ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 ธันวาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
ผู้เขียน | ชนัดดา ชินะโยธิน [email protected] |
เผยแพร่ |
คุยกับทูต ฮูดะ อาลี ชารีฟ มัลดีฟส์ สวรรค์กลางมหาสมุทร ของคนรักทะเล (จบ)
อัครราชทูตสาธารณรัฐมัลดีฟส์ประจำประเทศไทย นางฮูดะ อาลี ชารีฟ กล่าวถึงการเดินทางไป-มาระหว่างไทยกับมัลดีฟส์ ว่า
“การจราจรทางอากาศเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญของการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งใช้เวลาเดินทางเพียง 4 ชั่วโมงกว่าจากกรุงเทพฯ ขณะนี้มีสามสายการบิน คือ บางกอกแอร์เวย์ส แอร์เอเชีย และมัลดิเวียน (Maldivian Airlines) ให้บริการเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-มาเล ดิฉันดีใจมากที่ทราบว่าสายการบินบางกอกแอร์เวย์สมีแผนเพิ่มเที่ยวบินสู่มาเลเป็นวันละสองเที่ยวบิน เริ่มต้นปีหน้า ซึ่งเราหวังว่าสายการบินอื่นๆ เช่น ไทยสมายล์แอร์เวย์ (Thai Smile Airways) จะเริ่มเปิดเที่ยวบินไปยังมัลดีฟส์”
“ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับสามของชาวมัลดีฟส์ มีนักท่องเที่ยวชาวมัลดีฟส์ประมาณ 25,000 คนเดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งผู้ที่เดินทางมาเพื่อใช้บริการทางการแพทย์ที่ยอดเยี่ยมในประเทศไทย”
“เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้รวมมัลดีฟส์ไว้ในรายชื่อประเทศที่พลเมืองได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และมัลดีฟส์ก็ให้ชาวไทยเดินทางไปมัลดีฟส์ได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเช่นกัน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวระหว่างกันด้วย”
“ดิฉันขอแนะนำให้คนไทยไปเที่ยวมัลดีฟส์ซึ่งพร้อมมอบโอกาสแห่งความสุขสนุกสนานมากมายให้คุณได้สัมผัสชีวิตผู้คนตลอดจนวัฒนธรรม ความงดงามทางธรรมชาติของเกาะ ความหลากหลายของกิจกรรมทางน้ำ การชื่นชมความอัศจรรย์ใต้ท้องทะเล เช่น ดำน้ำดูปะการัง ซึ่งอาจคล้ายคลึงกับการท่องเที่ยวในประเทศไทย แต่เอกลักษณ์ของมัลดีฟส์เป็นสิ่งควรค่าแห่งการไปเยือน”
“คนไทยเกือบทั้งหมดที่ดิฉันได้พบ ต่างสนใจที่จะไปเยือนมัลดีฟส์ บางคนบอกว่า เหตุผลที่ไม่เคยไปเที่ยวประเทศนี้เป็นเพราะได้ยินว่ารีสอร์ตที่พักในมัลดีฟส์นั้นแพงเกินไป ดิฉันยอมรับว่ารีสอร์ตระดับบนสุดในมัลดีฟส์บางแห่งมีราคาแพง อย่างไรก็ตาม รีสอร์ตระดับบนสุดไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกเดียวในปัจจุบันสำหรับชาวต่างชาติ เพราะขณะนี้มีรีสอร์ตจำนวนมากทั้งในราคาระดับกลางและระดับต่ำ ส่วนตั๋วเครื่องบินบางสายการบินราคาเพียงสามถึงสี่ร้อยดอลลาร์ ดังนั้น คนไทยจึงไม่ควรพลาดโอกาสในการไปชื่นชมหาดทรายสีขาว น้ำทะเลสีครามที่มัลดีฟส์”
“นอกเหนือจากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสันทนาการแล้ว ชาวมัลดีฟส์จำนวนหนึ่งมาเยือนประเทศไทยเพื่อจุดประสงค์ทางธุรกิจ แต่ชุมชนมัลดีฟส์ในประเทศไทยมีขนาดเล็กมากประมาณ 100 คน อันรวมถึงนักศึกษา นักธุรกิจ คนมัลดีฟส์ที่แต่งงานกับคนไทย เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ”
“เจ้าหน้าที่สถานทูตและครอบครัว เราติดต่อกับชุมชนชาวมัลดีฟส์อย่างใกล้ชิด แผนกกงสุลจะคอยให้ความช่วยเหลือ และเมื่อสถานทูตจัดงานในวาระต่างๆ บางครั้งสมาชิกของชุมชนจะได้รับเชิญมาพบปะกันและกัน”
“ในอดีต ดิฉันเคยเป็นนักท่องเที่ยวในไทย จึงสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่งที่สุด เห็นได้จากเส้นขอบฟ้ากรุงเทพฯ สิ่งเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะไม่เปลี่ยนไป คือความเป็นมิตรและความมีน้ำใจของคนไทย”
