หนุ่มเมืองจันท์ เขียนถึง “สริศรี ลีลาวัตร” กับการได้พบ “3 คำของความเป็นทีม” อีกครั้ง

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

จําเรื่อง “3 คำของความเป็นทีม” ที่ผมเคยเล่าบ่อยๆ ได้ไหมครับ

“3 คำ” นี้ผมได้มาจากอาจารย์สริศรี ลีลาวัตร

ขออนุญาตย้อนอดีตสำหรับคนที่ไม่เคยอ่าน

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อสมัยที่เรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดจันทบุรี

กี่ปีหรือครับ

อย่ารู้เลยครับ เอาเป็นว่าระดับ “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว”

“อาจารย์สริศรี” เป็นอดีตนักวอลเลย์บอลทีมชาติไทยย้ายมาเป็นครูพละที่โรงเรียน

ท่านอยากฝึกเด็กให้เล่นวอลเลย์บอลเป็น

ไม่ใช่แค่สอบวิชาพลศึกษาผ่าน

“อาจารย์สริศรี” เลยเปิดสอนวอลเลย์บอลฟรีกับเด็กๆ

ใครอยากเล่น…มา

อาจารย์รวบรวมเด็กที่อยากเล่นได้เกือบ 20 คน

ตั้งชื่อทีมว่า “ใจรัก”

คือ ถ้าไม่ “ใจรัก” จริงๆ ก็คงไม่มาเล่น

ผมก็เป็นหนึ่งในเด็กคนหนึ่งที่ไปหัดเล่นวอลเลย์บอลกับอาจารย์สริศรี

เด็กทุกคนฝันว่าการไปหัดเล่น คือการได้ลงสนามแข่งกันเลย

แต่เชื่อไหมครับ เราต้องหัดยืนย่อขา อันเดอร์ เซ็ต สไลด์ซ้าย-สไลด์ขวา ฯลฯ

…มือเปล่า

ไม่ได้โดนลูกวอลเลย์บอลเลยเป็นเดือน

กว่าจะได้ตีลูกบอลจริงๆ

จากนั้นก็หัดอันเดอร์ เซ็ต ตบ กันนานหลายเดือน

กว่าจะได้ลงสนามจริงๆ

วันนั้น ก่อนลงสนามแข่งกัน “อาจารย์สริศรี” เรียกพวกเรามารวมตัวกัน

ผมนึกว่าท่านจะสอนเรื่องการตบลูกสั้น ลูกยาว หรือการวางแผนเกม

เปล่าครับ

“อาจารย์สริศรี” สอนทุกคนถึงการแสดงสปิริตในทีม

ถ้าใครรับบอลพลาด หรือตีบอลพลาด

ให้ยกมือขึ้นแล้วตะโกนดังๆ ให้เพื่อนในทีมได้ยิน

“ขอโทษ”

เพื่อนทุกคนในทีมก็ต้องตอบรับเหมือนกัน

“ไม่เป็นไร”

และ “เอาใหม่”

แค่นี้เองครับ

ผมเรียก 3 คำนี้ว่า “3 คำของความเป็นทีม”

เพราะในสภาพกดดันของการแข่งขันจริงๆ คำ 3 คำนี้จะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันระหว่างกัน

ทำผิดก็ “ขอโทษ”

เพื่อนทุกคนก็ต้อง “ให้อภัย”

…ไม่เป็นไร

และให้สมาธิของทุกคนอยู่กับบอลลูกใหม่ที่กำลังมา

…เอาใหม่

ผมชอบเรื่องนี้มาก และนำมาใช้ในชีวิตจริง

ทุกครั้งของการทำงาน

ถ้า “ผิด” ก็ต้อง “ขอโทษ”

และถ้าเพื่อนทำพลาด ก็จะบอกว่า “ไม่เป็นไร”

…”เอาใหม่”

 

ย้อนเล่าเรื่องเก่ายาวเหยียด เพื่อที่จะบอกว่าหลังจากที่ผมและเพื่อนเรียนจบ

“อาจารย์สริศรี” ก็ย้ายไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา

ไม่ได้เจอกันนานมาก

จนเมื่อ 10 ปีก่อน “ไก่” น้องคนหนึ่งในทีมสามารถค้นหาที่อยู่ของ “อาจารย์สริศรี” และชวนผมกับ “พี่ไพศาล” ไปพบอาจารย์

แต่เพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ ไม่มีโอกาสได้เจออาจารย์

จนวันนี้ “โซเชียลมีเดีย” ทำให้ “ไก่” สามารถดึงเพื่อนๆ ร่วมทีมใจรักเกือบทุกคนมาอยู่ในกรุ๊ปไลน์เดียวกัน

และนัดเจอกับ “อาจารย์สริศรี”

เรานัดกันล่วงหน้าเป็นเดือน

รวบรวมพลได้ 14 คน

“อาจารย์สัมฤทธิ์-พี่โหนก-พี่เล็ก-พี่ไพศาล-พี่จันทร์ฉาย-พี่หมวย-พี่จ่า-พี่หนุ่ย-พี่โอ่ง-กุ้ง-ต้อย-ปุ๊-ไก่” และผม

