เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | สืบมรรคาไทย

ไปดูโขน ตอน “สืบมรรคา” มาสนุกมาก

อยากให้คนไทยทุกวัยทุกรุ่นได้ดู และอยากให้ชาวต่างชาติทุกชาติได้ดูด้วย

เหมือนไปรัสเซียต้องไปดูบัลเล่ต์ ไปเวียดนามต้องไปดูหุ่นน้ำ ไปอเมริกาต้องดูละครบรอดเวย์ ไปญี่ปุ่นต้องดูละครโนะ พม่าดูหุ่นชัก ฯลฯ

มาไทยต้องดูโขน

เคยดูโขนกลางแปลงครั้งหนึ่งที่จังหวัดหนองบัวลำภู ราวปี พ.ศ.2554 โขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ซึ่งเป็นโขนกรมศิลป์ เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่ศูนย์วัฒนธรรม กทม.

ที่หนองบัวลำภูครั้งนั้นมีคนดูเต็มลานกลางแจ้งนับพันคน ได้ไปนั่งร่วมดูกับคุณยายและหลานตัวเล็กซึ่งหัวเราะสนุกสนานด้วยอารมณ์เดียวกันราวกับวัยเดียวกันนั่นเลย ถามคุณยายว่าเคยดูโขนมาก่อนไหม คุณยายตอบว่า

“ตั้งแต่เกิดมาก็เพิ่งเคยดูนี่แหละ”

เพราะฉะนั้น ที่ว่า “มาไทยต้องดูโขน” นั่นควรต้องแถมอีกประโยคว่า “คนไทยต้องดูโขน” อย่าให้ถึงขนาดปลุกเร้ารักชาติ คลั่งชาติว่า “เป็นไทยต้องดูโขน” เลย

แต่ “คนไทยต้องดูโขน” จริงๆ

สนุกสนานบันเทิงด้วยกันตั้งแต่ลูกหลานตัวเล็กไปจนถึงลุงป้าย่ายาย จบแล้วออกจากโรงก็ยิ้มแย้มให้กันเหมือนเป็นญาติมิตรร่วมทุกข์สุขมาด้วยกันนั่น

นี่คือเสน่ห์ของ “นาฏลีลา”

ครูเสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ เคยจัดแสดงโขนประจำทุกเดือนที่เวทีศูนย์สังคีตศิลป์ธนาคารกรุงเทพ ประทับใจกับโขนตอน “นางลอย” ซึ่งกระชับจับใจมาก โดยเฉพาะตอนพระรามโศกเมื่อหลงคิดว่าสีดาตาย

พระรามแสดงโดยไม่แสดงอะไรเลย แค่ยืนนิ่งอยู่หน้าเวที แสงสลัวมัว และเสียงเดี่ยวปี่ในเพลงพญาโศกเท่านั้น

เท่านี้จริงๆ ที่สะกดคนให้เงียบงันทั้งโรง แทรกเสียงสะอื้นจากบางคนกับหยาดน้ำตาคลอไหลอย่างเงียบๆ ได้จริง

ได้สัมผัสกับทำนองเพลงพญาโศกจากเสียงปี่อันเสมือนกังวานออกมาจากจิตวิญญาณ ปราศจากเสียงอื่นรบกวน

ดังเวทีทั่วไปที่มักแทรกเสียงบรรยายอธิบายเรื่องและความรู้สึก เหมือนกลัวว่าคนดูจะไม่รู้เรื่อง ซึ่งที่จริงจะไม่รู้เรื่องก็ด้วยเสียงแทรกบรรยายนี่แหละ

เสียงปี่เพลงพญาโศกล้วนๆ นี่ต่างหากที่ทำให้เราได้เพ่งพินิจภาพพระรามโศกในบรรยากาศที่ชวนให้ระลึกถึงเรื่องราวการพลัดพรากของพระรามและนางสีดา เช่นเราผู้เป็นมนุษย์ปุถุชนได้เคยพานพบพลัดพรากมาแล้วเช่นกัน

โขนตอน “สืบมรรคา” เป็นอีกตอนหนึ่งที่พัฒนาการแสดงด้วยฉากและเวทีให้ทันอกทันใจและทันยุคสมัยยิ่งขึ้น

