เศรษฐกิจ / ตั้งไข่หุ้นไทยปี ’63 ดัชนี 1,800 จุด ไต่ถึงหรือซ้ำรอยปีหมูลุยไฟ…รอดู!

เศรษฐกิจ

 

ตั้งไข่หุ้นไทยปี ’63

ดัชนี 1,800 จุด

ไต่ถึงหรือซ้ำรอยปีหมูลุยไฟ…รอดู!

 

ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนดัชนีหุ้นไทยจะกลับเข้าสู่วังวนของการซึมตัวลงอีกครั้ง

หลังจากช่วงก่อนหน้านั้น ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนอย่างหนัก

โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 1,574.34 จุด ซึ่งนับถอยหลังอีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2563 แต่ดูเหมือนดัชนีหุ้นไทยจะยังไม่มีวี่แววปรับตัวขึ้นได้

โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่ดัชนีปิดตลาดในภาคเช้าและภาคบ่ายไม่ถึง 1 จุดดี

ทำให้ความหวังที่จะเห็นดัชนีไต่ขึ้นแตะระดับสูงสุดที่นักวิเคราะห์ออกมาคาดกาณ์กันในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ระดับ 1,740-2,000 จุด นอกจากจะเป็นไปได้ยากมากแล้ว

ยังอาจจะเห็นปิดปี 2562 ด้วยระดับที่ขึ้นไม่ถึง 1,600 จุดด้วยซ้ำ!

 

โดยต้องบอกว่าปีนี้ถือเป็นปีที่หนักหนาสาหัสกันแทบทุกภาคส่วน

ไม่เว้นแม้แต่ตลาดหุ้นเอง เนื่องจากเปิดปีมาด้วยปัญหาสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐและจีน โดยมาตรการกีดกันทางการค้า ทำให้การค้าโลกชะลอการเติบโตลง ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลก จนกระทบกับเศรษฐกิจในประเทศ

เนื่องจากภาคการส่งออกถือเป็นเครื่องมือสร้างรายได้สำคัญของไทยในสัดส่วนกว่า 70% ของภาพรวม เติบโตลดลง

ต่อมาเกิดความไม่แน่นอนในการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิท) ทำให้เศรษฐกิจในประเทศยุโรปโตช้าลง

รวมถึงเจอปัจจัยกระทบจากในประเทศไทยเอง ได้แก่ การเมืองไทยที่สร้างความปั่นป่วนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง หลังเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาล จนกระทั่งเกิดรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำขึ้นทำให้เป้าหมายที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ออกมาคาดการณ์ไว้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

ปี 2563 ที่กำลังจะก้าวมาถึง หลายสำนักได้ออกมาให้ทิศทางไว้เบื้องต้นแล้ว ส่วนใหญ่มองภาพดีขึ้นกว่าปี 2562 แทบทั้งหมด

โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยในกรอบ 1,450-1,725 จุด โดยต้องเผชิญกับความท้าทายของปัจจัยเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ปัญหาข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังคงยืดเยื้อต่อไปอีก ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

คาดว่าปี 2563 การส่งออกไทยจะติดลบที่ 2% พร้อมทั้งคาดการณ์ว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) อาจไม่ดีเท่ากับปี 2562

 

สอดคล้องกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด มองว่าตลาดหุ้นไทยในปี 2563 ในส่วนของตลาดหุ้นเกิดใหม่ ประเมินว่ายังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าตลาดหุ้นของประเทศที่พัฒนาแล้ว

เนื่องจากราคาหุ้นปรับลดลงพอสมควร ขณะที่แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังน่าจะไปได้ดี

สำหรับตลาดหุ้นไทยในปี 2563 ประเมินจากปัจจัยพื้นฐาน จึงคาดว่าเป้าหมายสูงสุดของดัชนีจะอยู่ที่ 1,732 จุด ภายใต้พีอี 16 เท่า (อัตราส่วนทางการเงิน ที่จะแสดงถึงอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ ที่ได้จากการนำราคาหุ้นมาเทียบกับกำไรต่อหุ้น)

โดยคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะเติบโตที่ 9% โดยหากมองในกรณีที่ดีที่สุด คาดว่าดัชนีมีโอกาสขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 1,780 จุดเท่านั้น

ไม่แตกต่างจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน ที่มองว่า ในปี 2563 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ โดยปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ที่จะเร่งตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้จีดีพี ปี 2563 จะโตได้ที่ 2.7 % จึงให้เป้าหมายดัชนีสูงสุดอยู่ที่ระดับ 1,734 จุด พีอี 16.75 เท่า

พร้อมทั้งคาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขยายตัวที่ 10.3% หากเทียบกับปี 2562

 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ มองว่า ตลาดหุ้นไทยปี 2563 แม้ยังคงมีความเสี่ยงด้านมหภาค เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะยังเติบโตได้ แม้จะเป็นการโตต่ำลง แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จึงประเมินกรอบดัชนีไว้ที่ 1,600-1,800 จุด

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มองว่า เป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ 1,800 จุด ซึ่งถือว่าต้องดีกว่าปีนี้แน่นอน พร้อมทั้งคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะเติบโต 8-9% จากปี 2562 ที่กำไรบริษัทจดทะเบียนค่อนข้างโตทรงตัวจากปี 2561

จะเห็นว่าดัชนีหุ้นไทยที่คาดหวังได้เห็นอยู่ในระดับ 1,730 จุด ไปจนถึง 1,800 จุด สะท้อนให้เห็นถึงพื้นฐานที่ยังแข็งแกร่งของตลาดหุ้นไทย หรือเพียงแค่ความหวังลมๆ เนื่องจากหากประเมินตามภาพรวมของตลาดหุ้นไทย

จะเห็นว่าในเดือนธันวาคม 2562 เป็นเดือนที่ดัชนีหุ้นปรับลดลงมากที่สุด นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

 

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก จำกัด เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2562 ตลาดหุ้นไทยปิดลบสวนทางภูมิภาคกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ที่ส่วนใหญ่ปิดตลาดในแดนบวก เนื่องจากเกิดความกังวลในเรื่องของการเจรจาการค้า หลังจากจีนได้ออกมาประกาศว่าจะดำเนินมาตรการตอบโต้ ในการที่สหรัฐออกกฎหมายสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง

โดยดัชนีปิดลบที่ระดับ 1,569.53 จุด ถือว่าต่ำสุดในรอบ 11 เดือนนับจากวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ซึ่งดัชนีปิดที่ระดับ 1,548.37 จุด ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัว และต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง เพราะใกล้วันหยุดยาวจึงมีการปิดสถานะก่อนคริสต์มาส

หากทำการตรวจสอบภาวะหุ้นไทย โดยไล่เรียงตามข้อมูลการซื้อขายจะพบว่า ดัชนีหุ้นปิดตลาดสูงสุด 5 อันดับแรก อยู่ในปี 2537, 2560 และ 2536 ตามลำดับ โดย

  1. ดัชนีปิดสูงสุด ณ วันที่ 4 มกราคม 2537 ที่ระดับ 1,753.73 จุด
  2. วันที่ 5 มกราคม 2537 ที่ระดับ 1,709.64 จุด
  3. วันที่ 2 ตุลาคม 2560 ที่ระดับ 1,688.64 จุด
  4. วันที่ 30 ธันวาคม 2536 ที่ระดับ 1,682.85 จุด

และ 5. วันที่ 29 กันยายน 2560 ที่ระดับ 1,673.16 จุด

ในขณะที่ข้อมูลดัชนีหุ้นปิดตลาดต่ำสุด (ไม่นับรวมปี 2519) จะอยู่ในปี 2541 โดยดัชนีต่ำสุดอยู่ที่ระดับ 207.31 จุด

และหากดูในส่วนของมูลค่าตามราคาตลาดโดยรวมของหลักทรัพย์จดทะเบียน หรือมาร์เก็ตแค็ป จะพบว่าปี 2537 มีมาร์เก็ตแค็ปอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านล้านบาท หลังจากนั้น เดินทางมาถึงปี 2540 พบว่ามีมาร์เก็ตแค็ปอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท ปี 2541 มาร์เก็ตแค็ปอยู่ที่ประมาณ 7-8 แสนล้านบาท ต่อมาช่วงปี 2553-2554 มาร์เก็ตแค็ปอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านล้านบาท

โดยหากดูมาร์เก็ตแค็ปของตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ นับจากสิ้นเดือนสิงหาคม 2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 17.9 ล้านล้านบาท โตขึ้น 7% นับจากสิ้นปี 2562 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวม 65,355 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561

โดยในส่วนของนักลงทุนต่างชาติ มีสถานะขายสุทธิกว่า 54,263 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการกลับเข้ามาซื้อสุทธิของต่างชาติ แต่ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน หรือปัจจัยบวกเข้ามาดึงดูดมากเท่าที่ควร ภายใต้ปัจจัยลบที่ตามมาอีกเพียบ

            ทำให้การวางเป้าหมายดัชนีหุ้นไทย ในระดับที่เกิน 1,700 จุดขึ้นไป จะเป็นการย้ำภาพภาวะตลาดหุ้นในปีนี้หรือไม่ ที่ตั้งเป้าสูงไว้สร้างกำลังใจ แต่สุดท้ายก็สาละวันเตี้ยลงจนหมดแรง