เกษียร เตชะพีระ | ดุษฎีนิพนธ์ที่เหมือน “สุลักษณ์ ศิวรักษ์” ที่มีเชิงอรรถ (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

ในฐานะแนวคิดใหม่ซึ่งคุณอาสา คำภา คิดประดิษฐ์ขึ้นและมีบทบาทสำคัญยิ่งถึงขั้นที่เป็นปัจจัยหลักหรือตัวแปรต้น (independent variable) ในการวิเคราะห์พลวัตและอธิบายความคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์ทางการเมืองไทยในดุษฎีนิพนธ์ของเขาเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ.2495-2535” (ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, พ.ศ.2562)

เราจึงพึงตั้งคำถามเกี่ยวกับ ฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำไทย (Thai elite consensus) ที่เป็นคำอธิบายหลักของคุณอาสาดังกล่าวว่ามันมาจากไหน? กำเนิดขึ้นได้อย่างไร? จากอะไร? มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นว่าตัวการหลักที่คอยให้คำอธิบายเฉลยไขเรื่องราวต่างๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยกลับไม่ได้ถูกอธิบายเสียเอง

ในที่นี้ผมใคร่ลองเสนอคำอธิบายทางรัฐศาสตร์เกี่ยวกับที่มาของฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำไทย เสริมเติมจากที่คุณอาสาได้อธิบายไว้ในดุษฎีนิพนธ์แล้ว

แน่นอนว่าคงยากที่จะค้นพบตัวบุคคลหรือคณะบุคคลผู้กระทำการ (agent) ในหมู่ชนชั้นนำไทยที่เปล่งประกาศออกมาจริงๆ อย่างเป็นงานเป็นการในทำนองว่า “ชนชั้นนำไทยที่รักทั้งหลาย ที่ข้าพเจ้าเชิญพวกท่านมาร่วมชุมนุมกันในวันนี้ ก็เพื่อเสนอว่าฉันทามติของพวกเราควรเป็นเช่นนี้คือ….” – อย่างน้อยคุณอาสาก็มิได้กล่าวถึงไว้ในดุษฎีนิพนธ์

การแสวงหาคำอธิบายเกี่ยวกับ ฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำไทย จึงน่าจะเป็นไปในเชิงโครงสร้าง (structure) มากกว่า กล่าวคือ มีโครงสร้างอะไรในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยสมัยใหม่ที่เอื้ออำนวยให้เกิดและผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องยั่งยืนซึ่งฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำไทยดังกล่าว?

ผมคิดว่าโครงสร้างที่ว่าได้แก่รัฐราชการไทย (Thai bureaucratic polity) ในฐานที่มันเป็นโครงสร้างการเมืองการปกครองซึ่งห้อยต่องแต่งตกค้างอยู่ในช่วงเปลี่ยนไม่ผ่าน (non-transition) อันยืดเยื้อยาวนานระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สิ้นสุดลงเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 กับลัทธิชาตินิยมของประชามหาชนที่การเมืองไทยไปไม่ถึงฝั่ง

ทว่ากลับเกิดสภาพที่กลไกรัฐ (ชนชั้นนำในระบบราชการหรือ bureaucratic elite) เข้ากุมอำนาจอธิปไตยเสียเอง แทนที่จะเป็นแค่ “ข้าราชการ” หรือเครื่องมือทางการเมืองการปกครองของพระมหากษัตริย์แต่เดิมในระบอบสมบูรณาฯ และแทนที่จะเป็นแค่ “ข้าราษฎร” หรือเครื่องมือทางการเมืองการปกครองของประชาชนในระบอบรัฐสภาประชาธิปไตย

ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้รัฐราชการไทยอาจกุมอำนาจบังคับควบคุมสังคมไว้ได้ในทางเป็นจริง แต่ก็ย่อมประสบปัญหาขาดความชอบธรรมเรื้อรัง – กล่าวคือ ไม่อาจอ้างความชอบธรรมตามประเพณี (traditional legitimacy) เยี่ยงพระมหากษัตริย์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ในระบอบสมบูรณาฯ และก็ไม่อาจอ้างความชอบธรรมตามหลักเหตุผลและกฎหมาย (rational-legal legitimacy) อย่างผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งมาโดยชอบในระบอบประชาธิปไตย

จึงก่อเกิดเป็นระบบนิรนาม (nameless system) ซึ่งปราศจากหลักความชอบธรรมที่แท้ทั้งภายในและภายนอกให้อ้างอิงเป็นฐานที่มาแห่งอำนาจในท้ายที่สุดได้

สภาพเช่นนี้คือปมเงื่อนที่มาแห่งเกลียวสัมพันธ์ทางอำนาจ (power nexus) ระหว่างกองทัพกับสถาบันกษัตริย์ในรัฐราชการไทยในลักษณะหยิบยืมความชอบธรรม (borrowed legitimacy)

