แฟลชม็อบธนาธรสะท้อนวิกฤติความชอบธรรมของระบอบประยุทธ์ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ผู้บัญชาการทหารบกโจมตีคนเห็นต่างกับรัฐบาลประยุทธ์ว่าเป็นวิกฤติที่มีคนชักใยเบื้องหลัง หรือ Proxy Crisis และถึงแม้ตัว ผบ.ทบ.จะไม่พูดชื่อธนาธรออกมาตรงๆ ภูมิหลังของ ผบ.ทบ.ก็ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกถึงการโจมตีคนที่รวมตัวที่สกายวอล์คว่าไม่บริสุทธิ์ และอยู่ภายใต้คำสั่งของจอมบงการ

ด้วยมุมมองที่สังคมเชื่อว่า ผบ.ทบ.คิดเหมือนกับเครือข่ายเผด็จการหลายคน คำพูดเรื่อง “จอมบงการ” ทำให้คนมั่นใจว่าผบ.ทบ.สาดโคลน “แฟลชม็อบ” 14 ธันวาคม ว่ามีอดีตนายกทักษิณชักใยเบื้องหลัง แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้ผบ.ทบ.ระบุชัดๆ ว่า “จอมบงการ” คือใคร ผบ.ทบ.ก็ไม่กล้าตอบคำถามนี้เลย

ไม่ว่าจะมองในแง่มุมไหน การรวมตัวของประชาชนที่สกายวอล์ควันที่ 14 ธันวาคม เป็นปรากฎการณ์ทางสังคมที่สำคัญที่สุดในสังคมไทย สื่อต่างชาติตั้งข้อสังเกตอย่างแหลมคมว่าการรวมตัวครั้งนี้เป็น “การแสดงออกทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุด” หลังรัฐประหาร ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นประเด็นที่สื่อไทยแทบไม่พูดถึงเลย

สื่อไทยมองการรวมตัวครั้งประวัติศาสตร์นี้แค่ในแง่การเมือง เนื้อหาหรือ “วาทกรรม” ที่สื่อผลิตในการเล่าเรื่องจึงรวมศูนย์ที่ใครเป็นผู้นำ, บนเวทีพูดอะไร, ประชาชนถือโปสเตอร์แบบไหน, คนที่รวมตัวมีสัญลักษณ์อะไร ฯลฯ ราวกับจะหาให้ได้ว่าอะไรคือ Key Message หรือประเด็นหลักที่ทำให้คนไปรวมตัว

ภายใต้เรื่องเล่าที่ทุกคนพูดตามกัน “การรวมตัว” (Demonstration) ถูกทำให้กลายเป็น “การชุมนุม” (Assembly) จนวาทกรรมที่สังคมพูดถึงเรื่องนี้มีแต่ประเด็นประเภทการชุมนุมผิดกฎหมายหรือไม่, ส.ส.และพรรคมีสิทธิชุมนุมหรือเปล่า, ม็อบพังศรษฐกิจชาติ หรือแม้แต่ธนาธรทำลายปีใหม่ของคนไทย

ธนาธรเรียกกิจกรรมที่ตัวเองริเริ่มว่า Flash Mob ซึ่งแม้จะมีคนพยายามทำมานาน แต่ภายใต้ระบอบการปกครองที่ทหารเอาปืนจ่อหัวประชาชนกว่าห้าปี วิวัฒนาการด้านการรวมตัวของประชาชนย่อมเป็นเหมือนดักแด้ที่ไม่มีวันโตเป็นผีเสื้อ เช่นเดียวกับความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่าง Flash Mob กัการชุมนุม

โดยพื้นฐานแล้ว Flash Mob หมายถึงการรวมตัวที่มาเร็วและกลับเร็ว ถ้าจะแปลงคำว่า Flash Mob เป็นไทย ความหมายที่ง่ายที่สุดคือการรวมตัวที่มาแล้วกลับจนไม่ยืดเยื้อ แฟลชม็อบจึงต่างกับการชุมนุมที่ในบริบทไทยๆ หมายถึงการแสดงพลังมวลชนโดยระดมคนเพื่อยึดครองพื้นที่ให้มากที่สุด และถ้านานที่สุดได้ก็ยิ่งดี

ด้วยเงื่อนไขที่การชุมนุมมุ่งระดมคนเพื่อยึดครองพื้นที่ให้มากและนาน การชุมนุมจึงต้องมี “แกนนำ” เพื่อบริหารหรือ “จัดตั้ง” ผู้ชุมนุมและพื้นที่ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเสมอ แต่แฟลชม็อบมาเร็วกลับเร็วจนเรื่องเดียวที่ต้องบริหารคือนัดหมายเวลาเท่านั้น วิธีรวมตัวนี้จึงไม่ต้องมีใครเป็น “แกนนำ” แม้แต่คนเดียว

