อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ปฏิบัติการสับเปลี่ยนศิลปะประชดทรัมป์ ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา เราได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับแคมเปญ J20 Art Strike หรือปฏิบัติการหยุดงานประท้วงทรัมป์ของคนในวงการศิลปะอเมริกันไปแล้ว

ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็มีการประท้วงในเชิงเสียดสีประชดประชันของคนในวงการศิลปะอเมริกันอีกครั้ง เกี่ยวเนื่องจากคำสั่งของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ห้ามพลเมืองจาก 7 ประเทศเดินทางเข้าสหรัฐ รวมถึงระงับโครงการผู้ลี้ภัยเป็นเวลา 120 วัน และสั่งห้ามรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียอีกด้วย

โดยในคราวนี้ สถาบันทางศิลปะที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาอย่าง พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (Museum of Modern Art) หรือ MoMA ในเมืองนิวยอร์ก ได้ประท้วงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการสับเปลี่ยนงานในนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลงานของเหล่าศิลปินเอกในยุคโมเดิร์น

และแทนที่ด้วยงานศิลปะของศิลปินเจ็ดคนจากประเทศมุสลิมที่ถูกทรัมป์สั่งห้ามเดินทางเข้าสหรัฐนั่นแหละ (แสบไหมล่ะ!)

ศิลปินเจ็ดคนที่ว่านั้นประกอบด้วย จิตรกรชาวซูดานโดยกำเนิด อิบราฮีม เอล-ซาลาฮี (Ibrahim el-Salahi) ประติมากรชาวอิหร่าน พาร์วิซ ทานาโวลี (Parviz Tanavoli) ศิลปินวิดีโออาร์ตชาวอิหร่าน ทาลา มาดานี (Tala Madani) จิตรกรชาวอิหร่าน ชาร์ลส์ ฮุสเซน แซนดรูดี (Charles Hossein Zenderoudi) ช่างภาพชาวอิหร่าน ชิราน่า ชาห์บาซี (Shirana Shahbazi) จิตรกรชาวอเมริกันเชื้อสายอิหร่านที่เกิดในรัสเซีย มาร์คอส เกอร์กอเรียน (Marcos Grigorian) และสถาปนิกเชื้อสายอิรักอย่าง ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid)

โดยผลงานของพวกเขาเหล่านี้ถูกติดตั้งในห้องแสดงงานชั้นห้าของ MoMA แทนที่ผลงานของศิลปินตะวันตกเรืองนามอย่าง ปาโบล ปิกัสโซ่, อองรี มาติส (Henri Matisse) และ ฟรานซิส พิคาเบีย (Francis Picabia) โดยใกล้ๆ กับผลงานแต่ละชิ้นจะมีป้ายประกาศเจตนารมณ์ของพิพิธภัณฑ์ติดเอาไว้ใจความว่า

“ผลงานเหล่านี้เป็นของศิลปินที่มาจากประเทศที่ถูกปฏิเสธให้เข้ามาในสหรัฐอเมริกาจากคำสั่งของประธานาธิปดีในวันที่ 27 มกราคม 2017 นี่คือหนึ่งในผลงานศิลปะหลายชิ้นจากคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์ที่ถูกนำมาแสดงในหอศิลป์ชั้นห้า เพื่อยืนยันอุดมคติแห่งการเปิดรับ (ศิลปิน) โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ และแสดงออกถึงความมีเสรีภาพอันเป็นหัวใจสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ และของประเทศสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน”

48.65

นอกจากผลงานทั้งเจ็ดแล้ว ยังมีประติมากรรมที่ทำจากอะลูมิเนียมและเหล็กขนาดใหญ่ของศิลปินอเมริกันที่เกิดในอิหร่านอย่าง ไซอา อาร์มาจานี (Siah Armajani) ติดอยู่บนผนังกระจกในห้องโถงของพิพิธภัณฑ์อีกด้วย

“มันเป็นปฏิกิริยาอันชัดแจ้งในการแสดงออกถึงความสมัครสมานกลมเกลียวกับศิลปินจากหลากหลายประเทศ ตั้งแต่แรกที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้น มันก็เป็นสถานที่หลบลี้หนีภัยสำหรับศิลปินทั่วโลก ในอดีต ผู้อพยพหลายคนเดินทางมายังนิวยอร์กและมาทำงานที่นี่ ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ให้การช่วยเหลือแก่พวกเขาบางคน เพราะการเดินทางนั้นเป็นสิ่งสำคัญต่อศิลปิน นักวิชาการ และนักประวัติศาสตร์ ดังนั้น เราจึงรู้สึกว่าการแสดงท่าทีเช่นนี้ของเราเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง” คริสตอฟ เชริกซ์ (Christophe Cherix) หัวหน้าภัณฑารักษ์แผนกวาดเส้นและภาพพิมพ์ของ MoMA กล่าว

เชริกซ์ยังกล่าวว่า ยังมีผลงานของศิลปินจากประเทศมุสลิมที่จะถูกเพิ่มเติมเข้าไปอีกเร็วๆ นี้ หลังจากการปรับปรุงหอศิลป์ชั้นห้าเสร็จสิ้น

