กรองกระแส / ฉายารัฐบาล กับอารมณ์ ความรู้สึก ของสังคมไทย

กรองกระแส

ฉายารัฐบาล

กับอารมณ์ ความรู้สึก

ของสังคมไทย

ปฏิกิริยาอันเนื่องแต่การตั้ง “ฉายา” ของรัฐบาลและรัฐมนตรีจากนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล กำลังฉายไม่เพียงแต่ภาพจากอดีต หากสะท้อนไปถึงภาพที่จะตามมาในอนาคต

ทั้งยังเป็นอนาคตอันใกล้

ฉายาที่ว่า “รัฐบาลเชียงกง” นั้นเด่นชัดอย่างยิ่งที่ให้ภาพทางการเมืองไม่เพียงแต่จากปัจจุบันอันเนื่องแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 หากแต่ยังย้อนไปไกลอย่างยิ่ง

ไปถึงการเมืองในยุคพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน

พลันที่ใบหน้านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ลอยมา พลันที่ภาพนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ลอยมา พลันที่ภาพนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ลอยมา

คนเหล่านี้ต่างอะไรไปจาก พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ หรือนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์

ยิ่งกว่านั้น เมื่อภาพแห่ง “รัฐบาลเชียงกง” ลอยมาก็ประสานเข้ากับภาพของ “อิเหนาเมาหมัด” และก็ตามมาด้วยสถานะแห่งความเป็น “รัฐอิสระ” ของรองนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์

ปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลนี้ยืนยาวจึงมิได้อยู่ที่ผลงาน หากแต่อยู่ที่บทบาทของ “ศรีธนญชัย”

ไม่ว่าฉายาแต่ละฉายาจะนำไปสู่ปฏิกิริยาอย่างใดในทางการเมือง เป็นปฏิกิริยาในทางลบ เป็นปฏิกิริยาในทางบวก

แต่คำถามก็คือ สังคมรับรู้และรู้สึกอย่างไร

 

เครดิต รัฐบาล

แข็งแกร่ง มั่นคง

 

มองผ่านโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ รัฐบาลมีความมั่นคง แข็งแกร่งอย่างยิ่ง เพราะอย่างน้อยก็มีฐานะจาก 250 ส.ว.ที่ตั้งมากับมือ

มองผ่านโครงสร้างของข้าราชการประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กองทัพ”

ไม่ว่ากองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความเป็นเอกภาพ

มองผ่านโครงสร้างพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล แม้จะมีพรรคประชาธิปัตย์ดำรงอยู่อย่างเป็น “รัฐอิสระ” แต่ก็ไม่สามารถอิสระได้อย่างแท้จริง เพราะเมื่อมองไปยังการประกอบส่วนขึ้นของรัฐบาลก็ยากอย่างยิ่งที่จะทำอะไรได้มากไปกว่าที่เห็นและเป็นอยู่

การเลือกตั้งซ่อมที่พรรคร่วมรัฐบาลได้รับชัยชนะไม่ว่าที่นครปฐม ไม่ว่าที่ขอนแก่น คือรูปธรรมสะท้อนความแข็งแกร่งของอำนาจรัฐ

กระนั้น การดำรงอยู่โดยอภินิหารแห่ง “ศรีธนญชัย” ก็น่าสยดสยองอย่างยิ่ง

แม้จะใช้กายกรรมทางกฎหมายผ่านการคิด ส.ส.พึงมีเพื่อสร้างบทบาทของพรรคขนาดเล็ก แม้จะใช้กายกรรมทาง LAWFARE เพื่อกำจัดและขจัดพรรคการเมืองบางพรรค

แต่ที่ย้อนกลับมากลับเป็นเรื่องความเชื่อมั่นและความศรัทธา

 

บริหาร และจัดการ

ดับเบิล สแตนดาร์ด

 

บทสรุปจาก “ศรีธนญชัยรอดช่อง” เพื่อความยั่งยืนสถาพรแห่ง “รัฐบาลเชียงกง” บนลักษณาการแห่ง “อิเหนาเมาหมัด” นั้นเองที่กำลังจะกลายเป็นเรื่องน่ากลัว

ในเมื่อฝ่ายรัฐบาลทำอะไรไม่เคยผิด ไม่เคยถูกลงโทษ

ไม่ว่าในกรณีของรัฐมนตรี “สีเทา” ที่ถูกจำขัง ณ คุกออสเตรเลีย จากกรณีนำเข้ายาเสพติด ไม่ว่าในกรณีของบางคนที่ยึดครองที่ดิน ส.ป.ก.หลายสิบหลายร้อยไร่ ไม่ว่าในกรณีที่ ส.ส.บางคนต้องโทษและศาลออกหมายจับ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทำอะไร

ตรงกันข้าม หากเป็นคนของพรรคเพื่อไทย หากเป็นคนของพรรคอนาคตใหม่ เพียงแต่เคลื่อนไหวเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถโยนข้อหาและหมายเรียกได้รุนแรงถึงขั้นผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

นายกรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ผิดจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นไร รัฐบาลแถลงนโยบายผิดจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นไร รัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐละเมิดหลักจริยธรรม นิติธรรมก็ไม่เป็นไร

นี่คือสภาพที่เรียกว่า ดับเบิล สแตนดาร์ด หรือสองมาตรฐานที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย

 

จากอิเหนาเมาหมัด

ถึงอารมณ์ของสังคม

 

การตั้งฉายาเสมอเป็นเพียงการประมวลจากสภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

และเด่นชัดขึ้นเมื่อผ่านการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562

สิ่งเหล่านี้จะมีอิทธิพลมากน้อยเพียงใด มิได้อยู่ที่ความรู้สึกของนักข่าวอย่างเดียว หากแต่ยังขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของ คสช. ของรัฐบาล ของพรรคร่วมรัฐบาล

และความรับรู้และรู้สึกของประชาชนจะพัฒนากลายเป็นอารมณ์ร่วมในทางสังคมหรือไม่