หลังเลนส์ในดงลึก /ปริญญากร วรวรรณ/’โอกาส’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กวางผา - หลังจากอยู่ในกรง เตรียมปล่อยฝึกฝน เรียนรู้การใช้ชีวิตในธรรมชาติมาแล้ว 5 เดือน อีกราวสองเดือน โอกาสในการออกไปอยู่ในธรรมชาติจริงของพวกมันจะมาถึง

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘โอกาส’

 

14 พฤศจิกายน พ.ศ.2562

ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าเด่นหญ้าขัด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว ราว 3 กิโลเมตร

กวางผาหนุ่มฉกรรจ์ รูปร่างล่ำสัน แข็งแรง ยืนนิ่งๆ มองมาทางผม ตาจ้องเขม็ง

พร้อมขยับตัวถ้าผมเข้าใกล้กว่านี้ นี่เป็นระยะที่มันอนุญาต

กวางผาหนุ่มตัวนี้ถูกเรียกว่า ไชยา

“ตัวนี้มันห้าวที่สุดแล้วล่ะครับ”

ลุงดีเนาะ ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของมันตั้งแต่เกิด ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย บอก

ไชยา คือหนึ่งในกวางผาจำนวน 6 ตัวที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อปล่อยเข้าไปใช้ชีวิตในบริเวณดอยเชียงดาว ในโครงการฟื้นฟูประชากรกวางผา โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย, สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว และมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร

5 เดือนก่อน พวกมันถูกนำมาที่นี่ เข้ามาอยู่ในกรงกว้างเนื้อที่กว่าสองไร่

ความเคยชินเดิมๆ ถูกเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในเรื่องอาหาร พวกมันได้รับหญ้าที่เป็นอาหารในพื้นที่ ไม่ใช่อาหารสำเร็จรูปอย่างที่คุ้นเคย

เพียงสามวันแรกที่มา ไชยาก็ยึดพื้นที่นี้เป็นอาณาเขตของตัวเอง

ในวันที่สาม กวางผาเจ้าถิ่นซึ่งเป็นตัวผู้ เดินเข้ามาตรวจสอบ ยืนประชิดติดกรง

จากนั้น ทั้งสองตัวพุ่งเข้าชนกัน แม้จะมีตาข่ายขวางกั้น

“มันชนกันตั้งแต่ตีสามถึงหกโมงเช้าเลยครับ และก็เกือบทุกคืน เจ้าถิ่นที่อยู่นอกกรงจะมาคุมเชิงตลอด เจ้าไชยาเราก็ไม่หลบ ยืนพร้อมเผชิญหน้าอยู่นั่น” หัวหน้าหมู ทำหน้าที่หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวเล่า

เหตุการณ์นี้เขาเห็นจากกล้องดักถ่ายภาพที่วางไว้รอบๆ กรง จำนวน 5 ตัว

“สัญชาตญาณมันยังอยู่ในเลือดครับ ถึงจะเกิดในกรงก็เถอะ ได้รับการกระตุ้น ความเป็นสัตว์ป่าก็กลับคืนมา” หัวหน้าอธิบาย

แววตาที่มองอย่างระแวงของไชยา ทำให้เราเห็นว่า มันเริ่มปรับตัว เตรียมพร้อมที่จะใช้โอกาสที่ได้รับ

 

วราผ่อ ชายหนุ่มบ้านแม่ละมุ้งคี อายุ 20 ปลายๆ แต่ชอบทำตัวคล้ายผู้อาวุโส มีผ้าโผกหัวตลอด สูบยาเส้นด้วยกล้องไม้ไผ่ที่ทำเอง

วราผ่อทำให้ผมนึกถึงคำว่า “โอกาส”

ในป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันออก หัวหน้ามอบหมายให้เขามาช่วยงานผม เพราะวราผ่อมีทักษะการใช้ชีวิตในป่าสูง ทำงานในป่ามาแล้วกว่า 10 ปี

ผมทำงานอยู่ราวครึ่งปี งานไม่ประสบความสำเร็จนัก สาเหตุหลักๆ คือ วราผ่อคู่หู กลายเป็นชายหนุ่มขี้เมา กินเหล้าไม่หยุด และเมื่อได้ที่ เขาจะทำตัวน่ารำคาญ

ที่นี่เหล้าต้มหาได้ง่าย ในหมู่บ้านขายราคาไม่แพง ใสแจ๋ว ดีกรีแรงขนาดจุดไฟติด

หลายคนขาดไม่ได้

ผมลงไปอยู่ทิวเขาบูโด พร้อมกับความรู้สึกว่า เสียคู่หูไปหนึ่งคน

 

ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2557

หลังผ่านไป 10 ปี ผมกลับมาป่าทุ่งใหญ่ตะวันออกอีก ว่าตามจริง นี่คือการทำงานในป่าผืนเดียวกับที่ผมอยู่มา 3 ปีแล้ว คือ ป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก

พื้นที่ป่ากว่าสองล้านไร่ ได้รับการแบ่งออกเป็นด้านตะวันออก และด้านตะวันตก เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ

ฝั่งตะวันออก ขึ้นกับจังหวัดตาก ส่วนฝั่งตะวันตก อยู่กับจังหวัดกาญจนบุรี

บางครั้ง ผมร่วมมากับชุดลาดตระเวน เดินมาถึงสันเขาแบ่งเขตการเดินทาง ถึงเขตทุ่งใหญ่ด้านตะวันออกที่สะดวก คือ เข้าทางอำเภออุ้มผาง

กระนั้นก็เถอะ เส้นทางคดโค้งกว่าพันโค้ง กับระยะทาง 164 กิโลเมตร จากอำเภอแม่สอด ทำให้การเดินทางถึงอุ้มผาง ใช้เวลาร่วม 4 ชั่วโมง

เส้นทางลอยฟ้าเส้นนี้ พูดกันเล่นๆ ว่า

สูงขนาดได้ยินเสียงเทวดาตำน้ำพริก

 

“ผมเลิกกินเหล้าแล้วครับ”

พบกันครั้งนี้ วราผ่อพูดคำแรกที่พบกัน หน้าตาสดใส แต่ยังคาบกล้องยาเส้นพ่นควันโขมง

“ไปสักและสัญญากับพระ กินไม่ได้แล้วครับ” เขายืนยัน

ความรู้สึกผมคล้ายกลับมาบ้าน

วันนั้น ผมร่วมมากับชุดสำรวจประชากรเสือโคร่งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

การสำรวจประชากรเสือโคร่งในผืนป่าด้านตะวันตก ทำต่อเนื่องมาหลายปี

เสือโคร่ง คือนักล่าผู้อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร ชีวิตเสือโคร่งจะอยู่ได้เพราะมีเหยื่อให้ล่า รวมทั้งการล่าที่ประสบผลสำเร็จ

“ดูแลให้เสือโคร่งอยู่ได้ ก็เท่ากับดูแลสัตว์ทุกชนิดนั่นแหละครับ” เหตุผลของนักวิจัยและคนทำงานในป่าด้านตะวันตกที่มุ่งมั่นกับเสือ

 

“เราจะได้ทำงานกันอีกไหมครับ” วราผ่อถาม

ผมส่ายหน้า

วราผ่ออยู่ในชุดลาดตระเวนที่เข้มแข็งในหน่วย ที่อยู่ไกลสำนักงานเขต

ทั้งผมและวราผ่อไม่ได้ใช้โอกาสที่มีทำงานให้ประสบผลสำเร็จ

ถึงตอนนี้ โอกาสนั้นก็ผ่านไปแล้ว

ผมทำงานได้ไม่กี่เดือน วราผ่อก็ลาออก ทุกคนเสียดาย

“เมียให้ออกมาช่วยงานที่บ้านครับ” เขาบอกเหตุผล

ผมหวังว่าเขาจะทำ “โอกาส” ครั้งนี้ของเขา อย่างประสบความสำเร็จตลอดไป

 

ไชยาถอยห่างออกไป เมื่อผมขยับเข้าใกล้อีกก้าว

อีกราวสองเดือน มันจะได้รับโอกาสครั้งสำคัญ มันจะออกไปจากกรงพร้อมกับเครื่องมือ คือปลอกคอติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุผ่านดาวเทียม

นักวิจัยจะได้รับข้อมูลการใช้ชีวิตของมัน โดยเฉพาะข้อมูลการใช้พื้นที่เท่าไหร่ จะได้รู้ว่าจำนวนกวางผาที่มีอยู่ในธรรมชาติ กับพื้นที่ที่เหลือ มีความเหมาะสมหรือไม่

ไชยาจะทำงานสำเร็จหรือไม่

หรือมันอาจเป็นแค่กวางผาที่เก่งแต่ในกรง

ในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน ผมเชื่อว่า

ไชยาจะทำอย่างดีที่สุด

เพราะมันรู้ดีว่า นี่คือ “โอกาส” ครั้งเดียวในชีวิตที่มันได้รับ…