แขกไปใครมา : ประวัติศาสตร์ของ “แขก” และ “เจ๊ก” ในประเทศไทย จากนิทรรศการงานศิลปะ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิลปินเชื้อสายแขกอินเดียแห่งเมืองเชียงใหม่ ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติอย่างคุณนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล เพิ่งจะเปิดนิทรรศการงานศิลปะร่วมสมัย เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแขกในประเทศไทยที่ชื่อ “แขกไปใครมา” (Khaek Pai Krai Ma) จัดแสดงอยู่ที่ Warehouse 30 ซอยเจริญกรุง 30 บางรัก กรุงเทพฯ

โดยเริ่มเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2562-19 มกราคม 2563 เข้าชมฟรีได้ทุกวันตั้งแต่ 13.00-19.00 น.

นอกเหนือจากงานศิลปะเก๋ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดสไตล์โปสเตอร์หนังไทยย้อนยุค หรือคลิปวิดีโอที่ถ่ายทำแล้วนำเสนอในรูปแบบของมิวสิกวิดีโอ ที่จัดแสดงอยู่ภายในงานแล้ว

ผมคิดว่าความน่าสนใจของตัวนิทรรศการอยู่ที่การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ “แขก” ที่คุณนาวินและทีมงานที่ได้เดินทางสำรวจ, ค้นหา และบันทึกประวัติศาสตร์คำบอกเล่าทั้งจากชาวอินเดียที่เข้ามาอยู่ในไทย และคนไทยเชื้อสายอินเดียทั่วทั้งประเทศ ที่เริ่มงานกันมาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2560

และถึงแม้คุณนาวินจะเน้นย้ำที่แขกอินเดีย แต่แขกที่คุณนาวินได้เก็บข้อมูลไว้นั้นมีความหลากหลายทั้งในแง่ของศาสนา และชาติพันธุ์อยู่มาก

ไม่ว่าจะเป็นพราหมณ์-ฮินดู, ซิกข์, อิสลาม, คนอินเดีย, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, มลายู, จาม ฯลฯ

แต่นั่นก็คงไม่แปลกอะไรหรอกนะครับ ถ้าหากเราจะเชื่อตามคำอธิบายของปราชญ์ผู้ล่วงลับอย่าง พระยาอนุมานราชธน ที่เคยมีจดหมายโต้ตอบกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2480 แล้วมีผู้รวมพิมพ์เอาไว้ในหนังสือชุดที่ชื่อว่า “บันทึกความรู้เรื่องต่างๆ” ดังความที่ว่า

“เรื่องคำว่า เจ๊ก มาจากคำอะไร ข้าพระพุทธเจ้าได้สอบค้นดูในภาษาต่างๆ คงได้ความว่า พวกไทยใหญ่เรียกชาวไทยที่อยู่ในตอนใต้ของจีนว่า ไทยแขก คือไทยอื่น ข้าพระพุทธเจ้าค้นคำว่า แขก ในภาษาจีน คงปรากฏในเสียงชาวกวางตุ้งว่า หัก แต้จิ๋วว่า เค็ก หรือ แคะ เป็นคำเดียวกับที่ใช้เรียกจีนชาวแคะ ในสำเนียงชาวเซี่ยงไฮ้ออกเสียงคำว่า แคะ เป็น เจี๊ยก ใกล้คำว่า เจ๊ก มาก ในภาษาพม่าเรียกจีนว่า เตยีก (Tayeuk, Tareuk) และเรียกไทยในจีนว่า ฉานเตยีก คำว่า เตยีก ใกล้เสียงว่า เจ๊ก มาก เพราะเสียง ตย กล้ำ ใกล้เสียง จ มาก ไทยทางตอนเหนือของสยามใช้เรียก จีน และ เจ๊ก ทั้งสองคำ ในภาษาเขมรและมลายูเรียก จีน อย่างเดียว ไม่ปรากฏว่าเรียกว่า เจ๊ก เพราะฉะนั้นคำว่า เจ๊ก น่าจะเป็นคำที่ได้มาทางเหนือ และคงเป็นคำเดียวกับคำว่า แขก” ทั้ง “แขก” และ “เจ๊ก”

