“การเมือง” ในข่าว คิกออฟ “ปรองดอง” ข่าว “น้องชายนายกฯ”

ข่าวสำคัญที่สื่อต่างๆ นำเสนออย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ข่าวสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดสถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20

พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช มีขึ้นที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ถวายน้ำพระมหาสังข์ และเครื่องสักการะต่างๆ แด่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงพระนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ตามธรรมเนียมการตั้งพระสังฆราชที่มาจากสามัญชน

ท่ามกลางเสียงสวดมนต์ถวายชัยมงคล จากพระราชาคณะที่ชุมนุมในพระอุโบสถวัดพระแก้ว และจากวัดต่างๆ กว่า 4 หมื่นแห่งในประเทศไทยและต่างประเทศ

สมเด็จพระสังฆราชได้เสด็จกลับวัดราชบพิธฯ และประกอบพระกรณียกิจต่างๆ โดยเฉพาะการเปิดให้ประชาชนเข้ากราบนมัสการ

ปรากฏว่า ประชาชนเดินทางมาสักการะกันอย่างล้นหลาม เหรียญที่ระลึกที่เตรียมไว้จำนวนมากไม่พอแจก

นับเป็นข่าวมงคลสำหรับคนไทย หลังจากที่ว่างเว้นการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช มาเป็นเวลาร่วม 4 ปี นับจากปี 2556

 

ข่าวน่าสนใจอื่นๆ ในห้วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ ข่าวรัฐบาลและ คสช. เป็นเจ้าภาพจัดการปรองดอง ภายใต้คณะกรรมการ ป.ย.ป. หรือคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง

ใน ป.ย.ป. มีคณะกรรมการ 4 ชุด รวมถึงคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นรองประธาน

คณะกรรมการชุดนี้ได้ตั้งอนุกรรมการ 4 ชุด ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น, คณะอนุกรรมการบูรณาการ, คณะอนุกรรมการจัดทำข้อตกลง และคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ เพื่อเดินหน้าทำงานให้ครอบคลุมประเด็นสร้างความปรองดอง

คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ได้จัดประชุมโต๊ะกลม หารือแนวทางปรองดอง ที่กระทรวงกลาโหม เชิญตัวแทนพรรคการเมือง และกลุ่มต่างๆ มาให้ความเห็นเรื่องการปรองดอง เริ่มจาก 14 กุมภาพันธ์ ตามลำดับตัวอักษร เริ่มจากพรรคความหวังใหม่ พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย และพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย

พรรคชาติพัฒนามีคิวเข้าให้ความเห็นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พรรคชาติไทยพัฒนา วันที่ 16 กุมภาพันธ์ ถัดไปอีกวัน คือพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนพรรคเพื่อไทย รอการประสานงานอยู่

กำหนดประเด็นหารือ 10 เรื่อง คือ

1. ด้านการเมือง การแก้ปัญหาโดยสันติวิธีเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในสังคมไทยขึ้นอีก ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้

2. ด้านความเหลื่อมล้ำ เช่น การครอบครองที่ดินทำกินของเกษตรกร การเข้าถึงแหล่งน้ำ มักถูกยกมาเป็นประเด็นสร้างความขัดแย้งอย่างกว้างขวาง จะมีการพูดถึงแนวทางในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพื่อลดความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองในสังคมไทย

3. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงต่อการขยายไปสู่ความขัดแย้ง จะมีทางออกหรือวิธีการดำเนินการ ต่อประเด็นความขัดแย้งที่เกิดจากความไม่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรม การแทรกแซงการบังคับใช้กฎหมายอย่างไร

4. มีแนวทางเสริมสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ต่อประเด็นความแตกต่างทางสังคม ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การศึกษา และสาธารณสุข อย่างไร

5. แนวทางในการไม่ให้สื่อเป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้งได้อย่างไร

6. แนวทางที่จะทำให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ความขัดแย้งเรื่องพลังงาน การก่อสร้างโรงไฟฟ้า ฯลฯ ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาสร้างความขัดแย้งในสังคมได้อย่างไร

