สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : เศรษฐกิจอวกาศและการแข่งขัน

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (29)

เศรษฐกิจอวกาศและการแข่งขัน

กลุ่มองค์การที่นำการศึกษาด้านเศรษฐกิจอวกาศ ได้แก่ องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี (ก่อตั้ง 1961) ซึ่งเป็นสโมสรประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว มีกลุ่ม 7 เป็นแกน นำโดยสหรัฐเพื่อการฟื้นฟูยุโรปและต้านการขยายตัวของสหภาพโซเวียตช่วงสงครามเย็น

องค์การนี้ถือได้ว่าเป็นความร่วมมือสำคัญทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตะวันตกโดยมีพื้นที่หลักอยู่ที่ยุโรป

ความสนใจศึกษานี้ปรากฏชัดเจนตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและกิจกรรมทางอวกาศของโลกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม 7 อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เศรษฐกิจอวกาศได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว

มีผู้แสดงใหม่เพิ่มขึ้นมากในประเทศตลาดเกิดใหม่ มีจีน เป็นต้น

ดังนั้น จึงเป็นส่วนที่ควรให้ความสนใจเป็นการเฉพาะ เพื่อรักษาการนำทางเศรษฐกิจอวกาศของตะวันตกไว้ องค์กรนี้ยังเห็นว่า เศรษฐกิจอวกาศเฟื่องฟูขึ้นจากเหตุปัจจัยหลายประการ ได้แก่

ก) การร่วมมือนานาชาติ สามารถลดค่าใช้จ่ายในการทำซ้อนกันที่ไม่จำเป็นและเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านนี้

ข) การพัฒนาเทคโนโลยีข่าวสาร นาโนเทคโนโลยีและอำนาจ คำนวณคอมพิวเตอร์ เช่น ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ได้ส่งผลร่วมกันช่วยกระตุ้นความสนใจในธุรกิจอวกาศ ขยายโอกาสใหม่ พัฒนาอุปกรณ์ใหม่และเปิดให้เข้าถึงอุปกรณ์อวกาศรุ่นต่อไปได้มากขึ้น เช่น ดาวเทียมฉลาด สถานีอวกาศ

ค) แรงกระตุ้น เพื่อความมั่นคงแห่งชาติและการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องความเป็นความตายอย่างหนึ่ง และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอวกาศจะเป็นตัวนำในการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทั่วไปด้วย

ง) การใช้ประโยชน์จากอวกาศได้มากขึ้นจากเอาต์พุตดาวเทียมที่สำคัญได้แก่ สัญญาณและข้อมูล โดยเฉพาะในกิจกรรมสำคัญในชีวิตประจำวัน เช่น การพยากรณ์อากาศ การสื่อสารและการออกอากาศบนโลก การป้องกันบรรเทาสาธารณภัย การสื่อสารทางไกล การแพทย์ทางไกล การทำฟาร์มแบบแม่นยำ การจัดการการใช้ที่ดิน ไปจนถึงการติดตามการปฏิบัติตามสนธิสัญญา

จ) ความต้องการสำรวจอวกาศของมนุษย์ที่ต้องการรู้ลึกไปในอวกาศมาตั้งแต่สมัยโบราณ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทางอวกาศได้สร้างสมความรู้ด้านนี้มากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

เช่น จากการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล การส่งยานไปลงบนดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ หรือการส่งยานไปลงที่ดาวเคราะห์น้อยอีรอส การสำรวจดาวพฤหัสบดี และดาวพลูโต เป็นต้น

