นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ชนส่วนน้อยบนที่สูง

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นับแต่หลังยุคอาณานิคมเป็นต้นมา รัฐอุษาคเนย์ต่างพยายาม “กลืน” ชนส่วนน้อยบนที่สูงเหมือนกันหมด หากเป็นไปได้ ก็มักใช้นโยบายกวาดต้อนคนบนที่สูงให้ลงมาตั้งภูมิลำเนาบนที่ราบ หากเป็นไปไม่ได้เพราะจำนวนของชนส่วนน้อยมีมากเกินไปก็มักขยายแหล่งทำกินของคนพื้นราบขึ้นบนที่สูง จนบางครั้งประชากรอพยพจากพื้นราบมีจำนวนมากกว่าเจ้าของถิ่นเดิมเสียอีก

แต่ละรัฐให้เหตุผลแก่นโยบายเช่นนี้ต่างกัน เช่น เพื่อขจัดการปลูกฝิ่น, เพื่อสร้างพลเมืองที่มีความเท่าเทียมกันของชาติ, เพื่อรักษาระบบนิเวศน์บนที่สูง, หรือเพื่อพัฒนาชาวเขาซึ่งยังล้าหลังให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมคนกลุ่มอื่น แต่เหตุผลเบื้องหลังนโยบายเช่นนี้ไม่สู้จะต่างกันนัก พูดง่ายๆ ก็คือ ระแวงไม่ไว้วางใจประชากรกลุ่มนี้ เกรงว่าจะเป็นกำลังให้แก่ศัตรูทางการเมืองของรัฐ (เช่น รัฐไม่คอมมิวนิสต์กลัวคอมมิวนิสต์ รัฐคอมมิวนิสต์กลัวไม่คอมมิวนิสต์)

ฐานของความไม่ไว้วางใจนี้ก็เหมือนกันในทุกรัฐ เช่น ประชากรบนที่สูงมักสังกัดในกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างจากคนพื้นราบ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่อันคุมอำนาจรัฐไว้ ประชากรบนที่สูงมักตั้งภูมิลำเนาที่ห่างไกลการคมนาคมจนยากที่รัฐจะควบคุมได้ ประชากรบนที่สูงมักอยู่ในวัฒนธรรมที่ต้องเคลื่อนย้ายอยู่บ่อยๆ หรืออย่างน้อยก็มีสายสัมพันธ์กับคนในชาติพันธุ์เดียวกัน จนยากที่จะถูก “กักขัง” ไว้ในเส้นพรมแดนของรัฐได้ (ละเมิดจินตกรรมของความเป็นชาติในหมู่คนพื้นราบ ในขณะที่จินตกรรมนั้นก็ไม่กระทบต่อคนบนที่สูง)

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า คุณสมบัติเหล่านี้แหละที่ทำให้ชนส่วนน้อยบนที่สูงกลับเป็นที่ไว้วางใจของเจ้าอาณานิคม และมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมประชากรบนพื้นราบ ทหารส่วนใหญ่ในกองทัพพม่าของอังกฤษประกอบด้วยชาวกะฉิ่นและกะเหรี่ยง, เช่นเดียวกับตำรวจในสหพันธรัฐมลายูคือชาวอินเดีย, ทหารในกองทัพอินเดียตะวันออกของดัตช์คือชาวอัมบอยนา ไม่ใช่ชาวชวาหรือมลายู, ชาว “ผู้น้อย” ถูกฝรั่งเศสเกณฑ์เข้าไปเป็นทหารในกองทัพอินโดจีน ฯลฯ นี่ก็อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชนส่วนน้อยบนที่สูงไม่น่าไว้วางใจแก่รัฐชาติซึ่งเข้ามาแทนที่รัฐอาณานิคมหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

