บทความพิเศษ/มิ่งมนัสชน จังหาร/วันเกิดของเค้าโมง : สารจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ในวรรณกรรมเยาวชน

บทความพิเศษ/มิ่งมนัสชน จังหาร อาจารย์สาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

วันเกิดของเค้าโมง

: สารจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ในวรรณกรรมเยาวชน

 

“วันเกิดของเค้าโมง” ของ จันทรังสิ์ เป็นนวนิยายรางวัลชนะเลิศ นวนิยายสำหรับเยาวชน รางวัลแว่นแก้ว ครั้งที่ 14 พ.ศ.2561

ตัวเอกชื่อว่า “เค้าโมง” เด็กหญิงอายุ 15 ปี มีพี่สาวชื่อ “ไก่จุก” น้องสาวชื่อ “กระติ๊ด” อาศัยอยู่กับพ่อ-แม่

ซึ่งว่าไปแล้ว องค์ประกอบของครอบครัว หรือสถาบันของครอบครัวเหมือนสมบูรณ์แบบ

ทว่าภายใต้คำว่าเพียบพร้อมนั้นกลับเต็มไปด้วยรอยร้าวและความพร่องของแต่ละคน

ไม่ว่าจะเป็นการระหองระแหงของพ่อกับแม่ ที่เมื่อคุยกันครั้งใดมักจะทะเลาะกันครั้งนั้น

ไก่จุกที่เก็บตัวอยู่ในห้องและไม่ยอมไปโรงเรียน

นกกระติ๊ดที่มักยุ่งวุ่นวายเรื่องของคนอื่นและไม่มีความรับผิดชอบ

ทำให้เค้าโมงต้องแบกรับความกดดันในหลายเรื่อง

การมีแม่ที่ชอบจ้ำจี้จ้ำไช และโยนความผิดให้เค้าโมงแทบทุกเรื่องที่ผิดพลาด การที่เค้าโมงรู้สึกว่าไม่ได้รับความรักจากพ่อ การที่ต้องคอยดูแลพี่สาวและน้องสาว เหล่านี้สร้างความน้อยอกน้อยใจให้กับเค้าโมงทุกวัน

จันทรังสิ์ สร้างตัวละครแต่ละตัว เพื่อขับเน้นให้เห็นความคิดและความรู้สึกของเค้าโมง เดินเรื่องด้วยการใช้วันเกิดของเค้าโมงในช่วงปิดเทอม เพราะวันเกิดเป็นวันที่สำคัญสำหรับเด็กๆ เฝ้ารอที่จะได้รับของขวัญและความรักความอบอุ่นจากคนในครอบครัว

แต่สำหรับเค้าโมง ไม่มีใครจำวันเกิดของเธอได้ เธอน้อยใจ แต่พยายามสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเยียวยาตัวเอง จัดการความคิดข้างในของตัวเอง

“ไม่แน่…บางทีพ่ออาจจะเป็นคนแรกที่จำได้ แต่ถ้าไม่มีใครจำได้เลยก็ช่างมันเถอะ เค้าโมงตั้งใจไว้แล้วตั้งแต่วันเกิดปีก่อน เธอจะไม่ทำตัวเป็นคนมีปัญหาเหมือนอย่างคนอื่นในบ้าน” (หน้า 15)

 

“เค้าโมงอธิษฐานในใจสามข้อ ขอให้แม่ทนทำงานกับป้าอ้อยได้นานๆ ขอให้ไก่จุกยอมไปโรงเรียนอีกครั้ง แล้วก็ขออย่าให้พ่อกลับบ้านวันนี้ เธอไม่อยากได้ยินพ่อกับแม่ทะเลาะกันในวันเกิด” (หน้า 11)

เมื่อถึงวันเกิด เด็กคนอื่นอาจจะอธิษฐานอยากได้ของเล่น อยากได้สิ่งของ หรือการให้ครอบครัวพาไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ

ตรงกันข้ามกับเค้าโมง เธอเพียงอยากให้แม่ทำงานได้นานๆ เพื่อที่จะได้มีเงินและไม่ถูกพ่อต่อว่าในเรื่องของการใช้จ่าย

เธออยากให้พ่อออกจากบ้านไปนานๆ ไม่ต้องกลับมาที่บ้านเลย เพราะเมื่อกลับมาครั้งใด เธอก็จะเห็นภาพของพ่อกับแม่ทะเลาะกันเสมอ

