วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /ถึงรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จบ ปร.42

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์  

ถึงรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จบ ปร.42

มานิจ สุขสมจิตต์ บันทึกในเรื่อง “กฎหมายจดแจ้งการพิมพ์” ต่อจากนั้นถึงการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ดังแจ้งให้ทราบแล้วว่า

ทันทีที่ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน จากคณะรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สั่งปิดหนังสือพิมพ์ทุกฉบับทันทีในเย็นวันนั้น พร้อมออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 (ปร.42) มาใช้ควบคู่กับพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484

วันรุ่งขึ้นจึงให้หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ อาทิ นิตยสารไปยื่นแสดงความจำนงขอออกหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ใหม่ ในการควบคุมของ “คณะกรรมการตรวจสอบข่าวสาร” ซึ่งเจ้าของหนังสือพิมพ์ต้องรับเงื่อนไขให้บางคนที่ไม่พึงปรารถนาในกองบรรณาธิการออกไป จึงจะให้หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นออกใหม่ได้

ปร.42 นี้เป็นกฎหมายที่เข้มงวดและครอบจักรวาลยิ่งกว่าประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 เพราะการออกหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ต้องผ่านการเห็นชอบจากทั้ง 3 หน่วยงาน คือ สันติบาล หน่วยงานข่าวกรองแห่ง ชาติ (กรมประมวลข่าวกลาง) และสภาความมั่นคงแห่งชาติ

นอกจากนี้ ปร.42 ยังให้อำนาจเจ้าพนักงานการพิมพ์ ซึ่งได้แก่ อธิบดีกรมตำรวจ สำหรับกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับแต่ละจังหวัด เป็นผู้วินิจฉัยความผิดและสั่งลงโทษโดยไม่มีการสอบสวน ไม่ผ่านกระบวนการศาล โดยระบบการลงโทษจะใช้วิธีเรียกไปตักเตือน เมื่อครบ 2 ครั้งแล้วยังฝ่าฝืนก็จะถอนใบอนุญาตบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ที่ทำผิดมีสิทธิอุทธรณ์ภายใน 15 วัน

แต่คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีมหาดไทยถือเป็นที่สุด

 

ด้วยผลของพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ผนวกกับ ปร.42 ทำให้หนังสือพิมพ์ในสมัยที่ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ถูกปิด 13 ฉบับ ด้วยข้อหาที่แตกต่างกัน

เช่น “ชาวไทย” ถูกปิด 7 วัน เพราะลงข่าวปลัดกระทรวงมหาดไทยโกงอายุราชการ หนังสือพิมพ์แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์ ถูกปิดเพราะลงข่าวทำให้ต่างชาติอาจเข้าใจรัฐบาลผิด หนังสือพิมพ์เด่นสยามถูกปิดเพราะวิจารณ์การปิดเดลินิวส์ หนังสือพิมพ์หลักเมืองถูกปิดเพราะลงบทความ “รัฐบาลแบบไหน”

รัฐบาลพยายามสร้างความเชื่อถือให้ตนเองด้วยการออกหนังสือพิมพ์ “เจ้าพระยา” แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะโฆษณาชวนเชื่อโจ่งแจ้งเกินไป หนังสือเหลือขายมาก จนมีผู้ขนานนาม “เจ้าพระยา” เป็นหนังสือพิมพ์ “ตันรายวัน”

ส่วนหนังสือพิมพ์อื่นๆ ตกอยู่ในสภาพต้องเอาตัวให้รอด เสนอข่าวชาวบ้าน เช่น ข่าวอาชญากรรมเกี่ยวกับเพศ ข่าววิตถาร มีการนำเสนอนวนิยายแปลจากภาษาจีน

เมื่อมีการ (ปฏิวัติอีกครั้ง) เปลี่ยนรัฐบาลจากรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร มาเป็นรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แล้ว และมีรัฐบาลต่างๆ มาจนถึงรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ยกเลิกได้เพียง ปร.42 โดยรัฐบาล พล.อ.ชาติชายได้ตราพระราชกำหนดให้ยกเลิก ปร.42

แต่พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ยังคงอยู่

มานิจ สุขสมจิตต์ บันทึกต่อท้ายเรื่อง “กฎหมายจดแจ้งการพิมพ์” ว่า

นอกจากพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 แล้ว การประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ยังจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอีกประมาณ 20 ฉบับ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว กฎหมายว่าด้วยความมั่นคง กฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายยา กฎหมายอาหาร กฎหมายเครื่องมือแพทย์ กฎหมายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท กฎหมายเครื่องสำอาง กฎหมายวัตถุอันตราย กฎหมายควบคุมและส่งเสริมสิ่งแวด ล้อม กฎหมายคณะสงฆ์ กฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น

จบเรื่อง “กฎหมายจดแจ้งการพิมพ์” เพียงเท่านี้

 

เหตุการณ์หลังจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มีการเปลี่ยนรัฐบาลอีกหลายครั้ง ตั้งแต่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยาวนานถึง 8 ปี แม้จะไม่มีการปิดหนังสือพิมพ์ หรือการใช้พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 กับหนังสือพิมพ์ แต่ฝ่ายหนังสือพิมพ์มิได้อยู่นิ่งเฉย ยังมีความพยายามที่จะให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ เพื่อหนังสือพิมพ์มีเสรีภาพอย่างแท้จริง

จนถึงรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ยังขอพบ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงถึงเหตุผลที่ขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ทั้งโดยส่วนตัวของผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์และขอเข้าพบเป็นคณะย่อย ที่โรงแรมปริ๊นเซส ถนนหลานหลวง

เท่าที่จำได้ มี มานิจ สุขสมจิตต์ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร วิภา สุขกิจ บัญญัติ ทัศนียเวช และเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผลของการที่หนังสือพิมพ์ควรมีสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ โดยรัฐบาลยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับดังกล่าวควบคุมหนังสือพิมพ์ เช่นเดียวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้

รวมถึงเสรีภาพอื่น อันเป็นสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

จนเมื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ปฏิวัติยึดอำนาจรัฐบาล และเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ได้รับการคัดค้านจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่คัดค้าน “นายกรัฐมนตรีจากคนนอก” เกิดการชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เป็นเหตุให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี และมีการเสนอให้นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อมีการเลือกนายกรัฐมนตรีจากสภาผู้แทนราษฎร พรรคสามัคคีธรรมเสียงข้างมาก พล.อ.อ.สมบูรณ์ ระหงษ์ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ปรากฏว่า มิได้เป็นไปตามที่สภาเสนอ ผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ ตามที่ประธานสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ และโปรดเกล้าฯ คือนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

มานิจ สุขสมจิตต์ บันทึกต่อมาในเรื่อง “จุดจบของกฎหมายการพิมพ์” ถึงการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ซึ่งไม่ค่อยต่อเนื่องนัก กระทั่งถึงรัฐบาลชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.2540 จึงเริ่มดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง