อภิญญา ตะวันออก : บทเรียน “20 ปี” ซีไรต์เขมร

อภิญญา ตะวันออก

ในช่วงเวลานั้น ที่ฉันได้ใช้ชีวิตอยู่ในพนมเปญ มีโอกาสพบนักเขียนกัมพูชาบางคนแถวเรือนไม้เก่าๆ หลังซอยวัดบัวตุมวไตที่ร่มรื่น ดูเหมือนพวกเขาเพิ่งจะผ่านความแช่มชื่นจากช่วงเวลาอันสำคัญ นั่นคือการพบปะในหมู่ชาวสมาคมนักเขียนเขมร

และตอนนั้น การแจกรางวัลนักเขียนในประเทศก็เพิ่งจะริเริ่ม พลันข่าวลือเรื่องรางวัล “ฮุนเซน” รางวัลใหม่ที่ถูกตั้งขึ้นหมาดๆ เพื่อเบียดรางวัล “สีหนุราช” ก็แทรกเข้ามา ราวกับจะแบ่งแยกคนวรรณกรรมให้ออกเป็น 2 ฝ่าย

พอปีต่อมาก็สิ้นสุดการรอคอย เมื่อเป็จ ตุม กระวาน หรือ “เพชรกระวานที่สุกสว่าง” คือผู้คว้ารางวัล “วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน” หรือซีไรต์ (S.E.A Write) สำเร็จ และเป็นคนแรกของชาวกัมพูชา (2542)

พลันหลังจากก่อตั้งสถาบันมาร่วม 20 ปี ก็ถึงคราวที่ซีไรต์จะมีนักเขียนแล้วสินะ

 

เดิมทีซีไรต์น่ะหายไปจากชีวิตฉันนานแล้ว แต่การมาได้ยินวลีนี้ในกัมพูชา ที่เพิ่งผ่านพ้นระบอบประเจียประนิต สังคมนิยมแบบพนมเปญ (2518-2532)

เป็จ ตุม กระวาน ซึ่งขณะนี้อายุใกล้ 80 ปีแล้ว นอกจากเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในโควต้าฟุนซินเปกแล้ว ยังเป็นเขยในราชสกุลนโรดมอีกด้วย

แต่เอกอุดมเป็จ ตุม กระวาน มีคุณสมบัติไปในทางกึ่งราชบัณฑิต มากกว่านายกวีหรือนักเขียน ผลงานของเขาส่วนใหญ่เกี่ยวกับบันทึกวิชาการทางวัฒนธรรม

นั่นคือสิ่งฉันที่รำลึกได้เกี่ยวกับซีไรต์เขมรคนแรกที่มีโอกาสพบพานท่าน “เพชรกระวานที่สุกสว่าง” ช่างเป็นความหมายที่น่าจดจำมาก สำหรับรางวัลนักเขียนนานาชาติครั้งแรกของกัมพูชา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออีก 1 ปีต่อมา กวีนักเขียนแห่งเมืองพระตะบอง-กงค์ บุนเฌือน ก็รับการเสนอชื่อ ซึ่งฉันไม่แน่ใจว่า จะด้วยบารมีของเอกอุดมเป็จ ตุม กระวาน หรือไม่? ที่ทำให้กงค์ บุนเฌือน ได้รับการเสนอชื่อในปีนั้น

มิฉะนั้นแล้ว ทำเนียบซีไรต์คงจะแห้งแล้งที่ไม่มีนามของนักเขียนท่านนี้ เนื่องจากเป็นปีเดียวกับที่เขาต้องระเห็จออกนอกประเทศและไปลี้ภัยที่นอร์เวย์

นวนิยายเรื่องสุดท้ายของกงค์ บุนเฌือน มีที่มาจากเรื่องจริงของหลานสาวผู้โชคร้าย เธอถูกจับมัดและราดด้วยน้ำกรดไปทั่วทั้งร่าง โดยฝ่ายผู้กระทำเธอนั้น ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ

ครอบครัวญาติมิตรของกงค์ บุนเฌือน แยกย้ายกันลี้ภัยทั้งสหรัฐและนอร์เวย์ งานของเขาซึ่งเกือบไม่เป็นที่รู้จักในยุคหลัง

อาจพอจะกล่าวว่า กงค์ บุนเฌือน คือนักเขียนยุค 70 สมัยเขมรแดงเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลซีไรต์

 

นั่นเอง เมื่อไล่ดูรายชื่อนักเขียนซีไรต์เขมรคนต่อๆ มา ฉันก็พบว่า เมา อายุต (2544) คือผลผลิตของรัฐบาลกัมพูชาแล้วในปีนั้น

