วงค์ ตาวัน | สู่ปี 2563-ปีวิ่งไล่ลุง

วงค์ ตาวัน

การบ้านการเมืองในรอบปี 2562 ที่ผ่านมา เป็นการเมืองที่เปลี่ยนผ่านจากยุครัฐบาลรัฐประหารมาสู่รัฐบาลเลือกตั้ง แต่ก็เป็นรัฐบาลเลือกตั้งที่เรียกกันว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช. นั่นคือ แกนนำ คสช.ยังเข้ามานั่งกันพร้อมหน้าในรัฐบาลใหม่ อำนาจของ คสช.ก็ยังอยู่ต่อไปเพียงแต่แอบแฝงแนบเนียนขึ้น

โดยเฉพาะหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นนายกฯ ในรัฐบาลทหาร ก็มานั่งเป็นนายกฯ ในรัฐบาลเลือกตั้ง โดยไม่ต้องโดดลงสนามเลือกตั้งแต่อย่างใด แค่มีชื่อในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ

พอเลือกตั้งเสร็จ แม้พรรคพลังประชารัฐจะมีจำนวน ส.ส.เป็นอันดับ 2 รองจากพรรคเพื่อไทย แต่ก็มี 250 ส.ว.อยู่ในมือที่พร้อมจะโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ

อันแสดงให้เห็นว่า การเมืองในรอบปี 2562 หลังผ่านยุค คสช.มาสู่ยุคเลือกตั้ง ก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยสักเท่าไร

“เสียง ส.ว. 250 คนยังเหนือกว่าเสียง ส.ส.ที่ประชาชนหลายล้านลงคะแนนเลือกเข้ามา!!”

ขณะเดียวกัน หลังจากเลือกตั้ง 24 มีนาคมแล้ว สังคมไทยเราก็ต้องเผชิญกับการตีความกฎกติกาแบบพิสดาร ทำให้คะแนนเสียงเลือกตั้ง จำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรค สับสนอลหม่านไปหมด

สร้างปาฏิหาริย์กันอย่างโจ๋งครึ่ม เพียงเพื่อให้พลังประชารัฐได้เป็นรัฐบาล ให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป

จากนั้นการประคองเสียงในสภาของฝ่ายรัฐบาลก็สร้างงูเห่ากันอย่างโจ่งแจ้ง ผิดหลักการของการเมืองที่ดีอย่างสิ้นเชิง

“เรื่องที่ไม่ควรจะได้เห็นก็ได้เห็นกันอย่างไม่ปิดบัง”

นายกฯ เข้าถวายสัตย์โดยกล่าวคำปฏิญาณไม่ครบถ้วน ไม่ตรงตามรัฐธรรมนูญ ก็ตอบกันว่าไม่เป็นไร จากนั้นก็อยู่ได้ต่อไปหน้าตาเฉย

รัฐมนตรีถูกกล่าวหาว่าต้องคดียาเสพติดที่ต่างประเทศ ก็ตอบว่าไม่จริง แต่ไม่เคยแสดงพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความจริง ในฐานะรัฐบาลไม่เคยทำเรื่องไปยังรัฐบาลประเทศดังกล่าวเพื่อขอนำคำพิพากษามาเปิดเผยพิสูจน์ความถูกผิดกันให้กระจ่าง

รัฐบาลโหวตแพ้ฝ่ายค้านในสภา ก็ขอนับใหม่ แต่ลงเอยเป็นการลงคะแนนใหม่

หลังเจอฝ่ายค้านตอบโต้ด้วยการวอล์กเอาต์จนสภาล่ม 2 หน ก็ต้องระดมวิธีแก้ไขไม่ให้ล่มอีก ด้วยการปรากฏตัวของงูเห่าอย่างโจ่งแจ้ง จนโดนขับออกจากพรรคอนาคตใหม่ถึง 4 ราย

“รวมไปถึงอีกหลายต่อหลายกรณีที่บ่งชี้ว่า เป็นการเมืองที่ถอยหลังลงคลอง ย้อนไปสู่ยุคน้ำเน่าอย่างที่สุด เพียงเพื่อประคองให้รัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช.อยู่ต่อไปให้ได้ยาวนานที่สุด!”

