คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : เราอยู่ในเวลา ช่วงชิงพื้นที่ความศักดิ์สิทธิ์

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

วิจักขณ์ พานิช เคยเล่าให้ผมฟังว่า ครั้งหนึ่งในคอร์สภาวนาที่เชียงดาว เขาลองให้ผู้เข้าร่วมแยกย้ายออกไป “ที่ศักดิ์สิทธิ์” ของตัวเอง เพื่อจะได้ภาวนาเชื่อมโยงตนเองกับความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมชาติ

เชียงดาวในความรับรู้ของชาวบ้านเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเกี่ยวพันกับเทพาอารักษ์ “เจ้าหลวงคำแดง” แต่ในขณะเดียวกัน ธรรมชาติของดอยหลวงเชียงดาวเองก็คงแผ่สำแดงความศักดิ์สิทธิ์ออกมาเช่นกัน

มักมีคนแซวว่า พวกวัชรยานชอบพูดคำที่มีมิติลึกลับบางอย่าง “พลัง” “ความศักดิ์สิทธิ์” ฯลฯ อะไรแบบนี้

ซึ่งที่จริงก็น่าสนใจนะครับ เพราะเมื่อเราพยายามเข้าไปค้นหาสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากความคิด อะไรที่เราไม่คิดมันก็มักโผล่ออกมา เป็นประสบการณ์สดใหม่ที่บางทีก็ไม่รู้จะอธิบายยังไง

ก็ต้องอาศัยอะไรคลุมเครือๆ อย่างคำพวกนั้นไปก่อน

สุดท้ายแล้ว ผู้ร่วมภาวนาในคอร์สนั้น ก็ค้นพบที่ศักดิ์สิทธิ์ของ “แต่ละคน” ที่ไม่ซ้ำกันเลย

ซึ่งทำให้เกิดข้อสังเกตที่น่าสนใจขึ้นไปอีกว่า สรุปแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์มาจากโลกข้างนอกล้วนๆ ที่เราต้องทำคือฝึกฝนญานทัศนะและผัสสะให้แหลมคมจนหามันเจอ หรือความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นจากใจของคนเราเอง

หรือที่จริงมันก็นัวๆ มั่วๆ ผสมกัน

 

ผมคิดว่าโลกธรรมชาติข้างนอกนั่นอาจมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่จริงๆ ก็ได้

แต่จุดเริ่มต้นที่เราจะค้นพบความศักดิ์สิทธิ์ของโลกข้างนอกจะต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน

คือเริ่มจากใจที่อ่อนนุ่มและเปิดต่อประสบการณ์บางอย่าง ซึ่งคือการค้นพบว่า ที่จริงเราแต่ละคนก็ศักดิ์สิทธิ์อย่างเท่าเทียมกันนั่นแหละครับ

และความศักดิ์สิทธิ์ที่แต่ละคนมีนั้น ก็จะเชื่อมโยงไปยังความศักดิ์สิทธิ์ของทุกผู้คน และโลกทั้งหมด

ศักดิ์ แปลว่า “พลัง”

ส่วน สิทธิ์ ก็คือความสำเร็จทางใจหรือ “สิทธิ” ที่เราใช้กันนั่นแหละครับ เราจึงมีทั้งพลังและสิทธิในตัวเอง

และคำว่า “ศักดิ์ศรี” แห่งความเป็นมนุษย์หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ใกล้กับศักดิ์สิทธิ์อย่างน่าสนใจ

แต่ทั้งนี้ ผมไม่ปฏิเสธนะครับ ว่ามันมีความศักดิ์สิทธิ์อีกแบบที่ถูกสร้างขึ้นโดยอำนาจบางอย่าง โดยผมก็ไม่แน่ใจนักว่า ความศักดิ์สิทธิ์ชนิดนี้มีจริงไหม เชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์แห่งใจหรือโลกข้างนอกได้หรือไม่

แต่ที่แน่ๆ ความศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ถูกทำให้เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ ได้รับการเผยแพร่ ตอกย้ำ ไม่ยอมถูกท้าทาย และมันเกี่ยวพันกับอะไรอีกหลายอย่าง เช่น องค์กรทางศาสนา นักบวช อำนาจรัฐ ฯลฯ

ความศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ ไม่อาจเป็นคุณต่อปัจเจกบุคคล ไม่อาจส่งเสริมความเติบโตทางจิตวิญญาณของใคร ไม่ปลดปล่อยไปสู่โลกศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกๆ คนศักดิ์สิทธิ์เท่ากัน แต่เป็นคุณต่อผู้ถืออำนาจเสมอ

 

