ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | ใช้ชีวิตอย่างมองเห็นแสงสว่างในคนอื่นตลอดเวลา

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

เราทุกคนอยู่ในโลกด้วยความฝันเรื่องอยากจะมีที่ทางของตัวเอง “ที่ทาง” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงที่ดินหรือพื้นที่ทางกายภาพ แต่หมายถึงความต้องการปักหมุดให้โลกเห็นว่าเราดำรงอยู่ในพื้นพิภพอันกว้างใหญ่ หรือพูดง่ายๆ เราปรารถนาให้โลกรู้ว่าเราเป็นใคร คิดอะไร และถึงที่สุดแล้วเรามีตัวตนในโลกใบนี้จริงๆ

สำหรับคนที่มีแสงสว่างในตัวเอง ไม่ว่าแสงสว่างจะมาจากตัวเองสร้างขึ้นมาจริงๆ หรือจะมาจากนามสกุลและทรัพย์สินเงินทอง การปักหมุดให้มีที่ทางในโลกกว้างนั้นไม่ใช่เรื่องยากมากนัก ตรงกันข้ามกับคนที่ชีวิตอยู่ในมุมมืดซึ่งห่างไกลแสงสว่างเหลือคณานับ วาบเดียวของประกายแสงอาจเป็นเรื่องยากเหลือเกิน

ในยุคที่ยังไม่มี “โซเชียล” หนทางที่ใครสักคนจะสร้าง “ที่ทาง” คือเอาตัวเองไปอยู่ในจุดที่แสงสว่างจากสังคมส่องมากที่สุด การปรากฎตัวในงานสังคมเพื่อให้ช่างภาพจากนิตยสารหรือทีวีบันทึกภาพไปเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ กลายเป็นเรื่องที่คนบางกลุ่มใช้อย่างกว้างขวางจนเป็นต้นกำเนิดของคำว่าเซเลบริตี้ขึ้นมา

เมื่อโลกมีประดิษฐกรรมที่เรียกว่า “โซเชียล” วิถีทางที่ใครสักคนจะสร้าง “ที่ทาง” ก็ดูจะง่ายขึ้นตามไปด้วย โซเชียลทำให้ทุกจุดในสังคมมีโอกาสเป็นวาบเดียวของประกายแสงได้เหมือนกันหมด ความต้องการมี “ที่ทาง” จึงทำให้ “โซเชียล” กลายเป็นเส้นทางสร้างความหมายในชีวิตให้หลายคนมีชีวิตที่มีค่าขึ้นมา

เราทุกคนมีหนทางทำให้โลกตระหนักถึงการดำรงอยู่ของเราไม่เหมือนกัน นักวิชาการเรียกเรื่องนี้ว่า “อัตลักษณ์” ซึ่่งหมายความว่าเราทุกคนมีวิถีทางสร้างอัตลักษณ์ให้โลกเห็นต่างกัน

บางคนสร้างอัตลักษณ์บนความแจ่มชัดว่าตัวเองคือใคร ขณะที่บางคนสร้างอัตลักษณ์โดยวิธีบอกว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่นอย่างไร

ถึงที่สุดแล้ว เราแต่ละคนมีมุมมองที่แตกต่างกันว่าคุณค่าของคนเราและตัวเราขึ้นอยู่กับอะไร มนุษย์บางประเภทป็นคนที่ชัดแจ้งว่าคุณค่าของตัวเองคือการเดินไปสู่ความเป็นคนที่เขาและเธอเชื่อว่าควรเป็นที่สุด ขณะที่คนบางประเภทเชื่อว่าคุณค่าขึ้นอยู่กับการถูกโลกเห็นอย่างที่เราคิดไปเองว่าโลกต้องการให้เราเป็น

