วิเคราะห์ : เหตุภาษีที่ดินฉบับใหม่ กลายเป็นอุปสรรคต่อคนชั้นกลาง

จะว่าไปแล้ว ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ที่จะบังคับใช้ในปี 2563 นี้ เป็นกฎหมายที่มีแนวคิดที่ก้าวหน้า ที่มุ่งหวังจะจัดเก็บภาษีทรัพย์สินกับกลุ่มคนที่มั่งคั่งในสังคมแบบที่ทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์มากก็ต้องเสียภาษีมาก

แต่เมื่อนำมาใช้ในประเทศไทย ยกร่างเข้าสภาในยุครัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ สมาชิกสภามาจากการแต่งตั้ง แนวคิดของกฎหมายฉบับนี้ถูกแก้ไขจนหายไปหมด ไม่ระคายผิวหรือเป็นภาระกับชนชั้นอีลิตในประเทศไทยแต่อย่างใด

ที่เดือดร้อนวุ่นวายกันมากตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วจนถึงสัปดาห์นี้ ก็คือชนชั้นกลางทั้งหลาย

 

เพราะมีจดหมายจากสำนักงานเขตหรืออำเภอเกี่ยวกับภาษีนี้แจ้งมา โดยระบุ ห้องชุดที่ครอบครองอยู่ ว่าเป็นประเภท “ที่อยู่อาศัย” หรือ “อื่นๆ” ซึ่งประเภทที่อยู่อาศัย จะเสียภาษีน้อย ส่วนประเภทอื่นๆ จะเสียภาษีมากกว่า ต่างกันหลักร้อยเป็นหลักพันบาท

วิธีการของทางราชการ ใช้การส่งจดหมายระบุมาก่อน ถ้าประชาชนคนใดเห็นว่าที่ระบุมาไม่ถูกต้องก็ให้นำหลักฐานเอกสารต่างๆ ไปแสดงและขอแก้ไขที่สำนักงานเขตกันเอาเอง เพื่อความสะดวกของคนปฏิบัติงาน และบนสมมุติฐานว่าประชาชนมีเวลาว่างมาก

เมื่อสอบถามการตีความที่ละเอียดชัดเจนขึ้น แต่ละเขตตีความไม่เหมือนกันอีกต่างหาก

 

ส่วนนโยบายของทางราชการ ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นยกร่างกฎหมายแล้ว ว่า ป้องกันไม่ให้มีการเก็งกำไรคอนโดมิเนียม ซึ่งฟังดูมีศีลธรรมดี ทั้งที่ความจริงแล้วคนที่ซื้อห้องชุดอยู่อาศัย หรือลงทุนซื้อห้องชุดเพื่อลงทุนส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง ซึ่งกู้เงินแบงก์ซื้อห้องชุดร้อยเปอร์เซ็นต์

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไม่เคยมีปรากฏว่า คนชั้นกลางใดๆ กู้เงินแบงก์จนเป็นเหตุให้แบงก์ล้มหรือไม่ได้รับความเสียหาย มีแต่ชนชั้นนำน้อยรายกู้จำนวนมากๆ จึงจะทำให้แบงก์มีปัญหาได้

คนชั้นกลางซื้อห้องชุดเก็งกำไรเพื่อขายใบจองหรือขายกรรมสิทธิ์เพื่อทำกำไรนั้นมีจริง แต่ก็ซื้อกันได้คนละไม่กี่ห้องก็หมดเงินสด หมดเครดิตจะกู้แบงก์แล้ว

จำนวนไม่น้อยของคนชั้นกลาง ซื้อห้องชุดเพื่อการลงทุนไว้ปล่อยเช่ากันคนละ 2-3 ห้องตามกำลัง ปล่อยเช่าได้เดือนละ 1-2 หมื่นบาทไว้เป็นรายได้หลังเกษียณออกจากงานประจำ

แต่ในท้ายที่สุดคนเหล่านี้ก็หยุดจองเก็งกำไรเพราะขายต่อได้ยาก เพราะอัตราผลตอบแทนการเช่าต่ำกว่า 4-5% ทำให้ไม่คุ้มกับการลงทุน

และยืนยันได้เลยว่า ส่วนใหญ่ของนักเก็งกำไรและนักลงทุนห้องชุด หยุดลงทุนกันตั้งแต่ก่อนประกาศมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทยในครึ่งหลังของปี 2561 เพราะไม่คุ้มค่าการลงทุน

ดังนั้น นโยบายรัฐ ผ่านทางกฎหมายภาษีที่ดินฯ แท้จริงแล้วก็คือ เป็นการขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคกับคนชั้นกลางที่เป็นลูกจ้างรับเงินเดือนหรือทำธุรกิจขนาดเล็กที่จะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มากกว่า

เรียกว่า นอกจากไม่มีนโยบายใดๆ เกี่ยวกับการเข้าสู่สังคมคนสูงวัยจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่อยู่นอกภาคราชการที่ไม่มีเงินบำเหน็จบำนาญแล้ว ยังขัดขวางอีกต่างหาก

แต่ไม่รู้จะเรียกว่าโชคดีได้หรือไม่ ขณะที่ผู้ครอบครองห้องชุดกำลังวุ่นวายกับการไปตรวจสอบและแก้ไขประเภทห้องชุดของตนว่า ไม่ใช่ “อื่นๆ” แต่เป็น “ที่อยู่อาศัย” นั้น ก็มีประกาศเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไปหลายเดือนซึ่งมีรายละเอียดวิธีการปฏิบัติอยู่หลายชั้นตอน

ซึ่งที่มาของโชคนั้นเนื่องมาจากทางการออกกฎหมายลูกไม่ทัน (ฮา)

 

ปัจจุบันเศรษฐกิจประเทศชะลอตัวลงเรื่อยๆ ทุกคนรู้กัน แต่มาตรการที่ออกมาจากรัฐมากที่สุดก็เป็นแค่เรื่องการใช้งบประมาณรัฐโปรโมชั่นชิงโชคแก่ผู้โชคดีเท่านั้น เป็นเพียงกลยุทธ์การตลาดธรรมดาที่ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นนโยบายเศรษฐกิจ

และที่คนต้องพูดคุยหารือกันจนเป็นกระแสสังคมกลับมีแต่เรื่องการจัดเก็บภาษีและการควบคุมเครดิตทางการเงิน ซึ่งล้วนเป็นเรื่องทำให้กำลังซื้อหดตัว ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่แล้วให้หนักขึ้นไปอีก

ดูเหมือนว่าประเทศเราจะไม่มีนโยบายการเงินการคลังที่จะออกมา “เบรก” การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศ

ที่ถนัดที่สุดน่าจะเป็นแค่การจัดซื้อจัดจ้างอาวุธก้อนใหญ่เท่านั้น ที่ไม่ยอมให้พลาด