มองบ้านมองเมือง /ปริญญา ตรีน้อยใส / สิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยม

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

สิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยม

ในแต่ละปี ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคัดเลือกให้รางวัลสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมประจำปี ของสภาวิจัยแห่งชาติ เลยมีโอกาสรับรู้เกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ของบ้านเราบ้าง

ในแต่ละปี จะมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมากมาย เนื่องจากเป็นงานระดับชาติ จึงไม่ค่อยเห็นผลงานของนักเรียน นักศึกษา ที่มักจะเป็นข่าวประชาสัมพันธ์สถาบัน ตามสื่ออยู่เสมอ

หากเป็นผลงานของอาจารย์มหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัย ผลงานที่เสนอจึงเป็นไปตามแบบวิชาการ มีการอ้างอิงทฤษฎี ตำรา หรืองานวิจัยในต่างประเทศ ระบุรายการเอกสารอ้างอิง บรรณานุกรมถูกต้องตามหลักสากล

ด้วยผู้เสนอผลงาน ต้องใช้เป็นเอกสารสำหรับเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ หรือตำแหน่งวิชาการอยู่แล้ว จึงมีแบบแผนตามมาตรฐานที่กระทรวงกำหนด

ผลงานส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องเทคโนโลยีชั้นสูง เชิงปรัชญาลึกซึ้ง ซับซ้อน ตั้งแต่ กลไกในยานอวกาศ สารสังเคราะห์ที่ส่งผลต่ออวัยวะ ไปจนถึงความยืดหยุ่น ผลิตภาพ ความกระปรี้กระเปร่าทางด้านเศรษฐกิจ ของเพศทางเลือก หรือเพศที่สาม คล้ายๆ กับผลงานที่เคยเสนอมาแล้วตอนศึกษาต่อในต่างประเทศหรือในประเทศ

ผลงานเหล่านี้ จึงมีหนังสือรับรอง ประกาศนียบัตร หรือรางวัลจากต่างประเทศ

แต่ที่น่าแปลกใจคือ ผู้เขียนหรือผู้อ่านจะไม่เคยพบเห็นสิ่งประดิษฐ์ที่ว่า ในชีวิตประจำวัน ในสื่อทั่วไป หรือบนท้องถนน

 

ขณะเดียวกัน เราอาจเห็นสิ่งประดิษฐ์มีใช้กันแพร่หลาย เช่น เครื่องคัดขนาดมังคุด เครื่องสอยมะละกอ โรงเลี้ยงจิ้งหรีด ไปจนถึงเรื่องยากๆ เช่น เทคนิคผสมพันธุ์กุ้ง ที่ทำให้เรามีกุ้งกินและส่งออกทุกวันนี้

เพียงแต่ว่า สิ่งประดิษฐ์ด้านล่าง ไม่ใช่ผลงานวิชาการ โดยนักวิชาการ และเพื่อวิชาการ ไม่เข้าข่ายที่สภาวิจัยแห่งชาติกำหนด โดยเฉพาะไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการต่างประเทศ เป็นผลงานของคนธรรมดา ไม่มีตำแหน่งวิชาการ

ที่สำคัญ ไม่มีการอ้างผลงานวิจัยอื่น ไม่มีการอ้างอิงทฤษฎี ไม่เคยไปแสดงผลงานหรือไปประกวดที่ประเทศไหนๆ

ไม่มีบทความวิชาการ แต่ผลงานเหล่านั้นกลับแพร่หลาย ผู้คนได้ใช้ประโยชน์กันทั่วหน้า

จึงดูเหมือนเป็นเรื่องราวของสองนครา ระหว่างสิ่งประดิษฐ์ทางด้านวิชาการ มาตรฐานต่างประเทศ ที่มีรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติรับรองคุณภาพ กับสิ่งประดิษฐ์ธรรมดา ที่มีคนใช้สอย