ปัญหาก็คือ แล้วฝีมือการบริหารงานเล่า สภาพเศรษฐกิจที่นับวันยิ่งซบเซา ต่อให้ระดมการแจกเงินสารพัดโครงการ แต่เมื่อฐานรากของเศรษฐกิจวันนี้อ่อนแอ แจกเท่าไรก็หายวับ

รัฐบาลมีความมั่นคงอยู่ได้ยาวนาน แต่เศรษฐกิจปากท้องประชาชนนั้น ตรงกันข้าม

การเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2557 จนมามีรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 2562 ซึ่งก็คือการสืบทอดอำนาจต่อเนื่องกันมา ทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากม็อบนกหวีดเมื่อปลายปี 2556 ต่อเนื่องถึง 2557 ทำทุกอย่างให้เข้าสู่ทางตันเพื่อให้รถถังออกมา ประชาธิปไตยล้มคว่ำ

ข้ออ้างในตอนจัดม็อบชัตดาวน์ก็คือ ต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งก็คือยังไม่ต้องมีเลือกตั้ง ให้มีคณะรัฐประหารปกครองบ้านเมืองไปก่อน

รัฐบาลทหารอยู่ยาวนาน 5 ปี จึงกลับสู่ประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลางๆ มีเลือกตั้ง แต่ก็ได้รัฐบาลจากแกนนำ คสช.อยู่ต่อไป

“แล้วไหนล่ะ ที่เรียกกันว่าปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง ที่ทำให้บ้านเมืองเสียเวลาไปถึง 5-6 ปี”

เพราะวันนี้ได้รัฐบาลจากคณะแกนนำนกหวีดทั้งหมด ที่เรียกหาการปฏิรูปการเมือง

“แต่เราได้การเมืองที่ถอยหลัง ที่น้ำเน่าสุดๆ อยู่ในวันนี้!”

อันที่จริงก็เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะการเรียกร้องปฏิรูปการเมือง เรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่ใช่เป้าหมายหรือความตั้งใจที่แท้จริงแต่อย่างใด

แค่สร้างวาทกรรมเพื่อนำไปสู่เกมแย่งชิงอำนาจเท่านั้นเอง

โดยฝ่ายกลุ่มอำนาจเก่าเหล่าขุนศึกขุนนางที่ไม่อาจอยู่เฉยได้ หลังฝ่ายนักการเมือง ฝ่ายทุนเสรี เติบโตในทางการเมืองอย่างมาก นับจากมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540

จนต้องมีการปลุกม็อบเสื้อเหลือง นำไปสู่การรัฐประหาร 2549 เพื่อล้มทักษิณ ชินวัตร

เพื่อหยุดยั้งการเติบโตของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเสรี หยุดยั้งฝ่ายทุนนิยมเสรี

“เป้าหมายคือต้องนำการเมืองและบ้านเมืองถอยหลังกลับไปเหมือนการเมืองเมื่อ 30-40 ปีก่อนให้ได้ นั่นคือ มีประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ มีนายกฯ ที่มาจากคนในเครื่องแบบ”

หลังรัฐประหาร 2549 ที่ไม่สามารถหยุดเครือข่ายฝ่ายนักการเมืองประชาธิปไตยได้ จึงต้องมีม็อบนกหวีดเมื่อปี 2556-2557 ลงเอยเป็นรัฐประหารพฤษภาคม 2557

พร้อมกับเกิดรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อถอยหลังการเมืองให้ล้าหลังที่สุด

คำว่าปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง สรุปแล้วไม่ใช่การปฏิรูปให้ก้าวหน้า ไม่ทำให้การเมืองมีสาระ ทำให้ประชาชนเติบโต สร้างการเมืองที่มีคุณภาพ