ในปี 2002 กลุ่มโออีซีดีได้เริ่มสำรวจความสำคัญทางเศรษฐกิจของเทคโนโลยีอวกาศ มีหลายองค์กรเข้าร่วม จากความพยายามนี้ เกิด “การประชุมโลกว่าด้วยเศรษฐกิจอวกาศ” ในปี 2006 ในที่ประชุมนี้ ได้ให้คำจำกัดความของเศรษฐกิจอวกาศว่าหมายรวมถึง “ผู้แสดงทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการสนองผลผลิต และบริการที่เป็นไปได้จากอวกาศ ประกอบด้วยโซ่มูลค่าที่ยาว เริ่มต้นจากผู้แสดงในการวิจัยและพัฒนา ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ทางอวกาศ (เช่น เครื่องร่อนจรวด ดาวเทียม สถานีภาคพื้นดิน) จนถึงผู้สนองผลผลิตทางอวกาศ (เช่น เครื่องมือนำทาง โทรศัพท์ดาวเทียม) และบริการจากอวกาศ (เช่น บริการทางอุตุนิยมวิทยาและการส่งวิดีโอถึงบ้าน) ไปยังผู้บริโภคขั้นสุดท้าย”

ต่อมาได้เผยแพร่รายงาน “เศรษฐกิจอวกาศแบบมองผ่าน 2007” ในเอกสารนี้ได้เสนอปัญหาและวิธีการคำนวณ หาขนาดเศรษฐกิจอวกาศของโลก ผลการศึกษาสำคัญบางประการได้แก่

ก) งบประมาณของสถาบันต่างๆ ด้านอวกาศ ในประเทศโออีซีดีตกราว 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2005 และรายได้จากสินค้าและบริการเนื่องจากอวกาศทั่วโลก ตกราว 110-120 พันล้านดอลลาร์ในปี 2006 เศรษฐกิจอวกาศมีแนวโน้มเติบโตขึ้น

ข) ประเทศกลุ่ม 7 ครอบงำการผลิตในอุตสาหกรรมการบินอวกาศ ประกอบด้วยการผลิตอากาศยานและยานอวกาศ ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาด้านธุรกิจอวกาศรวมมากกว่า 19.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2002 โดยสหรัฐ ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนีมีสัดส่วนถึงราวร้อยละ 84 ของทั้งหมด

ค) กิจกรรมท้ายน้ำด้านอวกาศ เช่น การให้บริการสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียมไปยังบ้าน บริการจีพีเอสในปี 2006 รวมมากกว่า 100 พันล้านดอลลาร์ มีขนาดใหญ่กว่าภาคต้นน้ำที่ทำมาแต่เดิม ได้แก่ ผลิตดาวเทียมและจรวดเป็นอันมาก ตกเพียงราว 12 พันล้านดอลลาร์ กล่าวได้ว่าลงทุนน้อย กำไรงาม

ง) ข้อมูลด้านการจดสิทธิบัตรในกิจกรรมด้านอวกาศ ระหว่างปี 1990 ถึง 2000 เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว ทั้งในยุโรปและสหรัฐ สะท้อนนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและความมีพลังของเศรษฐกิจในภาคนี้

(ดูเอกสารชื่อ The Space Economy at a glance 2007 ใน oecd-library.org)

ในด้านความพยายามในการรักษาการเป็นผู้นำทางด้านอวกาศของตะวันตก เห็นได้จากการโน้มน้าวกดดันรัสเซียให้มาเป็นมิตรร่วมทางต่อเนื่อง

จนในปี 1997 รัสเซียเข้าร่วมกลุ่ม 7 และเรียกชื่อใหม่ว่า “กลุ่ม 8” เป็นโอกาสสำหรับสหรัฐและพันธมิตรในการร่วมมือกับรัสเซียในการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ ที่สามารถทำได้เร็วขึ้นและถูกกว่า จนสามารถส่งสถานีอวกาศนี้ได้ในปลาย 1998 ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมอวกาศตกอยู่ในกลุ่ม 7+1 มากขึ้นอีก

