ประชาชนสิ้นหวังต่อความเชื่อมั่นในอำนาจของตัวเอง ?

“สิ้นศรัทธาในตัวเอง” เฟื่องฟู

แก่นแกนที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยหยัดยืนอยู่ได้คือ “ประชาชนศรัทธาในอำนาจของตัวเอง”

ประชาธิปไตยในความหมาย “อำนาจของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกเสียจาก “ประชาชนต้องเชื่อมั่นในอำนาจตัวเองว่าเป็นเครื่องมือที่จะจัดการเพื่อนำความสุขมาสู่การอยู่ร่วมกัน”

เป็นความเชื่อมั่นในอำนาจตัวเองอย่างพร้อมที่จะเชื่อมั่นในอำนาจคนอื่น อันหมายถึงสภาวะจิตที่เปี่ยมด้วยสำนึกแห่งความเท่าเทียม

ไม่สร้างอัตตาตัวตนขึ้นมากำหนดใคร และไม่ยอมให้ใครสร้างอัตตาตัวตนขึ้นมากำหนดเรา เป็นการอยู่ร่วมยืนหยัดกับประนีประนอมหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว

ส่วนแก่นแกนของอำนาจเผด็จการนั้น ก่อรูปขึ้นด้วยสำนึกซึ่งไร้ความสามารถที่จะศรัทธาต่อตัวเอง ดิ้นรน ค้นหาสิ่งที่คิดว่าจะช่วยตัวเองได้ ไขว่คว้าเอามาเอายึดเกาะพึ่งพาด้วยไม่เชื่อว่าตัวเองจะดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง

ไม่ศรัทธาตัวเอง ย่อมไม่ศรัทธาในมนุษย์

จากนั้นขยายสำนึกแห่งสภาวะไร้ศรัทธาตัวตนนั้นก่อเกิดเป็นอัตตามุ่งบงการเพื่อนำชีวิตอื่นร่วมสังเวยความงมงาย

ว้าเหว่เกินกว่าจะยืนหยัดด้วยตัวเอง

จึงทางหนึ่งมุ่งสร้างอำนาจที่ไม่ใช่ศรัทธาในมนุษย์ อีกทางหนึ่งทำลายไล่ล้างผู้เชื่อมั่นในมนุษยชาติด้วยเห็นว่าเป็นอันตรายระบบที่ตัวเองยึดถือ

รูปธรรมของยุคนี้ ที่เชื่อมต่อกับ “ศรัทธาต่อตัวเอง” อันหมายถึง เชื่อในอำนาจของประชาชน เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎร

ด้วยธรรมชาติแห่งลัทธิไม่ศรัทธาต่อมนุษยชาติ จึงไม่แปลกใจที่ในยุคสมัยเช่นนี้ “สภาผู้แทนราษฎร” จะถูกกระทำให้ประชาชนสิ้นศรัทธาในทุกวิถีทาง

ระหว่างแนวทาง “ศรัทธาต่ออำนาจประชาชน” กับ “ไม่ศรัทธาต่อความสามารถของมนุษยชาติ”

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ทำให้คิดถึงคำตอบของยุคสมัยได้อยู่ลางๆ ว่าจะพากันไปในทิศทางไหน

เมื่อถามว่าเห็นอย่างไรกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ล่มบ่อยครั้ง เพราะไม่ครบองค์ประชุม

ส่วนใหญ่คือร้อยละ 54.13 ตอบว่า สภาล่มบ่อยทำให้ประชาชนเบื่อหน่าย และเกิดความเสื่อมศรัทธา, ร้อยละ 33.02 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเล่นเกมการเมืองกันมากเกินไป, ร้อยละ 23.49 บอกเป็นเรื่องธรรมดาทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นทุกยุคสมัย, ร้อยละ 19.92 เห็นว่า ส.ส.ไม่ค่อยเข้าประชุม ทำงานไม่คุ้มกับเงินเดือน

เมื่อถามว่า ควรแก้อย่างไร ร้อยละ 45.08 ให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่, ร้อยละ 23.25 ให้คนที่ไม่อยากเข้าประชุมลาออกไป, ร้อยละ 20.08 ให้ประกาศชื่อ ส.ส.ที่ไม่เข้าประชุม

หากได้ติดตามความเป็นไปถึงสาเหตุที่ทำให้สภาล่ม ย่อมรับรู้ได้ไม่ยากว่าต้นทางมาจาก “ฝ่ายบริหาร” ไม่ยอมรับผลการลงมติของ ส.ส. และเดินเกมให้ลงคะแนนใหม่ กระทั่ง ส.ส.ฝ่ายค้านเลือกที่ไม่เข้าประชุมเพราะรับกับการไม่ยอมรับมติของที่ประชุมที่ฝ่ายรัฐบาลแสดงออกไม่ได้

แต่กลับกลายเป็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า “ส.ส.” อันเป็นตัวแทนอำนาจประชาชน ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา

นั่นหมายถึงการทำให้ “สภาผู้แทนราษฎร” อันเป็นสถาบันหนึ่งเดียวในยุคสมัยยนี้ที่โยงกับอำนาจประชาชน ตกเป็นจำเลย

การก่อกระแสให้ประชาชนสิ้นหวังต่อความเชื่อมั่นในอำนาจของตัวเอง และประสบความสำเร็จ

และนั่นหมายถึง แนวโน้มความเฟื่องฟูของ “ลัทธิไม่ศรัทธาต่อมนุษยชาติ”