ขณะที่เธออยากให้ไก่จุกยอมไปโรงเรียน เพราะเมื่อไก่จุกอยู่บ้าน ช่วงปิดเทอมที่น่าสนุกสนานของไก่จุกก็หายไปด้วยการดูแลพี่สาวและน้องสาว

เห็นได้ว่าพรทั้งสามข้อที่เค้าโมงอธิษฐานนั้น เธอไม่ได้ขอให้ตัวเองได้รับสิ่งใด ไม่ได้เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่เธออธิษฐานให้คนรอบข้างประพฤติปฏิบัติตัวให้ดีขึ้น เพราะหากพรที่ขอเป็นจริง นอกจากชีวิตครอบครัวจะดีขึ้นแล้ว เธอเชื่อว่าชีวิตของเธอก็จะดีขึ้นเช่นกัน

น่าสงสารเค้าโมง ที่วันเกิดต้องขอพรให้คนอื่น แต่เธอก็ไม่รู้จะขอพรอะไรที่ดีไปกว่านี้ เค้าโมงตระหนักถึงสภาพครอบครัว ปัญหาของแต่ละคน เธอหวังเพียงว่าวันหนึ่งครอบครัวจะดีขึ้น

“เค้าโมงไม่อยากทำตัวมีปัญหา ทั้งพ่อทั้งแม่และไก่จุกมีแต่เรื่องโน้นเรื่องนี้สุมประดัง เธอไม่อยากเป็นอย่างพวกเขา เธอจึงพยายามทำทุกอย่างให้เหมือน ‘คนธรรมดา'” (หน้า 63)

 

ลักษณะหนึ่งของวรรณกรรมเยาวชนที่เราคุ้นชินกันมานานคือ ตัวละครที่เป็นผู้ใหญ่ เช่น พ่อ แม่ หรือคนที่มีวัยวุฒิมากกว่า มักสั่งสอน อบรม แนะนำ ตัวละครที่เด็กกว่า หรือตัวละครเอกของเรื่อง การพร่ำบอกของผู้ใหญ่ บางครั้งก็เป็นการปิดกั้นจินตนาการ ความคิดฝันของเด็ก ทำให้เด็กไม่กล้าเรียกร้อง หรือก้าวออกมาจากกรอบที่ถูกครอบเอาไว้

วาทกรรม “อาบน้ำร้อนมาก่อน” นั้นได้แฝงฝังอำนาจและอิทธิพลเอาไว้ จึงทำให้หลายครั้งผู้ใหญ่ทำร้ายเด็กโดยไม่รู้ตัว

เช่น การที่พ่อตัดต้นไม้ ด้วยเหตุผลของผู้ใหญ่

ขณะที่เค้าโมงก็มีเหตุผลของเธอ แต่ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนรับฟัง “เธอรักต้นไม้ทุกต้นในสวน คราวที่พ่อให้คนมาตัดต้นมะพร้าวเพราะไม่ออกลูก เค้าโมงยังแอบร้องไห้อยู่คนเดียวในห้อง

แค่เกิดมาไม่มีลูกให้กินก็เป็นความผิด โลกนี้ช่างโหดร้ายกับต้นไม้” (หน้า 17)

หากจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมา คงไม่เกินเลยที่จะบอกว่า หลายครั้งผู้ใหญ่เป็นคนที่ทำลายโลกของเด็ก ดูถูกความคิดฝันลูก เค้าโมงเป็นเด็กชอบอ่านหนังสือ เธอรู้สึกว่าหนังสือพาเธอหลุดเข้าไปในโลกอีกโลกหนึ่งที่รู้สึกปลอดภัยและสามารถวาดฝันได้ตามต้องการ แม้กระทั่งโลกจินตนาการที่ปกป้องเค้าโมงเอาไว้นี้ ยังถูกแม่มองว่าไร้สาระ

“น้องสาวชอบฟ้องแม่ว่าเธอคุยกับเจ้าแก่บ้าง คุยกับหมอนบ้าง คุยกับต้นฝรั่งบ้าง แม่ก็จะบอกว่าเป็นเพราะอ่านหนังสือมากเกินไปจนมีจินตนาการมากเกิน ดีที่แม่ไม่บอกว่าเพี้ยน” (หน้า 25)

 

