สุจิตต์ วงษ์เทศ /นครราชสีมา ไม่มาจาก ‘โคราฆะบุระ’ กับ ‘เมืองเสมา’

เมืองเสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ส่วนขยายแผ่ถึงลำตะคอง เมื่อเรือน พ.ศ.1500 แล้วสร้างปราสาทเป็นศูนย์กลางชุมชนบนเส้นทางการค้า ปราสาทโนนกู่

สุจิตต์ วงษ์เทศ

นครราชสีมา ไม่มาจาก

‘โคราฆะบุระ’ กับ ‘เมืองเสมา’

 

นครราชสีมาเป็นคำผูกขึ้นใหม่ โดยนักปราชญ์ราชสำนักอยุธยาสมัยแรกๆ เพื่อให้หมายถึงเมืองในอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา

“โคราช” กร่อนคำจากนครราช หรือ ครราช [อ่านว่า คอน-ราด] ในชื่อนครราชสีมา ส่วน “เสมา” กลายคำจาก สีมา ในชื่อนครราชสีมา

ดังนั้น นครราชสีมา จึงไม่มาจาก “โคราฆะบุระ” รวมกับ “เมืองเสมา” ตามที่พบในตำราแล้วถูกทำให้เชื่อถือสืบต่อกันมานาน

 

นิทานเพิ่งสร้างใหม่

 

โคราชกลายจากชื่อเมืองในอินเดียว่า “โคราฆะบุระ” ไม่ใช่คำบอกเล่าดั้งเดิมของท้องถิ่นสูงเนิน แต่เป็นนิทาน “เพิ่งสร้าง” โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงบอกไว้เองในนิทานโบราณคดี เรื่อง “วินิจฉัยชื่อเมืองนครราชสีมา” ดังนั้นจึงไม่จริงที่ว่าชื่อนครราชสีมา ได้จาก “โคราฆะบุระ” รวมกับ “เมืองเสมา”

เพื่อความเข้าใจตรงกัน จะขอคัดสิ่ง “เพิ่งสร้าง” มาแบ่งปันไว้ก่อน ดังนี้

 

วินิจฉัยชื่อเมืองนครราชสีมา

พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

[ปรับย่อหน้าใหม่ให้อ่านง่าย]

 

เมืองนครราชสีมา มีชื่อเป็น 2 ชื่อ แต่ก่อนมาคนทั้งหลายเรียกว่า “เมืองโคราช” ทั่วไป เรียกว่า “เมืองนครราชสีมา” แต่ในทางราชการ ถึงเดี๋ยวนี้ราษฎรก็ยังเรียกกันว่า “เมืองโคราช” เป็นพื้น

เหตุไฉนจึงมี 2 ชื่อเช่นนั้น ข้าพเจ้าเคยค้นเค้าเงื่อนแต่เมื่อขึ้นไปเมืองนครราชสีมาครั้งแรก เวลานั้นไปรถไฟได้เพียงตำบลทับกวางในดงพระยาไฟแล้วต้องขี่ม้าต่อไป

เมื่อข้าพเจ้าไปพักแรมที่บ้านสูงเนิน เขาบอกว่าในอำเภอนั้นมีเมืองโบราณอยู่ 2 เมือง ข้าพเจ้าจึงให้เขาพาไปดู เห็นเป็นเมืองย่อมๆ ไม่สู้ใหญ่โตนัก แต่ก่อปราการด้วยศิลาและมีของโบราณอย่างอื่น แสดงฝีมือว่าเป็นเมืองสร้างเมื่อครั้งสมัยขอมทั้ง 2 เมือง เมืองหนึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายลำตะคอง อันเป็นลำธารมาแต่เขาใหญ่ น้ำไหลไปตกลำน้ำมูล อีกเมืองหนึ่งอยู่ทางขวาลำตะคองไม่ห่างไกลกันนัก

เมืองทางฝั่งซ้ายเรียกชื่อว่า “เมืองเสมาร้าง” เมืองทางขวาเรียกชื่อว่า “เมืองเก่า” สังเกตดูเครื่องหมายศาสนาดูเหมือนผู้สร้างเมืองเสมาร้างจะถือศาสนาพราหมณ์ ผู้สร้างเมืองเก่าจะถือพระพุทธศาสนา ข้าพเจ้ายังจำได้ว่ามีพระนอนศิลาขนาดใหญ่อยู่ที่เมืองเก่าองค์หนึ่ง

ครั้งไปถึงเมืองนครราชสีมา เห็นลักษณะเป็นเมืองฝีมือไทยสร้างเมื่อภายหลัง 2 เมืองที่เก่ามาก่อน รู้ได้ด้วยป้อมปราการล้วนก่อด้วยอิฐ และรื้อเอาแท่งศิลาจำหลักจากปราสาทหินครั้งขอมก่อแซมกับอิฐก็มีหลายแห่ง

เมื่อได้เห็น 3 เมืองดังว่ามา ข้าพเจ้าคิดวินิจว่า “เสมาร้าง” น่าจะมีก่อนเพื่อน เดิมเห็นจะเรียกว่า “เมืองเสมา” เมื่อตั้ง “เมืองเก่า” เพราะเหตุอันใดอันหนึ่งทิ้งเมืองเสมาเป็นเมืองร้าง คำว่า “ร้าง” จึงติดอยู่กับชื่อเมืองเสมา