แค่เจอกันเองก็ตื่นเต้นแล้ว เพราะบางคนไม่เจอกัน 30 ปี

เรายังจะได้เจออาจารย์สริศรีอีก

สถานที่นัดหมายเป็นร้านอาหารใหญ่แห่งหนึ่งแถวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะใกล้กับบ้านอาจารย์

นัดกันตอนเที่ยง

เพื่อนกลุ่มหนึ่งมาจากเมืองจันท์

คนหนึ่งมาจากเมืองชล

ที่เหลืออยู่ในเมืองกรุง

ใครจะไปนึกว่าคนที่ไม่เจอกันนานมาก แต่สามารถจูนกันได้แบบไร้ช่องว่าง

ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะเราซ้อมเหนื่อยมาด้วยกัน

สนุกด้วยกันมาหลายปี

ยิ่งรื้อฟื้นความหลังตอนฝึกเล่นวอลเลย์บอลของ “อาจารย์สริศรี” ยิ่งสนุก

อาจารย์เจอโค้ชต่างชาติโหดๆ มาก่อนก็เลยซ้อมเราหนักมาก

เล่นเสร็จ ให้วิ่งรอบสนามก่อนวอร์มดาวน์ ยืดเส้น

ใครวิ่งช้าสุดเอาลูกบอลไปเก็บ

ทุกคนยังจำการลงโทษของอาจารย์ด้วยการใช้นิ้วคืบท้องแขนแล้วบิดได้ดี

เจ็บมากครับ

“พี่โหนก” รำลึกความหลังตอนที่ปั่นจักรยานไปบ้านเพื่อนและน้องๆ ตอนเย็นเพื่อตามมาซ้อมวอลเลย์บอลตอนเย็นๆ

เพราะบางคนก็ติดภารกิจที่บ้าน

แต่ละคนอยากไปใจแทบขาด

“ไปบ้านไพศาล เจอมันกำลังขูดมะพร้าวอยู่”

บ้านพี่ไพศาลขายขนมหวานครับ

“กูก็ไม่กล้าเข้าไป กลัวแม่มันว่า จำได้ว่ามันหันมามองตาละห้อย ชูนิ้วชี้ ทำปากมุบมิบ…อีกลูกเดียว”

หรือการหนีซ้อมไปหลีสาวของพี่บางคน

หัวเราะจนเหนื่อย

ผมเพิ่งรู้ว่าอาจารย์สริศรีเป็นนักกีฬาที่เก่งมาก

ท่านไม่ใช่แค่เป็นนักวอลเลย์บอลทีมชาติ

แต่ยังเป็นนักบาสเกตบอลทีมชาติ

และนักกรีฑากระโดดสูงทีมชาติด้วย

น่าจะเป็นนักกีฬาหญิงคนเดียวที่ติดทีมชาติ 3 ประเภทกีฬา

…สุดยอดจริงๆ

 

ตอนท้าย แต่ละคนลุกขึ้นมาเล่าเรื่องชีวิตของแต่ละคน และความประทับใจที่ได้เล่นวอลเลย์บอลกับอาจารย์สริศรี

แต่ละคนมีความประทับใจคล้ายๆ กันเรื่องการซ้อมหนักที่ทำให้ทุกคนได้เรื่อง “ความอดทน” ไปใช้ในชีวิต

ผมเล่าเรื่อง “3 คำของความเป็นทีม”

ส่วน “พี่ไพศาล” ที่ตอนนี้เป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บอกว่าการซ้อมวอลเลย์บอลกับอาจารย์สริศรีทำให้เข้าใจความสำคัญของพื้นฐานความรู้

หรือเรื่อง “เบสิก”

ถ้าเข้าใจพื้นฐาน จะต่อยอดอะไรก็ง่าย

เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาก

ส่วนพี่หมวย บอกว่านอกจาก “ความอดทน” แล้ว ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เธอซ้อนมอเตอร์ไซค์เพื่อนแล้วล้ม

“หนูใช้ท่าที่อาจารย์สอนมาใช้ ก้าวขาไปรับบอลมือเดียวแล้วเอาไหล่ลง กลิ้งตัวลุกขึ้นเล่นต่อ พอตกจากรถ หนูก็ทิ้งตัวเอาไหล่ลงแล้วลุกขึ้นได้เลย”

ทุกคนนึกออกเลย เพราะเป็นท่าที่เราซ้อมกันประจำ

ซ้อมบ่อยๆ มันจะเป็นสัญชาตญาณ

จนวันนี้ผมยังจำได้เลย

แต่ทำได้หรือไม่ ยังไม่กล้าลอง 555

วันนั้นเราคุยกันยาวจนถึง 4 โมงเย็น ก่อนที่จะร่ำลาอาจารย์สริศรี

ของที่ระลึกที่มอบให้อาจารย์คือ ลูกวอลเลย์บอลที่เราทุกคนเขียนความประทับใจ

ผมมอบหนังสือ “ชีวิตไม่ยาก ถ้าตั้งโจทย์ง่าย” ที่เคยเขียนเรื่อง “3 คำของความเป็นทีม” ให้กับอาจารย์

และ “ขอโทษ” อาจารย์ที่ขอกลับก่อน

อาจารย์ตอบว่า “ไม่เป็นไร”

ผมนึกต่ออีกคำหนึ่งในใจ

“เอาใหม่”

เราทุกคนต้องนัดเจอกันอีกแน่นอน