จิตต์สุภา ฉิน : “รถไร้คนขับ” ใกล้ความเป็นจริงแล้วแค่ไหน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับคำสัญญาว่าจะทำให้ชีวิตของผู้ขับรถยนต์อย่างเราปลอดภัยมากขึ้น

เพราะทั้งซอฟต์แวร์และเซ็นเซอร์มากมายที่ติดตั้งมาพร้อมกับตัวรถนั้นจะช่วยทำให้รถสามารถขับเคลื่อนและหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุได้ดีกว่าที่มนุษย์ที่มีสองขา สองมือ อย่างเราจะสามารถทำได้

เนื่องจากมนุษย์เต็มไปด้วยข้อบกพร่องมากมายที่พร้อมนำไปสู่อุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดทางร่างกาย หรือการตัดสินใจที่ผิดพลาดในชั่วขณะ

แต่จนแล้วจนรอด เวลาผ่านไปหลายปี เราก็ยังไม่ได้เห็นรถยนต์ไร้คนขับวิ่งพลุกพล่านอยู่บนท้องถนนเสียที ทั้งที่จริงๆ แล้วมีการคาดการณ์ว่ารถไร้คนขับล็อตแรกๆ น่าจะพร้อมวิ่งบนถนนในสหรัฐได้ในปี 2019 ซึ่งเราก็เดินทางกันมาถึงปลายปีแล้ว แต่ในตอนนี้ก็ยังดูห่างไกลความเป็นจริงอยู่พอสมควร

อุบัติเหตุหลายครั้งที่เกิดขึ้นกับระบบออโต้ไพล็อตโดยเฉพาะกับรถยนต์เทสลาก็ทำให้พอจะได้เห็นภาพว่าบางทีเทคโนโลยีนี้อาจจะยังไม่พร้อมให้ใช้งานได้จริงเร็วๆ นี้ก็ได้

ความสามารถของรถไร้คนขับที่ใช้ได้จริงแล้วในตอนนี้ดูเหมือนจะเน้นหนักไปที่ฟีเจอร์ของรถยนต์ทันสมัยหลายๆ คัน อย่างเช่น ระบบจอดอัตโนมัติ ระบบเบรกอัตโนมัติ และระบบสตาร์ตรถและขับอยู่ในที่จอดรถเสียมากกว่า

ที่ใกล้ความจริงขึ้นมาหน่อยก็อาจจะเป็นรถชัตเติลบัสไร้คนขับที่วิ่งตามเส้นทางภายในสถานที่ปิดบางแห่ง อย่างเช่นภายในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งได้กำหนดเส้นทางเอาไว้แน่นอนแล้วและจะไม่วิ่งนอกเหนือไปจากนี้

 

Waymo ที่เป็นแผนกรถไร้คนขับของ Google นับว่ามีเทคโนโลยีรถไร้คนขับที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ทดลองบริการโรโบแท็กซี่หรือแท็กซี่ไร้คนขับในบางพื้นที่ในสหรัฐ แต่ก็ไม่ใช่ว่าภายในรถจะไร้ซึ่งมนุษย์เลย เพราะก็จะต้องมีคนขับที่ผ่านการฝึกฝนมาแล้วคอยนั่งประจำอยู่ข้างในเผื่อต้องรับมือกับเหตุฉุกเฉิน

ดังนั้น ก็น่าจะพอสรุปได้ว่าเทคโนโลยีรถไร้คนขับที่เราตั้งหน้าตั้งตารอคอยกันนั้นจะต้องเริ่มต้นจากการวิ่งตามเส้นทางในพื้นที่ปิดด้วยความเร็วที่ไม่สูงเกินไปและไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์ใดๆ กับยานพาหนะคันอื่นๆ บนท้องถนน ไม่ต้องเจอกับเงื่อนไขที่คาดเดายาก อย่างเช่น คนเดินถนน คนปั่นจักรยาน หรือสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน

ตอกย้ำด้วยการที่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ความสามารถของซอฟต์แวร์ในการที่จะประมวลผลข้อมูลที่ได้รับมาจากเซ็นเซอร์ของรถนั้นยังมีความแม่นยำอยู่ที่ประมาณ 80-85% ซึ่งแม้ว่าจะฟังดูเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย แต่เมื่อเกี่ยวข้องกับชีวิตและความปลอดภัย การยังมีพื้นที่เหลือเผื่อให้ความผิดพลาดมากตั้ง 15% นั้นจึงยังเป็นตัวเลขที่รับไม่ได้