การเคลื่อนย้ายประชากรบนที่สูงลงสู่พื้นราบ เกิดขึ้นบ่อยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทั้งผ่านการบังคับโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือต้องสมัครใจเคลื่อนย้ายลงมาเองด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ตาม คนอายุสัก 40 ขึ้นไปในเมืองไทยคงเคยสัมผัสผ่านข่าวหรือผู้อพยพด้วยตนเองมาแล้วทั้งนั้น และไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พวกเขาได้รับความยากลำบากแสนสาหัส สูญเสียที่อยู่ที่ทำกินหรือว่าที่จริงคือสูญเสียวิถีชีวิตที่เคยดำรงอยู่มาหลายชั่วคน วิถีชีวิตคือแหล่งที่มาของประสบการณ์หรือความรู้ในการใช้ดำรงชีวิต ปราศจากวิถีชีวิตนั้น ประสบการณ์ความรู้เหล่านั้นก็สูญเปล่าใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้

ทุกคนกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือสำหรับการเอารัดเอาเปรียบของคนอื่นบนพื้นราบเท่านั้น

แม้ผมจะตระหนักดีถึงชีวิตที่พังพินาศของประชากรบนพื้นที่สูง ซึ่งถูกโยกย้ายให้ลงมาตั้งภูมิลำเนาในพื้นราบ แต่ไม่เคยรู้สึกได้ชัดเจน (โดยเฉพาะมิติทางสังคมและวัฒนธรรม) จนเมื่อได้อ่านงานศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ “ผู้น้อย” อันเป็นชนส่วนน้อยบนที่สูงของลาวในจังหวัดพงสาลี ซึ่ง รศ.Vanina Bout? ได้ศึกษาไว้ (ใน Mirroring Power)

“ผู้น้อย” (หรือภูน้อย, หรือผู้ที่แปลว่าคนตัวเล็ก, หรือผู้น้อยที่ตรงข้ามกับผู้ใหญ่ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับจะใช้วรรณยุกต์เสียงใดในภาษาลาว) เป็นนามชาติพันธุ์ที่ทั้งคนอื่นและประชาชนในชาติพันธุ์นั้นยอมรับว่าเป็นนามชาติพันธุ์ของตน แต่ภาษาของพวกเขาเป็นภาษาในตระกูลทิเบต-พม่า ใกล้กันมากกับภาษาอาข่า ทั้งชาวอาข่ายังอ้างว่าพอพูดกันรู้เรื่อง

เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรบนพื้นที่สูงกลุ่มอื่นในลาว อาจกล่าวได้ว่าพวกผู้น้อยมีสถานภาพสูงกว่ากลุ่มอื่นทั้งหมด เพราะเมื่อผู้น้อยอพยพหลบหนีการกดขี่ของพม่าเข้ามาตั้งภูมิลำเนาในลาวเมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 18 กษัตริย์หลวงพระบางได้ตั้งให้พวกผู้น้อยเป็นกองกำลังรักษาเขตแดนของตนในแถบพงสาลี มอบ “กงดิน” หรือเอกสารกำหนดขอบเขตของพื้นที่ซึ่งยกให้หัวหน้าพวกผู้น้อยตั้งทำมาหากินร่วมกับบริวาร และต้องส่งส่วยให้แก่หลวงพระบางทุกปี

ดังนั้น ผู้น้อยจึงถือตนว่าเป็นคนของกษัตริย์หลวงพระบาง มีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับกษัตริย์ ตอกย้ำด้วยพิธีกรรมนำเอา “กงดิน” โบราณซึ่งเป็นมรดกตกทอดกันมาออกกราบไหว้บูชา โดยมีโคตรวงศ์ซึ่งสืบทอดจาก “พญา” และ “เพี้ย” ที่ได้รับพระราชทานกงดินจากกษัตริย์เป็นผู้จัดและประกอบพิธีทุกปี

ผู้น้อยจึงต่างจากชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงอื่น ตรงที่พยายามเลียนแบบพวกลาวมานาน รวมทั้งนับถือพุทธอย่างออกหน้า แต่ก็ไม่ทิ้งศาสนาผีของตน ไม่ทิ้งในแง่อุดมการณ์และบุคลากรเช่นหมอผี, หมอไข้, ซึ่งมีบทบาททางพิธีกรรมตลอดมา รวมทั้งมีสถานะทางสังคมที่สูงกว่าพระเสียอีก

