คำ ผกา | ยุบไม่ยุบ

คำ ผกา

ในส่วนของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2541 กำหนดให้การจัดตั้งพรรคการเมือง กระทำได้โดยผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ตั้งแต่ 15 คนขึ้นไปสามารถรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองได้ และต้องมีสมาชิก 5,000 คนขึ้นไปภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับการจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง และกระจายตามภาคและจังหวัดตามที่นายทะเบียนกำหนด และต้องมีสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา

สำหรับการยุบพรรคการเมือง กำหนดไว้ว่า พรรคการเมืองย่อมเลิกหรือยุบด้วยสาเหตุ คือ (1) มีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึง 15 คน (2) มีการยุบพรรคการเมืองไปรวมกับพรรคการเมืองอื่น (3) มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมือง (4) องค์ประกอบของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองไม่ครบ หรือ (5) ไม่สามารถหาสมาชิกได้อย่างน้อย 5,000 คนภายใน 180 วัน เป็นต้น

https://ilaw.or.th/node/4264

เมื่อมีข่าวว่า กกต.มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่โดยการตีความว่า เงินกู้ คือ เงินบริจาค กระแสในสังคมก็อื้ออึงไปด้วยเรื่อง ตกลงทำไมเงินกู้จึงกลายเป็นเงินบริจาคไปได้

และนี่คือภาวะสองมาตรฐานอีกแล้วใช่ไหม?

นี่คือการกลั่นแกล้งทางการเมืองใช่ไหม?

จากนั้นก็วิเคราะห์กันใหญ่ว่าจะยุบหรือไม่ยุบ

สำหรับฉันมันเป็นเรื่องที่น่าตกใจพอสมควรที่อยู่ๆ เราก็สามารถยอมรับเรื่องการยุบพรรคการเมืองได้

เพราะเราสนใจแค่ว่าเหตุแห่งการถูกยุบนั้นชอบหรือไม่ เป็นธรรมหรือไม่?

เช่น ถ้าพรรคพลังประชารัฐจะถูกยุบเพราะเรื่องเลี้ยงโต๊ะจีน เราก็จะเฮ ดีใจมาก และรู้สึกว่า การมีกฎหมายยุบพรรคการเมืองนี่มันดีจริงๆ เลย มันกำจัดพรรคการเมืองที่ “ฉ้อฉล” ได้จริงๆ

ที่ฉันตกใจ เพราะสิ่งที่เราไม่ควรยอมรับได้โดยสิ้นเชิงคือ “การยุบพรรคการเมือง”

พรรคการเมืองพรรคแรกในโลกที่ถูกยุบคือพรรคนาซี ในปี 1923 ซึ่งข้อกล่าวหาต่อพรรคนาซีคือ มีความมุ่งหมายเพื่อขัดขวางต่อการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย เป็นภัยต่อการดำรงอยู่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ต่อมาในปี 1952 และ 1956 ได้ยุบพรรคสังคมนิยม และพรรคคอมมิวนิสต์ ตามลำดับ เพราะพรรคสังคมนิยมประกาศโจ่งแจ้งต้องการสืบทอดเจตนารมณ์ของพรรคนาซี ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์มีพฤติกรรมเป็นปรปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ล่าสุด ปี 2001 มีการยื่นให้ยุบพรรคชาติประชาธิปไตย ด้วยข้อหาแห่งการมีอุดมการณ์ “ขวาจัด” เป็นนีโอนาซี แต่คดีนี้ถูกตีตกไปในปี 2003

https://www.silpa-mag.com/history/article_42746

ตามหลักสากลโลกอันเป็นที่เข้าใจได้โดยทั่วไปนั้น การยุบพรรคการเมืองต้องไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย หรือเกิดขึ้นโดยง่าย

และตามประวัติศาสตร์แห่งการยุบพรรคการเมืองคือ พรรคนั้นต้องมีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างถึงรากถึงโคน

(เราจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีก็ต่อเมื่อเราจินตนาการได้ว่า ชาติ ที่เชื่อว่าจิตใจ เนื้อหนังมังสา ทุกสิ่งอย่างของชาติ มันคือประชาธิปไตย ใดๆ ที่เป็นภัยต่อประชาธิปไตย อันหมายถึง อำนาจของประชาชน ความปลอดภัย และชีวิต ศักดิ์ศรีของประชาชน เท่ากับภัยแห่งความมั่นคง เท่ากับเป็นภัยคุกคาม) เท่านั้น ถึงรากถึงโคนขนาดไหน

ขนาดพรรคการเมืองขวาจัดออกแนวนีโอนาซีแล้วนิดๆ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเป็นเหตุให้ถูกยุบเลย เพราะยังเป็นภัยไม่พอ

พูดง่ายๆ ถ้าไม่ใช่พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อริบอำนาจประชาชนแล้วลงมือล้างสมองให้ประชาชนเกลียดกันและกันจนมีความชอบธรรมที่จะเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือเป็นพรรคการเมืองที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากประชาธิปไตยไปเป็นอย่างอื่น – ก็ยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ที่พรรคการเมืองนั้นจะถูกยุบ

ยังไม่พูดถึงกรณีของไทย การยุบพรรคการเมืองที่ไม่ตรงตามคอนเซ็ปต์ยุบพรรคการเมืองแบบสากล คือการยุบพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชาในปี 2017 จากข้อกล่าวหาเรื่องการวางแผนโค่นล้มรัฐบาล

(อ่านชะตากรรมของพรรคฝ่ายค้านกัมพูชาได้ที่ https://www.bbc.com/thai/international-42012249)

กลับมาถึงประเทศไทยบ้าง ย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีบทบัญญัติว่าด้วยการยุบพรรคการเมือง ฉันซึ่งไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายและรัฐธรรมนูญเลย เมื่ออ่าน บทบัญญัติว่าด้วยการยุบพรรคใน รธน.ปี 2540 รู้สึกว่า sense ของการยุบพรรค มันเป็น sense ของการปิดกิจการพรรค หรือเป็นการยุบ และปิดกิจการเพื่อไปควบรวมกับพรรคหรือบริษัทอื่นที่ใหญ่กว่า มีศักยภาพมากกว่า เช่น มีสมาชิกน้อย องค์ประชุมใหญ่ไม่ครบ หาสมาชิกได้ไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด

ถ้าตามเงื่อนไขเหล่านี้ อารมณ์มันเหมือน ไม่ qualify ที่จะเป็นพรรค สมควรยุบไป หรือไปอยู่กับพรรคอื่น ทั้งนี้ ระบุว่า โดยเจตนารมณ์แล้ว ต้องการ “สนับสนุนประชาธิปไตย” ให้เข้มแข็ง ไม่มีพรรคเล็กพรรคน้อย อยากให้การเมืองไทยเป็นระบบสองพรรคการเมือง

และทั้งหมดนี้ก็ฟังดูสมเหตุสมผลมาก ยกเว้นหนึ่งข้อที่แปลกออกไป คือข้อที่ว่า “มีคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมือง”

มาดูคร่าวๆ ว่าด้วยเหตุอันใดบ้างที่จะทำให้พรรคการเมืองถูกยุบ

“ประการที่หนึ่ง

กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ประการที่สอง

กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประการที่สาม

กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ประการที่สี่

กระทำการ ดังต่อไปนี้

(1) พรรคการเมืองรับบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิดเข้าเป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งใดๆ ในพรรคการเมือง หรือยอมให้กระทำการอย่างใดเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง

(2) พรรคการเมืองรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใดเพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน

(3) พรรคการเมืองรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือดำเนินกิจการในทางการเมืองจากบุคคลบางจำพวกที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการสั่งยุบพรรคการเมืองที่เข้าข่ายการกระทำความผิดดังกล่าว

แต่ในขณะเดียวกัน แม้ว่าจะมีเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถใช้ดุลพินิจที่จะสั่งยุบหรือไม่ยุบพรรคการเมืองก็ได้หากเห็นว่ามีเหตุอันควร

เช่น กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามจริง แต่เป็นการกระทำครั้งแรก และไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ศาลอาจไม่สั่งยุบพรรคการเมืองก็ได้”

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การยุบพรรคการเมือง

การยุบพรรคการเมืองในรัฐธรรมนูญไทยอย่างน้อยใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญปี 2541 นั้น สิ่งที่พิเศษจากการกฎหมายยุบพรรคการเมืองของประเทศอื่น น่าจะเป็นประการที่สี่ ข้อที่สามคือรับเงิน ทรัพย์สิน เพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง ซึ่งน่างุนงงมาก

เพราะความผิดข้อนี้เมื่อเทียบกับข้ออื่นๆ ที่มีน้ำหนักในเรื่องของ “ขัดต่อความมั่นคงของรัฐ” อย่างชัดเจน

แต่เรื่องการรับเงิน รับผลประโยชน์ ดูเป็นเรื่องการคอร์รัปชั่น และผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งสามารถเอาผิด ดำเนินคดีเป็นรายบุคคล ไม่น่าจะถึงขั้นยุบพรรค เพราะการยุบพรรคมันย่อมกระเทือนถึงสมาชิกพรรค ผู้สนับสนุนพรรคในวงกว้าง และไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิดนั้น แต่ทั้งนี้ก็มีการระบุว่า ถ้าผิดครั้งแรก ศาลอาจใช้ดุลพินิจที่จะยุบหรือไม่ยุบก็ได้

คดียุบพรรคการเมืองแรกจากกฎหมายนี้คือ ยุบพรรคไทยรักไทย ด้วยความผิดเรื่องจ้างพรรคเล็กลงสมัคร ทำให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองอันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

หลังจากนั้นก็ดูเหมือนว่าพรรคการเมืองถูกยุบกันได้ง่ายดายมาก

เช่น พรรคชาติไทยถูกยุบเพียงเพราะในการเลือกตั้งปี 2550 กกต.ได้ให้ใบแดงแก่ผู้สมัครโดยเชื่อว่าจ่ายเงินให้ผู้สนับสนุนสองหมื่นบาท ย้ำว่า สองหมื่นบาท เป็นเหตุให้พรรคถูกยุบ กรรมบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ ที่เป็นรัฐมนตรีอยู่ก็ต้องออกจากตำแหน่ง

สุดท้าย เมื่อมีการดำเนินคดี กลายเป็นว่า ไม่มีการสั่งฟ้อง ผู้สมัครไม่มีความผิด เงินนั้นเป็นเงินใช้หนี้

พรรคการเมืองไทยที่ถูกยุบไปแล้ว นอกจากไทยรักไทย ชาติไทย ยังมีพลังประชาชนไทย มัชฌิมาธิปไตย ล่าสุดคือไทยรักษาชาติ

แม้จะมีพรรคการเมืองถูกยุบในห้วงเวลาไม่กี่ปี อย่างมีนัยสำคัญ อย่างมากที่สุด ที่ถูกพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์คือ ภาวะสองมาตรฐาน

แต่น้อยมากที่จะตั้งคำถามว่า พรรคการเมืองสามารถถูกยุบได้โดยง่าย

และในหลายครั้งด้วยความผิดที่ไม่น่าจะได้สัดส่วนกับการลงโทษ เช่น กรณีของพรรคชาติไทยนั้นค่อนข้างชัด

น่าสนใจไปอีกว่า ยิ่งเป็นกรณีพรรคชาติไทย พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนไทย หรือมัชฌิมาธิปไตยนั้น ยกเว้นผู้สนับสนุนพรรค สังคมไทยโดยรวมก็มีแนวโน้ม “ยี้” นักการเมือง และพรรคการเมืองเป็นทุนอยู่แล้ว

