ธงทอง จันทรางศุ | สตรีตเฟอร์นิเจอร์

ธงทอง จันทรางศุ

ผมเคยนึกลำพองใจและบอกกับตัวเองว่า ความรู้ภาษาไทยของผมน่าจะอยู่ในขีดขั้นที่สามารถแปลคำภาษาอังกฤษออกมาเป็นภาษาไทยได้ดังใจนึก และสื่อสารความหมายได้ใกล้เคียงกับความหมายในภาษาต้นฉบับได้ดีพอสมควร

แต่สองสามวันที่ผ่านมานี้ เมื่อพูดคุยกับเพื่อนฝูงถึงสิ่งที่เรียกว่า Street furniture ในภาษาอังกฤษ ผมก็เกิดจนแต้มขึ้นมาเสียอย่างนั้น

เพราะยังเลือกหาคำภาษาไทยที่สื่อความหมายถึงของอย่างเดียวกันได้ไม่ถนัด

ลองสืบค้นดูตามแหล่งความรู้ต่างๆ ก็ใช้คำยืดยาว เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกในถนนสาธารณะ และก็ยังไม่ตรงกับความหมายที่ผมเข้าใจอยู่ดี

ในชั้นนี้จึงขออนุญาตเรียกทับศัพท์ไปก่อนแล้วกัน จนกว่านักปราชญ์ราชบัณฑิตจะกรุณาสงเคราะห์ผมได้ในเรื่องนี้

ว่าแต่อะไรคือสตรีตเฟอร์นิเจอร์

ผมตั้งใจจะหมายถึงสรรพสิ่งบรรดามีอยู่ เป็นองค์ประกอบเสริมประโยชน์ของการใช้ถนนหนทางให้มีความสะดวกสบาย รวมตลอดถึงอาจเป็นประโยชน์ข้างเคียงที่เสริมขึ้นนอกเหนือจากการใช้ถนนเพื่อการสัญจรไปมาด้วย

เช่น เสาไฟฟ้า ป้ายบอกทางและเครื่องหมายจราจรต่างๆ ป้ายชื่อถนน กระบะสำหรับจัดวางต้นไม้ คอกล้อมสำหรับปลูกต้นไม้ประดับถนน ที่นั่งหรือเก้าอี้นั่ง ตู้โทรศัพท์ ถังขยะ ตู้ไปรษณีย์ ป้ายรถเมล์ อุปกรณ์หรือสถานที่ที่จัดไว้สำหรับปิดป้ายประกาศต่างๆ ฝาท่อระบายน้ำ

หรือบางทีเราอาจจะต้องพูดถึงไปจนถึงห้องน้ำสาธารณะ อุปกรณ์ที่จัดไว้สำหรับการจอดรถจักรยาน มิเตอร์เพื่อจ่ายค่าจอดรถ

และแน่นอนครับว่า ผมหมายถึงงานศิลปะชิ้นใหญ่ชิ้นเล็กที่วางประดับความสวยงามของถนนแต่ละสายแต่ละเส้นด้วย

เห็นไหมครับว่าแค่ขานชื่อมาให้ครบก็ยากแล้ว แต่เอาเถิด นึกเสียว่ากล่าวมาถึงเพียงนี้ท่านทั้งหลายคงพอจะเข้าใจแล้วว่าเรากำลังจะพูดถึงอะไรกัน

ข้าวของเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม และถ้าหากทำได้ดีจริงแล้วก็เป็นเครื่องเสริมสง่าราศีของบ้านเมืองได้มาก และข้อสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือจะเกิดประโยชน์ใช้สอยได้คุ้มค่า คุ้มกับงบประมาณหรือเงินภาษีที่ต้องจ่ายไปเพื่อการนี้

เห็นเขาเล่าลือกันว่าในอนาคตอีกไม่ไกลนัก ประเทศของเราก็จะมีการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นที่เว้นว่างมาหลายปีแล้วเสียที รวมทั้งการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วย

ผมขอประกาศกร้าวไว้ในที่นี้ว่าผมไม่คิดจะลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น

ความคิดเห็นที่จะแสดงฝากไว้ต่อไปนี้จึงไม่ใช่การหาเสียง แต่เป็นการแสดงความปรารถนาของประชาชนคนหนึ่งที่อยากจะฝากไว้เป็นประเด็นสำหรับช่วยกันคิดครับ

ตามความเข้าใจของผม สตรีตเฟอร์นิเจอร์ที่ขานชื่อมาแล้วข้างต้น ส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร

แต่ก็มีอีกหลายส่วนที่กระจายความรับผิดชอบไปอยู่ในหน่วยงานต่างๆ

ซึ่งโดยธรรมชาติของการแยกย้ายกันรับผิดชอบแบบนี้ เรื่องที่ควรจะ “ประสานงาน” กันได้ มักจะ “ประสานงา” กันอยู่เสมอ

และที่ผมเห็นว่าสนุกยิ่งขึ้น คือแม้แต่ในความเป็นกรุงเทพมหานครก็กระจายความรับผิดชอบออกไปหลายหน่วย หลายเรื่องไปอยู่ในความรับผิดชอบของเขตแต่ละเขตที่จะดูแลจัดการกันเอง

วิธีทำงานแบบนี้ มุมหนึ่งก็อาจจะเห็นว่าเป็นการดีเพราะได้กระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นในระดับเขต

แต่อย่าลืมว่าเงินเหรียญมีสองด้านเสมอ

ในอีกแง่มุมหนึ่งคือความสันทัดจัดเจนและความงามของแต่ละเขตในการดูแลสตรีตเฟอร์นิเจอร์ไม่เสมอเหมือนกัน

รสนิยมก็แตกต่างกัน และวิธีบริหารจัดการก็ไม่เหมือนกัน

ความแตกต่างกันและไม่เหมือนกันอย่างนี้อาจทำให้เกิดปัญหาได้มาก ถ้าเราไม่มีมาตรฐานกำกับดูแลในส่วนกลาง

เอาเรื่องเล็กๆ สักเรื่องหนึ่งไหมครับ

ผมเห็นมีการพูดกันถึงเรื่องนี้อยู่ในสื่อสาธารณะบ้างเหมือนกันเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้

จะเป็นเขตใดเขตหนึ่งในกรุงเทพมหานครนี่แหละ คิดจะทำเก้าอี้นั่งสำหรับประดับถนนและเป็นประโยชน์ใช้สอยสำหรับผู้คนที่เดินไปมาแล้วอยากจะนั่งลงพักผ่อนบ้าง ตามรูปภาพที่ปรากฏในสื่อที่ผมเห็นนั้น เป็นเก้าอี้ลักษณะม้านั่งยาว ทำด้วยโลหะคล้ายสเตนเลส ปลายทั้งสองข้างไม่ลบคมให้มนเกลี้ยง หากแต่หักเหลี่ยมมุมฉาก

เพียงแค่ที่เห็นก็น่าวิตกแล้วว่าอาจจะทำให้คนที่เดินไปมาเอาหน้าแข้งไปทะเลาะกับเก้าอี้ได้ง่ายๆ

ส่วนพื้นของเก้าอี้ซึ่งเป็นส่วนรองรับน้ำหนักผู้ที่นั่งบนเก้าอี้ก็ดี พนักที่พิงหลังก็ดี ผู้ออกแบบคงตั้งใจให้มีความสวยงามและมีลูกเล่น จึงใช้วิธีเจาะรูเล็กๆ พรุนไปตลอดทุกส่วน

ท่านผู้ออกแบบคงคิดถึงประโยชน์ในเรื่องทำให้ลมโกรกกระมัง ขณะที่ผมไพล่นึกไปถึงการดูแลรักษาความสะอาดของเก้าอี้ไม้ยาวตัวนี้ในวันข้างหน้า เพราะต้องไม่ลืมว่าบ้านเราอยู่คู่กันกับฝุ่นมาแต่ไหนแต่ไร เก้าอี้มีรูทั่วตัวอย่างนี้ฝุ่นรักมาก เพราะสามารถแฝงฝังตัวลงไปได้ตามรูตามช่องต่างๆ ได้ทุกอณู

แล้วใครจะตามไปล้างไปเช็ดครับ

การออกแบบสตรีตเฟอร์นิเจอร์ต้องนึกถึงเรื่องการดูแลรักษา ความคงทน การใช้งานที่จะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้น้อยที่สุดหรือไม่มีเกิดขึ้นเลย ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ละทิ้งความสวยงามด้วย

ตู้โทรศัพท์ที่ตั้งอยู่ริมถนนในกรุงเทพมหานครในยุคสมัยหนึ่ง มีหน้าตาหลากหลายเสียจนผมสับสนว่าของใครเป็นของใครกันแน่ แม้ของหน่วยงานเดียวกันก็ยังมีหลายรุ่น หลายสี