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์ลาวพยายามจะรวมชนชาติอันหลากหลายในประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว ด้วยการจัดให้ผู้น้อยเป็น “ลาวสูง” จึงไม่ทำให้ผู้น้อยพอใจนัก ได้เป็น “ลาว” ตามการกำหนดและรับรองของรัฐน่ะชอบใจ แต่ไปทำให้ผู้น้อยเป็นเท่ากับอาข่า, ม้ง, หรือข่านี่สิ ที่ผู้น้อยไม่ค่อยชอบ เพราะมองตนเอง “สูง” กว่าพวกนั้นตลอดมา เช่น อย่างน้อยพวกเขาก็เป็น “พุทธ”

จะเป็นเพราะใกล้ชิดกับลาวมากกว่ากลุ่มอื่นหรืออะไรไม่ทราบได้ สังคมของผู้น้อยซึ่งเป็นสังคมสืบสถานะและมรดกทางพ่อ (patrilineal) กลับเป็นสังคมที่จัดให้มีช่วงชั้นละเอียดซับซ้อน และยึดถือกันอย่างเคร่งครัด การจัดองค์กรเช่นนี้ไม่แต่เพียงใช้ประโยชน์ทางพิธีกรรมเท่านั้น แต่รวมถึงการจัดการทรัพย์สินสาธารณะและสิทธิที่ไม่เท่าเทียมกันในหมู่บ้านด้วย (รวมทั้งการอพยพเพื่อสร้างหมู่บ้านใหม่ เมื่อประชากรในหมู่บ้านเดิมหนาแน่นเกิน)

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ผู้น้อยในพงสาลีก็ต้องเผชิญนโยบายเคลื่อนย้ายลงพื้นราบของพรรคคอมมิวนิสต์ลาว ก่อนชนกลุ่มน้อยอื่น เพราะพงสาลีตกอยู่ในความปกครองของพรรคแนวลาวฮักซาดมาแต่นั้น

เพราะชาวผู้น้อยมีวัฒนธรรมและการจัดองค์กรทางสังคมที่สลับซับซ้อนเช่นนี้ เมื่อเคลื่อนย้ายลงจากที่สูง ไม่ว่าโดยสมัครใจหรือถูกบังคับ พวกเขาย่อมไม่สามารถนำเอาวัฒนธรรมและจัดองค์กรเช่นนั้นลงมาได้ เริ่มตั้งแต่หมู่บ้านไม่เคยเคลื่อนย้ายมาพร้อมกันทั้งหมู่บ้าน วัฒนธรรมและองค์กรเหล่านั้นตั้งอยู่ได้เฉพาะในความสัมพันธ์ของหมู่บ้านเดิม แม้ชาวผู้น้อยอาจอพยพมาอยู่ในละแวกเดียวกัน แต่ก็มาจากหลายหมู่บ้าน บางครั้งห่างไกลจากกันจนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน จากหมู่บ้าน (village) กลายมาเป็น “กลุ่มบ้าน” (hamlet) จึงเป็นธรรมดาที่ความสัมพันธ์แบบเดิมในหมู่บ้านย่อมไม่อาจถูกรื้อฟื้นขึ้นได้

ในหมู่บ้านบนที่สูง คนจนอาจ “ยืม” ข้าวจากครอบครัวโคตรวงศ์สูงซึ่งมีที่นาดีและกำลังคนมากมาบริโภคได้ในปีที่ขาดแคลน อย่างน้อยก็เพราะเป็นบริวารของพวกเขา แต่ในพื้นราบคนจนในกลุ่มบ้านต้อง “กู้” ข้าวจากคนมีมาบริโภคด้วยอัตราดอกเบี้ยข้าวที่สูงมาก ทำให้คนจนยิ่งยากลำบาก จนในที่สุดก็ต้องออกจากหมู่บ้านเพื่อหางานอื่นเลี้ยงชีพ กลุ่มบ้านยิ่งเกิดการสับเปลี่ยนประชากรสูงมากจนยากจะพัฒนาความสัมพันธ์เชิงเกื้อกูลกันอย่างในสังคมสมัยใหม่พึงมีขึ้นได้

