ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่

การตัดสินใจทิ้งเก้าอี้ ส.ส.และลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

ถ้าเป็นการลงทุน ก็ถือเป็นการลงทุนใหญ่

อันหมายความว่า ควรมีผลตอบแทนที่ดี หรือต้องสมน้ำสมเนื้อ

จึงจะคุ้มค่า

ซึ่งที่สุด ก็เฉลยออกมาแล้ว

นั่นคือ ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

ถือเป็นนักการเมืองไม่กี่คนที่ฝ่าเข้าไปใกล้ศูนย์กลางอำนาจที่แวดล้อมด้วยทหาร

ไม่เพียงเท่านั้น

ยังอื้ออึงกับผลตอบแทนอีกชิ้น

นั่นคือ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ซึ่งว่าตามเนื้อผ้า ด้วยความเป็นนักกฎหมาย เป็นผู้พิพากษามาก่อน เป็น รมว.ยุติธรรม เป็น ส.ส.มาหลายสมัย

นายพีระพันธุ์มีความเหมาะสมกับตำแหน่งนี้ทุกประการ

การวางตัวนายพีระพันธุ์ให้มีบทบาททั้งทำเนียบและสภาเช่นนี้

คนคิด ต้องถือว่าไม่ธรรมดา

และมองการเมืองทะลุทีเดียว

เพราะหากมองการเมืองในปีหน้า รัฐบาลเผชิญปัญหาหนักแน่

พรรคร่วมแต่ละพรรค ต่างก็มีแผนหลัก แผนสำรอง

ที่พร้อมงัดออกมาใช้

ที่ถูกจับตามองมากคือพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ช่ำชองเกมการเมือง

ที่คงไม่ยอมจมไปกับเรือเหล็กแบบเชื่องๆ

อย่างที่เราเห็นตอนนี้ พรรคประชาธิปัตย์เล่นบททั้งชม ทั้งด่า “ลุงตู่”

ในระดับบน ก็จูบปากในฐานะพรรคร่วม

ส่วนในระดับพรรค ก็มีพลพรรคคอยทิ่มคอยแทงเรื่องเผด็จการ เรื่องรัฐธรรมนูญอยู่เนืองๆ

และหากรัฐบาลเกิดเพลี่ยงพล้ำไปไม่ได้

มีความเป็นไปได้สูงที่พรรคประชาธิปัตย์จะชูธงประชาธิปไตย กลับไปสู่การต่อสู้กับเผด็จการอีกครั้ง

คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็อาจเป็นอีกเวทีหนึ่ง

ที่พรรคประชาธิปัตย์จะใช้โชว์ความเป็นพระเอก

นี่เอง จึงอาจทำให้ชื่อนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ถูกนำเสนอให้นั่งประธานกรรมาธิการ

ในฐานะศิษย์เก่าประชาธิปัตย์

ที่ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่

ไม่ยอมให้ใครหรือพรรคไหนมาเล่นเกม หรือชี้นำง่ายๆ

เรายังไม่รู้ว่านายพีระพันธุ์มีธงจากรัฐบาลถือมาด้วยหรือไม่

คือ ศึกษาเพื่อศึกษา

มิใช่ศึกษาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จึงต้องเป็นภารกิจของคนที่มีภาพที่ดี ขณะเดียวกันก็ทันเกม ทันเหลี่ยม มาคุมเกมในกรรมาธิการเอาไว้ให้อยู่มือ

มิให้พรรคการเมืองไหนมาช่วงชิงความเป็นพระเอก

แม้ว่าพรรคนั้นจะเป็นพรรคเก่า และเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกันก็ตาม