จัตวา กลิ่นสุนทร : ข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ยุคเปรม

ถึงวันนี้ ท่านอดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ปูชนียบุคคล ผู้มีคุณูปการของแผ่นดินได้ก้าวสู่ภพภูมิที่ดีด้วยวัยเฉียดใกล้ 100 ปี เหลือฝากไว้เพียงชื่อเสียง คุณงามความดี และผลงานจารึกไว้ในแผ่นดิน

(ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็น “นายกรัฐมนตรี” ที่เป็น “ทหาร” ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก แต่ไม่ชอบการ “ปฏิวัติรัฐประหาร”

ไม่ต้องการเข้าสู่การเมือง แม้แต่คิดจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่มีพรรคการเมืองสำคัญๆ แทบจะเอาเทียบมาเชิญเพราะต้องการให้ท่านไปเป็นหัวหน้าพรรค–

“ผมไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมือง” ท่านกล่าวประโยคเพียงสั้นๆ อย่างราบเรียบเพื่อยุติข่าวลือซึ่งกระจายทั่วไปในพื้นที่ข่าวของหนังสือพิมพ์

 

เป็นหัวหน้ารัฐบาล นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ยอมให้พรรคการเมือง “ฝ่ายค้าน” เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนกระทั่งนักการเมืองสามารถล่วงรู้ถึงจุดอ่อนในข้อนี้ เพราะฉะนั้น จึงได้พยายามนำจุดอ่อนดังกล่าวนี้มาโจมตี จนกระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลเกรงว่า (ป๋า) พล.อ.เปรมจะยุบสภาเพราะทนไม่ได้กับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

คนใกล้ชิดอย่างเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แสดงว่าคนพูดไม่รู้จักนายกรัฐมนตรีดีพอ– “พล.อ.เปรมไม่ใช่คนที่กลัวการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างที่หลายคนคิด”–นายทหารซึ่งเคยทำงานอย่างใกล้ชิดท่านอีกคนหนึ่งกล่าวว่า “แต่ท่านไม่ชอบให้ใครมาจิกหัวด่าเล่น ในเมื่อท่านไม่ได้ทำอะไรผิด ก็เหมือนกับคนธรรมดาทั่วไปนั่นแหละ”

ฝ่ายค้านก็ยังพยายามยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ป๋า) พล.อ.เปรม นายกรัฐมนตรีอย่างไม่ลดละ แต่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม (อดีต) นายกรัฐมนตรี ยังให้การสนับสนุนนายกรัฐมนตรีอย่างสุดตัว

ด้วยเหตุผลที่ว่า “ทุกพรรคการเมืองให้ความนับถือ พล.อ.เปรมมาก ถ้าพรรคชาติไทย (ขณะนั้นเป็นฝ่ายค้าน) เข้าร่วมรัฐบาลคงไม่มีปัญหาอะไร แต่เผอิญเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อน บางครั้งก็อึดอัดขัดข้อง เมื่อรัฐบาลอยู่มา 2 ปีบริหารงานได้ด้วยความเรียบร้อยตลอดอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตนก็มีความพอใจ–“

 

ท่าน (อดีต) นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงข่าวลือเรื่องการปฏิวัติรัฐประหารว่า “ทำไม่สำเร็จแน่เพราะ พล.อ.เปรมเป็นคนมีบารมี และที่เลือก พล.อ.เปรมมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ใช่ระบอบเลือกตั้ง แต่มันขึ้นอยู่กับความเป็นจริงอื่นๆ หลายอย่าง “ถ้าเรารักษาคุณเปรมไว้อย่างนี้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเป็นคนอื่นมาแทน ผมไม่รับรอง”

“ระบอบประชาธิปไตยจะเป็นที่น่าเชื่อถือได้นั้น ต้องให้เวลาบ้าง เพราะตอนนี้ยังไม่เต็มใบ ประชาชนยังไม่พร้อมที่จะรับ คิดว่าหลังปี พ.ศ.2530 จะดีขึ้น จะแข็งแรงขึ้น ต่อๆ ไปการ “ปฏิวัติรัฐประหาร” ก็จะไม่เกิดขึ้นอีก–”