ยิ่งพรรคการเมืองที่มีภาพพจน์เป็นเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น มีนักการเมืองสีเทาๆ เป็นแกนนำ เป็นตัวเอ้ในพรรค สังคมก็รู้สึกโอเคไปโดยปริยายว่า โดนยุบก็ไม่เห็นแปลกเลย ดีเสียอีก เป็นการปฏิรูปการเมือง ต่อไปนี้จะได้มีแต่พรรคการเมืองของคนดี คนใจซื่อมือสะอาด คนมีอุดมการณ์ พวกพรรคการเมืองที่เล่นการเมืองแบบ “ธนกิจการเมือง” ถูกกวาดล้างไปหมดก็ดี

ดังนั้น จึงไม่ใคร่มีใครรู้สึกแปลกๆ กับการที่พรรคการเมืองของไทยถูกยุบง่ายยุบดาย

มิหนำซ้ำยังทำให้มันกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียอีก พูดให้เก๋ๆ คือ การยุบพรรคการเมืองที่ควรจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่สุดถูก normalized ไปเฉยเลย

และจนกระทั่งการถึงพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ

กรณีของพรรคอนาคตใหม่ต่างจากการยุบพรรคอื่นๆ ในอดีตอย่างไร?

พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคที่มีทุนทางศีลธรรม จริยธรรม เรียกว่ามีเครดิตทางอุดมการณ์แน่วแน่ แจ่มชัดว่าเป็นพรรคคนหนุ่ม ไฟแรง อยากสร้างการเมืองใหม่ เน้นเนื้อหาสาระ อุดมการณ์ ผลประโยชน์ประชาชน ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ประกาศ ไม่เดินตามรอยนักการเมืองเก่าที่เอะอะใช้เงิน เอะอะใช้ระบบอุปถัมป์อันเป็นจุดขายที่

1. ฟาดไปที่กล่องดวงในคนชั้นกลางทั้งหมดในเรื่องของการเมืองสีขาว

2. ฟาดไปที่กล่องดวงใจของคนเสื้อแดงในมิติของการต่อต้านเผด็จการ ฟื้นฟูประชาธิปไตย

ไม่เพียงเท่านั้น นี่คือโมงยามของภาวะ “ขาลง” ของรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจได้เพราะขายพ่วงมากับการยึดอำนาจ ที่ขาลง ไม่ใช่เพราะคนโหยหาประชาธิปไตยเหลือเกินเพียงอย่างเดียว ขาลง ก็เพราะอดีตสลิ่มทั้งหลายได้ประจักษ์แก่ตนเองแล้วว่า รัฐประหารมา 10 บ้านเมืองมันไม่ได้เป็นไปตามที่เขาโฆษณาเอาไว้ ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่สลิ่มอ่อนไหวกับเรื่องการคอร์รัปชั่น และคุณธรรม จริยธรรมเป็นที่สุด เคสนาฬิกา เคสธรรมนัส เคสปารีณา เคสหูฉลาม เหล่านี้มันสะเทือนไตสลิ่มมาก บอกเลย

การจะยุบพรรคอนาคตใหม่จึงเกิดปรากฏการณ์มวลชนออกมาแสดงพลังอยู่เคียงข้างพรรคอนาคตใหม่

ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยจากทุกมุมเมืองก็ถือโอกาสนี้ออกมาชี้ให้เห็นความพิกลพิการของระบบไปด้วยพร้อมๆ กัน

การออกมาของมวลชนงวดนี้มีความชอบธรรมและได้รับการต้อนรับจากสังคม และกลุ่มปัญญาชนกระแสหลักดีกว่าม็อบเสื้อแดงในอดีตอย่างเทียบกันไม่ได้ และนี่คือโจทย์ที่ฝ่ายรัฐคงต้องเดินหมากอย่างรัดกุมยิ่ง

ส่วนฉันยังยึดมั่นในหลักการสากลว่า พรรคการเมืองจะถูกยุบก็ด้วยเหตุผลเดียวคือเป็นภัยและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย