สุรชาติ บำรุงสุข | รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง : ข้อคิดสำหรับปี 2563

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“การปกครองของทหารไม่ว่าจะโดยความเป็นองค์กรหรือโดยตัวผู้นำทหาร ถือเป็นรูปแบบพื้นฐานที่สุดของระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย”

Paul Brooker, Non-Democratic Regimes (2009)

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นคณะรัฐประหารยุคใหม่ที่อยู่ในอำนาจเป็นระยะเวลายาวนานในการเมืองไทยอย่างไม่น่าเชื่อ

เพราะว่าที่จริงแล้วแทบจะไม่มีใครคาดคิดเลยว่า คณะรัฐประหาร คสช. จะมีชีวิตอยู่ได้นานตั้งแต่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562

เนื่องจากโดยเปรียบเทียบแล้ว รัฐบาลทหารยุคหลังๆ มักจะอยู่ในอำนาจไม่นานนัก…

แต่วันนี้ คสช.ยังอยู่กับการเมืองไทยในอีกรูปแบบหนึ่งอย่างไม่น่าเชื่อ

แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันดังกล่าวก็ใช่ว่าคณะรัฐประหารชุดนี้จะสิ้นสุดบทบาททางการเมืองไป

หากเป็นเพียงการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้การควบคุมโดยกติกาที่รัฐบาลทหารเป็นผู้กำหนดขึ้น

การเลือกตั้งจึงเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมเพื่อให้รัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557 สามารถอยู่ต่อไปในอำนาจได้ โดยไม่ต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านมากเกินไป

หรืออีกนัยหนึ่งการเลือกตั้งในวันดังกล่าวไม่ได้ถูกออกแบบให้เป็นการเลือกตั้งในความหมายแบบสากล ที่เป็นเครื่องมือของการแข่งขันทางการเมืองที่ “เสรีและเป็นธรรม”

หากแต่การเลือกตั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำให้การ “สืบทอดอำนาจ” ของรัฐบาลทหารมีความชอบธรรม เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกับรัฐบาลทหารในอดีต ความแตกต่างประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ ไม่แต่เพียงว่ารัฐบาลทหารในยุคก่อนจะไม่อยู่ในอำนาจนานแล้ว ผู้นำทหารในอดีตทำการยึดอำนาจด้วยภารกิจหลัก 2 ประการคือ

1) ล้มล้างทั้งรัฐบาลเก่าและยกเลิกกติกาเดิม

และ 2) สร้างกติกาใหม่ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วจึงถอยออกจากการเมือง

รัฐประหารในเงื่อนไขเช่นนี้จึงเป็นเสมือนปุ่ม “reset” กดปุ่มนี้จะเป็นล้างโปรแกรมเก่า ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้รัฐบาลทหารจะเป็นผู้ควบคุมการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองด้วยการเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในระยะที่ไม่นานมากเกินไป และมีความคาดหวังว่าการเลือกตั้งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่อย่างที่กลุ่มชนชั้นนำและผู้นำทหารต้องการ

ซึ่งสิ่งที่พวกเขาต้องการคือ การจัดตั้ง “ระบอบพันทาง” (hybrid regime) หรืออาจจะเรียกว่า “ระบอบทหารที่มาจากการเลือกตั้ง” ที่เปิดโอกาสให้ระบอบทหารจากการรัฐประหารสามารถคงอยู่ในอำนาจได้หลังการเลือกตั้ง

รัฏฐาธิปัตย์ทหาร

รัฐบาลทหารในอดีตโดยเฉพาะในยุคหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2516 ตระหนักดีว่า ยิ่งอยู่ในอำนาจนาน ก็ยิ่งเป็นผลร้ายทั้งต่อรัฐบาลทหาร

และที่สำคัญมีผลต่อสถาบันกองทัพโดยตรงอีกด้วย

เพราะหากเกิดความล้มเหลวของรัฐบาลทหารในการบริหารประเทศแล้ว ย่อมมีผลกระทบต่อกองทัพโดยตรงไม่มากก็น้อย

แต่จะปฏิเสธว่าความล้มเหลวเช่นนั้น ไม่มีผลกระทบต่อสถาบันกองทัพเลยนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เพราะรัฐบาลทหารดำรงอยู่ได้ด้วยการค้ำจุนของกองทัพ และบุคลากรหลายคนในรัฐบาลทหารก็มาจากกองทัพ จนมีคำเรียกรัฐบาลทหารในวิชารัฐศาสตร์ว่า “นักการเมืองในเครื่องแบบ” (politician in uniform) คือการเปลี่ยนจากผู้นำทหารเป็นนักการเมือง

