โลกร้อนเพราะมือเรา เมื่อ พืชสัตว์ “ต่างถิ่น” บุกสวิส

ปรากฏการณ์หิมะตกในหลายๆ พื้นที่ของประเทศสเปนเมื่อกลางๆ เดือนมกราคมที่ผ่านมาสร้างความงุนงงสงสัยให้กับชาวสเปนเป็นอย่างมาก

บางพื้นที่หิมะตกเป็นครั้งแรกในรอบ 118 ปี

แถบพื้นที่ชายหาดติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนก็มีหิมะตกขาวโพลน เป็นภาพแปลกตา

เมืองเมอร์เซีย (Murcia) อยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เนียน มีอุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนมกราคมอยู่ที่ 17 องศาเซลเซียส แต่วันที่หิมะตก อุณหภูมิลดวูบ -7.5 องศาเซลเซียส

ชาวเมอร์เซียเคยเห็นหิมะตกครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2526

 

ปรากฏการณ์หิมะตกทางตอนใต้สเปน บริเวณชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโดยรวมระหว่างสเปนกับประเทศต่างๆ ในยุโรปด้วยเหตุว่าอากาศวิปริตแปรปรวนทำให้พืชผักผลไม้ที่ปลูกในพื้นที่ดังกล่าวมีผลผลิตลดลง

ปกติแล้วแถบเมดิเตอร์เรเนียนมีอากาศอบอุ่นตลอดปี และเป็นแหล่งผลิตพืชผักผลไม้ส่งให้ซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปราว 30 เปอร์เซ็นต์

เมื่ออากาศเกิดวิปริตแปรปรวน ร้านค้าหลายแห่งทั้งในอังกฤษและยุโรปซึ่งนำเข้าสินค้าเกษตรจากสเปน ประสบปัญหาขาดสินค้า ต้องประกาศแบ่งสรรปันส่วน ผักบางชนิดอย่างเช่น บร็อกเคอลี่ หรือผักกาดหอม ซื้อได้คนละไม่เกิน 3 หัว

ผู้บริโภคอังกฤษพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่น่าจะมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น บางคนถึงกับเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษปรับปรุงระบบเกษตรกรรมเสียใหม่ อย่าพึ่งพาต่างชาติเพียงแหล่งเดียว

ผู้เชี่ยวชาญการค้าประเมินว่าพืชผักผลไม้ส่งจากสเปนเข้าสู่ตลาดในยุโรปอาจขาดแคลนไปถึงเดือนเมษายน

นักสิ่งแวดล้อมชี้ว่าหิมะตกหนักทางตอนใต้ของสเปนเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน และแนวโน้มในอนาคตพื้นที่ทางภาคใต้ของยุโรปจะเกิดผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

นั่นเป็นข่าวคราวล่าสุดของปรากฏการณ์หิมะตกในสเปน

 

ทีนี้มาว่ากันต่อเรื่องของ “รายงานการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและสวิตเซอร์แลนด์ 2050”

รายงานชิ้นดังกล่าว รวบรวบข้อมูลระบบนิเวศน์ของป่าไม้ ทุ่งหญ้าและพื้นที่ชุ่มน้ำของสวิตเซอร์แลนด์

อย่างที่ทราบกันดีว่า สวิสให้ความสำคัญการบังคับใช้กฎหมายอย่างมากและชาวสวิสเคารพกฎหมาย

กฎหมายว่าด้วยป่าไม้ฉบับแรกที่ออกมาในปี 2419 หรือ 141 ปีก่อนโน้นช่วยป้องกันการบุกรุกทำลายป่าอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมืองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอย่างรวดเร็ว

พื้นที่ทุ่งหญ้าลดลงเพราะรัฐอนุญาตแบ่งสรรทำเป็นบ้านเรือน ถนนหนทางและโครงสร้างพื้นฐาน กระนั้นสัดส่วนพื้นที่ป่ายังคงเติบโตเพิ่มขึ้น

สวิสมองว่าป่าไม้นอกจากจะทำให้ระบบนิเวศน์มีความสมบูรณ์แล้วยังมีบทบาทสำคัญในการปกป้องชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เช่น เมื่อเกิดหิมะหรือหินถล่ม หรือน้ำท่วม ป่าช่วยรับแรงปะทะ

แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศมีผลต่อระบบนิเวศน์ของสวิสในช่วง 50 ปีข้างหน้า

 

รายงานระบุว่า หากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกเข้มข้น พื้นที่ป่าไม้ในสวิสจะขยายตัว ผลผลิตที่ได้จากป่าไม้จะมีมากขึ้น

