ต่างประเทศ : กฎหมายสัญชาติพลเมืองอินเดีย ชนวนแห่งการประท้วง

การผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยสัญชาติพลเมืองฉบับแก้ไขของอินเดีย ได้ทำให้เกิดการประท้วงขึ้นในหลายรัฐทั่วประเทศ ทั้งในรัฐอุตตรประเทศ รัฐพิหาร รัฐอัสสัม รัฐตรีปุระ และรัฐเบงกอลตะวันตก

ซึ่งเหตุประท้วงที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วหลายราย บาดเจ็บอีกหลายสิบคน และยังคงมีการประท้วงยาวนานเรื่อยมานับสัปดาห์แล้ว

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประท้วงต้องการให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยสัญชาติพลเมืองฉบับแก้ไขใหม่ ที่เปิดช่องให้ผู้ลี้ภัยที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างบังกลาเทศ ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน สามารถพิสูจน์ความเป็นมาของสัญชาติอินเดียได้ใหม่ เพื่อให้ได้รับสัญชาติอินเดียได้

โดยรัฐบาลจากพรรคภราติยชนตะ หรือบีเจพี ที่เป็นพรรคชาตินิยมฮินดู ออกมาโต้ข้อกล่าวหา ด้วยการยืนยันว่า เป้าหมายของกฎหมายนี้ ก็เพื่อจัดหาที่อยู่ให้แก่ผู้ที่ต้องหนีภัยจากการถูกกลั่นแกล้งทางศาสนา

นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ให้เหตุผลว่า การแก้กฎหมายดังกล่าว เพื่อให้โอกาสแก่ชนกลุ่มน้อยชาวฮินดูและชาวคริสต์ในประเทศเหล่านั้น ให้สามารถกลับมามีสัญชาติอินเดียใหม่ได้

และว่า กฎหมายใหม่นี้เป็นกฎหมายที่แสดงให้เห็นว่า อินเดียเป็นสถานที่ปลอดภัย และไม่กระทบกับชาวอินเดียแน่นอน

 

อย่างไรก็ตาม การที่ไม่มีบทบัญญัติในทำนองเดียวกันกับผู้นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ชนกลุ่มน้อยมุสลิมในอินเดียกล่าวหาว่า กฎหมายนี้เป็นความพยายามที่จะครอบงำ และลดความสำคัญของศาสนาอิสลามในอินเดียลง

โดยรัฐที่มีชุมชนมุสลิมหลายแห่ง โดยเฉพาะทางตะวันออกของประเทศ เชื่อว่ารัฐบาลพยายามใช้กฎหมายนี้เพื่อเป็นแนวทางในการนำชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอื่นๆ เข้ามาครอบงำและแย่งงานของคนมุสลิมในพื้นที่แต่เดิม

ด้านสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้แสดงความกังวลไว้ว่า กฎหมายของอินเดียฉบับนี้มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติอยู่ในตัว

แต่รัฐบาลอินเดียอ้างว่า ไม่ได้มีเจตนาลำเอียงเช่นนั้น แต่ที่ไม่ได้รวมเอามุสลิมไว้ด้วย เพราะถือว่ามุสลิมไม่ได้เป็น “ชนกลุ่มน้อย” เท่านั้นเอง

ขณะที่นางโซเนีย คานธี ผู้นำพรรคคองเกรส พรรคฝ่ายค้านของอินเดีย กล่าวหาว่ารัฐบาลกำลังสร้างบรรยากาศความตึงเครียดด้านศาสนาขึ้น เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

 

ทั้งนี้ กฎหมายว่าด้วยสัญชาติพลเมืองฉบับเดิมของอินเดียใช้มานานถึง 64 ปีแล้ว ได้ห้ามผู้ลี้ภัยเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย ได้รับสถานะพลเมืองชาวอินเดีย

ซึ่งคำจำกัดความของคำว่าผู้ลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมายคือ ชาวต่างชาติที่เข้าอินเดียโดยไม่มีหนังสือเดินทางที่ถูกต้อง หรือไม่มีเอกสารการเดินทางที่ถูกต้อง หรืออยู่เกินเวลาที่กำหนด และคนที่ลักลอบเข้าไปโดยผิดกฎหมายก็จะต้องถูกเนรเทศหรือต้องถูกจำคุก

ส่วนกฎหมายใหม่ฉบับแก้ไข ระบุไว้ว่า บุคคลใดๆ สามารถที่จะอยู่ในอินเดียหรือทำงานให้รัฐบาลแห่งรัฐได้เป็นเวลาอย่างน้อย 11 ปี ก่อนที่จะยื่นเรื่องขอเป็นพลเมืองชาวอินเดีย

และตอนนี้ จะยกเว้นให้กับบรรดาชนกลุ่มน้อย 6 กลุ่ม คือ ฮินดู ซิกข์ พุทธ เชน ปาร์ซี และคริสต์ ถ้าหากคนเหล่านี้สามารถพิสูจน์ได้ว่า มาจากปากีสถาน อัฟกานิสถาน หรือบังกลาเทศ

โดยที่เพียงแค่อาศัยหรือทำงานอยู่ในอินเดียเพียง 6 ปี ก็สามารถยื่นเรื่องขอเป็นพลเมืองอินเดียได้ เพียงพิสูจน์สัญชาติให้ได้

กฎหมายสัญชาติพลเมืองฉบับแก้ไขถูกเสนอต่อสภาครั้งแรกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 และผ่านความเห็นชอบจากสภาล่าง ที่พรรคบีเจพีครองเสียงข้างมากอยู่ แต่ไม่ผ่านสภาสูง หลังจากมีการประท้วงต่อต้านผู้ลี้ภัยทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย โดยมีการประท้วงกันอย่างใหญ่โตที่รัฐอัสสัม ซึ่งเป็นรัฐที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติอย่างมาก และประชากร 1 ใน 3 เป็นชาวมุสลิม

เมื่อสภาสูงผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในเวลาต่อมา ก็ยิ่งทำให้ชาวมุสลิมในอินเดียในหลายพื้นที่ต่างออกมาแสดงความไม่พอใจ รวมไปถึงในกรุงนิวเดลี และกลายเป็นการประท้วงที่ยืดเยื้อ

พวกที่ต่อต้าน มองว่ากฎหมายใหม่นี้เป็นการทำลายสภาวะการเป็นรัฐที่เป็นกลางทางศาสนาของอินเดียโดยสิ้นเชิง และเป็นกฎหมายของลัทธิชาตินิยมฮินดู ของโมดี และพรรคสันนิบาตสหภาพมุสลิมอินเดีย ได้ยื่นเรื่องต่อศาลสูงของประเทศ ให้ประกาศว่าร่างกฎหมายนี้ขัดต่อกฎหมาย ละเมิดมาตราว่าด้วยความเท่าเทียมกัน สิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิในชีวิต

ขณะที่การดำเนินการตามกฎหมายดำเนินต่อไป การต่อสู้บนท้องถนนก็ยังคงดำเนินต่อไปเช่นกัน