และที่สนุกมากคือแสนจะสกปรก และกว่าครึ่งค่อนใช้งานไม่ได้

ไม่รู้ว่าจนถึงทุกวันนี้ได้เก็บซากตู้โทรศัพท์เหล่านี้ไปพ้นจากถนนในกรุงเทพมหานครแล้วหรือยัง

ผมไม่แน่ใจนักว่าบรรดาสตรีตเฟอร์นิเจอร์ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครนี้ เมื่อออกแบบและจะจัดซื้อจัดจ้างแต่ละครั้ง แต่ละหน่วย มีใครรับผิดชอบดูแลเป็นกิจจะลักษณะที่เห็นภาพรวมของความเป็นเมืองมหานครของเราบ้าง

กาลครั้งหนึ่ง ป้อมตำรวจจราจรสำหรับควบคุมสัญญาณไฟตามสี่แยกต่างๆ มีผู้มีใจกุศลออกเงินสร้างให้ แต่ไหนๆ สร้างให้แล้ว มูลนิธิที่ออกเงินก่อสร้างขอติดป้ายแจ้งความหน่อยได้ไหมว่าเป็นผู้ออกเงินจำนวนนี้ให้หลวง ป้ายนั้นมีขนาดอะร้าอร่าม และทำให้ผมจำชื่อมูลนิธิดังกล่าวได้จนบัดนี้

เรื่องแบบนี้ผมไม่เคยเห็นในประเทศอื่นครับ

ซุ้มสำหรับตำรวจ ได้อาศัยร่มเงาหลบร้อนระหว่างปฏิบัติหน้าที่ซึ่งสร้างเป็นรูปหมวกตำรวจจราจรขนาดใหญ่ บางทีก็เป็นหมวกนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ของอย่างนี้ก็มองได้สองมุมเหมือนกัน จะมองว่าน่ารักน่าเอ็นดูก็ได้

หรือจะมองพร้อมกับเครื่องหมายคำถามว่าสอดคล้องกับภูมิทัศน์ของถนนทั้งสายหรือไม่ก็ได้

นี่ถ้าเป็นในบางประเทศ เขาคงทำประชาพิจารณ์กันน่าดูเลย ว่าจะอยากได้ซุ้มตำรวจแบบนี้หรือไม่

หลายปีมาแล้วผมเคยเดินทางไปที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ไม่รู้ล่ะว่าเขาบริหารจัดการอย่างไร แต่สตรีตเฟอร์นิเจอร์ของเมืองนั้นทั้งสวยและใช้งานได้สมประโยชน์จริงๆ สอดคล้องรองรับกันไปทั้งเมือง บาทวิถีก็มีขนาดกว้างขวางพอที่ผู้คนจะเดินสัญจรไปมาได้สะดวก มีที่นั่งหรือเก้าอี้วางไว้เป็นระยะสำหรับนั่งพักได้ใต้ร่มไม้ ผมยังไปนั่งอยู่เป็นนานสองนานเลย

ถ้าใครเคยไปเมืองปารีสมาแล้ว อาจจะนึกถึงป้ายที่เป็นงานศิลปะยุคอาร์ตนูโว บอกว่าตรงนี้เป็นทางลงสถานีรถใต้ดินที่เรียกว่าเมโทร Metro ซึ่งเค้าทำทั่วถึงกันหมดทุกสถานีในมหานครแห่งนั้น นี่ก็ถือว่าเป็นงานคลาสสิคได้เลยทีเดียว

สมัยนี้เมืองในต่างประเทศหลายเมืองและแม้แต่เมืองไทยของเราในหลายจังหวัด การวาดภาพประดับฝาผนังที่เรียกว่าสตรีตอาร์ต Street Art กำลังมาแรงและอาจจะสงเคราะห์เข้าไปในประเด็นที่พัวพันเกี่ยวเนื่องกับสตรีตเฟอร์นิเจอร์ด้วยก็ได้

เห็นไหมครับว่าเรื่องที่เรานึกว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องเล็กเลย

คำขวัญประจำกรุงเทพมหานครที่ขึ้นต้นว่า “กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง…” นั้น ผมไม่ขัดข้องอะไรหรอกครับ แต่อยากจะขอร้องว่ามนุษย์เดินดินอย่างเราอย่าปล่อยให้เทวดาท่านทำงานหนักอยู่ฝ่ายเดียวเลย

บ้านของเรา ถ้าเราไม่ช่วยกันแล้ว ใครจะช่วยดูแลครับ