A CONVENIENT SUNSET A CONVENIENT HOLDUP สำรวจการขยายตัวของทุนนิยมผ่านภาพถ่ายร้านสะดวกซื้อ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่น่าสนใจมา

เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการที่ว่านี้มีชื่อว่า

A CONVENIENT SUNSET A CONVENIENT HOLDUP

โดย มิติ เรืองกฤตยา ศิลปินภาพถ่ายรุ่นใหม่ผู้สนใจในการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของพื้นที่เมือง ทั้งจากปัจจัยทางธรรมชาติ ความเคลื่อนไหวทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ

และนำเสนอผลกระทบจากการขยายตัวดังกล่าวออกมาเป็นผลงานภาพถ่ายที่มีวิธีการนำเสนอผ่านรูปแบบและมุมมองอันแปลกใหม่

นิทรรศการครั้งนี้ของมิตินำเสนอผลงานสองชุด ที่ถึงแม้จะมีเรื่องราวและเนื้อหาแตกต่างกัน แต่ก็มีความเชื่อมโยงกันทางความคิดที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังผลงานทั้งสอง

เริ่มด้วยผลงานชุดแรกที่มีชื่อว่า A CONVENIENT SUNSET ภาพถ่ายร้านสะดวกซื้อยอดนิยม ที่คนไทยแทบทุกคนเห็นจนชาชินในแทบจะทุกมุมถนนของทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ภาพถ่ายอาคารติดป้ายนีออนสว่างสดใสประดับด้วยแถบสีส้มและเขียวกับโลโก้เด่นเป็นสง่าตรงกึ่งกลาง ถูกนำเสนอออกมาอย่างคมชัด งดงามจับตา

ให้ความรู้สึกเหนือจริงจนดูไม่เหมือนร้านสะดวกซื้อที่เราเห็นกันจนคุ้นตาทุกวี่วัน

ตามมาด้วยผลงานชุดที่สองที่มีชื่อว่า A CONVENIENT HOLDUP วิดีโอจัดวาง ฉายภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งอันหยาบกระด้างพร่ามัว แตกเลือนจนมองแทบไม่ชัดเจนที่ดึงมาจากกล้องวงจรปิด หรือข่าวออนไลน์ของการปล้นร้านสะดวกซื้อที่ว่า โดยโจรหมวกกันน็อกหรือนักปล้นสมัครเล่น ที่บ้างก็ควงมีด ปืนปลอม ใส่หมวกกันน็อกหรือหน้ากากปิดบังหน้าตาเข้าปล้น

ก่อนที่จะถูกตำรวจรวบตัวได้เป็นส่วนใหญ่

การจัดวางผลงานสองชุดเคียงคู่เปรียบต่างกัน เป็นแนวความคิดหลักอันโดดเด่นของนิทรรศการครั้งนี้ ทั้งภาพถ่ายขนาด 150 x 162.5 ซ.ม. อันสวยงามเนี้ยบกริบ จำนวน 9 ภาพ ที่ถูกแขวนเรียงรายอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยบนผนังสีขาวสะอาดตาทั้งสามด้าน ให้อารมณ์สุขุมเยือกเย็น ไปจนถึงวิดีโอจัดวางที่ฉายในโทรทัศน์ 4 จอ ที่นำเสนอภาพข่าวอันฉาบฉวยวุ่นวายไร้ระเบียบ ให้อารมณ์พลุ่งพล่านกระอักกระอ่วนชวนหัว

ความขัดแย้งของความสงบนิ่งชวนฝัน และความน่าหวาดกลัวชวนขบขันปนสังเวชในผลงานทั้งสอง ไม่เพียงเล่นกับความรู้สึกและความคาดหวังของผู้ชมอย่างเรา

หากแต่ยังยั่วยุให้ตีความ และยังบอกใบ้กลายๆ ว่า ความโกลาหลไร้ระเบียบเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้กระทั่งในสภาพแวดล้อมที่ถูกจัดวางและควบคุมอย่างดี

ดังเช่นในร้านสะดวกซื้อที่ถูกสร้างออกมาให้ดูเหมือนกันในทุกแห่งหน

ราวกับโขกออกมาจากพิมพ์เดียวกัน

“ที่เราเลือกร้านสะดวกซื้อเหล่านี้มาทำงาน ก็เพราะว่ามันเป็นร้านที่มีอยู่ทุกที่ทั่วประเทศไทย และเป็นร้านของหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นภาพแทนของการขยายตัวของสังคมเมืองปัจจุบัน”

“บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้มีธุรกิจที่ครอบคลุมทุกอย่างจนเกือบจะครบวงจร มีอำนาจและอิทธิพลในชีวิตประจำวันของคนเรามากๆ”