แต่ปฏิรูปดังกล่าว คือการทำให้การเมืองถอยเข้าไปสู่ปลายสุดของถ้ำโบราณ เพื่อให้อำนาจอยู่ในมือฝ่ายอนุรักษนิยมการเมืองอย่างยาวนานที่สุด

มีคนอีกส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมม็อบนกหวีดเรียกหาปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ด้วยความเชื่อใสบริสุทธิ์ว่าอยากให้การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงพ้นจากมือกลุ่มทุนทักษิณ ไปสู่การเมืองที่มีคุณภาพ เป็นการเมืองในมือประชาชน หลงเคลิ้มไปกับคำปราศรัยของแกนนำบางคน

แม้ต่อมา เห็นแต่รัฐบาลทหาร ไม่เห็นวี่แววของการปฏิรูปการเมืองให้ยกระดับไปสู่สิ่งใหม่เลยแม้แต่น้อยนิด

แต่เมื่อเริ่มเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แล้วเกิดพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่

“กลายเป็นว่าพรรคอนาคตใหม่นี่แหละ ที่ชาวนกหวีดส่วนหนึ่งซึ่งปรารถนาการปฏิรูปการเมืองจริงๆ มองว่าใช่เลย!”

สร้างพรรคโดยปราศจากนายทุนใหญ่ ระบบหาเสียงเลือกตั้ง ใช้การปราศรัยชูความคิดนโยบายอันแหลมคม ไม่มีระบบหัวคะแนน ไม่มีซื้อเสียง

ทั้งชาวนกหวีดส่วนหนึ่งที่ปรารถนาการปฏิรูปการเมือง ทั้งบรรดาคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวการเมืองครั้งใหญ่ และคนรุ่นอื่นๆ ที่รักประชาธิปไตยเป็นพื้นฐาน แล้วมองเห็นแนวโน้มการเมืองที่เปลี่ยนแปลงจริง

แห่กันเลือกอนาคตใหม่ จนเข้าสภาถึง 80 เสียง มาเป็นอันดับ 3

“ลงเอยวันนี้ กลุ่มที่กุมอำนาจซึ่งได้ดิบได้ดีเพราะการเรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งโดยม็อบนกหวีดนี่แหละ กำลังทำทุกทางเพื่อทำลายพรรคนี้ให้ได้”

โดยที่กลุ่มอำนาจดังกล่าวเอง ทำการเมืองแบบล้าหลังสุดกู่

“ไม่สนใจแยแส ที่เคยเรียกหาการปฏิรูปการเมือง!?”

เอาเป็นว่า ปฏิบัติการกำจัดพรรคอนาคตใหม่เดินหน้าเต็มตัว ทำทุกวิถีทาง กระหน่ำทุกสารทิศ

จนบรรดาผู้สนับสนุนพรรคนี้รู้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ดังนั้น เมื่อมีกิจกรรมแฟลชม็อบ จึงแห่ไปร่วมกันล้นหลาม ล้นพื้นที่สกายวอล์ก ปทุมวัน

“นั่นคือการซ้อม”

เข้าสู่ปี 2563 สถานการณ์บ้านเมืองดูจะเข้าสู่ความร้อนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสภาพพิษเศรษฐกิจ ที่เริ่มมีการปิดโรงงาน เลิกกิจการต่างๆ มากมาย และฆ่าตัวตายหนีหนี้สินราวใบไม้ร่วง

เปิดฉากเดือนแรกมกราคม เข้าสู่บรรยากาศการพิจารณาว่าจะยุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ ทั้งคดีเงินกู้พรรค ทั้งคดีอิลลูมินาติอันพิสดาร

เข้าสู่บรรยากาศการเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของ 7 พรรคฝ่ายค้าน ที่เชื่อได้ว่ามีเรื่องให้ถลกกันมากมาย

“ที่น่าสนใจคือกิจกรรมที่มวลชนจะสามารถเข้าร่วมแสดงออกได้ด้วยตัวเอง นั่นคือการวิ่งไล่ลุง ในวันที่ 12 มกราคม”

เปิดฉากปี 2563 จึงเต็มไปด้วยเรื่องน่าสนใจจริงๆ!