วิจักขณ์ผู้เป็นมิตรอันประเสริฐของผม จึงมักทิ้งท้ายไว้ว่า โจทย์ของนักการศาสนาหรือศาสนิกที่ยังคิดว่าศาสนธรรมมีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ คือการเริ่มต้นตั้งคำถามต่อความศักดิ์สิทธิ์ในแบบที่มีอำนาจครอบงำหรือความศักดิ์สิทธิ์แบบที่รัฐตอกย้ำ และส่งเสริมความศักดิ์สิทธิ์ในแง่พลังของปัจเจกบุคคลที่เท่าเทียมกัน

ที่ผมเขียนข้างต้นมาเพื่อจะโยงไปเรื่องการชุมนุมกันแบบ “แฟลชม็อบ” บนสกายวอล์ก ที่นำโดยคุณธนาธรน่ะครับ

นอกจากจะมีคนอย่างมากมายมหาศาลแล้ว ยังมีหลายคนบ่นว่า น่าจะใช้ที่ที่จุคนได้เยอะกว่านี้หน่อย นี่แทบจะขยับไม่ไหว ต่อไปหากคิดการจะมีม็อบจริงๆ จะอยู่กันตรงไหน ที่ไหนจะพอ

มีคนคิดว่า สกายวอล์กหรือลานหน้าหอศิลป์นั้นเหมาะแก่การทำแฟลชม็อบ เพราะใกล้ขนส่งมวลชน ไม่เป็นที่ราชการมาก อยู่กลางกรุง แต่โดยพื้นที่มีจำกัดจึงทำได้แค่แฟลชม็อบ จะยืดเยื้อยาวนานไม่ได้ และจะคิดถึงจำนวนคนที่มากกว่าที่เพิ่งเกิดขึ้นก็ยาก

ม็อบที่ผ่านๆ มาในเมืองไทยนั้น นอกจากใช้ที่ภายในมหาวิทยาลัยแล้ว สถานที่สาธารณะ ก็มีถนนราชดำเนินไปจนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สนามหลวง และแยกราชประสงค์ อีกที่ที่ไกลออกไปมากๆ คือบริเวณถนนอักษะ

ตอนนี้หากคุณธนาธรจะขยับไปใช้ที่เหล่านี้ก็คงยากมากๆ ผมคิดว่าจะติดข้อกำหนดทางราชการต่างๆ แล้ว แต่ภายใต้ข้อกำหนดเหล่านั้นมีการสร้างความศักดิ์สิทธิ์บางอย่างเพิ่มเติมไปด้วย ซึ่งทำให้การใช้ยิ่งยากเข้าไปอีก และอาจทำให้คนอีกหลายกลุ่มไม่เข้าร่วม

 

“สนามหลวง” คงเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ แต่เดิมสนามหลวงเคยเป็นทุ่งโล่ง เพื่อจะสร้างให้เป็นอย่างกรุงศรีอยุธยา และมีทั้งการทำนา งานพระเมรุ งานของหลวงของราษฎร์

การที่ผู้คนไปเล่นว่าวกันในสนามหลวงนั้นอย่างน้อยมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สี่ และยังกลายเป็น “ตลาดนัด” ในรัชกาลก่อน

สนามหลวงจึงเป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เป็นที่ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ได้ และเป็นที่สันทนาการของคนทั่วๆ ไปได้ด้วย

ผมเข้าใจเองว่าแนวคิด “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ในสมัยก่อนตามคติของเรา คงเปิดให้มีส่วนที่เป็น “โลกย์ๆ” เข้าไปแทรกอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย

คงไม่มีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ไหนที่ศักดิ์สิทธิ์เพียวๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์

ลานวัดนั้นทราบกันดีว่าเป็นที่รวมกิจกรรมทุกอย่าง และพื้นที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในวัดอย่างพระอุโบสถ ก็แอบมีรูปสัปดี้สัปดนอยู่ในบางมุมของภาพจิตรกรรมฝาผนัง

แต่แน่นอนว่า การปล่อยให้มีสิ่งโลกย์หรือกิจกรรมโลกย์ๆ ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็ย่อมลดทอนความศักดิ์สิทธิ์นั้นไปเองตามธรรมดา ซึ่งผมคิดว่าไม่แปลกอะไร เพราะพุทธสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้ลอยอยู่บนอากาศ แต่อยู่ในละแวกบ้านของโยม ซึ่งก็คือพื้นที่โลกย์ๆ และพระก็ยังต้องฉันข้าวชาวบ้านและยังต้องอยู่กับชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนโลกย์ๆ

ดังนั้น การปล่อยให้มีสิ่งโลกย์ๆ ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ คือวิธีการที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้ระหว่างสองสิ่งที่ต่างกัน เช่น ศาสนากับโลกิยะ เป็นทั้งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไปในตัว

 