ความจริงทางการเมืองที่ปฏิเสธไม่ได้ในกรณีนี้คือ กองทัพมีสถานะเป็น “เครื่องมือหลัก” ของการยึดอำนาจ และดำรงสถานะเป็น “เสาหลัก” ของรัฐบาลทหาร

เพราะหากจินตนาการถึงสภาวะที่รัฐบาลทหารไม่มีกองทัพเป็นเครื่องค้ำประกันและเป็นเครื่องมือในการควบคุมทางการเมืองแล้ว

ชีวิตของรัฐบาลทหารเช่นนี้คงสั้นอย่างแน่นอน

สมมุติฐานที่ไม่ต้องการการพิสูจน์ในสภาวะเช่นนี้ก็คือ กองทัพเป็น “แกนกลาง” ของรัฐบาลทหาร และไม่มีรัฐบาลทหารใดสามารถอยู่รอดได้โดยปราศจากการสนับสนุนของกองทัพ ฉะนั้น ในทางรัฐศาสตร์จึงถือว่า รัฐประหารคือจุดสูงสุดของการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร

นอกจากนี้ คงต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ด้วยความเป็นรัฐบาลทหารที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหารนั้น ทำให้มีข้อจำกัดในตัวเองอย่างมาก

ไม่ว่าจะมองในบริบทการเมืองภายในหรือภายนอกก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีสถานะที่เป็นรัฐบาลทหารนั้น ไม่มีความชอบธรรมในตัวเองตั้งแต่แรกเริ่มของการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว

ฉะนั้น ความสำเร็จในการยึดอำนาจของกองทัพจึงเป็นคนละประเด็นกับความชอบธรรมทางการเมือง เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้เกิดความพยายามในการสร้างภาพรัฐบาลทหารว่าเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ที่มีอำนาจอธิปไตยทางการเมืองอยู่ในมือ

เพื่อให้เกิดความเชื่อว่าอำนาจอยู่ในมือของคณะรัฐประหารเป็นอำนาจที่ชอบธรรมในตัวเอง ทั้งที่อำนาจนี้มาจากโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้นำกองทัพจึงต้องสร้างวาทกรรมตอบโต้ว่า ทหารมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจเพื่อรักษาความสงบ (วาทกรรมนี้ใช้ทั้งในรัฐประหาร 2549 และ 2557)

และถ้ามีการรัฐประหารในอนาคตก็จะยังคงมีการใช้วาทกรรมนี้ต่อไป เพราะกลุ่มอนุรักษนิยมยังคงตอบรับเรื่อง “ทหารเป็นผู้รักษาความสงบทางการเมือง”

ความท้าทายในโลกสมัยใหม่

แต่ในโลกสมัยใหม่ “รัฏฐาธิปไตย” ของรัฐบาลเผด็จการทหาร เป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับ และถูกท้าทายอย่างมากจากฝ่ายต่างๆ อีกทั้งความท้าทายอย่างสำคัญมาจากความเปลี่ยนแปลงของ “ภูมิทัศน์” ทางการเมืองทั้งภายในและภายนอก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นโลกสมัยใหม่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ที่เป็น “เสรีนิยม” และปัจจัยของเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่บีบรัดรัฐบาลเผด็จการทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ดังเช่นตัวอย่างของอาหรับสปริงในปี 2553-54 หรือในอาหรับสปริงครั้งที่ 2 ในปี 2562 เป็นต้น

ดังนั้น แม้รัฐบาลทหาร คสช. และบรรดาผู้สนับสนุนจะสร้างภาพว่า ประชาคมระหว่างประเทศ “เข้าใจดี” ถึงการยึดอำนาจของทหารในไทย แต่ประเด็นนี้ไม่ใช่สิ่งที่ประสบความสำเร็จในการโฆษณาชวนเชื่อเท่าใดนัก

นอกจากนี้ คงต้องยอมรับความจริงในบริบทการเมืองภายในว่า รัฐบาลทหารไม่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลทหารไม่เป็นที่ยอมรับในประชาคมการเมืองไทย และที่สำคัญรัฐบาลทหารไม่บรรลุความสำเร็จในภารกิจตามที่ได้ประกาศไว้เป็นเหตุผลในการรัฐประหาร เช่น การสร้างความปรองดอง หรือการปฏิรูปประเทศอย่างที่ถูกโฆษณาไว้

