ปริศนาโบราณคดี : เสน่ห์ ผู้นำ และอำนาจ เช เกวารา vs ฟิเดล คาสโตร (2)

เพ็ญสุภา สุขคตะ
(FILES) Photo taken in the 60's of then Cuban Prime Minister Fidel Castro (R) during a meeting next to Argentine guerrilla leader Ernesto Che Guevara. AFP PHOTO/CUBA's COUNCIL OF STATE ARCHIVE / AFP PHOTO / CUBA's COUNCIL OF STATE ARCHIVE / -

ตอน 1

หาก “เช เกวารา” ยังไม่ตาย

หาก “มาริลีน มอนโร” ยังไม่ตาย หาก “เอลวิส เพรสลีย์” ยังไม่ตาย และหาก “เช เกวารา” ยังไม่ตาย

คนทั้งโลกจะยังมีภาพความทรงจำของดวงหน้าแสนงาม ในวัยหนุ่มสาวของคนเหล่านั้น เหมือนเช่นทุกวันนี้อยู่อีกหรือไม่

ในทางกลับกัน หาก “ฟิเดล คาสโตร” ตายตั้งแต่ยังหนุ่มน้อย ทันทีที่เพิ่งปฏิวัติคิวบาเสร็จใหม่ๆ เขาคงเป็นอีกคนหนึ่งที่เราต้องจารึกไว้ในทำเนียบ “วีรบุรุษของโลกที่สาม” อย่างแน่นอน

ไม่ใช่กลายเป็นคนแก่จอมเผด็จการ คนชราที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อนร่วมชาติ ดั่งเช่นภาพลักษณ์ที่เราเห็นเขาในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต

แล้ว “เช เกวารา” เล่า หากเขายังไม่ด่วนตายตั้งแต่อายุเพียง 39 ปี เขาจักดำรงสถานะใด ตำแหน่งแห่งหนไหนหนอในโลกปัจจุบัน ที่จักพยุงให้เขาสามารถรักษาอุดมการณ์สังคมนิยมแบบเข้มข้น โดยไม่ถูกผลักไสให้กลายเป็น “จอมเผด็จการ” เหมือน ฟิเดล คาสโตร ไปอีกคน

เมื่อสถานการณ์สร้างวีรบุรุษได้ วีรบุรุษก็อาจฆ่าตัวเองภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้เช่นกัน

Raul Castro (R) and Che Guevara / AFP PHOTO / BOHEMIA / HO

สองหนุ่มผู้รุ่มรวยเสน่ห์

ต้องยอมรับว่า ทั้ง “เช เกวารา” และ “ฟิเดล คาสโตร” ต่างก็เป็นชายหนุ่มรูปงามที่มี “ความหล่อ” เป็นอาวุธ ไม่แพ้กัน คนหนึ่งคมเข้ม (เช) คนหนึ่งตาหวานซึ้ง (ฟิเดล) ดิฉันคงไม่ต้องพรรณนาอะไรมากนัก ทุกท่านคงทราบดีด้วยประจักษ์พยานจากภาพถ่ายที่เราเห็นกันจนชินตา

จากสุนทรพจน์ของ ฟิเดล คาสโตร ท่อนหนึ่งที่กล่าวไว้อาลัยต่อการจากไปของ เช เกวารา สะท้อนถึงบุคลิกภาพที่อาบเสน่ห์ของเชอย่างไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้

“เชเป็นคนที่ใครเห็นก็ต้องชอบเขาทันที เพราะความเป็นกันเอง มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ อุปนิสัยและท่าทีของเขาเป็นมิตรกับทุกคน บุคลิกลักษณะที่จริงใจเช่นนี้ ใครก็ตามที่พบเขา แม้ยังไม่ทันได้ล่วงรู้ถึงคุณสมบัติความดีพิเศษส่วนอื่นๆ หรืออุดมการณ์ที่เขามี ก็ย่อมอดใจไม่ได้ที่จะรู้สึกรักใคร่ชอบพอเขาตั้งแต่วินาทีแรกเลยทีเดียว”

คำกล่าวนี้ได้รับการยืนยันจากชื่อคำว่า “เช” นั่นเอง Che ในภาษาสเปน หมายถึง “เพื่อน” หรือ “มิตรภาพ” เป็นคำที่ใครๆ ก็เรียกขานเขาอย่างสนิทใจ

ในขณะที่ “ฟิเดล คาสโตร” นั้น เป็นชายหนุ่มที่เลือดร้อน กระตือรือร้นอยู่ตลอดเวลา เฮฮาปาร์ตี้ ชอบเข้าสังคม คำพูดคำจาออกจะกรุ้มกริ่ม

แม้จะมีบุคลิกที่แตกต่าง เหนือสิ่งอื่นใด เสน่ห์ที่ทั้งสองหนุ่มมีเหมือนกัน นอกเหนือไปจากรูปลักษณ์ภายนอกก็คือ “หัวใจที่เสียสละต่อเพื่อนมนุษย์ที่ถูกกดขี่”