แต่ปูตินผู้นำรัสเซียคนต่อมา ไม่เพียงต้องการฐานะในกลุ่มมหาอำนาจผู้จัดการโลก แต่ต้องการความเป็นอิสระ ไม่ใช่เหมือนเป็นบริวารตะวันตก ได้เรียกร้อง ปฏิบัติ และต่อสู้อย่างมีขั้นตอน ภายในประเทศขจัดอิทธิพลเศรษฐีใหม่รัสเซียที่นิยมตะวันตก ด้านระหว่างประเทศร่วมกับจีนตั้งองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ขึ้นในปี 2001 ต่อมา โจมตีสหรัฐอย่างเปิดเผยในการเอาเปรียบโลกทางเศรษฐกิจ-การเมือง ถึงปี 2014 ตอบโต้การก่อรัฐประหารโดยสหรัฐในยูเครนด้วยการผนวกดินแดนแหลมไครเมีย และถูกขับออกจากกลุ่ม 8 และถูกแซงก์ชั่นอย่างหนัก

ถึงปี 2017 รัสเซียแถลงว่าตนออกจากกลุ่มเป็นการถาวร

ขณะที่รัสเซียดำเนินนโยบายเป็นอิสระจากสหรัฐและตะวันตกมากขึ้น ในด้านตะวันออก ได้เกิดมหาอำนาจใหม่ขึ้นคือประเทศจีน ซึ่งรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2003 สามารถส่งมนุษย์อวกาศโคจรรอบโลกด้วยตนเองเป็นผลสำเร็จ เป็นชาติที่สามต่อจากรัสเซีย สหรัฐ ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางอวกาศ

กล่าวได้ว่าด้วยนโยบายและการปฏิบัติของสหรัฐ-ตะวันตกเอง ได้เป็นเงื่อนไขสำคัญให้รัสเซียและจีนมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

เป็นความใกล้ชิดทางนโยบายและวิสัยทัศน์ในการสร้างความสัมพันธ์นานาชาติแบบพหุภาคีมีหลายขั้วอำนาจ เป็นความใกล้ชิดยิ่งกว่าพันธมิตรตามสนธิสัญญาซึ่งแปรเปลี่ยนได้เร็วกว่า

โดยการเกิดแกนจีน-รัสเซีย ก่อให้เกิดการแข่งขันในตัวมันเองระหว่างกลุ่มโออีซีดี ที่มีกลุ่ม 7 เป็นแกน และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่นอกโออีซีดีที่มีกลุ่มบริกส์เป็นแกน

การแข่งขันด้านอวกาศดังกล่าวมีความซับซ้อนยิ่ง เนื่องจากแต่ละประเทศเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศด้วยความต้องการจำเป็นที่ต่างกันไปตามฐานะและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของตน และการปรับตัวตามสถานการณ์พบว่าสหรัฐกับยุโรปแม้มีความลงรอยกันในนโยบายด้านเทคโนโลยี แต่ก็มีส่วนแตกต่างที่ยุโรปก็ต้องการความเป็นอิสระของตนในการพัฒนา เพื่อให้สามารถไล่มาใกล้เคียงกับสหรัฐ

นอกจากนี้ สงครามการค้าไม่ได้จำกัดเพียงระหว่างสหรัฐ-จีน หากยังเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐ-ยุโรปด้วย

เกิดการตอบโต้เอาคืนกันอย่างลับๆ ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโอบามา และมาโจ่งแจ้งในสมัยทรัมป์ ที่เป็นข่าวใหญ่ในเดือนธันวาคม 2019 ฝรั่งเศสประกาศว่าจะขึ้นภาษีดิจิตอลกับบริษัทใหญ่ทางเทคโนโลยีของสหรัฐในอัตราร้อยละ 3 ในเดือนมกราคม 2020 ซึ่งจะกระทบต่ออย่างแอปเปิล แอมะซอน กูเกิล และไมโครซอฟต์

ซึ่งสหรัฐตอบโต้ทันควันว่าจะขึ้นภาษีไวน์และชีสจากฝรั่งเศส โดยบางรายการอาจสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ รัฐบาลเยอรมนียังยืนกรานจะคบค้ากับบริษัทหัวเว่ยของจีนต่อไป ทางด้านกลุ่มบริกส์ที่เพิ่งก่อตัว ความร่วมมือกันยังไม่ตั้งมั่น ทั้งยังเกิดปัญหาใหญ่ที่อินเดียได้ระแวงจีนและเล่นไพ่สหรัฐ