ในภาพยนตร์ A Beautiful Day in the Neighborhood ซึ่งแปลงจากเรื่องจริงของเฟรด โรเจอร์ พิธีกรรายการ Mister Roger’s Neighborhood ที่ออกอากาศช่องทีวีสาธารณะของอเมริกา ค.ศ.1968-2001 หรือ พ.ศ.2511-2544 ปัญหาเรื่องอัตลักษณ์และคุณค่าถูกนำเสนอราวประภาคารสู่การคิดว่าอะไรคือชีวิตที่ดี

ภาพจาก House Samyan

เฟรดทำรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน เขาไม่ได้เป็นแค่พิธีกร แต่ยังแต่งเพลง ร้องเพลง อำนวยการผลิต เล่นละครหุ่น ฯลฯ ที่เป็นกระดูกสันหลังของรายการทั้งหมด รายการจึงสะท้อนตัวตนของเฟรด กล่าวอีกนัยคือเฟรดเอาตัวตนตัวเองใส่ในรายการเด็กซึ่งมีอายุยาวนานถึง 38 ปี หรือสองปีก่อนเขาตาย

A Beautiful Day in the Neighborhood เล่าเรื่องผ่านการเผชิญหน้าของเฟรดกับผู้สื่อข่าวนิตยสารเอสไควร์ชื่อลอยด์ โวเกล ซึ่งแปลงมาจากผู้สื่อข่าวมือรางวัลของเอสไควร์และแอนแลนต้าชื่อทอม จูโนต์ ที่สัมภาษณ์เฟรดจนเกิดบทความชื่อ Can You Say…Hero? หรือ “เรียกคนแบบนี้ว่าวีรบุรุษก็ได้” ในปี 1998

ภาพจาก House Samyan

เฟรดสร้างรายการทั้งหมดในฉากซึ่งเป็นบ้านจำลองที่ตัวละครเป็นหุ่นมือไม่กี่ตัว รูปแบบรายการคือเฟรดเปิดประตูเข้าบ้าน เปลี่ยนชุดทำงานเป็นชุดลำลอง ร้องเพลง Won’t You Be My Neighbor? หรือ “มาเป็นเพื่อนบ้านกันมั้ย?” ซึ่งมีเนื้อร้องทั้งหมดสี่ท่อน แต่ทั้งหมดมีใจความเดียวกันคือเรามาเป็นเพื่อนกันได้มั้ย

รูปแบบและเนื้อเพลงในรายการเฟรดไม่มีอะไรเร้าใจเมื่อเทียบกับทีวีหรือ “โซเชียล” ปัจจุบัน เฟรดพูดคนเดียวหน้ากล้อง ไม่ก็คือมีนักแสดงหรือแขกพูดกับเฟรดหรือหุ่นหน้ากล้องไปเรื่อยๆ ส่วนเนื้อเพลงวนเวียนแต่การบอกว่าฉันอยากมีเพื่อนบ้านแบบคุณมานานแล้ว มาอยู่บ้านติดกันได้หรือเปล่า ฯลฯ ตลอดเวลา

เพื่อให้เห็นภาพยิ่งขึ้น เฟรดทำรายการซึ่งถ้าออกอากาศในไทยคงโดนคนบางประเภทโจมตีว่า “โลกสวย” หรือกระทั่ง “สลิ่ม” เพราะเนื้อหาสาระทุกตอนพูดถึงความดีงามของชีวิตและการทำชีวิตวันนี้ให้ดีที่สุด เนื้อเพลงที่ดูซ้ำซากแสดงถึงมุมมองที่เห็นความดีงามในมนุษย์คนอื่นจนอยากเป็นเพื่อนบ้านด้วยกันทุกวัน

การเผชิญหน้าระหว่างสองคนเกิดเมื่อเฟรดอายุ 70 ส่วนลอยด์อายุ 40 มุมมองที่หนังเล่าผ่านลอยด์จึงเป็นมุมมองที่คนหนุ่มมองเฟรดด้วยสายตาเย้ยหยัน ลอยด์เห็นว่าการที่ผู้สื่อข่าวมือรางวัลอย่างเขาต้องสัมภาษณ์คนแก่ทำรายการเด็กคือความตกต่ำทางวิชาชีพ และทุกสิ่งที่เฟรดทำคือความเฟคเพื่อกล่อมประสาทสังคม