ถ้าเชื่อตามคำอธิบายของเจ้าคุณอนุมานฯ คำว่า “แขก” กับคำว่า “เจ๊ก” ก็คือคำคำเดียวกัน แต่ออกเสียงต่างกันไปในแต่ละสำเนียงเสียงถิ่น โดยมีความหมายดั้งเดิมว่า “คนอื่น” ต่อมาในภาษาไทยภาคกลาง คำว่า “แขก” จึงค่อยกลายเป็นหมายถึงกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับชมพูทวีป และปริมณฑล ส่วนคำว่า “เจ๊ก” ก็แยกไปเป็นหมายถึงเฉพาะคนจีนไปในที่สุด ดังนั้น ที่แขกในนิทรรศการของคุณนาวิน จะมีความหลากหลายอย่างที่ว่าก็จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก

 

ทั้ง “แขก” และ “เจ๊ก” มีความสำคัญกับสยามมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

โดยหากยืนหันหลังให้กับป้อมเพชร อันเป็นป้อมที่ใหญ่ และสำคัญที่สุดของกรุงศรีอยุธยาในยุครุ่งเรือง แล้วมองออกไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลเอื่อยลงไปทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยานั้น ก็จะเห็นได้ถึงย่านการค้าขนาดใหญ่สองแห่งภายนอกเกาะเมือง ที่ถูกตัดแยกออกจากกันด้วยสายน้ำเจ้าพระยา

ฝั่งขวามือของแม่น้ำเป็นย่านของแขก

ในขณะที่ฝั่งซ้ายมือเป็นย่านของเจ๊ก หรือชาวจีน

ที่สำคัญก็คือ อยุธยาเรียกกรมกองที่ดูแลกิจการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการค้าทางฝั่งทะเลจีนใต้ ซึ่งมีการค้ากับจีนเป็นสำคัญว่า “กรมท่าซ้าย”

ในขณะที่เรียกกรมที่ดูแลกิจการเกี่ยวกับการค้า การต่างประเทศ และธุระอื่นๆ ของพวกที่มาจากซีกโลกตะวันตกว่า “กรมท่าขวา”

มรดกตกทอดในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง “แขก” กับ “กรมท่าขวา” ที่ยังมีร่องรอยให้สืบสาวมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันก็คือ ชื่อตำแหน่งหัวหน้าของกรมท่าขวาที่เรียกว่า “จุฬาราชมนตรี” ที่ในยุคหลังจากยกเลิกกรมท่าทั้งซ้าย และขวาไปแล้ว ก็ได้กลายมาเป็นชื่อตำแหน่งประมุขของศาสนาอิสลามในประเทศ มาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

 

และการจำแนกอย่างนี้ของกรุงศรีอยุธยานั้น ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเขตพื้นที่บริเวณเกาะเมืองอยุธยาเท่านั้นนะครับ แต่ในพื้นที่สำคัญของอยุธยาอย่างบริเวณบางกอก หรือกรุงธนบุรี ทั้งสองฟากแม่น้ำก็มีร่องรอยที่ชวนให้คิดถึงทำนองนี้อยู่ด้วย

กลอนเพลงยาว ของกวีสมัยพระเจ้าเอกทัศน์คนหนึ่งที่ชื่อ หม่อมภิมเสน ซึ่งพรรณนาถึงการเดินทางจากกรุงศรีอยุธยา ไปยังเมืองเพชรบุรี โดยระหว่างเดินทางได้แวะค้างคืนที่เมืองธนบุรีคืนหนึ่งระบุเอาไว้ว่า

 


“ถึงบางจีนชื่อเช่นเหมือนชื่อพี่ ชื่อสิมีนึกหน้าแล้วแฝงหน้า
ท่านบอกบทกำหนดสักวามา จะถึงท่าประทับที่บุรีธน”


“บางจีน” ที่ถูกระบุไว้ในกลอนยาวของหม่อมภิมเสน ก็คือเมืองฝั่งพระนคร บริเวณที่เป็นท้องสนามหลวง และพระบรมมหาราชวัง ในปัจจุบันเพราะในพระราชพงศาวดารหลายฉบับระบุเอาไว้ตรงกันว่า เมื่อรัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นที่ฝั่งพระนคร ก็ทรงให้ชาวจีนที่อยู่อาศัยมาแต่เดิมในละแวกนี้ทั้งหมด ย้ายไปอยู่ที่บริเวณสำเพ็งแทน

ดังนั้น ถ้าบางจีนไม่ได้อยู่บริเวณนี้แล้ว จะให้ไปอยู่ที่ตรงไหนได้อีกเล่าครับ? และโดยเฉพาะเมื่อมองลงไปยังทิศใต้แล้ว “บางจีน” หรือฟากฝั่ง “พระนคร” นั้นก็อยู่ทางฝั่งซ้ายมือของแม่น้ำอีกต่างหาก

 

สําหรับทางฟากขวามือของแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อมองลงทิศใต้คือฝั่งธนบุรีนั้น ศูนย์กลางแต่ดั้งเดิมย่อมอยู่ที่ปากคลองบางกอกใหญ่ เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญจึงมีการสร้างป้อมวิชเยนทร์ (ปัจจุบันเรียกป้อมวิชัยประสิทธิ์) มาตั้งแต่สมัยของพระนารายณ์ และต่อมาป้อมแห่งนี้ก็ถูกปรับปรุง แล้วใช้เป็นที่ประทับของพระเจ้าตากสินมาตลอดทั้งรัชสมัย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือในแผนที่ของกรุงธนบุรีฉบับหนึ่งซึ่งสันนิษฐานกันว่า ถูกวาดขึ้นโดยฝีมือของสายลับชาวพม่า ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้ระบุว่า พื้นที่ถัดออกไปตรงบริเวณไม่ไกลจากย่านสวนสมเด็จย่าในปัจจุบันนี้มากนัก มีมัสยิดตั้งอยู่

และเมื่อมีมัสยิดก็ต้องมี “แขก” มุสลิมอย่างไม่ต้องสงสัย (และโปรดอย่าลืมว่า ไม่ไกลไปจากบริเวณนั้น ก็มีอะไรที่เรียกว่า สี่แยกบ้านแขกตั้งอยู่ไม่ห่างจากกันนักอีกด้วย) แต่น่าเสียดายที่ในปัจจุบันไม่เหลือหลักฐานของมัสยิดที่ว่าไปเสียแล้ว

ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีมัสยิดที่ถูกสร้างขึ้นบริเวณใกล้ตำแหน่งมัสยิดหลังที่มีร่องรอยอยู่ในแผนที่สายลับพม่า โดยตระกูลบุนนาคก็คือ มัสยิดกูวติล ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นย่านแขกดั้งเดิมในบริเวณนี้อยู่

ชุมชนแขกในบริเวณนี้ดูจะขยายตัวใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเป็นผลจากการค้า โดยเฉพาะการค้าผ้าจากอินเดีย จึงได้มีการสร้างมัสยิดอีกแห่งหนึ่งขึ้นไม่ห่างจากมัสยิดกูวติลนัก คือมัสยิดเซฟี หรือมัสยิดตึกขาว ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2453

จนกระทั่งถึงยุคที่กรุงเทพฯ ได้พัฒนามาถึงยุคที่การเดินทางทางบกด้วยถนน สำคัญกว่าการสัญจรทางน้ำ เมื่อช่วงหลังรัชกาลที่ 5 นั่นแหละครับ พวกแขกที่อยู่ในละแวกดังกล่าวจึงค่อยขยับขยายไปสร้างห้างร้านที่อีกฝั่งของแม่น้ำอย่าง ย่านพาหุรัดแทน เพราะศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ได้ย้ายมาอยู่ที่ฝั่งพระนครอย่างเต็มตัวแล้ว

เอาเข้าจริงแล้ว ประวัติศาสตร์ของ “แขก” ในสยาม จึงสัมพันธ์อยู่กับ “เจ๊ก” อย่างแยกกันไม่ขาดเสียเท่าไหร่