การฟื้นฟูอำนาจและเศรษฐกิจอวกาศของสหรัฐ

สหรัฐเป็นผู้นำในด้านอวกาศ แต่นโยบายเชิงจักรวรรดิเป็นอุปสรรคใหญ่ ทำให้งานด้านอวกาศมีลักษณะขึ้นๆ ลงๆ จนในบางด้านกลายเป็นความอับจน คล้ายเศรษฐีเกิดความขัดสน

ตัวอย่างที่เห็นชัดได้แก่ กรณีกระสวยอวกาศ หรือระบบขนส่งทางอวกาศสหรัฐ กระสวยอวกาศเป็นเทคโนโลยีอวกาศที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงของนาซาในการ สร้างระบบขนส่งทางอวกาศขึ้น มีออบิเตอร์หรือยานโคจรจะส่งลูกเรือและสัมภาระไปยังอวกาศ

ขณะที่ตัวเครื่องบินที่ใช้ส่งยานโคจรสามารถบินกลับมาใช้งานใหม่ได้อีก เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ปี 1981 ซึ่งในตอนนั้นสถานีอวกาศแห่งแรกของสหรัฐคือสกายแล็บก็ได้ตกลงสู่โลกแล้ว (ส่งขึ้นปี 1973 ตกลงมาสู่โลกปี 1979)

กระสวยอวกาศได้ปฏิบัติภารกิจสำคัญ เช่น ส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล สมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูก ที่ติดหล่มในสงครามอิรัก มีความคิดเลิกล้มโครงการนี้และหันไปพัฒนาจรวดธรรมดาแทนในการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อถึงปี 2011 กระสวยอวกาศสามลำสุดท้ายปลดประจำการ จรวดที่พัฒนาก็ยังไม่สำเร็จ สหรัฐจำต้องใช้ บริการจากรัสเซียในการส่งลูกเรือและสัมภาระไปยังสถานีอวกาศ โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการส่งคนละราว 80 ล้านดอลลาร์ต่อเที่ยวบิน

ประธานาธิบดีโอบามามีความเห็นว่าควรมีการริเริ่มโครงการความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่นเวลาและประหยัดค่าใช้จ่าย คือ “โครงการลูกเรือเชิงพาณิชย์”

นาซาได้ทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัทเอกชนพัฒนายานอวกาศส่งมนุษย์ แต่โครงการไปได้ช้าเนื่องจากงบประมาณมีจำกัด

จนถึงปี 2014 นาซาได้ทำสัญญากับสองบริษัท ได้แก่ โบอิ้งเจ้าเก่าที่เป็นเจ้าเวหาผู้สร้างอากาศยานและยานอวกาศมานาน กับบริษัทสเปซเอ็กซ์ (Space Exploration Technologies Corp) ซึ่งเป็นบริษัทใหม่ก่อตั้งในปี 2002 บริหารโดยอีลอน มัสก์ มีผลงานโดดเด่นมาก ทั้งมีโครงการสร้าง “ระบบขนส่งอวกาศระหว่างดวงดาว” ของตนขึ้นมาเอง

จนนักวิเคราะห์เกรงว่าบริษัทนี้และบริษัทเอกชนอื่น ที่มีแผนแบบเดียวกัน อาจส่งมนุษย์ลงดวงจันทร์ได้ก่อนนาซาก็เป็นได้

ประเมินกันว่าถ้าใช้บริการของโบอิ้งจะเสียค่าใช้จ่ายในการส่งมนุษย์อวกาศราว 90 ล้านดอลลาร์ต่อเที่ยว ถ้าเป็นของสเปซเอ็กซ์ราคาจะถูกลงมาก เหลือเพียงราว 55 ล้านดอลลาร์ มาถึงสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ได้มีการเร่งรัดงานด้านอวกาศยิ่งขึ้น เพื่อฟื้นฐานะการเป็นผู้นำในการส่งมนุษย์ลงดวงจันทร์และการสำรวจดาวอังคารให้โดดเด่นขึ้นมาอีกครั้ง คาดว่าจะสามารถส่งมนุษย์อวกาศสหรัฐด้วยตนเองได้ปี 2020

นอกจากบริษัทดังกล่าว สหรัฐยังมีบริษัทด้านอวกาศที่โดดเด่นอีกหลายบริษัท เช่น บลูออริจิ้น บริษัทในเครือแอมะซอน มีผู้บริหารใหญ่คือ เจฟฟ์ เบโซส มีแผนส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ สร้างเมืองอวกาศที่มีประชากร 1 ล้านคน และเวอร์จิ้น กาแล็กติก ที่สามารถนำยานอวกาศความเร็วเหนือเสียงเข้าแตะขอบอวกาศ แต่ยังไม่ถึงขั้นเข้าวงโคจร มีเป้าประสงค์เพื่อจัดทัวร์อวกาศให้บรรดามหาเศรษฐกิจขึ้นชมวิวโลกเป็นเวลาราว 2 ชั่วโมง (ผู้ก่อตั้งเป็นมหาเศรษฐีชาวอังกฤษ ในปี 2002 แต่มีสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐ) เหล่านี้แสดงว่านโยบายการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนได้มาถูกทาง

สำหรับในด้านเศรษฐกิจอวกาศนั้น นายวิลเบอร์ รอสส์ รมว.พาณิชย์สหรัฐเป็นผู้เอางานเอาการในด้านนี้ เคลื่อนไหวยกระดับองค์การที่ทำงานด้านธุรกิจอวกาศ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 เขาได้เผยแพร่บทความแสดงความเห็นว่า เศรษฐกิจอวกาศของโลกจะขยายตัวถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ได้

และในเดือนมิถุนายน ได้กล่าวปราศัยในการประชุมว่าด้วยอุปกรณ์เซ็นเซอร์ทางไกล ความตอนหนึ่งว่า “เรามีความเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่าเศรษฐกิจอวกาศของโลกในขณะนี้ที่มีขนาดราว 400 พันล้านดอลลาร์ จะขยายตัวรวดเร็วถึง 1 ล้านล้าน หรือกระทั่ง 3 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2040”

แต่ความคาดหวังดังกล่าว ไม่ไปด้วยกันกับนโยบายทำสงครามการค้าของทรัมป์ เพราะสงครามการค้าทำลายการบริโภค การผลิต การลงทุนและการค้า ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรง

และสงครามการค้ายังไม่ไปกับเศรษฐกิจ

อวกาศที่ต้องการความร่วมมือนานาชาติและการค้าแบบข้ามพรมแดน นอกจากนี้ แนวคิดของนายรอสส์ยังไม่ชัดเจนว่า จะหาลูกค้าใหม่จากที่ใด ขณะที่ทางจีนที่มีเป้าหมายใหญ่กว่านั้น ได้คาดว่าเศรษฐกิจอวกาศจะมีมูลค่าถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมีลูกค้าใหม่อย่างเช่น เมืองฉลาด คาดว่าประชากรโลกจะตั้งถิ่นฐานในเมืองเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก แต่เมืองที่เป็นอยู่ไม่ฉลาด ใช้ทรัพยากรและพลังงานสูง แออัดไม่น่าอยู่ ก่อของเสียและมลพิษมาก ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ทางออกคือสร้างเมืองฉลาดที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง รวมทั้งเทคโนโลยีอวกาศ ในอดีตเคยนิยมกล่าวกันว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ปัจจุบันนี้กล่าวกันว่า “คำตอบอยู่ที่เมืองฉลาด”

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และสงครามเทคโนโลยีควอนตัมสหรัฐ-จีน