ดังที่รัฐบุรุษอาวุโส อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน – ต่างกรรมต่างวาระกันและโดยมิได้นัดหมาย – ต่างก็ใช้อุปมาอุปไมยความสัมพันธ์ระหว่างโชกุนกับพระจักรพรรดิของญี่ปุ่น มาอธิบายปมเงื่อนความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างผู้นำกองทัพกับสถาบันกษัตริย์ไทย ในงานเรื่อง “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” (พ.ศ.2516) ของท่านแรก และ “บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม” (พ.ศ.2520) ของท่านหลังตามลำดับ

และดังที่สะท้อนถ่ายทอดออกมาอย่างน่าสนเท่ห์ในตอนหนึ่งของบทกวีเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” ของนายผี (อัศนี พลจันทร, แต่ง พ.ศ.2495) ว่า :

“ฝ่ายหนึ่งเฝ้าปลุกผี จะให้โลดกำแหงหาญ

ฝ่ายหนึ่งขนาบศาล สำหรับล่อให้คนหลง”

และหากพิจารณาลักษณะเฉพาะของระบบราชการสมัยใหม่ (modern bureaucracy) ที่สยามนำเข้ามาจากโลกตะวันตก ซึ่งเน้นการแบ่งงานกันทำตามความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะเป็นกระทรวงทบวงกรมแผนกต่างๆ เหมือนดังการแบ่งเป็นคณะภาควิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยด้วยแล้ว มันย่อมส่งผลก่อรูปตีกรอบโลกทัศน์ อำนาจและผลประโยชน์เชิงบุคคลและสถาบันของชนชั้นนำในระบบราชการให้แบ่งแยกผิดแผกแตกต่างจากกัน

เหล่านี้ทำให้โครงสร้างและชนชั้นนำแห่งรัฐราชการไทยมีลักษณะแบ่งแยกแตกออกจากกันทั้งโดยวิถีดำเนินที่ผ่านมาและโดยเนื้อใน ไม่สามารถผนึกเป็นเอกภาพกันแน่นหนาถาวรได้ กล่าวคือ กลายเป็นโครงสร้างรัฐที่รวมศูนย์สูงแต่ด้อยเอกภาพเหมือนพีระมิดที่แตกเป็นเสี่ยง (a fragmented-pyramid like, overcentralized but under-unified state structure, ดังที่ผมนำเสนอไว้ครั้งแรกในบทความ “วิธีขจัดม็อบ”, ผู้จัดการรายวัน, 25 มีนาคม พ.ศ.2536)

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจสังคมไทยซึ่งพัฒนาเติบโตไปอย่างก้าวกระโดดแต่ไม่สมดุล (unbalanced growth) นับแต่เริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2504 เป็นต้นมา ก็ได้แผ่พลังกระเพื่อมหนุนส่งให้ชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ทยอยเติบใหญ่ขึ้นมากุมอำนาจอิทธิพลด้านต่างๆ ในสังคมเพิ่มทวีขึ้นด้วย

จากชนชั้นนำเจ้านายขุนนางเดิม -> ชนชั้นนำข้าราชการ -> ชนชั้นนำธุรกิจ -> ชนชั้นนำสื่อมวลชน/วิชาชีพ -> ชนชั้นนำนักการเมือง -> ชนชั้นนำเทคโนแครต/วิชาการ -> ชนชั้นนำเอ็นจีโอ ฯลฯ

น่าสนใจว่าสังคมการเมืองไทยที่ผ่านมาได้เปิดอ้าออกโอบรับชนชั้นนำหน้าใหม่ๆ หลากหลายกลุ่มเหล่านี้ให้เข้ามาร่วมวงไพบูลย์ในโครงสร้างอำนาจในลักษณะ “แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ไม่ให้ใครผูกขาดกินรวบ” ด้วย ภายใต้ข้อแม้เงื่อนไขว่าทุกกลุ่มยอมตนอยู่ใต้พระบรมราชูปถัมภ์

แบบแผนความสัมพันธ์ของชนชั้นนำไทยในลักษณะพหุนิยมภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ (elite pluralism under royal patronage) ข้างต้นนี้คือการต่อยอดจาก…

ฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำไทย (Thai elite consensus) ที่คุณอาสาเสนอไว้ โดยมาผนวกบรรจบเข้ากับ

พระราชอำนาจนำ (royal hegemony) ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งขึ้นสู่กระแสสูงในช่วงเหตุการณ์พฤษภาประชาธิปไตย พ.ศ.2535 จนกลายเป็น ->

ฉันทามติภูมิพล (the Bhumibol consensus) หรือนัยหนึ่งฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำไทยที่ได้รับการปกปักค้ำจุนด้วยพระราชอำนาจนำนั่นเอง