ยังคาดการณ์อีกว่า ทิศทางการใช้พลังงานพลิกโฉม เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิลแพงขึ้น ผู้คนจะหันกลับมาใช้พลังงานความร้อนจากไม้แทน เพราะป่าไม้ขยายตัวเร็ว

พืชและสัตว์จากพื้นที่อื่นๆ จะขยายพันธุ์หรือเคลื่อนย้ายมายังดินแดนสวิสในปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

พื้นที่แหล่งเพาะปลูกพืชเมืองหนาวขยับขึ้นไปทางเหนือที่มีอากาศเย็นกว่าและในอนาคตจะกลายเป็นพื้นที่หวงห้าม

ส่วนพืชหรือสัตว์ที่ชอบอากาศร้อนขยายพันธุ์ในเขตอบอุ่น สัตว์บางชนิดที่ไม่สามารถปรับตัวหรือย้ายถิ่นฐานมีแนวโน้มสูญพันธุ์

บรรดาวัชพืชทั้งหลายที่เติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศร้อน อย่างเช่น แอมโบรเซีย (Ambrosia) กำลังแพร่ขยายทั่วสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งแต่เขตเจนีวา ไปถึงทิซิโน

เมื่ออากาศร้อน เกสรแอมโบรเซียจะฟุ้งกระจายไปทั่ว ทำให้ชาวสวิสเกิดอาการภูมิแพ้ หายใจติดขัดมากขึ้น

ส่วนวัชพืชชนิดอื่นๆ เช่น แบล็กกราสส์ กูสกราสส์ แพร่ขยายพันธุ์เมื่ออากาศเปลี่ยน อุณหภูมิเพิ่มขึ้น

แมลง หนอนและสัตว์เล็กๆ ที่เป็นศัตรูพืช จะเป็นอีกปัญหาของเกษตรกรสวิสเพราะศัตรูพืชเหล่านี้ชอบอากาศร้อน โดยเฉพาะหนอนข้าวโพด ด้วง เพลี้ยจะขยายพันธุ์เร็ว จากเดิม 1-2 รุ่นต่อ 1 ฤดูกาล ขยายพันธุ์เป็น 2-3 รุ่นต่อ 1 ฤดูกาล

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศมีผลต่อเชื้อราและแบคทีเรีย ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคชนิดต่างๆ อย่างเช่น โรคใบจุด ชอบอากาศเย็นๆ ช่วงต้นฤดูหนาว จะแพร่ระบาดเร็วทำลายไร่ข้าวโพดหรือไร่ธัญพืชเสียหายอย่างหนัก

สวิตเซอร์แลนด์เป็นแหล่งผลิตอาหารสัตว์ หากพืชไร่ที่เป็นส่วนผสมสำคัญของอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบจากศัตรูพืชแพร่ระบาด ปริมาณอาหารสัตว์ลดลงมีผลต่อเนื่องกับแหล่งปศุสัตว์ด้วย

แต่หากควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ สวิตเซอร์แลนด์จะได้อานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ โดยเฉพาะผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะช่วงเวลาการเพาะปลูกนานขึ้น

 

จะเห็นได้ว่า ตัวแปรอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมีหลากหลายมาก ในรายงานฉบับดังกล่าวจึงคาดการณ์ว่า เกษตรกรสวิสจะต้องปรับตัวใหม่ อาจต้องปลูกพืชที่ไม่ต้องพึ่งพาสภาวะภูมิอากาศ เช่น ปลูกผักไฮโดรโปนิกมากขึ้น

ในอนาคตเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรมใหม่ๆ จะเข้ามามีบทบาทอย่างสูง รวมถึงวิธีการบริหารจัดการกับแหล่งเกษตรกรรมต้องปรับเปลี่ยนโฉม

เมื่อภาวะโลกร้อนทำให้ช่วงเวลาการเพาะปลูกยาวนานขึ้น ต้องใช้แรงงานคนหรือเครื่องจักรเก็บเกี่ยวเพาะปลูกเพิ่มขึ้น ในบางพื้นที่อากาศวิปริตแปรปรวน เย็นจัด ทำให้ผลผลิตเสียหาย

หน่วยงานอย่างเช่น กรมอุตุนิยมวิทยา หรือเมโทรสวิส จะมีบทบาทสำคัญในการพยากรณ์ภูมิอากาศในแต่ละช่วงเวลา

ถ้าพยากรณ์แม่นยำเที่ยงตรง เกษตรกรสามารถคำนวณวางแผนการเพาะปลูกที่แน่นอน