ความมุ่งหวังของพรรคทั้งก่อนและหลังตั้งสาธารณรัฐประชาชน ก็คือทำให้ประชากรบนพื้นที่สูงยุติการทำ “ไร่เลื่อนลอย” แล้วหันมาทำนาลุ่มในพื้นที่ราบ แต่การเพาะปลูกทั้งสองอย่างต้องการทักษะความรู้ที่สั่งสมมานานและต่างกัน จนกระทั่งชาวผู้น้อยบนพื้นราบซึ่งถึงได้รับจัดสรรที่ดินเพื่อทำนาลุ่ม ก็ทำนาลุ่มไม่เป็น มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ถูกเคลื่อนย้ายมาอยู่ใกล้ชุมชนของไทลื้อ จึงได้เรียนรู้วิธีทำนาลุ่มจากชาวไทลื้อ

ผู้ศึกษาวิจัยได้พบคนในโคตรวงศ์ของกลุ่ม “เจ้าแผ่นดิน” (คือบรรพบุรุษได้รับสิทธิใช้ที่ดินจากเจ้าหลวงเมืองหลวงพระบาง) ในกลุ่มบ้านพื้นราบจำนวนมาก ที่ต้องมีชีวิตอยู่อย่างยากจนข้นแค้น เพราะลูกหลานไม่อยู่ด้วย เนื่องจากมีการศึกษาสูงกว่าคนทั่วไป (เช่น จบชั้นมัธยม) จึงพากันไปทำงานกับรัฐ และย้ายไปมีชีวิตอยู่ในเมืองห่างไกลพ้นไปจากเขตตะวันออกเฉียงเหนือของลาว แต่เงินเดือนที่ได้จากรัฐก็น้อยมาก เกินกว่าจะเลี้ยงดูพ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยาย และครอบครัวของตนเอง แม้แต่เดินทางกลับมาเยี่ยมก็สิ้นเปลืองเกินกว่าจะทำได้

บนพื้นที่สูง รัฐจำกัดขอบเขตของพื้นที่ในการทำไร่หมุนเวียน ทำให้จำเป็นต้อง “พักที่ดิน” (fallow) ในระบบหมุนเวียนสั้นลง ธาตุอาหารบนที่ดินซึ่งถูก “พัก” อยู่นั้นยังสะสมได้ไม่มากพอก็ต้องหมุนเวียนกลับมาใช้อีก ผลผลิตที่ต่ำอยู่แล้วของการทำไร่หมุนเวียนก็ยิ่งต่ำลงจนเกิดความอดอยากยากแค้นทั่วไปในหมู่บ้าน ผู้คนทนอยู่ต่อไปไม่ได้ โดยเฉพาะหนุ่มสาว พากันอพยพลงมาหางานทำในแหล่งที่พอมีการจ้างงานทั่วประเทศ ประชากรในหมู่บ้านก็ยิ่งร่อยหรอลง บางครอบครัวก็ตัดสินใจอพยพลงสู่พื้นราบหมด ครอบครัวที่จะทำเช่นนั้นได้ ก็คือครอบครัวที่พอมีทรัพย์สมบัติจะขายเพื่อสะสมทุนได้บ้าง ดังนั้น ยิ่งนับวันคนที่เหลือในหมู่บ้านคือคนจน ซึ่งเคยมีชีวิตรอดได้ด้วย “เครือข่าย” ที่เชื่อมโยงไปถึงคนมีซึ่งเป็นโคตรวงศ์ของชนชั้นสูงเดิม บัดนี้กลายเป็นครอบครัวโดดเดี่ยวที่ไร้เครือข่ายใดๆ อย่างสิ้นเชิง ยิ่งทำให้ชีวิตยากลำบากขึ้นอีกหลายเท่า จะอพยพหนีออกจากหมู่บ้านก็เกินกำลัง จะอยู่ต่อไปก็สิ้นเนื้อประดาตัว

ความพยายามของรัฐในภายหลังที่จะเปลี่ยนไร่หมุนเวียนบนที่สูงให้กลายเป็น “สวน” พืชเศรษฐกิจ เช่น ชา, กระวาน, หรือเลี้ยงปศุสัตว์ แต่พื้นที่สูงคือพื้นที่ห่างไกล ไม่มีเส้นทางคมนาคมไปถึงสะดวก ถึงจะปลูกพืชเศรษฐกิจเหล่านี้ได้ ก็ไม่มีตลาดอยู่นั่นเอง โครงการประเภทนี้จึงไม่ประสบความสำเร็จได้เพียงเพราะนำพืชเศรษฐกิจเข้าไปแนะนำ

เมื่อพูดถึงตลาดและเครือข่าย ทำให้จำเป็นต้องกล่าวไว้ด้วยว่า เรามักเข้าใจผิดว่าประชากรบนที่สูงต่างแยกกันอยู่ตามชนเผ่า โดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน แต่แท้จริงแล้วการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างกันมีมาแล้วแต่โบราณ และนั่นคือตลาดและเครือข่ายการค้าซึ่งเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ตามกำลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นจริง

ดังนั้น ความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นแก่ชุมชนของคนบนที่สูงโดยทั่วไป จึงเป็นผลให้ตลาดและเครือข่ายเหล่านี้พังสลายลงด้วย หากชาวผู้น้อยต้องการขายหมูของตน ก็ไม่อาจขายให้แก่ชาวอาข่าอีกแล้ว ต้องขนหมูลงมายังเมืองในพื้นราบซึ่งเกินกำลังของชาวผู้น้อย หรือรอจนกว่าพ่อค้าจากพื้นราบจะขึ้นไปซื้อในหมู่บ้าน ซึ่งย่อมกดราคาหมูลงต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพราะรู้อยู่แล้วว่าชาวผู้น้อยไม่มีตลาดทางเลือกอื่นอีก

ยังมีความทุกข์ยากอื่นๆ อีกมากที่เกิดแก่ชาวผู้น้อยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รัฐมีส่วนในการก่อให้เกิดขึ้น ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

แต่ที่พูดถึงเรื่องนี้ ไม่เจตนาที่จะบอกว่า ด้วยเหตุดังนั้นรัฐจึงไม่ควรไปเปลี่ยนอะไรกับเศรษฐกิจ-สังคมของประชาชนบนพื้นที่สูง ถึงรัฐไม่ทำอะไรเลย ระบบต่างๆ ของประชากรบนที่สูงก็ดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้ ในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแก่สังคมโดยรวมของรัฐชาติซึ่งประชากรบนที่สูงต้องสังกัด เช่น เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นด้วยอำนาจของการแพทย์แผนใหม่ซึ่งลดจำนวนของความตายในวัยทารกลงอย่างมากเช่นนี้ ไร่หมุนเวียนก็ดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้ เพราะไม่มีทรัพยากรพอจะหล่อเลี้ยง ในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นธรรมเช่นกันที่จะกักประชากรกลุ่มนี้ไว้ให้ไม่ได้รับโอกาสของการพัฒนาอย่างที่ประชากรกลุ่มอื่นในสังคมได้รับ

ปัญหาคือ เราจะเปลี่ยนพวกเขาได้อย่างไรโดยไม่ต้องผ่านความทุกข์ยากมากมายถึงขั้นนี้ ผมรู้สึกเสมอมาว่า (รู้สึกเพราะยังไม่ได้เก็บรวบรวมข้อมูลมากพอ) นโยบายและโครงการปรับเปลี่ยนประชากรบนพื้นที่สูง มักตั้งอยู่บนความรู้และความต้องการของคนพื้นราบ มากกว่าความรู้ความเข้าใจที่มีต่อพวกเขา แม้แต่โครงการวิจัยชาวเขาที่เคยทำในเมืองไทยมาก่อนก็เกิดจากสมมุติฐานของคนพื้นราบ (และ/หรืออเมริกัน) ว่าประชากรบนพื้นที่สูงอาจเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของรัฐได้ อะไรคือความมั่นคงของรัฐก็นิยามขึ้นโดยคนพื้นราบเอง (ทำลายป่าต้นน้ำลำธาร, ปลูกฝิ่น หรือเป็นคอมมิวนิสต์)

ดังนั้น หากกระบวนการเปลี่ยนผ่านของชุมชนบนที่สูงจะเกิดขึ้นโดยทำร้ายประชาชนที่นั่นน้อยหน่อย ก็น่าจะเกิดขึ้นได้จากการสร้างความรู้ความเข้าใจพวกเขาอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้หัวข้อ “ประโยชน์ของการวิจัย” ที่มุ่งจะรับใช้รัฐของคนพื้นราบเพียงอย่างเดียว