เพราะอาจจะหมายถึง 15% ที่รถอาจจะชนวัตถุสิ่งกีดขวาง หรือร้ายแรงกว่านั้นคือคร่าชีวิตมนุษย์ได้

 

หนึ่งในปัญหาที่ทำให้การพัฒนารถไร้คนขับต้องสะดุดบ้างก็คือกฎหมายในหลายรัฐที่อนุญาตให้ทำได้แค่ทดสอบรถไร้คนขับเท่านั้น ทำให้หลายๆ บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีนี้ก็เลยต้องมุ่งมั่นเก็บชั่วโมงการขับของรถไร้คนขับให้ได้มากที่สุด ด้วยความหวังว่าจะทำให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐอุ่นใจได้ว่านี่คือเทคโนโลยีที่ปลอดภัยและเปิดช่องให้ทำได้มากกว่าการทดสอบในที่สุด

รถไร้คนขับอาจจะต้องใช้เวลาอีกประมาณห้าปีกว่าที่เราจะได้เห็นมันเป็นไปตามที่ได้คาดหวังเอาไว้ แต่ก็แน่นอนว่าจะต้องเริ่มต้นในสเกลเล็กๆ ก่อน

ไม่ว่ารถไร้คนขับจะพร้อมใช้งานในฝั่งอเมริกาตอนไหน แต่ถ้าลองย้อนกลับมาดูไม่ไกลจากบ้านเราบ้าง ก็มีอยู่ประเทศหนึ่งแน่ๆ ที่พร้อมมากกว่าใครในละแวกนี้

สิงคโปร์เป็นประเทศที่เล็งเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีรถไร้คนขับ และได้ทำการทดลองรถบัสไร้คนขับเพื่อให้บริการในบางเส้นทางไปบ้างแล้ว

แต่ไม่ใช่แค่นั้น สิงคโปร์ยังมีแม้กระทั่งศูนย์ทดสอบรถไร้คนขับที่ออกแบบมาให้นำเทคโนโลยีนี้มาทดลองใช้โดยที่สร้างเงื่อนไขหลายรูปแบบที่เหมาะสำหรับการทดลองรถไร้คนขับโดยเฉพาะ

ศูนย์ทดลองรถไร้คนขับนี้กินพื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร เป็นถนนเดินรถที่มีทั้งทางโค้งหักศอก ไฟจราจร ทางลาด และป้ายรถเมล์ เพื่อจำลองทุกสถานการณ์ในการขับจริง มีตู้คอนเทนเนอร์ที่นำมาวางซ้อนกันไว้เพื่อจำลองการที่ตึกสูงสามารถบดบังสัญญาณดาวเทียมไม่ให้มาถึงตัวรถได้

มีแม้กระทั่งเครื่องทำฝนที่จะจำลองฝนที่เทลงมาบ่อยๆ เพื่อทดสอบความอึดความทนของรถ เพราะฝนนี่แหละที่เป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ในภูมิภาคแถบนี้ รถทดสอบในสิงคโปร์ทั้งหมดพบว่ายังไม่พร้อมที่จะเผชิญกับลมฝนที่ถือเป็นเอกลักษณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ถ้าทนสภาพทั้งหมดที่ว่ามาได้แบบไม่มีข้อผิดพลาดจึงจะสามารถเรียกได้ว่าพร้อมลงสนามจริงแล้ว

 

ทั้งหมดนี้ทำขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่สิงคโปร์นำเทคโนโลยีไร้คนขับมาใช้ จะเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัยต่อประชาชนของตัวเองจริงๆ เพราะรัฐบาลเขาเล็งเห็นประโยชน์ของรถไร้คนขับว่าจะมาตอบโจทย์ได้ดีโดยเฉพาะด้านขนส่งมวลชนและบริการขนส่งสินค้า

และนอกจากนี้ ก็ยังมีผลพลอยได้ของการเป็นประเทศที่ดึงดูดให้บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ที่พัฒนารถไร้คนขับเข้ามาลงทุนด้วย

แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็กที่ยังทิ้งห่างในตลาดรถไร้คนขับอยู่ แต่สิ่งที่สิงคโปร์มีนำหน้าประเทศอื่นๆ ในแถบนี้ไปแล้วก็คือวิสัยทัศน์ การเตรียมความพร้อม และรูปแบบความคิดที่เข้าใจเป็นอย่างดีว่าเทคโนโลยีนี้ต้องลงทุนกันยาวๆ

แต่ไม่ช้าหรือเร็วมันก็จะมาแน่นอนและมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่มันมาถึง

สิงคโปร์ก็จะพร้อมก่อนใคร