ออสเตรเลียเผชิญยังได้สร้างความเสียหายในทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

นักวิเคราะห์ประเมินว่า นครซิดนีย์มีรายได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเฉลี่ยวันละ 1,200 ล้านเหรียญ แต่ไฟป่าที่ลุกโชนในพื้นที่ใกล้กับนครซิดนีย์ ทำให้เกิดเขม่าควันปลิวว่อน เท่ากับสร้างความเสียหายให้กับเมืองราวๆ วันละ 50 ล้านเหรียญออสเตรเลีย

ความเสียหายเกิดจากเขม่าควันทำให้ผู้คนเจ็บป่วย ไม่สบาย ไปทำงานไม่ได้

ฝ่ายประกันภัยบอกว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา ผู้เสียหายขอยื่นเคลมประกันไปแล้ว 240 ล้านเหรียญ และตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอนเพราะสถานการณ์ยังไม่จบ

ชาวออสซี่ซึมซับประสบการณ์อันขมขื่นอย่างนี้ จึงประเมินได้ว่าการเมืองออสซี่และแนวนโยบายเรื่องภาวะโลกร้อนจะต้องเปลี่ยนไปด้วย

 

ก่อนหน้านี้ออสเตรเลียแสดงอาการเฉยๆ กับปรากฏการณ์โลกร้อน ด้วยเหตุว่าเป็นประเทศผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลก

แม้ถ่านหินเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างวิปริต

แต่พรรคการเมืองใหญ่ๆ ในออสเตรเลียต่างได้รับทุนสนับสนุนจากนายทุนถ่านหิน จึงไม่ผลักดันนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเข้มข้นเหมือนประเทศพัฒนาอื่นๆ

ออสเตรเลียยอมเซ็นสัญญาข้อตกลงปารีสว่าจะร่วมลดการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศให้ได้ 26-28 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2573 เพราะกลัวตกเวทีโลก

เมื่อไม่นานมานี้สหประชาชาติประเมินผล ปรากฏว่าออสเตรเลียลดการปล่อยก๊าซพิษน้อยมาก ไม่ได้ทำตามเป้าหมายของข้อสัญญาปารีส

นายมอร์ริสันบอกกับยูเอ็นว่า ออสเตรเลียสนับสนุนข้อตกลงปารีส แต่ต้องทำอย่างสมดุลระหว่างความรับผิดชอบโลก สิ่งแวดล้อมกับอนาคตทางเศรษฐกิจของออสเตรเลีย

ลีลาการตอบอย่างเล่นลิ้นนั้น เพราะนายมอร์ริสันยังเลือกเศรษฐกิจ “ถ่านหิน” ส่วนโลกร้อนรุนแรงมากแค่ไหนอย่างไร ช่างหัวมันสิ!