ในสภาวะเช่นนี้รัฐบาลทหารพยายามทานกระแสต่อต้านที่มักจะชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในทางนโยบาย ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ

รัฐบาลทหารจึงพยายามสร้างจุดขายใหม่ทางการเมืองด้วยการโฆษณาว่า การคงอยู่ของรัฐบาลทหารมีส่วนโดยตรงในการทำให้เกิดความสงบในสังคม แม้การขายประเด็น “ความสงบภายใต้รัฐบาลทหาร” อาจจะเป็นสินค้าทางการเมืองที่ขายได้ดีสำหรับชนชั้นกลางสายอนุรักษนิยม และบรรดา “กองเชียร์ทหาร” ก็จริง

แต่ก็ยังคงมีคำถามตามมาว่า ความสงบเช่นนี้คือการใช้อำนาจบังคับของกองทัพใช่หรือไม่

และถ้าใช่แล้ว… ความสงบภายใต้ “อำนาจปืน” ของรัฐบาลทหารจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยในอนาคตได้จริงเพียงใด

และความสงบเช่นนี้เป็นความสงบที่แท้จริงที่สังคมพึงปรารถนาหรือไม่ หรือเราควรเชื่อว่า สังคมไทยต้องรักษาความสงบทางการเมืองด้วยอำนาจปืน และให้กองทัพเป็น “ผู้ปกครอง” ต่อไปในศตวรรษที่ 21?

ดังนั้น น่าจะถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยควรจะต้องยอมรับความจริงว่า อำนาจปืนไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จในการปรองดอง

และขณะเดียวกันความสงบทางการเมืองของประเทศจะต้องไม่ใช่การพันธนาการผู้เห็นต่างภายใต้อำนาจปืนและการจับกุมคุมขัง

และบรรดาผู้สนับสนุนรัฐทหารควรจะตระหนักว่า ถ้าอำนาจปืนที่ใช้อย่างไม่มีขีดจำกัดแล้ว

สุดท้ายอำนาจนี้คือเงื่อนไขของ “สงครามกลางเมือง” ดังเช่นที่เห็นมาแล้วในหลายประเทศ

สังคมไทยไม่มีสงครามกลางเมือง?

ผู้นำทหารในวันนี้อาจจะเชื่อมั่นว่า สงครามกลางเมืองไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะไทยก้าวพ้นยุคสงครามเย็นที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มีกองกำลังติดอาวุธเป็นของตนเอง และมีขีดความสามารถในการทำสงครามกับรัฐ

แต่สังคมไทยปัจจุบันไม่มีเงื่อนไขเช่นนั้น ผู้นำทหารและบรรดาปีกอนุรักษนิยมจึงไม่กลัวปัญหาสงครามเช่นในยุคสงครามเย็น และกลายเป็นโอกาสที่เปิดให้พวกเขาใช้นโยบายแบบสุดโต่งได้ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงว่า นโยบายเช่นนั้นจะกลายเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ที่ผลักให้ประชาชนไปอยู่กับฝ่ายตรงข้ามหรือไม่

ในมุมมองของฝ่ายอนุรักษนิยมนั้น ฝ่ายตรงข้ามในภาวะปัจจุบันเป็นเพียงพรรคฝ่ายค้านที่ไม่มีกองกำลังในแบบของ พคท. ให้ทหารต้องกังวลแต่อย่างใด

หรือเสียงคัดค้านในสังคมที่ดังขึ้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้นำทหารจะนำมาใส่ใจ เพราะสุดท้ายแล้ว เสียงของผู้เห็นต่างเหล่านี้จะถูกลดทอนลงด้วยปฏิบัติการ ปจว. ของทหาร และทั้งผู้เห็นต่างทั้งหลายในปัจจุบันก็ไม่มี “ฐานที่มั่นในชนบท” เป็นแหล่งพักพิงอีกต่อไป ผลสืบเนื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ความขัดแย้งที่เกิดอย่างยาวนานทำให้การเมืองไทยเสมือนติดอยู่ใน “เขาวงกต” ของปัญหา และจนบัดนี้พวกเราทั้งหลายยังหาทางออกจากเขาวงกตนี้ไม่ได้

ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่จะยังคงเป็นปัญหาให้สังคมการเมืองไทยต้องขบคิดกันต่อไปว่า แล้วเราจะทำอย่างไรกับความขัดแย้งที่กำลังลงรากหยั่งลึกมากขึ้นในสังคมไทย