อดีตผู้กำกับภาพยนตร์ถ่ายทำแบบวิดีโอยุค 90 ท่านนี้ คือผู้บุกเบิกสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติกัมพูชา แต่นี่ก็ไม่ใช่ปัญหาคุณสมบัติของผู้เป็นนักเขียนซีไรต์ เพราะกงค์ บุนเฌือน ซึ่งเคยยึดอาชีพเขียนบทภาพยนตร์มาแล้ว ขาดตรงแต่ที่เขาได้แต่งนิยายออกมาขายก่อน จากนั้นจึงนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์

หลังเมา อายุต แสง สัมอัน และคึม ปินัน ดูจะมีผลงานน้อยมาก จากนั้นนักเขียนในคราบกึ่งนักการเมืองสังกัดพรรคซีพีพีก็เริ่มมีบทบาท

เริ่มจาก เอกอุดม จัย จาบ (2547) และเมียด พน (2548) ปาล วันนาริรัก (2549) ซึ่งเป็นนักเขียนสตรีซีไรต์คนแรกของกัมพูชาและมีผลงานเป็นที่รู้จัก ต่อด้วยอุม โสภานี และด๊อกเตอร์ซิน ตู๊ด (2551)

ดูเหมือนทำเนียบซีไรต์แขฺมร์ บ้างก็ไม่พบตัวตน บ้างก็ผลิตงานกึ่งชีวประวัติเพียงเล่มแรกแล้วจบเลย กล่าวได้ว่า ครึ่งทาง 10 ปีซีไรต์เขมร ตัวตนนักเขียนตัวจริงมีไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

พลันจู่ๆ กัมพูชาก็สำลักรางวัลซีไรต์ จนเว้นวรรคไปถึง 4 ปี

จากนั้นก็ส่ง ซก จันพาล,วา สัมอาต และขัว ทาราริต เข้าประกวดตามลำดับ (2556-2558)

ในที่นี้ วา สัมอาต เองนั้น ก็เป็นนายกสมาคมนักเขียนกัมพูชาสมัยที่ตนได้รางวัลด้วย และเปรือง ปรานิต, เล็ก จุมนอร์ และโปล ปิสัย (ญ) ผู้คว้ารางวัลซีไรต์ระหว่างปี 2559-2561 ต่างนั่งตำแหน่งสำคัญของสมาคมนักเขียนเขมร ขณะที่โปล ปิสัย นั้น เดินตามรอยปาล วันนาริรัก ผลิตนิยายย้อนยุคและเขียนบทละครโทรทัศน์

การมาถึงกึ่งหลังหรืออีก 10 ปีซีไรต์กัมพูชา ดูจะไม่เดินหน้าอะไรมาก ทั้งบทกวี เรื่องสั้น นิยายกระแสวิพากษ์สังคม ที่แทบจะไม่ปรากฏนับแต่ที่สื่อสิ่งพิมพ์ยุคสุดท้ายได้ถูกทำลายไป พร้อมๆ กับนักเขียนแนวขบถนิยมที่ถูกการเมืองฝ่ายเผด็จการกำจัดไป

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้ ยังพอมีขัว ทาราริต ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกคุกคามให้ตกขอบจากวงจรโลกวรรณกรรม

 

ขัว ทาราริต (2517-ปัจจุบัน) เจ้าของรางวัลซีไรต์กัมพูชา 2558 และอาจจะเป็นที่ 2 ที่มีชะตากรรมแบบเดียวกับกงค์ บุนเฌือน กล่าวคือ ใช้ชีวิตในต่างแดนและแทบจะขาดแรงบันดาลใจ จากงานเขียนยุคหลัง ในฐานะนักเขียนผู้มีขนบวิพากษ์สังคมอันโดดเด่นกว่านักเขียนทั่วไปที่พบในกัมพูชา

ขัว ทาราริตนั้นมีผลงานไม่กี่ชิ้นระหว่างทำงานกับ “องค์กรนู หัจ” (2458-2518) นักเขียนกัมพูชาผู้โด่งดังยุคเขมรเสรี ทว่างานน้อยชิ้นนั่นเองที่ส่งให้เขาออกนอกประเทศ ผ่านทางทุนศึกษาด้านการประพันธ์ที่มหาวิทยาลัยบราวน์แห่งสหรัฐ (2553)

นัยหนึ่ง งานเขียนของเขานั่นเองที่ทำให้ขัว ทาราริต เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายรัฐ และทำให้ต้องระเห็จออกนอกประเทศ