เรื่องราวในเล่มเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวัน จากเช้าจรดเย็น เค้าโมงได้พูดคุยและพบเจอกับผู้คนหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในครอบครัว หรือตัวละครอย่างย่าใบที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาและยกย่องชื่นชมหลานชายอย่างใบบุญในการที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ใบบุญอายุเท่ากับไก่จุกซึ่งเป็นพี่สาวของเค้าโมง ยิ่งย่าใบชื่นชมหลานชายของตัวเองเท่าไร เค้าโมงยิ่งสลดหดหู่กับพี่สาวของตัวเองเท่านั้น

สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนของเค้าโมงคือการได้รู้จักกับ “ภาชี” เพื่อนบ้านที่สนใจด้านปรัชญา และเป็นวิทยากรของ “กิจกรรมสนทนาบำบัด”

ภาชีมีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากวัยรุ่นทั่วไป เป็นเด็กเก่ง เรียนเมืองนอก เคยประสบความสำเร็จ และผิดหวังจนอยากจบชีวิตตัวเอง

แต่เขาค้นพบความหมายในการมีชีวิตอยู่ คือการทำเพื่อผู้อื่น และช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการรับฟังและให้กำลังใจ

เค้าโมงแอบเข้าไปร่วมกิจกรรมสนทนาบำบัดที่โรงพยาบาล การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้เธอได้เห็นและรู้จักเรื่องราวชีวิตของผู้คนมากขึ้น

เธอรู้สึกเข้าใจคนอื่นและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัว ปรับสภาวะจิตใจ เรียนรู้ที่จะเปิดใจ

“ข้อแรกเราต้องยอมรับก่อนว่า ปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเราแก้ไขเองไม่ได้ เราผ่านพ้นมันไปเองไม่ได้ และเราต้องการความช่วยเหลือ ถ้ายังคงดื้อเก็บไว้คนเดียว มันก็เหมือนระเบิดเวลาที่เราวางแอบไว้หลังกำแพง ได้แต่โบกปูนก่อกำแพงสูงขึ้นเรื่อยๆ หลอกคนอื่นและหลอกตัวเองว่ามันไม่มีอยู่” (หน้า 71)

 

สิ่งที่เค้าโมงตั้งคำถามและพยายามสื่อสารถึงผู้ใหญ่คือ “การเปิดใจ” ผู้ใหญ่หลายคนไม่ยอมรับความผิดพลาดที่ตัวเองก่อขึ้น และไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการแสดงออก เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ผู้ใหญ่ควรเปลี่ยนความคิดว่า การไปพบหมอหรือปรึกษาปัญหาต่างๆ ไม่ใช่ความเลวร้ายหรือความน่าอาย แต่เป็นการแก้ปัญหาร่วมกัน แม้แต่ตัวของเค้าโมงและนกกระติ๊ดก็ค้นพบว่า ตัวเองนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นปัญหาที่ต้องจัดการและแก้ไข

ดูเผินๆ วรรณกรรมเยาวชน หรือนวนิยายสำหรับเยาวชนเรื่อง “วันเกิดของเค้าโมง” เป็นการเล่าถึงเด็กอายุ 15 ปี ซึ่งกำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นว่าได้พบเจอเหตุการณ์และปัญหาต่างๆ นำไปสู่หนทางแก้ไขอย่างไร

ทว่าอีกมุมหนึ่ง หากซึมซับ ไตร่ตรอง และตระหนักถึงพฤติกรรมของเค้าโมง ก็ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า เค้าโมงกำลังบอกและเรียกร้อง ส่งเสียงถึงผู้ใหญ่ว่า ปัญหาต่างๆ ของเด็กที่เกิดขึ้นนั้นก่อร่างขึ้นมาจากผู้ใหญ่ และเมื่อเกิดปัญหากับเด็ก แล้ว ปมแรกที่ต้องแก้ก็คือ ผู้ใหญ่

ผู้ใหญ่ควรกล้าที่จะลุกขึ้นมายอมรับความจริงและเปลี่ยนแปลงตัวเอง “ถ้าพ่อกับแม่อยากให้เค้าโมงมีวันเกิดปีหน้าที่ดีกว่าปีนี้” เค้าโมงเสียงสั่น “พ่อกับแม่ต้องไปหาหมอให้ช่วยบำบัด ครอบครัวเราจะได้ไม่ต้องเป็นอย่างที่เป็นอยู่ พ่อกับแม่ทำได้ไหม ทำเพื่อเค้าโมง ทำเพื่อไก่จุก ทำเพื่อนกกระติ๊ดได้ไหม” (หน้า 98)

นี่คือสิ่งที่เด็กคนหนึ่งต้องการบอกผู้ใหญ่