นอกจากนั้น พิพิธภัณฑ์ยังวางตารางการฉายหนังของผู้กำกับในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการแบนของทรัมป์ อย่าง Al-Yazerli (1974) หนังทดลองของผู้กำกับฯ ชาวเยอรมันที่เกิดในอิหร่าน เคส์ อัล-ซูไบดี (Kais al-Zubaidi)

และ Stars in Broad Daylight (1988) ของ อุซามะฮ์ โมฮัมหมัด (Oussama Mohammad) ผู้กำกับฯ ชาวซีเรียที่ลี้ภัยมาอยู่ในปารีสอีกด้วย

โจดี้ ฮัปต์แมน (Jodi Hauptman) ภัณฑารักษ์อาวุโสของ MoMA กล่าวว่า ไอเดียของปฏิบัติการนี้เริ่มขึ้นจากการที่ทีมงานภัณฑารักษ์พิจารณาว่า พิพิธภัณฑ์จะโต้ตอบกับคำสั่งแบนของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไรดี

“เราคิดว่าเราจะแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับศิลปินและผู้ชม นักวิชาการ ภัณฑารักษ์ ในประเทศที่ถูกแบนเหล่านั้นได้อย่างไร ซึ่งปฏิบัติการครั้งนี้ถือเป็นการแสดงออกเชิงปรัญชาที่เรานำเสนอให้ทีมงานของเรา รวมถึงสาธารณชนได้รับรู้โดยทั่วกัน” ฮัปต์แมนกล่าว

ปฏิบัติการนี้เป็นอะไรที่ซับซ้อนมากกว่าการสับเปลี่ยนงานศิลปะที่แขวนบนผนังเฉยๆ

เพื่อให้ปฏิบัติการครั้งนี้เกิดขึ้นได้ ทีมภัณฑารักษ์ต้องตรวจสอบคอลเล็กชั่นศิลปะของพิพิธภัณฑ์อย่างละเอียด

คัดเลือกผลงานจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจาการแบนของทรัมป์ และปลดภาพวาดบางภาพที่แสดงถาวรในนิทรรศการเดิมลงเพื่อแขวนภาพจากประเทศเหล่านั้นเข้าไปแทน

มันเป็นการทำงานร่วมกับทีมงานทั่วทุกฝ่ายในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงผู้ดูแลรักษาผลงานศิลปะ ผู้เชี่ยวชาญในการเข้ากรอบ ทีมประชาสัมพันธ์, นักวิชาการ หรือแม้แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยด้วย

 

เดิมทีหอศิลป์ชั้นห้าของ MoMA มุ่งเน้นในการนำเสนอศิลปะตะวันตกตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ดังนั้น ผลงานใหม่ที่ถูกสับเปลี่ยนเข้าไปจึงสำแดงความขัดแย้งกับภาพรวมของนิทรรศการจนผู้ชมงานสามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจน

แต่อย่างไรก็ดี ฮัปต์แมนกล่าวว่า อันที่จริงในอีกแง่หนึ่ง เหล่าภัณฑารักษ์ของ MoMA ต้องการใส่ผลงานใหม่เข้าไป เพื่อให้มันสร้างบทสนทนากับผลงานที่จัดแสดงอยู่เดิมมากกว่า

คำสั่งแบนของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ดังกล่าว ซึ่งมีการเปิดเผยว่าจะมีผู้ถูกเพิกถอนวีซ่าถึง 60,000 คน โดยคำสั่งที่ว่านี้ถูกประณามอย่างรุนแรงและกว้างขวางในโลกศิลปะ และปฏิกิริยาโต้ตอบที่นำไปสู่การประท้วงและการจลาจลครั้งใหญ่ในหลายเมืองทั่วประเทศ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนจากนักคิดแทบทุกสำนักทั้งในโซเชียลมีเดียและสื่อต่างๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก ซึ่งปฏิบัติการประท้วงของ MoMA ครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในการประท้วงเหล่านั้น

“เมื่อคุณได้ดูงานของศิลปินในประเทศมุสลิมที่ถูกสับเปลี่ยนเข้ามาแสดงในหอศิลป์แห่งนี้ มันอาจจะทำให้คุณคิดได้ว่า ถ้าคุณยังปล่อยให้มีการแบนเกิดขึ้นต่อไป ในอนาคต คุณอาจไม่ได้เห็นงานศิลปะแบบนี้อีกเลยก็เป็นได้” ฮัปต์แมนกล่าวทิ้งท้าย

เห็นท่าทีที่มีต่อเสรีภาพและการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของสถาบันศิลปวัฒนธรรมอันทรงอิทธิพลของบ้านเขา แล้วหันมามองท่าทีของสถาบันศิลปวัฒนธรรมอันทรงเกียรติของบ้านเราที่มีต่อเสรีภาพและความแตกต่างหลากหลายก็ได้แต่ทอดถอนใจ

เพราะมันเป็นอะไรที่ ได้หมดถ้าสดชื่น อย่างอื่นก็ไม่ต้องพูดถึง

ก็ได้แต่หวังไปลมๆ แล้งๆ ว่าอนาคตมันคงจะดีขึ้นสักวัน

ตอนนี้ก็แค่หวังสักวันเราคงจะได้เลือกตั้งกันก่อนก็แล้วกันน่ะขรั่บ พี่น้อง!