การสัมภาษณ์เฟรดครั้งแรกจบในเวลารวดเร็ว เฟรดเป็นฝ่ายถามลอยด์จนลอยด์ไม่มีอะไรไปเขียน ส่วนการนัดหมายครั้งอื่นก็คล้ายกัน เฟรดให้ลอยด์พูดเรื่องตัวเอง ความขัดแย้งขั้นต่อยกับพ่อ ความร้าวฉานขั้นไม่ให้พ่อเข้าบ้าน ฯลฯ จนคนดูเห็นว่าเฟรดคิดอะไรและเป็นคนแบบไหนผ่านวิธีที่เขาฟังเรื่องลอยด์

บนเส้นทางของการสนทนาระหว่างเฟรดกับลอยด์ ลอยด์พบว่าขณะที่เขามองคนที่พูดเรื่องความดีงามแบบเฟรดเป็นตัวตลก หรือกระทั่งสงสัยว่าเฟรดมีอะไรป่วยไข้ในจิตใจ สิ่งที่ลอยด์ค้นพบคือ “สาร” ที่เฟรดส่งสู่สังคมนั้นมีคนตอบรับอย่างเหลือเชื่อ ต่อให้ลอยด์อาจจะคิดว่าเป็นเรื่อง “โลกสวย” หรือ “สลิ่ม” ก็ตาม

ในฉากหนึ่งที่เปลี่ยนมุมมองของ “คนรุ่นใหม่” อย่างลอยด์โดยสิ้นเชิง ลอยด์แปลกใจที่เห็นคนดังอย่างเฟรดกลับบ้านด้วยรถไฟใต้ดินในนิวยอร์คแบบคนธรรมดา

จากนั้นเด็กเล็กและพ่อแม่เห็นเฟรด สักพักทุกคนร้องเพลงที่เฟรดร้องเปิดรายการ และในที่สุดรถไฟทั้งขบวนก็ห่อหุ้มด้วยความอบอุ่นที่ผู้ชมส่งให้คนทำทีวี

พลังของตัวละครแบบเฟรดและเฟรดในชีวิตจริงๆ มาจากความเชื่อมั่นในความดี แต่ในสังคมที่คนบางกลุ่มเหยียดหยามคำว่า “ความดี” ให้เป็นแค่ “วาทกรรม” ของพวกคลั่งศาสนาหรือ “สลิ่ม” และพวกดัดจริตคลั่งศีลธรรม เฟรดคิดถึง “ความดี” ในความหมายของการมองเห็นว่ามนุษย์แต่ละล้วนมีคุณค่าในตัวเอง

ผู้ชมในยุค “โซเชียล” อาจอึดอัดที่เฟรดพูดราวไม่สนใจเรื่องเวลา แต่ในที่สุดเราจะเห็นว่าวิธีพูดแบบนี้แสดงความใส่ใจที่เฟรดต้องการให้ “สาร” ไปถึงผู้ฟังให้มากที่สุด เฟรดเห็นว่าเด็กแต่ละคนมีคุณค่า เขาไม่ได้พูดเพื่อให้คนฟัง แต่เขาพูดเพื่อให้แต่ละคนรู้สึกถึงความมีคุณค่าในตัวเองโดยเอาใจใส่ทุกคนตลอดเวลา

เฟรดในชีวิตจริงเป็นผู้ก่อตั้ง “ทีวีสาธารณะ” ของอเมริกา คำชี้แจงเพื่อให้รัฐสภาอนุมัติงบประมาณแสดงอุดมคติคนทำสื่อที่น่านับถือจนถึงบัดนี้ วุฒิสมาชิกถามเฟรดว่าทำไมรัฐต้องให้งบหลายพันล้านทำทีวี เฟรดตอบว่าเพราะสังคมต้องมีสื่อที่ทำให้เด็กเป็นผู้ใหญ่ที่เชื่อว่าตัวเองมีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ความอัศจรรย์ของเฟรดคือการมองเห็นคุณค่าของคนอื่นจนมีชีวิตที่แสดงความเคารพผู้อื่นออกมาตลอดเวลา เฟรดทำรายการที่คุยกับเด็กจนเด็กเห็นความสำคัญของความเป็นพลเมือง ความอดกลั้น การแบ่งปัน การยอมรับว่าคนเราทำผิดได้ การให้อภัย ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นจริยศาสตร์ที่สำคัญต่อสังคมทุกสมัยจนปัจจุบัน

ตรงข้ามกับความคิดว่ารายการเด็กต้อง “โลกสวย” เฟรดพูดถึงความเจ็บปวดในชีวิตจริงของเด็กด้วยมุมมองที่ทำให้แต่ละคนมองเห็นคุณค่าของตัวเองจนทุกอย่างในชีวิตคือ “ความพิเศษ” เขาบอกว่าเราแต่ละคนล้วนไม่เหมือนใคร ทุกคนเป็นคนพิเศษตั้งแต่ต้น เราทุกคนมีคุณค่า ไม่ว่าสถานะทางสังคมจะเป็นเช่นไร

แน่นอนว่าชีวิตและมุมมองแบบนี้อาจถูกคนบางจำพวกหมิ่นแคลน เฟรดพูดในหนังว่าเขารู้ว่าบางคนเอาเขาไปล้อเป็นตัวตลก แต่สิ่งที่ผู้ชมจะสัมผัสได้คือเฟรดคิดแบบนั้นจริง มุมมองแบบเฟรดมีคุณค่า และการเห็นคุณค่าของมนุษย์คือสาเหตุให้รายการเฟรดมีอายุเกือบสี่สิบปีโดยที่แทบไม่เปลี่ยนรูปแบบอะไรเลย

ในสังคมที่ปัจเจกชนแต่ละคนถูกลดคุณค่าให้เป็นแค่ “ผู้บริโภค” หรือ “ประชาชน” แบบเหมาเข่ง A Beautiful Day คือหนังที่บอกว่าเราทุกคนต่างกัน แต่ความต่างคือสิ่งที่ทำให้เราแต่ละคนพิเศษ สิ่งที่เราพึงทำคือการมองเห็นคุณค่าของคนอื่นจนอยู่ร่วมกันโดยรับฟังและเอาใจใส่ จากนั้นสังคมสันติก็จะเกิดตามมา

ท่ามกลางประเทศที่ความขัดแย้งทางการเมืองทำให้ความเชื่อมั่นในทุกสถาบันต่ำลง ท่ามกลางการเติบโตของความเชื่อว่าการสร้าง “ที่ทาง” คือการทำให้ตัวอยู่สูงโดยเหยียบคนอื่นให้ต่ำ ภาพยนตร์เรื่อง A Beautiful Day in the Neighborhood บอกเราว่ามนุษย์โดยเนื้อแท้แล้วมีค่า ไม่ว่าจะเป็นใครหรือสถานะใด

สำหรับคนที่เชื่อเรื่องความเท่าเทียมของมนุษย์จนต้องการสร้างสังคมที่เสมอภาคจริงๆ ภารกิจที่พึงทำไม่ใช่การพร่ำด่าคนอื่นเพื่อยกตัวเองให้สูงในนามต่างๆ แต่คือการฝึกฝนหลักจริยะในการฟังและเอาใจใส่ผู้อื่นให้สมกับคุณค่าที่มีในมนุษย์แต่ละคน และนั่นคือจริยศาสตร์ร่วมสมัยซึ่งควรได้รับการฟื้นฟูขึ้นในสังคม

อำลาปีเก่า 2562 เดินหน้าสู่ปีใหม่ 2563 ขอให้ปีนี้เป็นปีที่ดีสำหรับทุกคน รวมทั้งสำหรับประเทศไทย