เรื่องแบบนี้ ไม่รู้จะเหมือนกับผลงานวิชาการในมหาวิทยาลัย ที่ส่งเสริมให้อาจารย์ทำเพื่อมหาวิทยาลัย จะได้คะแนนเคพีไอ จึงต้องเป็นภาษาต่างประเทศ ต้องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่ไม่มีใครรู้จัก หรือไปเผยแพร่ในการประชุมวิชาการ ที่มีบริษัทต่างชาติรับจ้างจัด

ที่สำคัญ ผลงานนั้น เอาไปสอนก็ไม่ได้ เพราะไม่เกี่ยวกับบทเรียน นักศึกษาก็ไม่สนใจ

 

ในขณะที่อาจารย์อีกกลุ่มหนึ่ง รับจ๊อบทำงานวิจัย โดยมีนักศึกษาเป็นผู้ช่วยวิจัย ทำกันเงียบๆ ในชั้นเรียน ทำเสร็จแล้วก็นำเสนอให้กับบริษัทหรือโรงงานภาคเอกชน ผลงานวิจัยจะไม่มีการตีพิมพ์ เลยไม่ต้องอ้างอิงทฤษฎี แต่ต้องใช้งานได้จริง เข้าสู่กระบวนการผลิต จัดการจำหน่ายก่อนบริษัทคู่แข่งอื่น

อีกทั้งไม่ต้องมีระบบประกันคุณภาพ เพราะบริษัทที่ว่าจ้างจะควบคุมคุณภาพเอง นักศึกษาที่ช่วยทำงาน ก็ได้เรียนรู้จริง จบไปอาจได้ไปอยู่กับบริษัท เพราะรู้งานอยู่แล้ว เพียงแต่จะเป็นที่อิจฉาของอาจารย์ ที่จำตำราสอน และไม่เคยทำวิจัยอะไรที่ใช้งานได้จริง

เรื่องแบบนี้ น่าจะเริ่มมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ข้าราชการไปศึกษาในต่างประเทศ ช่วงเวลาสั้นๆ เลยยึดมั่นถือมั่น จำได้แต่เรื่องที่พบเห็นในบ้านเขา และตำราเท่าที่เรียนมาเท่านั้น เมื่อจบกลับมาแล้ว ก็ทำงานรูทีน สอนตามเขา หรือสอนตามตำรา อีกทั้งไม่สนใจเรื่องที่เป็นอยู่ในบ้านเรา ไม่ได้ค้นคว้าวิจัย หาความรู้ นักศึกษาก็ชอบ เพราะไม่ต้องเข้าใจ

ครั้นมีระบบตรวจสอบประกันคุณภาพ ก็มีผู้รู้จำตำราต่างประเทศมาตรวจสอบแบบที่ได้เรียนมาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติจริง สอนจริง สภาพที่เป็นจริง เลยวนเวียนไปมา สาละวันเตี้ยลงไปเรื่อย

ที่จริงไม่เฉพาะสิ่งประดิษฐ์เท่านั้นที่เวียนวนอยู่ในเขาวงกตของสภาวิจัยแห่งชาติ งานวิจัยและนวัตกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ก็ไม่ต่างกัน

แม้ว่ารัฐบาลจะนำมากองรวมไว้ในกระทรวงเดียวกัน ที่มีชื่อยาวมาก ในที่สุดจะกลายเป็นอภิมหาเขาวงกต แห่งวงการสิ่งประดิษฐ์ วงการวิจัย วงการศึกษา วงการพัฒนาบ้านเมือง

ยกเว้นโครงการชิม ช้อป ใช้ และเมืองไทยต้องเที่ยว เดี๋ยวนี้ ที่ขอให้รางวัลประดิษฐ์คำยอดเยี่ยมประจำปี ส่วนจะช่วยแก้ปัญหาอะไรได้นั้น มองบ้านมองเมืองไม่รู้ และไม่เกี่ยวแน่นอน