หรือเราจะต้องอยู่ในเขาวงกตนี้ไปอีกนานเท่าใด

อีกทั้งยิ่งนานวันก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า การยึดอำนาจไม่ใช่เครื่องมือของการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างที่บางคนคาดหวังไว้ อีกทั้งรัฐบาลทหารเองก็ไม่มีขีดความสามารถในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างแท้จริง

และในทางกลับกัน แทนที่รัฐบาลทหารจะช่วยแก้ปัญหา ก็กลับกลายเป็น “คู่ขัดแย้ง” เสียเอง

แต่ว่าที่จริงแล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่เกินความคาดหมายที่ทหารจะกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย เพราะในทางอุดมการณ์แล้ว ทหารไทยไม่เคยยอมรับเรื่องประชาธิปไตย และมักจะยืนตรงข้ามกับประชาธิปไตยเสมอ

อีกทั้งยังมองประชาธิปไตยด้วยสายตาของความกลัวและความหวาดระแวง เพราะความสำเร็จของการพัฒนาประชาธิปไตยจะเป็นปัจจัยที่ทำให้กองทัพต้องลดบทบาททางการเมืองลง

กองทัพกับชนชั้นกลาง

อย่างไรก็ตาม ในทางการเมืองเราอาจอธิบายได้ว่า กองทัพเป็นเพียงองคาพยพนึ่งของ “ขบวนอนุรักษนิยมไทย”

และผู้นำทหารก็คือ ตัวแทนหนึ่งของของปีกขวาไทย อันทำให้ความหวังว่า กองทัพจะทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างลึกซึ้งในสังคมไทยนั้น จึงเป็นเพียงภาพลวงตา

และในทางอุดมการณ์แล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดว่า โอกาสที่ทหารจะเป็น “ผู้เปิดวาล์ว” เพื่อระบายแรงกดดันของความขัดแย้งดังกล่าว ยิ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เพราะผู้นำทหารได้ตัดสินใจชัดเจนที่จะยืนกับกลุ่มการเมืองปีกขวา และรับเอาชุดความคิดแบบ “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” (Antipolitics Ideology) ที่มีทิศทางต่อต้านประชาธิปไตยเป็นกระแสหลัก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว กองทัพไทยจึงมีสถานะเป็นตัวแทนทางชนชั้นของกลุ่มอนุรักษนิยม และมีทิศทางการเมืองแบบ “ขวาจัด” (ต่างกับในละตินอเมริกาที่ กองทัพถูกมองว่าเป็นตัวแทนของชนชั้นกลาง)

แต่ในขณะเดียวกันก็น่าสนใจอย่างมากว่า ชนชั้นกลางไทยในยุคหลังสงครามเย็น ที่แม้ในช่วงต้นจะยังคงมีทิศทางที่เป็นเสรีนิยมดังจะเห็นได้จากการลุกขึ้นสู้ในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แต่เมื่อความขัดแย้งเกิดจนนำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 แล้ว

เริ่มเห็นได้ชัดว่า ชนชั้นกลางส่วนหนึ่งหันกลับไปเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับฝ่ายอนุรักษนิยมและเสนานิยม ชนชั้นกลางสายอนุรักษนิยมเช่นนี้จึงกลายเป็นพลังที่เข้มแข็งในการต่อต้านประชาธิปไตย และมีส่วนโดยตรงต่อการค้ำจุนระบอบทหารในปัจจุบัน

ถ้าเช่นนั้นในปี 2563 เราควรทำอย่างไรให้ชนชั้นกลางไทยปีกขวาเหล่านี้กันกลับมาเป็นพลังเสรีนิยมอีกครั้งเหมือนเช่นในปี 2535

หรือว่าพวกเขาไปไกลเกินกว่าจะเรียกร้องให้กลับสู่กระแสประชาธิปไตยแล้ว

ดังนั้น การสร้างประชาธิปไตยไทยอาจจะต้องยอมละทิ้งชนชั้นกลางปีกขวา และให้ความสนใจกับชนชั้นกลางที่ก้าวหน้ามากกว่า และโดยเฉพาะกับชนชั้นกลางที่เป็นคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังเห็นมากขึ้นว่า ชนชั้นกลางที่เป็นคนรุ่นใหม่ไม่ได้ยึดติดอยู่กับ “วาทกรรมอนุรักษนิยม-จารีตนิยม” มาก คนเหล่านี้จึงน่าจะเป็นพลังของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระยะยาว

และที่สำคัญ พวกเขาไม่ตอบรับที่จะเป็น “กองเชียร์รัฐประหาร” เช่นคนรุ่นพ่อแม่ของพวกเขา!