จรัญ มะลูลีม : ชีวิตนักศึกษาไทยในมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์

จรัญ มะลูลีม

การเดินทางเยือนมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์

นอกจากในแวดวงการศึกษาแล้ว นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์ (Aligarh Muslim University) ยังเข้าไปมีบทบาทอยู่ในแวดวงการทหาร ตำรวจ การปกครอง (เช่น นายช่วงชัย เปาอินทร์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่) การเกษตร และการปกครองส่วนท้องถิ่นและการแพทย์ (เช่น นายแพทย์ถนัด อาวารุลหัก ผอ.โรงพยาบาลกะพ้อ จังหวัดปัตตานี เป็นต้น)

มหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์แม้โดยพื้นฐานจะเป็นมหาวิทยาลัยมุสลิม แต่ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อส่งเสริมการศึกษาแก่คนทุกเชื้อชาติศาสนา

มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีคำสอนในการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวฮินดูกับชาวมุสลิมมาโดยตลอดว่าดวงตาสองข้างของมหาวิทยาลัยนั้นข้างหนึ่งเป็นของชาวมุสลิม อีกข้างหนึ่งเป็นของชาวฮินดู

นักศึกษาที่จบปริญญาตรีคนแรกของมหาวิทยาลัยก็เป็นชาวฮินดู ทั้งนี้ ในอีกสิบปีข้างหน้าประเทศอินเดียจะเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลกแซงหน้าอินโดนีเซียและปากีสถาน

แม้จะมีวิชาการจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามและมีภาษาของชาวมุสลิม เช่น เปอร์เซีย อุรดูและอาหรับอยู่ แต่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็เน้นการถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ และการศึกษาที่ครอบคลุมศาสตร์ทุกแขนง เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ

โดยเมื่อสามปีที่ผ่านมา (2017) Aligarh Muslim University เป็นมหาวิทยาลัยที่ถูกจัดอยู่ในอัoดับ 2 จากมหาวิทยาลัยมากกว่า 200 มหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในประเทศอินเดีย มี 12 คณะ 109 ภาควิชา และ 355 หลักสูตร

ปัจจุบันมีนักศึกษามากกว่าสามหมื่นคน

 

นับเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของอดีตเอกอัครราชทูตไทย พิศาล มาณวพัฒน์ และการประสานงานของเลขานุการโท ในเวลานั้นคือคุณพิชญะ สนใจ อดีตเอกอัครราชทูต ชลิต มานิตยกุล และเอกอัครราชทูตไทยคนปัจจุบัน รวมทั้งอดีต ส.ว. ส.ส. ของไทยที่ต้องการสนับสนุนให้นักศึกษาไทยไปเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้มากขึ้นเพื่อจะได้กลับมาอยู่ในสังคมไทยได้อย่างสง่าผ่าเผย มีเกียรติ และมีคุณูปการต่อสังคมไทยโดยรวม

ที่น่าสนใจคือ ในระดับระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์ได้ผลิตศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงมาแล้วหลายท่าน รวมทั้ง ดร.ซากิร ฮูเซน (Dr.Zakir Husain) อดีตประธานาธิบดีของอินเดีย นายมุฮัมมัด ฮามิด อันซฮรี อดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแห่งนี้และอดีตรองประธานาธิบดีของอินเดียที่เพิ่งหมดวาระ นายอัยยูบ ข่าน (Ayyub Khan) อดีตประธานาธิบดีของปากีสถาน นายฟัซลี อิลาฮิ เชาดารี (Fazle llahi Chaudhari) อดีตประธานาธิบดีปากีสถาน และนายมันซูร อาลี (Mansoor Ali) อดีตนายกรัฐมนตรีของบังกลาเทศ

นอกจากนี้ ยังมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงอีกจำนวนมากในหลายวงการ อาทิ นักการเมือง ดารานักแสดง (อย่างเช่น นาซีรรุดดีน ชาฮ์) นักวิชาการ นักประพันธ์และนักกีฬาทีมชาติอินเดียอีกหลายคน

ความตั้งใจเดิมของเซอร์ซัยยิด อะห์มัด ข่าน (Sir Syed Ahmad Khan 1817-1898) ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ก็คือการจัดระบบการศึกษาให้เป็นระบบร่วมสมัยมากขึ้นในรูปของโรงเรียน จึงได้เริ่มจัดตั้งโรงเรียนใน ค.ศ.1875 ต่อมาโรงเรียนดังกล่าวได้กลายมาเป็นมุฮัมมะดัน แอลโกล โอเรียนตัล คอลเลจ (1875-1920) และพัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์ในท้ายที่สุดเมื่อ ค.ศ.1920 (ในปีหน้ามหาวิทยาลัยจะเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี ของการก่อตั้ง)

นับจากการก่อตั้งมหาวิทยาลัยจนถึงปัจจุบัน มีนักศึกษาเข้ามารับการศึกษาเกือบจะทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแอฟริกา

ในปี 2018 มหาวิทยาลัยมีนักศึกษาจากแหลมแอฟริกา อย่างโซมาเลีย แอฟริกาตะวันตกอย่างไนจีเรีย แอฟริกาเหนืออย่างอียิปต์ ซูดานและลิเบีย เอเชียตะวันตกหรือตะวันออกกลางอย่างอิหร่าน อิรัก จอร์แดน ซีเรีย เยเมน และปาเลสไตน์ เอเชียได้อย่างปากีสถาน เนปาล อัฟกานิสถาน และบังกลาเทศ

ประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศอเมริกาใต้อย่างเอกวาดอร์ เอเชียกลางอย่างเติร์กเมนิสถาน แถบแปซิฟิกอย่างนิวซีแลนด์ และประเทศที่เป็นเกาะนอกชายฝั่งแอฟริกาในมหาสมุทรอินเดียตะวันตกเฉียงใต้อย่างเมาริเชียส (Mauritius) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไทย อินโดนีเซีย รวมทั้งนักศึกษาอินเดียที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ (NRIs)

สำหรับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างให้คนทุกชั้นวรรณะ ไม่ปิดกั้นในเรื่องของหลักความเชื่อ ศาสนาและเรื่องเพศ

 

มหาวิทยาลัย Aligarh Muslim เริ่มก่อตั้งขึ้นภายหลังการก่อจลาจลในอินเดียในปี 1857 โดยเซอร์ซัยยิด อะห์มัด ข่าน เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องจัดตั้งสถาบันการศึกษาที่เป็นระบบขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่อังกฤษต้องการจะให้ชาวอินเดียใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ

เซอร์ซัยยิด อะห์มัด ข่าน ได้จัดการกับปัญหาการรุกคืบของตะวันตก ด้วยการเปิดสอนภาษาอังกฤษซึ่งนับเป็นความแปลกใหม่และแหวกขนบเดิมๆ ที่เป็นไปในช่วงนั้น ในขณะที่สังคมมุสลิมอินเดียในสมัยนั้นไม่มีใครต้องการการเรียนการสอนในภาษาอังกฤษและวัฒนธรรมอังกฤษ เพราะการยอมรับภาษาดังกล่าวคือสัญลักษณ์แห่งการกดขี่และการเป็นตะวันตก

การบอกกับผู้คนอินเดียให้รู้หลักการอิสลามจากคำสอนของคัมภีร์อัล-กุรอานที่ชัดแจ้งว่า “พระเจ้าทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่พวกเขาไม่รู้” ได้ถูกกำหนดให้เป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์ ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงเป็นสถาบันการศึกษาทางเลือกที่ชาวมุสลิมอินเดียได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้น

การศึกษาคือวิถีทางเดียวในการสร้างอาวุธที่สำคัญของกองกำลังที่ทรงประสิทธิภาพ เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของระบบการศึกษาก็คือกระบวนการสอนและวิถีแห่งการกล่อมเกลาเพื่อปรับทัศนคติแนวคิด สร้างคนดีมีศีลธรรมเพราะสิ่งเหล่านี้คือฐานรากที่จะหลอมรวมให้ผู้คนก้าวไปสู่สังคมที่ดีงามต่อไป

ดังนั้น เซอร์ซัยยิด อะห์มัด ข่าน จึงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาและเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่ชาวมุสลิมจะได้มีโอกาสเรียนรู้ภาษาต่างๆ ให้มีความรอบรู้และเข้าใจสภาพของปัญหาผ่านภาษาของชาวตะวันตกเอง

แม้ว่าในภาคปฏิบัติจะต้องใช้ความมานะอดทนในการที่จะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติต่างๆ ของคนในชุมชนให้ยอมรับระบบการศึกษาของตะวันตกเข้ามาบูรณาการอยู่ในระบบการศึกษาดั้งเดิมที่มีอยู่ในประเทศอินเดียอยู่แล้วก็ตาม

เซอร์ซัยยิดจึงได้รับความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วน

 

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์ (อลิฆัร) มีจำนวนนักศึกษาไทยทั้งชายและหญิงรวมกันจำนวน 144 คน เป็นนักเรียนทุน ICCR 1 คน (ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ) แบ่งออกเป็นนักศึกษาที่มาจากภาคกลาง 76 คน ภาคใต้ตอนบน 20 คน ภาคใต้ตอนล่าง (สามจังหวัดภาคใต้) จำนวน 48 คน แบ่งออกเป็นระดับปริญญาเอก 19 คน ปริญญาโท 33 คน ปริญญาตรี 86 คน

เมืองอลิการ์มีประชากรรวมกันไม่น้อยกว่า 6.6 แสนคน มหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์จัดเป็นหนึ่งในแหล่งการศึกษาของอินเดียที่อังกฤษเข้ามาจัดระบบการศึกษาในช่วงต้น อันเป็นช่วงเวลาที่อินเดียยังคงตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบอาณานิคมของอังกฤษ

นับเป็นเวลาเกือบร้อยปีแล้วที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้สามารถยืนหยัดและผลิตบุคลากรที่เข้ามาศึกษามหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้รับใช้สังคมจำนวนมาก ทั้งในอดีตและในปัจจุบัน

ดังได้กล่าวมาแล้ว ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีนักศึกษามากกว่า 3 หมื่นคน อาจารย์ของมหาวิทยาลัยมากกว่า 1,400 คน และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยทั้งหมดมากกว่า 6,000 คน