7. มีแนวคิดที่จะดำเนินการต่อประเด็นการนำปัญหากิจการภายในประเทศมายกระดับให้เป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งผลกระทบจากการดำเนินการของต่างประเทศ เช่น ปัญหาเขตแดน ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ปัญหาเสรีภาพและประชาธิปไตย ปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ ฯลฯ ที่ส่งผลทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างไร

8. มีแนวคิดอย่างไร ที่จะป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อไม่ให้เป็นสาเหตุนำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคมไทย

9. ด้านการปฏิรูป มีข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปอย่างไร เพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดอง 1

10. มีข้อเสนอแนะให้เกิดการยอมรับและร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน หรือไปสู่เป้าหมายร่วมกันอย่างไร

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า รัฐบาลและ คสช. หยิบยกเอาการปรองดองมาเป็นวาระสำคัญ จัดตั้งกรรมการ มีโครงสร้างใหญ่โต และมีกระแสข่าวว่า จะต้อง “ปรองดองก่อนเลือกตั้ง” ดังนั้น การปรองดอง อาจกลายเป็นเงื่อนไขที่มีผลต่อการเลือกตั้งได้

 

ที่น่าสนใจได้แก่ ในโลกออนไลน์ มีการแชร์ข่าวเกี่ยวกับผู้มีอำนาจ ที่ได้รับความสนใจในระยะนี้คือ ข่าวการขาดประชุม สนช. ของน้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

สื่อหนังสือพิมพ์บางฉบับเสนอข่าวว่า โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เผยผลสำรวจเกี่ยวกับการเข้าประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พบว่ามีสมาชิกอย่างน้อย 7 คนที่ขาดประชุมเป็นประจำ จนอาจจะเป็นเหตุให้ขาดสมาชิกภาพการเป็น สนช.

เนื่องจากมีข้อบังคับให้สมาชิกต้องมาลงมติอย่างน้อย 1 ใน 3 ของทุกรอบ 90 วัน เว้นแต่ได้ยื่นใบลาต่อประธานสภา

บทลงโทษเกี่ยวกับการขาดประชุมของสมาชิก สนช. ตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 มาตรา 9(5) กำหนดว่า ถ้าสมาชิก “ไม่มาแสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกินจํานวนที่กําหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม” ให้สมาชิกภาพการเป็น สนช. สิ้นสุดลง

และกำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ.2557 ข้อ 82 ว่า “สมาชิกที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภาเกินกว่าหนึ่งในสามของจํานวนครั้งที่มีการแสดงตนเพื่อลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลาเก้าสิบวัน ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง กรณีที่สมาชิกไม่แสดงตนเพื่อลงมติตามวรรคหนึ่งเนื่องจากได้ลาการประชุม … มิให้ถือว่าสมาชิกผู้นั้นไม่แสดงตนเพื่อลงมติ…”

หรือหมายความว่า “ในรอบระยะเวลา 90 วัน” ถ้าสมาชิก สนช. คนใด “ไม่มาลงมติเกินกว่าหนึ่งในสาม” ของจำนวนการลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลานั้น จะต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็น สนช.

อย่างไรก็ตาม ถ้าสมาชิกมาลงมติไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด แต่ได้ลาประชุมไว้แล้ว ไม่ส่งผลให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ

ไอลอว์ ระบุว่า จากการสำรวจ โดยการเลือกรอบระยะเวลา 2 รอบ (180 วัน) ของปี 2559 พบว่ามีสมาชิกอย่างน้อย 7 คน มาลงมติไม่เกินกว่า 1 ใน 3 ของการลงมติในแต่ละรอบ

ข่าวระบุว่า สนช. ที่ขาดประชุมบ่อยๆ ว่า มักทำงานควบตำแหน่ง เป็นข้าราชการประจำอยู่ด้วย โดยได้รับเงินเดือนจากต้นสังกัดทั้ง 2 ทาง

“ไอลอว์” ได้ติดต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ เนื่องจากเป็นความลับของทางราชการ พร้อมยืนยันว่า สนช. ทุกท่านยื่นไปลาให้ทางสภาทุกครั้ง

เป็นข่าวการเมืองอีกเรื่อง ที่น่าจับตามอง