“ภาพถ่ายในงานชุดนี้ได้มาจากการที่เราขับรถตระเวนถ่ายภาพร้านสะดวกซื้อเหล่านี้ทั่วประเทศไทย ในช่วงเวลาพระอาทิตย์ใกล้ตกที่มีแสงโพล้เพล้ ซึ่งถึงแม้จะดูสวยงาม โรแมนติก แต่ในขณะเดียวกันความสวยนี้ก็หายไปเร็วมาก อยู่ได้เพียงแป๊บเดียว แสดงถึงความฉาบฉวยประเดี๋ยวประด๋าว ไม่แน่ไม่นอน ซึ่งเป็นที่มาของชื่องาน A CONVENIENT SUNSET”

“ส่วนผลงาน A CONVENIENT HOLDUP ที่เราใช้คำว่า “holdup” เพราะเราไม่อยากใช้คำว่า “robbery” เพราะท้ายที่สุดแล้วเราไม่อยากตัดสินว่าคนเหล่านี้คือคนร้าย และในหลายครั้ง การกระทำของคนเหล่านี้มีที่มาจากสภาวะกดดันทั้งจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม ดูจากพาดหัวข่าว บางทีก็ปล้นเอาผ้าอ้อมให้ลูกก็ยังมี”

“ภาพของคนที่เข้ามาปล้นร้านสะดวกซื้อเหล่านี้ เป็นภาพสะท้อนของสภาพสังคมที่เราอาศัยอยู่ แต่ข่าวอาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เองก็เหมือนเป็นอะไรที่เข้าไปเติมอยู่ใน News Feed ของข่าวให้สักแต่ว่าเต็มๆ ไปเท่านั้น ไม่ใช่ข่าวที่สลักสำคัญอะไร คนในข่าวเหล่านี้เอง ปกติก็เป็นคนที่เรามองไม่เห็นในชีวิตประจำวันด้วยซ้ำไป”

“ที่เราทำงานนี้ออกมา ไม่ได้หมายความว่าเราต่อต้านร้านสะดวกซื้อหรือบริษัทนี้นะ”

“เพราะเราเองก็เข้าอยู่ทุกวัน เอาจริงๆ ตอนที่ขับรถไปทั่วประเทศไทย พอเห็นแสงจากร้านสะดวกซื้อพวกนี้ก็รู้สึกอุ่นใจ เพราะหมายความว่า ถ้าหิวก็มีอะไรให้กิน ปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำก็ขอเข้าได้ มีความสะดวกสบายแน่นอน แต่อย่างน้อยๆ เราเองก็ต้องตั้งคำถามในฐานะผู้บริโภค เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ก็เป็นภาพแทนของทุนนิยมในสังคมปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย แต่รวมถึงในต่างประเทศที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่บริษัทที่ครอบครองเศรษฐกิจของประเทศหรือของโลกอยู่”

“ถึงเราจะหลีกเลี่ยงที่จะอยู่กับมันไม่ได้ แต่เราก็ต้องมีสติและรู้เท่าทันว่าจะอยู่กับมันยังไง”

นอกจากผลงานภาพถ่ายและวิดีโอจัดวางที่แสดงในห้องแสดงงานหลักแล้ว ยังมีผลงานบางส่วนแสดงอยู่ในห้องแสดงงานเล็กที่เป็นร้านหนังสือของหอศิลป์

ในร้านหนังสือนี้ยังมีหนังสือสองเล่ม ที่เป็นเหมือนภาคผนวกของนิทรรศการครั้งนี้วางขายอยู่

โดยเล่มหนึ่งเป็นหนังสือรวมภาพถ่ายของงาน A CONVENIENT SUNSET ทั้งภาพที่แสดงอยู่ในนิทรรศการและภาพที่ไม่ได้นำมาแสดง ตีพิมพ์สี่สีสวยงามบนกระดาษอาร์ต แลดูคล้ายกับแคตตาล็อกของร้านขายเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านชื่อดังจากยุโรป

ส่วนอีกเล่มเป็นหนังสือรวมภาพนิ่งของคลิปข่าวการปล้นร้านสะดวกซื้อจากผลงาน A CONVENIENT HOLDUP ตีพิมพ์บนกระดาษเนื้อหยาบคล้ายกับสิ่งพิมพ์ราคาถูก ราวกับจะขับเน้นความแตกต่างเพื่อประทดประเทียดความหรูหราสง่างามของร้านค้าแห่งโลกทุนนิยมในหนังสือเล่มแรกยังไงยังงั้น

ใครสนใจจะซื้อหาหนังสือสองเล่มนี้เอาไว้สะสมก็ถามไถ่ที่ร้านหนังสือแห่งนี้กันตามสะดวก

นิทรรศการ A CONVENIENT SUNSET A CONVENIENT HOLDUP จัดแสดงที่ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ (สาทรซอย 1 สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุมพินี จอดรถที่ 123 ปาร์กกิ้ง) ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 – 19 มกราคม 2563 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 08-3087-2725, [email protected], www.bangkokcitycity.com หรือ www.facebook.com/bangkokcitycity

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่