วันชื่นคืนชังครั้งแล้วครั้งเล่า

เรื่องผู้หญิงที่ผ่านมาในชีวิตของคนทั้งสองเป็นเช่นไรกันบ้าง

เช เกวารา แต่งงานครั้งแรกกับหญิงชาวเปรูที่ลี้ภัยอยู่ในกัวเตมาลาชชื่อ “ฮิลดา กาเดีย อาคอสตา” Hilda Gadea Acosta ในช่วงที่เชเดินทางไกลทั่วดินแดนอเมริกาใต้จากอาร์เจนตินา สู่กัวเตมาลา เชมีบุตรสาวคนแรกชื่อ ฮิลดิตา Hildita

กระทั่งเชตัดสินใจเดินทางไปคิวบาเพื่อร่วมขบวนการปลดปล่อยชาวละตินจากจักรวรรดิอเมริกาเคียงบ่าเคียงไหล่ตามคำชักชวนของฟิเดล

นั่นคือลางบอกเหตุว่าฮิลดาต้องสูญเสียเชไปให้กับการปฏิวัติคิวบาแล้วอย่างไม่มีวันหวนคืน

Che Guevara and Aleida March / AFP PHOTO / ARCHIVO FAMILIAR

ช่วงที่ เช เกวารา ปักหลักในคิวบาระหว่างปี 1959-1965 เขามีภรรยาคนที่สองเป็นชาวคิวบาชื่อ Aleida March มีลูกกับภรรยาคนนี้ 4 คน

ไม่ปรากฏเรื่องราวว่าเขาหย่าร้างหรือแต่งงานกับใครอย่างเป็นทางการอีกหรือไม่ เพราะชีวิตของเขามุ่งแต่งาน กล่าวกันว่าเขาทำให้หญิงสาวจำนวนไม่น้อยเกิดอาการหวั่นไหวยามอยู่ใกล้ชิด

ฟิเดล คาสโตร แต่งงานแบบเป็นทางการ 2 ครั้ง แต่มีคนรักมากกว่า 2

ครั้งแรก ปี 1950 แต่งกับ “มีร์ตา ดีอัช บาลาร์ต” เพื่อนสมัยเป็นนักศึกษาวิชากฎหมายด้วยกัน มีร์ตามาจากครอบครัวชาวคิวบาฐานะมั่งคั่ง เขาและเธอมีลูกชายด้วยกัน 1 คนชื่อ “ฟีเดลีโต” เพียง 5 ปีเท่านั้นก็หย่าร้างกันในปี 1955

เนื่องจากมีร์ตาจับได้ว่า ฟิเดลแอบมีสัมพันธ์สวาทกับหญิงอื่นที่ชื่อว่า “นาตี เรวูเอลตา” ชู้รักรายนี้ตั้งท้องคลอดลูกสาว 1 คน นาม “อาลีนา เฟร์นานเดซ เรวูเอลตา”

ลูกสาวหนึ่งเดียวคนนี้ของฟิเดล กลับมีอุดมการณ์ต่างขั้วและรู้สึกขบถต่อพ่อ คือมีนโยบายฝักใฝ่อเมริกา เธอได้ปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวชาวสเปนอพยพหนีออกจากคิวบาไปลี้ภัยที่สหรัฐเมื่อปี 1993 ต่อมาเป็นนักวิพากษ์สังคม เขียนบทวิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของคิวบาแบบตีแผ่แฉเฉพาะแง่ลบ

ภรรยาคนถัดมาที่ออกหน้าออกตาเป็นที่รู้จักในนามสตรีหมายเลข 1 ของประเทศคือ “ดาลีอา โซโต เดล วาล์เย” เขามีบุตรชายกับภรรยาคนนี้จำนวนมากถึง 5 คน แต่ละคนเขาตั้งชื่อให้วนเวียนอยู่กับนามรองของเขาและชื่อของบรรพบุรุษ ได้แก่ อเล็กซิส, อเล็กซานเดร์, อาเลฮานโดร, อันโตนิโย และอันเคล

ลือกันว่าระหว่างที่เคลื่อนไหวอยู่ในป่าเตรียมการปฏิวัติคิวบาที่แนวรบ เซียร่า มาเอสตรา เขาลอบมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสหายหญิงชื่อ “เซลียา ซานเซส” อีกหนึ่งคน

Cuban leader Fidel Castro (C) leaves his hotel in Buenos Aires, surrounded by journalists and radio-reporters, 06 May 1959. He ended his visit to Argentina in a huff following a difference with the Argentinean governement. / AFP PHOTO / –

นายแพทย์กับนักกฎหมาย
ไฉนกลายมาเป็นนักปฏิวัติ?