แฟลชม็อบทำงานด้วยการสื่อสารโดยตรงระหว่างประชาชนกับประชาชน สังคมที่โซเชียลมีเดียขยายตัวจึงเป็นสังคมที่แฟลชม็อบมีโอกาสเติบโตสูงขึ้น เพราะ “โซเชี่ยว” ทำให้รัฐควบคุมข้อมูลข่าวสารได้ยาก ขณะที่ประชาชนสามารถสื่อสารแนวราบถึงกันโดยนัดหมายด้วยวิธี “แบ่งปัน” หรือ “แชร์” ได้ตลอดเวลา

แฟลชม็อบมาเร็วไปเร็วจนไม่มีภาพเผชิญหน้าอำนาจรัฐอย่างการยึดทำเนียบหรือยึดสนามบิน แต่พลังของแฟลชม็อบมาจากความร่วมมืออย่างเป็นไปเองของประชาชนเพื่อบรรลุจุดหมายบางอย่าง การรวมตัวที่ไร้แกนนำแสดงว่าสังคมมีสำนึกร่วมที่สุกงอม จนใครก็เป็น “แกนนอน” ขยายความเคลื่อนไหวเองได้ทันที

ขณะที่สื่อบางกลุ่มและรัฐบาลยังมองแฟลชม็อบผ่านเลนส์ “การชุมนุม” จนตั้งประเด็นเรื่องธนาธรและพรรคทำผิดกฎหมาย สื่อต่างประเทศกลับเห็นว่าแฟลชม็อบน่ากลัวกว่าการชุมนุม เพราะเป็นอาการว่ากระแสบางอย่าง “จุดติด” ขั้นมีโอกาสลุกลามจนประเด็นผิดกฎหมายเป็นแค่การปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ

การรวมตัวที่สกายวอล์คเมื่อวันที่ ๑๔ ไม่มีสารหรือ “ข้อเรียกร้อง” ที่ชัดเจน เพราะถึงแม้ผู้นัดหมายจะเป็นธนาธร แต่ธนาธรแทบไม่ได้พูดเรื่องศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนสถานะ ส.ส. หรือกกต.มีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ คำโจมตีของคุณสุเทพและพลังประชารัฐว่าธนาธรตั้งม็อบช่วยตัวเองจึงเป็นคำโกหกที่ไม่มีมูล

สารที่ธนาธรเชิญชวนคนไปรวมตัวคือ #ไม่ถอยไม่ทน ปริมาณคนที่มารวมกันจึงเป็นหลักฐานว่าสังคมมีคนที่เบื่อหน่ายรัฐบาลขั้นหมดความอดทนมากกว่าที่รัฐบาลคิด สาระสำคัญไม่ใช่เรื่องจำนวนคนว่ามีหมื่นกว่าๆ หรือแค่แปดร้อยอย่างรัฐบาลกล่าวหา แต่คือผู้รวมตัวทางไกลใน “โซเชี่ยว” ซึ่งมีมากจนนับไม่ได้เลย

ไม่มีใครตอบได้ว่าประชาชนที่รวมตัวทั้งทางกายภาพและใน “โซเชี่ยว” รู้สึกกับรัฐบาลถึงขั้น “ไม่ถอยไม่ทน” เพราะอะไร แต่คำถามที่ตอบได้ง่ายกว่าคือทุกวันนี้รัฐบาลแทบไม่มีอะไรเหลือให้ประชาชนยอมรับต่อไปอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ความฉ้อฉลทางการเมือง หรืออัปลักษณะของผู้นำ

การรวมตัวแบบมาเร็วไปเร็วในวันที่ ๑๔ ธันวา เป็นสัญญาณอันตรายสำหรับรัฐบาล เพราะโดยเบื้องต้นคือหลักฐานว่าจำนวนคนที่เอือมระอารัฐบาลมีมาก ยิ่งกว่านั้นคือระดับของความระอามาถึงจุดที่ไม่มีความยำเกรงในการแสดงออก แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือคนกลุ่มนี้มีศักยภาพจะรวมตัวโดยไม่มีแกนนำได้ตลอดเวลา

ในอดีตนั้นการรวมตัวเป็นเรื่องของ “การชุมนุม” ซึ่ง “แกนนำ” จัดตั้งและระดมผู้ชุมนุมที่เป็น “มวลชน” แต่โครงสร้างประชากรในปฏิบัติการสกายวอล์ค ๑๔ ธันวาฯ แสดงว่าผู้ที่มารวมตัวนั้นเป็น “ปัจเจกชน” ที่มีกำลังทรัพย์และความสามารถรวมตัวด้วยตัวเองได้มากกว่า “มวลชน” แบบม็อบชาวนาหรือม็อบคนจน

ภาพจากทวิตเตอร์Piyabutr Saengkanokkul
@Piyabutr_FWP

ยุทธวิธีแบบแฟลชม็อบได้ผลเพราะผู้รวมตัวเป็นคนเมืองจนเจนจัดเรื่องการสัญจรในพื้นที่เมือง วิธีรวมตัวที่ศูนย์กลางคมนาคมทำให้เดินทางจากทุกสารทิศได้ง่าย ยิ่งกว่านั้นคือการนัดหมายที่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทำให้รัฐสกัดการเดินทางได้ยากขึ้น เว้นแต่จะคุมการเข้าถึงพื้นที่คมนาคมและพื้นที่ท่องเที่ยวไปเลย