มีฉากใหญ่ๆ เช่น หนุมานแปลงกายตัวโต เอาหางเป็นสะพานทอดข้ามน้ำกว้างให้กองทัพเดินข้ามได้ ฉากผีเสื้อสมุทรตัวโตอยู่กลางเวทีที่จำลองเป็นมหาสมุทรให้หนุมานเผ่นโผนผลุบเข้าปากแล้วผ่าทองแหวกพุงนางยักษ์โผล่ออกมา ดังบท

เมื่อนั้น นางผีเสื้อสมุทรยักษี

กายาใหญ่หลวงพ่วงพี อยู่ที่กลางสมุทรผุดขึ้นมา

ผันแปรแลเห็นวานร จะเหาะข้ามไปนครยักษา

กระเดาะปากกระดากลิ้นเหลือกตา ขึ้นขวางหน้าหนุมานด้วยฤทธี

โขนตอนนี้มีสองช่วง ดังเรียกเป็น “องก์”

องก์ 1 มีหกฉาก คือ พลับพลาสระบัว เมืองมายันเมืองร้าง แม่น้ำใหญ่ เขาเหมติรัน ถ้ำนอสัมพาที และกลางทะเล

องก์ 2 มีห้าฉากคือ รบนางอังกาศตไล ตำหนักในกรุงลงกา สวนขวัญกรุงลงกา รบอินทรชิต และลานประหารหน้าเมืองลงกา

มีพักครึ่งระหว่างช่วงหรือระหว่างองก์ด้วย

สืบมรรคา เป็นโขนตอนที่รวมตัวเอกในเรื่องรามเกียรติ์ไว้แทบทั้งหมด โดยเฉพาะพระราม พระลักษมณ์ นางสีดา ทศกัณฐ์ หนุมาน รวมทั้งตัวเอกในไพร่พลยักษ์ลิง

สืบมรรคาก็คือการส่งทหาร โดยเฉพาะหนุมานออกสืบเสาะ คือสืบค้นหาเส้นทางเข้าสู่กรุงลงกาก่อนยกทัพเข้าพิชิตเจ้าลงกาพาสีดากลับคืน

เขมานันทะ หีอ โกวิท เอนกชัย ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ เคยตีความเชิงถอดรหัสธรรมเรื่องรามเกียรติ์ ว่า คือการเดินทางของจิตที่แสวงนิพพานนั่นเอง

พระรามคือจิต สีดาคือนิพพาน

เหล่าสมุนพระรามคือตัวแทนของบรรดากำลังแห่งธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล

พญายักษ์ทั้งหลายคือสัญลักษณ์ของกิเลส ดังเรียกกิเลสมารนั้น เป็นฝ่ายอกุศล

ศึกระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ก็คือศึกของมนุษย์กับกิเลส อันมีนิพพานคือความดับสิ้นซึ่งกิเลสที่เป็นเหตุของทุกข์นั่นเอง

นักปฏิบัติธรรมที่เป็นสัมมาปฏิบัติ พิจารณาโขนรามเกียรติ์ก็จะถอดรหัสธรรมนำอธิบายได้ในทุกขั้นตอนจนอาจถึงบรรลุธรรมได้นั่นเลยทีเดียว

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยตีความว่า รามเกียรติ์เป็นมหากาพย์ของชนเผ่าอารยันในอินเดียเหนือ ทำสงครามเอาชนะชนเผ่าทมิฬในอินเดียใต้ ก่อนจะรวมเป็นประเทศอินเดียหนึ่งเดียวนี่เอง

จะอย่างไรก็ตาม คติพราหมณ์ที่มีเทพเป็นองค์มูรตินี้ก็เป็นหลักคิดใหญ่ในโลกตะวันออก มีอิทธิพลส่งถึงประเทศไทยเราให้แปรเป็นศิลปวัฒนธรรมหลากหลายจนกลายเป็นวิถีชีวิตแบบไทยๆ จนถึงปัจจุบัน

อันดูได้จากโขนไทย ที่คนไทยต้องดู