เหตุใดจึงเรียกชื่ออีกเมืองหนึ่งว่า “เมืองเก่า” นั้นก็พอคิดเห็นได้ เพราะคำว่า “เก่า” เป็นคู่กับ “ใหม่” ต้องมีเมืองใหม่จึงมีเมืองเก่า แสดงความว่าเมืองเดิมตั้งอยู่ที่ตำบลสูงเนิน ครั้นสร้างเมืองนครราชสีมาเดี๋ยวนี้ขึ้นย้ายมาอยู่เมืองใหม่แล้วจึงเรียกเมืองเดิมว่า “เมืองเก่า” แต่เมื่อเมืองยังตั้งอยู่ที่เมืองเก่าต้องมีชื่อเรียกเมืองนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะจะเรียกว่า “เมืองเก่า” เมื่อยังไม่มี “เมืองใหม่” ไม่ได้

ข้อนี้ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าเมื่อสร้าง “เมืองเก่า” ในสมัยขอม พวกพราหมณ์คงเอาชื่อ “เมืองโคราฆะบุระ” ในมัชฉิมประเทศ อันอยู่ข้างใต้ไม่ห่างกับเมืองกบิลพัสดุ์ ที่พระพุทธองค์เสด็จประทับเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์มาขนาน อย่างเดียวกันกับเอาชื่อเมืองอื่นๆ ในอินเดียมาขนานในประเทศนี้มีอีกหลายเมือง เช่น เมืองอยุธยาและเมืองลพบุรี เป็นต้น

เมืองเก่านั้นเดิมคงเรียกว่าเมืองโคราฆะบุระ อันเป็นมูลชื่อที่เรียกเพี้ยนมาว่าเมืองโคราช ยังคิดเห็นต่อไปอีกว่าชื่อที่เรียกเมืองใหม่ว่า “เมืองนครราชสีมา” น่าจะเอาชื่อเมือง “โคราฆะบุระ” กับ “เมืองเสมา” มาผสมการประดิษฐ์เป็นชื่อ “นครราชสีมา” ด้วย

ปราสาทเมืองแขก [ภาพโดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง]

เมืองเสมา เมืองเก่านครราชสีมา

 

เมืองเก่า คือ เมืองโคราชเก่า หมายถึงเมืองเสมาและรวมถึงอาณาบริเวณทั้งหมด เป็นที่เข้าใจทั่วไปตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา จนถึงสมัย ร.5 พบหลักฐานในนิราศหนองคาย [แต่งสมัย ร.5 พ.ศ.2418] กล่าวถึงเมื่อผ่านคูน้ำคันดินเมืองเสมาว่า “เป็นเมืองแก่แต่บุราณมานานครัน”

เมืองแก่ในกลอนวรรคนี้ หมายถึง เมืองเก่า จากคำซ้อนว่าเก่าแก่ เมื่อต้องการส่งสัมผัสกับ “แต่บุราณ” จึงใช้เมืองแก่

เมื่อแม่ทัพเซ่นผีเทวดาอารักษ์กลางเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ จึงมีกลอนย้ำว่าเป็นผีที่สิงสถิตเมืองเก่า “สิงสถิตที่เรืองในเมืองเก่า”

เมืองเสมา กับ เมืองเก่า ทุกวันนี้แยกเรียกเป็น 2 เมือง แต่แท้จริงเป็นเมืองเดียวกัน

เหตุที่เรียกชื่อต่างกันเป็นสองเมือง มีต้นตอจากพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อ้างคำบอกเล่า [ของข้าราชการ?] ว่าสูงเนินมีสองเมือง เรียก เมืองเสมาร้าง กับ เมืองเก่า

เมืองเสมาร้าง [ต.เสมา] มีคูน้ำคันดินรูปโค้งมุมมน อยู่ริมห้วยไผ่ ห่างจากลำ ตะคองไปทางทิศตะวันตกนับถือพุทธ สร้างพระนอนและธรรมจักรหิน เป็นเมืองมีพัฒนาการราวหลัง พ.ศ.1000

ครั้นหลัง พ.ศ.1400 เจริญเติบโตมากจนต้องขยายพื้นที่ไปทางสองฝั่งลำตะคอง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ [ซึ่งปัจจุบันเรียกเมืองเก่า]

เมืองเก่า [ต.โคราช] ไม่มีคูน้ำคันดิน เพราะเป็นส่วนขยายของเมืองเสมาที่เจริญเติบโตขึ้นจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งทางการค้าและการเมือง หลัง พ.ศ.1400 ครอบคลุมสองฝั่งลำตะคองห่างจากเมืองเสมาไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แผ่มาจากกัมพูชา มีปราสาทเมืองแขก, ปราสาทโนนกู่ เป็นต้น

หลัง พ.ศ.1700 พุทธมหายานแผ่เข้ามาจากเมืองพระนครหลวง [นครธม] สร้าง “อโรคยศาล” ปัจจุบันเรียกปราสาทเมืองเก่า

หลัง พ.ศ.1800 ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอโยธยา-ละโว้ หลัง พ.ศ.1900 ถูกเรียกว่า “เมืองนครราชสีมา” [พบในบทพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน] กษัตริย์อยุธยาสร้างเมืองใหม่ทางปลายน้ำลำตะคอง แล้วเรียกตามนามเดิมว่าเมืองนครราชสีมา ทุกวันนี้คือตัวจังหวัดนครราชสีมา