ด้วยการควบคุมพื้นที่สาธารณะต่างๆ ซึ่งประชาชนเคยใช้เพื่อแสดงออกทางการเมืองมาหลายสิบปี ศูนย์กลางคมนาคมและพื้นที่ท่องเที่ยวกลายเป็น “พื้นที่สาธารณะแบบใหม่” ที่ประชาชนใช้เพื่อแสดงออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ง่ายที่รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจจะออกคำสั่งห้ามใช้พื้นที่นี้อย่างที่เคยทำ

พลเอกประยุทธ์ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะคะแนนเสียงจากประชาชน และสัญญาณทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ ชี้ว่าพลเอกประยุทธ์สูญเสียการยอมรับนับถือในหมู่ประชาชนมานานแล้ว เหตุผลเดียวที่พลเอกประยุทธ์ยังเป็นนายกคือคนกลัวการใช้อำนาจป่าเถื่อนและกระบอกปืนที่พลเอกประยุทธ์ควบคุม

ด้วยการแสดงออกจากการรวมตัวเรื่อง #ไม่ถอยไม่ทน ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม ความยำเกรงที่ประชาชนเคยมีต่อพลเอกประยุทธ์ได้ถูกปลดเปลื้องไปจากคนจำนวนมาก ความรู้สึกว่าม็อบ “จุดติด” มาจากการประสบความจริงว่า “ปัจเจกชน” กลายเป็น “มวลชน” ที่กล้าประกาศดังๆ ว่า ประยุทธ์ออกไปโดยไม่หวั่นเกรง

อวสานของระบอบประยุทธ์ ๒ กำลังเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม และท่ามกลางปฏิบัติการทางอำนาจที่ประชาชนสั่นสะเทือนบัลลังก์ของพลเอกประยุทธ์อยู่อย่างเงียบเชียบ รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์กลับไม่มีท่าทีตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นแม้แต่นิดเดียว

เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ รัฐบาลพยายามเอาผิดธนาธรและสมาชิกพรรคโดยยัดข้อหาว่าการรวมตัวหนึ่งชั่วโมงที่สงบและสันติคือการ “ชุมนุม” แต่ที่ผ่านนั้นระบอบประยุทธ์ดำเนินคดีกับธนาธรและพวกด้วยคดีอาญา ม.๑๑๖ เรื่องเป็นกบฎและยุบพรรคไปแล้ว ความผิดฐานชุมนุมจึงไม่มีอะไรให้คนเหล่านี้ต้องกลัวอีกต่อไป

พลเอกประยุทธ์ใส่ร้ายว่าเศรษฐกิจไทยถดถอยเพราะการรวมตัวเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม แต่ยุทธวิธีปั้นน้ำเป็นตัวเรื่องนี้ได้ผลน้อยมาก ทุกคนในประเทศนี้รู้ว่าเศรษฐกิจไทยพังพินาศหลังพลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจห้าปีที่แล้ว คำพูดจึงยิ่งตอกย้ำความไม่ซื่อสัตย์และพฤติกรรมเอาชั่วใส่คนอื่นของพลเอกประยุทธ์เอง

ด้วยระดับความตื่นตัวของประชาชนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รัฐบาลประยุทธ์ ๒ กำลังเดินหน้าสู่จุดจบของการครองอำนาจด้วยอัตราเร่งที่สูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การกระทำทุกอย่างของพลเอกประยุทธ์เร่งเร้าให้รัฐบาลประยุทธ์ ๒ จะมีจุดจบเร็วกว่าที่พลเอกประยุทธ์คิด ไม่ว่าจุดจบนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ตาม

อำนาจทางการเมืองที่มั่นคงต้องก่อรูปขึ้นจากความยอมรับนับถือของประชาชน การปกครองด้วยความกลัวคือหนทางไปสู่หายนะของผู้มีอำนาจทั้งสิ้น ระบอบประยุทธ์ ๒ กำลังจะถึงกาลอวสานในอีกไม่ช้า เพียงแต่ยังไม่มีใครรู้ว่าโฉมหน้าของบทสุดท้ายแห่งอวสานจะดำเนินไปเช่นไร

แฟลชม็อบธนาธรไม่ใช่ Proxy Crisis หรือวิกฤติที่มีคนชักใย แต่แฟลชม็อบธนาธรคือปฐมบทของธนาธรโมเดลที่สะท้อน Legitimacy Crisis หรือวิกฤติความชอบธรรมของระบอบประยุทธ์ 2 ซึ่งทุกคนในเครือข่ายไม่มีสติปัญญาพอจะคิดว่าต้นตอทั้งหมดคือตัวพลเอกประยุทธ์และพวกนั่นเอง