ตั้งแต่ 8 ปีก่อนแล้วที่ฉันให้ความสนใจต่อทาราริต ผ่านทางบทสัมภาษณ์วีโอเอ (เสียงจากอเมริกา) ขัว ทาราริต บอกเล่าผ่านสีหน้าที่ครุ่นคิดถึงความมุ่งมั่นของตนที่กล่าวว่า เขารักวรรณกรรม และจะเขียนมันตราบเท่าที่ยังมีชีวิต

การยืนยันจิตวิญญาณความเป็นนักเขียนนี้เองที่ทำให้ฉันครุ่นคิดถึงความสำเร็จในชีวิตของนักเขียนที่เริ่มต้นจากโรงเรียน บางทีมันอาจจะมาถูกทางก็ได้สำหรับนักเขียนกัมปูเจียคนนี้ นัยที เขาเองก็กล่าวว่า

“ผมสนใจปัญหาสังคม ขณะเดียวกันเราก็เป็นนักเขียนอิสระ ไม่ได้เขียนเพื่อจะต่อต้านกลุ่มฝ่ายใด เมื่อผมเริ่มลงมือเขียน มันจะไม่มีความเกี่ยวกับตัวเอง”

จากชีวิตกรรมกรและมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่หันเหตนเองด้วยการเขียนหนังสืออย่างจริงจัง และเขาก็ได้รับโอกาสนั้น

สารภาพ ในช่วงปีนั้น ฉันรู้สึกอิจฉาขัว ทาราริต เป็นอย่างมาก

และคิดว่า มันจะดีสักแค่ไหน สำหรับนักเขียนที่ได้ทุนไปเล่าเรียนและเขียนหนังสือถึง 1 ปีเต็ม

ตอนไปอยู่เขมร ฉันก็เคยหวังว่าตัวเองจะได้อะไรแบบนี้ แต่ชีวิตมันไม่เคยง่าย และเรื่องสั้น “จดหมายจากอเมริก” ที่ทำให้ฉันหวนคิดงานในแบบเขมร ซึ่งมันต้องเกิดจากวิธีคิด และนั่นเอง บางทีขัว ทาราริต อาจติดกับดักที่ว่านี้ ต่อผลงาน นิยาย เรื่องสั้นและบทกวีจำนวน 5-6 ชิ้น ซึ่งล้วนเขียนขึ้นในช่วงที่เขาอยู่ในกัมพูชาระหว่างปี 2541-2554

ขัว ทาราริต แทบจะไม่ผลิตผลงานใหม่ๆ ออกมาอีกเลย เว้นแต่เอาผลงานเก่าไปผลิตซ้ำในภาคภาษาอังกฤษ

นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้เขาได้รางวัลซีไรต์

 

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ชีวิตที่ยากลำบากในประเทศของตนต่างหาก ที่เป็นต้นทุนต่อจิตวิญญาณการเป็นนักประพันธ์ของขัว ทาราริต มากกว่าชีวิตที่อยู่ในโลกแห่งคอมฟอร์ตโซน (comfort zone) ความสุขสบายพื้นฐานในแบบตะวันตก

แบบเดียวกับที่สุทธิ์ โปลิน (Soth Polin) นักเขียนแนวสัจนิยมที่คาบเกี่ยวระหว่างปี 1970 เขาได้รับการสดุดีด้วยผลงาน “อนาธิปไตย” ที่เขียนหลังลี้ภัยในฝรั่งเศสร่วมสิบปี

หลังจากใช้ชีวิตต่างแดนยาวนานทั้งฝรั่งเศส และสหรัฐ จนกลายเป็นพลเมืองประเทศนั้นไปในที่สุด

สุทธิ์ โปลิน ก็ไม่เคยผลิตงานใหม่ๆ ออกมาอีกเลยนับแต่นั้น

โดยแม้ว่าโอกาสการเปิดรับของเอเย่นต์สำนักพิมพ์ในปารีสและตลาดหนังสือกลุ่มประเทศอินโดจีนที่เปิดกว้างอย่างมากสำหรับนักเขียนกัมพูชา

ทว่า สุทธิ์ โปลิน ต่างหากที่อาจสูญเสียจิตวิญญาณแห่งการประพันธ์ไปแล้ว?

สำหรับชีวิตต่างแดนอันยาวนาน จากความโดดเดี่ยวชีวิตในต่างแดน และการจำพรากจากถิ่นฐาน จากผู้คนและสังคมกัมพูชาที่เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิง แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับการไม่อาจหลุดพ้นจากยุคสมัยอันเจ็บปวด

ลำพังถนนสายวรรณกรรมของประเทศนี้ ที่สุดแสนจะขรุขระและยากเข็ญ

ขอเป็นกำลังใจต่อนักเขียนเขมรยุคหลัง ผู้ยังฝังตัวอยู่ในโลกของตน