“ตอนที่มาประเทศไทย ได้ไปเที่ยวตามสถานที่ยอดนิยมต่างๆ และทำความรู้จักกับคนไทยในระดับผิวเผิน แต่ปัจจุบัน ดิฉันมาอยู่ที่นี่ ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนไทยจากทุกสาขาอาชีพ ดิฉันได้รู้แล้วว่าการต้อนรับแบบไทยและความเป็นมิตรที่ดิฉันได้รับในฐานะนักท่องเที่ยวนั้นเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ หากแต่ความอบอุ่น ความเป็นมิตร และความเมตตานั้น ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมและสังคมไทย เป็นลักษณะเฉพาะของสังคมและวัฒนธรรมไทย ที่ทำให้การทำงานในประเทศไทยแตกต่างจากในประเทศอื่นๆ ความหวังของดิฉันคือ โลกาภิวัตน์จะไม่ส่งผลเสียต่อความงามโดยธรรมชาติของสังคมและวัฒนธรรมไทย”
“ดิฉันไม่ได้เดินทางท่องเที่ยวมากนักในประเทศไทย ยกเว้นภูเก็ต เกาะพีพี และเกาะสมุย การจัดตั้งสถานทูตแห่งใหม่ในประเทศไทยโดยมีพนักงานจำนวนจำกัด ทำให้ดิฉันค่อนข้างยุ่ง ตอนนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เรามีสถานทูตใหม่ที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมพนักงานที่เพียงพอ”
“ดิฉันหวังว่า จะมีโอกาสได้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกในอนาคตอันใกล้นี้”
“ประเทศไทยและมัลดีฟส์มีความคล้ายคลึงกันหลายประการ แม้ว่าจะมีขนาดและประชากรแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับคนไทย ชาวมัลดีฟส์เป็นมิตรและมีอัธยาศัยดี มีสายสัมพันธ์ครอบครัวที่เข้มแข็ง เคารพและดูแลผู้สูงอายุ ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ดิฉันเห็นความคล้ายคลึงกันในอาหารด้วย คนไทยและคนมัลดีฟส์มักใช้กะทิและพริกขี้หนูจำนวนมาก”
“ดิฉันประหลาดใจแกมดีใจที่ในประเทศไทยมีมะม่วงอ่อนเสิร์ฟพร้อมกับน้ำพริกกะปิด้วย เพราะดิฉันคิดว่าน้ำพริกกะปิกับมะม่วงอ่อนเป็นสิ่งที่ไม่เหมือนใครของมัลดีฟส์ แต่น้ำพริกกะปิที่เสิร์ฟกับมะม่วงอ่อนนั้นแตกต่างจากน้ำพริกไทยเล็กน้อย”
“ความสัมพันธ์ของมัลดีฟส์กับไทยอยู่ในระดับที่มั่นคงและมีแนวโน้มจากความแข็งแกร่งไปสู่ความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เราได้รับคำถามจากคนไทยที่ต้องการลงทุนหรือแลกเปลี่ยนกับมัลดีฟส์ โดยบริษัทไทยบางแห่งกำลังวางแผนที่จะลงทุนในพื้นที่ที่สำคัญต่อมัลดีฟส์ เช่น โครงการขยะเพื่อพลังงาน ตั้งแต่เราเปิดสถานเอกอัครราชทูต เราได้ติดต่อกับโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยในประเทศไทยหลายแห่ง และเกือบทั้งหมดมีความสนใจที่จะร่วมงานกับมัลดีฟส์”
“โรงพยาบาลไทยบางแห่งกำลังวางแผนที่จะส่งทีมไปยังมัลดีฟส์เพื่อประเมินพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อการร่วมมือกัน ดิฉันขอกล่าวว่า ในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าท้องฟ้ายังไม่ได้จำกัดความสัมพันธ์ของมัลดีฟส์กับไทย”
“ปลายเดือนที่แล้ว เราได้เข้าร่วมในงานมหกรรมผ้าไหม 2019-ไหมไทยสู่เส้นทางโลก ครั้งที่ 9 ที่กรุงเทพฯ ต่อไปภายในเดือนมกราคม 2020 เราจะมีนิทรรศการภาพถ่ายแสดงมัลดีฟส์ในประเทศไทย ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน, ทีมค้นหาข้อมูลจริงของโรงพยาบาลไทยขนาดใหญ่จะเดินทางสู่มัลดีฟส์ และการประชุมคณะกรรมาธิการการค้าร่วมไทย-มัลดีฟส์”
อัครราชทูตฮูดะ อาลี ชารีฟ กล่าวก่อนจบการสนทนาว่า
“ดิฉันขอขอบคุณคนไทยสำหรับความมีน้ำใจไมตรี และมิตรภาพ ที่แสดงต่อดิฉันและชาวมัลดีฟส์ การเปิดสถานเอกอัครราชทูตมัลดีฟส์เป็นการเริ่มต้นใหม่ของความสัมพันธ์ไทย-มัลดีฟส์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ ดิฉันขอเชิญชวนคนไทยไปเยือนมัลดีฟส์โดยไม่ต้องใช้วีซ่า แถมใช้ระยะเวลาอันสั้นในการเดินทาง และวันนี้ ไม่ต้องฝัน ใครๆ ก็ไปมัลดีฟส์ได้แล้ว”