อย่างไรก็ตาม (ป๋า) พล.อ.เปรมก็ไม่พ้นถูกยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่วางใจจนได้ แต่อย่างที่ได้กล่าวกันว่า ท่านเป็นคนมีบารมี ซื่อสัตย์สุจริต สถาบันต่างๆ รวมทั้งกองทัพให้การสนับสนุน ทีมงานของท่านมีความรู้ความสามารถ มีบารมีกว้างขวางในสังคม ในที่สุดญัตตินั้นได้ถูก ส.ส.หลายท่านถอนชื่อออกไปจนมีเสียงไม่พอ จึงตกไป ก่อนที่พรรคฝ่ายค้านจะยื่นญัตติเปิดอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายตัว แต่ก็ทำอะไรรัฐบาลไม่ได้

เป็นการตั้งความหวังคลาดเคลื่อนของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เนื่องจากหลังปี พ.ศ.2530 ถึงปี พ.ศ.2534 ก็เกิดการ “ยึดอำนาจ” กันอีก และกระทั่งถึงปัจจุบันมีการปฏิวัติรัฐประหารอีกไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง

ซึ่งไม่มีใครกล้ายืนยันว่าจะไม่มีการ “ปฏิวัติรัฐประหาร” เกิดขึ้นในประเทศนี้อีก

 

เหมือนกับไม่มีใครเชื่อว่าประเทศนี้จะเป็น “ประชาธิปไตย” อย่างสมบูรณ์ นอกจากเป็นตามแบบไทยๆ หรือซีกเสี้ยวเดียว ครึ่งใบตามที่กล่าวกันเท่านั้น

ยิ่งได้เห็นท่าน “ผู้แทนราษฎร” ผู้ทรงเกียรติโดยเฉพาะฟากรัฐบาลปัจจุบันพยายามคัดค้านการตั้ง “คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการประกาศคำสั่ง คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44” ก็สิ้นหวัง

ใครๆ ต่างก็ทราบว่าคำสั่งคณะปฏิวัติต่างๆ ของประเทศนี้เป็น “เผด็จการ” ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ลิดรอนสิทธิเสรีภาพอย่างรุนแรงถึงประหารชีวิต และ บรรดาคำสั่งเหล่านี้ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศของเราเยอะแยะมากมาย สมควรที่จะต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้หาหนทางแก้ไขเยียวยา หรือยกเลิกอย่าให้มันเกิดขึ้นอีก เพื่อก้าวเดินไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยเต็มใบอย่างเช่นประเทศที่เจริญแล้วในสังคมโลกนี้

ท่านทั้งหลายที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” (ส.ส.) ปากบอกว่าต้องการระบอบการปกครองประชาธิปไตยด้วยกันทั้งสิ้น แต่เท่าที่เห็นบทบาทปรากฏขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร ผมเองจึงไม่เคยเชื่อเลยว่าผู้แทนฯ ของประเทศนี้จะเป็นประชาธิปไตย ท่านสนับสนุนอำนาจ “เผด็จการ” สนับสนุน “การสืบทอดอำนาจเผด็จการ” เพียงเพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขส่วนตัว ความรุ่งเรืองของตัวเอง แต่อ้างกับประชาชนว่าเป็น “ผู้แทนฯ” ของเขา

แต่ทั้งหมดนั้นย่อมต้องเว้นท่านผู้แทนราษฎรทั้งหลายที่จิตใจเต็มไปด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตย เป็นที่พึ่งพิงของราษฎรได้ มิได้เป็นผู้แทนราษฎรเพื่อแสวงหาประโยชน์โภคผลใส่ตัวมากกว่าความเดือดร้อนของประชาชน ที่ลงคะแนนเสียงส่งเขาเข้าสู่สภาอันทรงเกียรติ ใครเป็นใครได้รู้ได้เห็นกันอยู่เต็มสองตา ประชาชนทั้งหลายจดจำกันเอาไว้ให้ดี ถ้ามีการเลือกตั้งขึ้นในครั้งต่อไป ท่านจะต้องเป็นผู้ “ลงโทษ ลบชื่อ” พวกเขาเหล่านี้ออกไป

อีกทั้งบรรดาผู้แทนฯ ที่รับใช้ “อำนาจเผด็จการ” อย่างออกหน้าออกตา ทั้งๆ ที่รู้ว่าการเข้าสู่อำนาจบริหารประเทศนี้เป็นการสมรู้ร่วมคิดกันอย่างไร แย่งชิงอำนาจของประชาชนมาอย่างไร

ผลงานการบริหารประเทศทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดีหรือไม่ มีสติปัญญาความคิดแค่ไหน?

ท่านด่าว่ารัฐบาลที่ผ่านมาไว้อย่างไร กลับมาลอกเลียนเอานโยบายของเขามาทำทั้งหมด แต่กลับทำไม่ได้ดีเหมือนด้วยซ้ำ บ้านเรามีมาตรฐานระหว่างคนมั่งคั่งร่ำรวยกับคนยากจน ยากไร้ แตกต่างกันหรือไม่ อยู่กับฝ่ายครองอำนาจทำอะไรอย่างไรก็ไม่ผิด แต่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามทำอะไรจะต้องผิดหมด

พรรคกิจสังคมถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล (ป๋า) พล.อ.เปรม ได้ไม่เกิน 2 ปี เมื่อรัฐบาล “ยุบสภา” เพื่อทำการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ (18 เมษายน 2526) และได้รับเลือกเข้าถึง 92 ที่นั่งมากกว่าพรรคอื่นๆ จึงเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล พร้อมด้วยพรรคประชาธิปัตย์ 56 ที่นั่ง พรรคประชากรไทย 33 ที่นั่ง และพรรคชาติประชาธิปไตย 15 ที่นั่ง (จากจำนวนผู้แทนฯ ทั้งสภาจำนวน 342 ที่นั่ง) ได้กลับมาสนับสนุน (ป๋า) พล.อ.เปรมให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก

โดยพรรคชาติไทยซึ่งได้รับเลือกข้ามา 73 ที่นั่ง ไปเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคเล็กๆ อื่นๆ

 

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ (สัปดาหวิจารณ์) ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารริมถนนราชดำเนินกลางทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เน้นรายงานข่าวการเมืองเจาะลึกอย่างสม่ำเสมอ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยไม่ได้เหลียวมองพรรคกิจสังคมที่สนับสนุนรัฐบาลอีกด้วยซ้ำไป

ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” เป็นคนเดียวกับหัวหน้าพรรคกิจสังคมออกตัวอุ้มนายกรัฐมนตรี (ป๋า) พล.อ.เปรม เมื่อถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง– “แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ห้ามไว้” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวก่อนจะบอกว่า ยามนั้น “ไม่มีใครเป็นนายกฯ ได้ดีไปกว่า พล.อ.เปรม”– แม้กระทั่งตนเอง

ผู้สื่อข่าวพุ่งเป้าไปถึงการปรับ “คณะรัฐมนตรี” โดยอ้างว่ารัฐบาลบริหารประเทศแล้ว “เศรษฐกิจ” ไม่ดี หัวหน้าพรรคกิจสังคมเห็นว่าการปรับคณะรัฐมนตรีอาจกระปรี้กระเปร่าขึ้นกว่าเดิม เมื่อมีผู้ยกตัวอย่างว่า ถ้า (ป๋า) พล.อ.เปรมลาออก เห็นใครเหมาะสมจะเป็นนายกฯ คนต่อไป อาจารย์คึกฤทธิ์ตอบว่า ยังมองไม่เห็นเลย แต่จะต้องหาจนได้ เพราะบ้านเมืองไม่มีนายกฯ เป็นไปไม่ได้

ถ้าประชาชนเห็นว่ารัฐบาลทำให้เศรษฐกิจทรุด ไม่กลัวประชาชนปฏิวัติหรือ? อาจารย์คึกฤทธิ์ตอบว่า “หนังสือพิมพ์ต่างหากทำให้รัฐบาลทรุด หนังสือพิมพ์นั้นเป็นประโยชน์ แต่ไม่เคยเขียนให้ดีเลย (รวมสยามรัฐ) เขียนให้พังทุกที เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลทุกรัฐบาล ตนยืนยันว่ารัฐบาลไม่เคยทำให้ทรุด–”

จากรัฐบาล (ป๋า) พล.อ.เปรมเมื่อ 37 ปี ถึงวันนี้ (การเมือง) เรื่อง “ประชาธิปไตย” ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

“หนังสือพิมพ์” เท่านั้นที่เปลี่ยนแปลง?