เทศมองไทย : ระดับหนี้ของไทย กับนัยสำคัญทางเศรษฐกิจ

หนี้ผู้บริโภค หรือที่นิยมเรียกกันว่าหนี้ครัวเรือนของไทย สั่งสมขึ้นจนอยู่ในระดับอันตรายแล้ว รีด เคิร์ชเชนบาวเออร์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อินเวสต์เอเชียน เตือนเอาไว้ในเว็บบล็อกของอินเวสต์เอเชียน เมื่อ 11 ธันวาคมที่ผ่านมานี้นี่เอง

เหตุผลสำคัญก็คือ ระดับหนี้สินภาคครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าระดับ 90 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าทรัพย์สินโดยเฉลี่ยของครัวเรือนทั่วประเทศแล้ว

หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มเร็วแบบพรวดพราดในช่วงระหว่างปี 2010 ถึงปี 2013 สาเหตุหลักเป็นเพราะโครงการลดภาษีสำหรับการซื้อรถยนต์ “รถคันแรก” กับการซื้อเพื่อการบริโภคในช่วงเวลาดังกล่าว

หลังจากนั้นอัตราความเร็วในการขยายตัวของหนี้ค่อยๆ ลดระดับลง เฉลี่ยแล้วเหลือเพียง 4.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีในปี 2018 เทียบกับอัตราการเพิ่มสูงเฉลี่ยปีละ 18 เปอร์เซ็นต์ในปี 2012 แล้วต่างกันกว่า 3 เท่าตัว

แต่ถึงแม้จะลดลงมากในช่วง 7 ปีหลังมานี้ หนี้ครัวเรือนของไทยก็ยังจัดอยู่ในระดับ “แย่ที่สุด” ในบรรดาชาติอาเซียนด้วยกันในปีนี้

และคาดว่าจะยืดเยื้อต่อไปจนถึงปี 2020 นี้อีกต่างหาก

 

ระดับหนี้ของไทยถึงถูกจัดอยู่ในระดับที่ “น่ากังวลอย่างจริงจัง” แล้วในตอนนี้ ในทัศนะของฟิตช์ อิบคา บริษัทจัดอันดับเครดิตระดับหัวแถวของโลก

ในความเห็นของฟิตช์ล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้บอกเอาไว้อย่างนี้ครับ

“ในขณะที่การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนชะลอลง ถือเป็นเรื่องในเชิงบวก ระดับหนี้สินสะสมก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะคงอยู่ในระดับสูงเมื่อประเมินในระยะสั้นและระยะปานกลาง ความต้องการเงินกู้ของผู้บริโภคยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) อย่างมีนัยสำคัญได้”

ผลจากการที่ระดับหนี้สินครัวเรือนทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่เห็นได้ชัดเจนประการหนึ่งก็คือ ผู้บริโภคชาวไทยจะ “อ่อนไหว” ต่อสภาพความอ่อนแอของเศรษฐกิจมหภาคมากกว่าปกติ

นั่นหมายความว่า กรณีนี้จะไม่กระไรนัก หากสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขยายตัวต่อเนื่องและอยู่ในระดับสูง แต่ผู้บริโภคจะรู้สึก “เดือดร้อน” มากเป็นพิเศษเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอยู่ในสภาพชะลอตัว หรือขยายตัวต่ำเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือปัญหาที่ฟิตช์เรียกว่า “การเสื่อมคุณภาพของทรัพย์สิน” ซึ่งอาจเรียกให้เข้าใจได้ง่ายกว่าว่า จะเกิดปัญหา “หนี้เสีย” เพิ่มมากขึ้น

ปัญหาหนี้เสียเหล่านี้จะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศว่าจะขยายตัวในอัตราสูงหรือต่ำแค่ไหนอย่างไรในอนาคต บวกกับภาวะว่างงานภายในประเทศ

ยิ่งจีดีพีขยายตัวน้อยเท่าใด ยิ่งมีคนว่างงานเพิ่มมากขึ้นเท่าใด หนี้เสียจะเพิ่มขึ้นมากเป็นเงาตามตัว

 

ภายใต้สถานการณ์นี้ ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ย่อมเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เปราะบางที่สุด มีโอกาสที่จะเดือดร้อนมากที่สุดกว่ากลุ่มอื่นใด

แต่ความเสียหายไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่นั้น ผลกระทบจะเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไปเหมือนกับโดมิโนที่ทยอยล้มลงต่อเนื่องกันเป็นทอดๆ

เมื่อภาวะหนี้สินส่อให้เห็นปัญหาในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ผสมผสานเข้ากับภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่จัดอยู่ในระดับอ่อนแอ ภาคธุรกิจที่จะได้ผลกระทบต่อเนื่องเป็นระลอกต่อมาคือภาคธุรกิจการธนาคารของประเทศไทย

ผู้ทำหน้าที่ปล่อยกู้ในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้กำหนดเงื่อนไขเข้มงวดมากมายนัก ทั้งในการปล่อยกู้เพื่อซื้อหาอสังหาริมทรัพย์ และการปล่อยสินเชื่อสำหรับรถยนต์ ผลก็คือ ทำให้ผู้บริโภคหลายล้านคนตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินมหาศาลแต่ไม่มีปัญญาจะชำระหนี้สินเหล่านั้นคืน

ปัญหาหนี้ดังกล่าวจะยิ่งรุนแรงและขยายวงมากขึ้นไปอีก หากกองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิงในอนาคต

การขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดเงินระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เพราะทำให้เงินทุนไหลกลับไปทำกำไรจากสินทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา เพื่อป้องกันเงินทุนไหลออกมากและเร็วเกินระดับที่เหมาะสม ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องทำเหมือนกับอีกหลายประเทศต้องทำ นั่นคือ ขึ้นดอกเบี้ยในประเทศตามสัดส่วนที่เหมาะสม

ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ ดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศจะสูงขึ้น และจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อผู้บริโภคชาวไทยและภาคการเงิน การธนาคารของไทยมากยิ่งขึ้นไปจากที่กำลังเดือดร้อนอยู่ไม่น้อยแล้วในเวลานี้ครับ

นี่คือเหตุผลสำคัญที่ผู้หลักผู้ใหญ่เขาสอนกันมาตลอดว่า ไม่มีหนี้ถือเป็นลาภอันประเสริฐนั่นเอง