แต่หากจู่ๆ เกิดมีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ยอมให้อะไรเข้าไปเลย พื้นที่แบบนั้นต้องอยู่บนทัศนะความศักดิ์สิทธิ์แบบไหน คงไม่ใช่ความศักดิ์สิทธิ์แบบที่ผมกล่าวข้างต้น

แต่คงเป็นความศักดิ์สิทธิ์ชนิดที่ตั้งอยู่บนอำนาจเบ็ดเสร็จ

ในทางกลับกัน การจะสร้างพื้นที่แบบที่ไม่มีใครสามารถเข้ามาแบ่งปันหยิบยืมใช้ได้ และเป็นที่เคารพยำเกรงก็ต้องอ้างถึงความศักดิ์สิทธิ์แบบเดียวกันนี้

เมื่อมีคนบ่นถึงเรื่องฟุตปาธรอบๆ สนามหลวงว่า ในปัจจุบันเดินแทบไม่ได้ เพราะมีการปลูกต้นไม้ไว้เต็ม ไม่ต้องนับถึงการกั้นรั้วรอบขอบชิดซึ่งเท่ากับกิจกรรมต่างๆ ของคนทั่วๆ ไปถูกห้ามไปในตัว

ครั้นมีสื่อไปสอบถาม ผอ.เขตของกรุงเทพฯ ที่รับผิดชอบพื้นที่ ท่านก็ตอบว่า พื้นที่สนามหลวงไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม.อีกแล้ว ทางเท้าก็ไม่ได้มีไว้ให้คนสัญจร เพราะพื้นที่นี้ไว้ใช้สำหรับพระราชพิธีต่างๆ เท่านั้น

ผมคิดว่าคำตอบนี้ก็ชัดเจนในตัวเอง สนามหลวงกำลังจะกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ชนิดที่ไม่ยอมให้มีอะไรเข้าไปได้อีกต่อไป

ฉะนั้น กิจกรรมทางการเมือง ซึ่งในทัศนะศาสนาแบบไทยๆ มองว่าโคตรจะโลกย์ๆ แต่อย่างน้อยยังอ้างว่าเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมได้ จึงไม่มีทางที่จะได้ใช้พื้นที่นี้อีกต่อไป

ส่วนพื้นที่สาธารณะอื่นๆ นั้นที่ผมยกมานั้น ก็อยู่ในสภาพการณ์เช่นเดียวกันนี้

ผมคิดว่านี่อันตราย เพราะการบีบเสียจนไม่มีพื้นที่เลย มีแต่จะทำให้แตกหักกันไปด้วยความรุนแรง ภูมิปัญญาของการเปิดพื้นที่เป็นสิ่งช่วยบรรเทาความรุนแรงได้ ซึ่งผู้มีอำนาจจะตระหนักหรือไม่ก็สุดแท้

 

ผมคิดว่า การที่คนออกมาสกายวอล์กมากมายจนเจ้าหน้าที่รัฐเตรียมคนไว้น้อยนั้น ก็เพราะพื้นที่ออนไลน์ ซึ่งมีอิสระมากก็ยังไม่พอที่จะรองรับความอัดอั้นตันใจไว้ได้ ถึงต้องมีพื้นที่จริงที่ผู้คนจะมาเห็นหน้าค่าตาและรู้สึกร่วมกัน

ท้ายแล้ว การจะช่วงชิงพื้นที่กลับมานั้นไม่ง่าย เพราะผมคิดว่าความศักดิ์สิทธิ์ยังมีอิทธิพลอยู่มากในคนอีกหลายกลุ่ม โจทย์นี้จึงมิใช่การเข้าไปต่อสู้ในแง่กฎระเบียบ หรือการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่เท่านั้น

หลายคนคิดว่า เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาของการตั้งคำถามกับความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของสังคมไทยอยู่

แต่ผมในฐานะศาสนิกซึ่งโง่สักหน่อยคิดว่า เราคงต้องทำให้ความศักดิ์สิทธิ์อีกแบบ ซึ่งเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของปัจเจกบุคคลดังที่กล่าวมาปรากฏขึ้นมาด้วยเช่นกัน ซึ่งน่าจะมีผลดีในระยะยาว

พูดง่ายๆ ว่า ช่วงชิงพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ก่อนช่วงชิงพื้นที่ทางกายภาพ

เพราะผมคิดว่า ในสังคมไทย ศาสนายังทรงพลังและมีอิทธิพลอยู่มาก ทำอย่างไรให้ศาสนธรรมที่มีอยู่ ถูกตีความให้สามารถสอดรับกับ “จิตวิญญาณ” ของประชาธิปไตยและโลกสมัยใหม่ได้

มาช่วยกันคิดเถิดครับ