เช เกวารา เอาชนะโรคประจำตัวหืดหอบ ด้วยการมุมานะเรียนหมอ ทั้งๆ ที่ลึกๆ แล้วเขาสนใจวิชาโบราณคดีและกวีนิพนธ์ จนรับปริญญาแพทยศาสตร์ใน ค.ศ.1953 เมื่ออายุ 25 ปี

แต่ครั้นเมื่อเรียนจบแล้ว แทนที่จะประกอบวิชาชีพที่เล่าเรียนมา กลับออกเดินทางค้นหาความหมายของเสรีภาพ สร้างความผิดหวังให้แก่บิดาอย่างสุดจะทานทน

มีแต่เพียงมารดาเท่านั้นที่คอยให้กำลังใจ เพราะรู้ว่าลูกชายคนนี้เกิดมาเพื่อเยียวยามนุษย์และสังคมที่ป่วยไข้ด้วยวิถีแห่งการปฏิวัติ

ฟิเดล คาสโตร สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์เมื่อปี 1950 เริ่มต้นด้วยการทำงานรับจ้างว่าคดีความให้แก่คนยากจนและไร้อภิสิทธิ์

เขาสนใจและเคลื่อนไหวด้านการเมืองมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา เข้าร่วมขบวนการ “ปาร์ตีโด ออร์โตดอคซอส” (Partido Ortodoxos) เป็นพรรคการเมืองที่มีเป้าหมายต่อต้านสหรัฐอเมริกา

ความคลั่งไคล้เรื่องการเมืองของฟิเดล เห็นได้จากเขาประกาศลงสมัครชิงเก้าอี้สมาชิกรัฐสภา ด้วยต้องการคัดง้างและเปิดโปงพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวงของ “นายพลฟุลเคนเซียว บาติสตา” ผู้นำเผด็จการของคิวบาขณะนั้น

เมื่อคนหนึ่งเห็นความทุกข์ยากของชาวละตินอเมริกาที่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจจักรวรรดินิยมอเมริกาที่เฝ้าเอารัดเอาเปรียบคนพื้นเมืองตลอดทั่วทุกหัวระแหง เขาจึงละทิ้งมาตุภูมิเพื่อออกแสวงหาหนทางปลดแอกอานให้แก่เพื่อนร่วมโลก

ในขณะที่อีกคนหนึ่ง ไม่พอใจต่อระบอบการปกครองในประเทศของตน ที่มีผู้นำเป็นสมุนรับใช้คอยเปิดทางให้จักรวรรดินิยมอเมริกาเข้ามาเอารัดเอาเปรียบประชากรเจ้าของประเทศ จนกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง

เขาทั้งสองจึงโคจรมาพบกันในประเทศเม็กซิโกอย่างไม่น่าเชื่อ

เมื่อคนหนึ่งเดินทางไกลมาจากใต้สุดของทวีป ท่องโลกอย่างเจ็บปวด สัมผัสความหิวโหยขาดแคลนของผู้คน ช่วงนั้นยังไม่มีทฤษฎีมาร์กซิสต์อยู่ในหัว รู้แต่เพียงว่าเขาต้องทำอะไรสักอย่าง และเขาต้องพบใครสักคน

อีกคนหนึ่ง สมองกำลังจะระเบิดอยู่รอมร่อกับลัทธิมาร์กซิสต์ ล้มลุกคลุกคลานเข้าๆ ออกๆ เรือนจำเสียจนชินชา ถูกเนรเทศออกมาจากทะเลแคริบเบียนสู่เม็กซิโก ในฐานะนักโทษการเมือง เขาเองก็กำลังเล็งหาใครสักคนที่เป็นคนจริง พร้อมจะเป็นเพื่อนตาย

ชาวละตินอเมริกา สามารถจดจำได้ดีว่าช่วงที่ เช เกวารา กับ ฟิเดล คาสโตร พบกันครั้งแรกในประเทศเม็กซิโก ตรงกับเดือนกรกฎาคม 1955

แค่มองตาก็รู้ใจ ฟิเดลระบายความอัดอั้นตันใจเรื่อง “บาติสตาจอมเผด็จการ” ให้เชฟังเพียงชั่วข้ามคืน เขาก็เห็นสัญญาณชัดถนัดถนี่ทันทีว่า เชคือสหายที่เขารอคอย เชไม่มีทางปฏิเสธภารกิจอันยิ่งใหญ่ เชคือคนที่พร้อมจะกอบกู้คิวบาคืนจากทรราชด้วยกันกับเขา

และเชเองก็ปรารภอยู่เนืองๆ ว่า หากละตินอเมริกาประเทศอื่นๆ มีผู้นำที่เข้มแข็งเด็ดขาดอย่างฟิเดล ป่านนี้ละตินอเมริกาทั้งทวีปก็คงสามารถปลดแอกเป็นอิสรภาพจากจักรวรรดินิยมอเมริกาไปตั้งนานแล้ว