อดีตรองเลขาธิการ สมช. ของไทย เขียนถึง หัวหน้างานด้านความมั่นคงสหรัฐฯคนใหม่

พล.ท. เฮอร์เบิร์ต เรย์มอนด์ แม็คมาสเตอร์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติคนใหม่ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

เรื่องความมั่นคงในไทยและภูมิภาคดูท่าทางจะออกทะเลไปไกลสุดกู่แล้ว คิดว่าเราควรมาทำความรู้จักกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของสหรัฐฯและแน่นอนว่าของโลกด้วยไม่มากก็น้อย สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เป็นบุคคลคนแรกๆในฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐฯ ที่เวลาได้รับการแต่งตั้งแล้วมีแต่คำสรรเสริญกันทั่วไป และได้รับคำชมว่าเป็นทหารอาชีพ สิ่งนี้จึงอยากจะเอามาถ่ายทอดพอสังเขปว่า ทหารอาชีพของมหาอำนาจแห่งหนึ่งเขาอยู่และทำงานกันอย่างไรจากประวัติของเขา

พลโทเฮอร์เบิร์ต เรย์มอนด์ แมคมาสเตอร์คือชื่อของ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ ถ้าเทียบกับไทยแล้วก็คงเป็น เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งปกติตำแหน่งนี้เกือบทุกประเทศในโลกจะเป็นข้าราชการการเมืองเพราะต้องทำงานเข้าขากับผู้นำประเทศในด้านนโยบายความมั่นคง

แมคมาสเตอร์โดยส่วนตัว “เป็นคนหัวชนฝา เป็นมิตร เท่และเป็นคนไม่มีอีโก้ หรือยกตนข่มท่าน คมกริบ และตลกเป็นบางครั้ง ในเรื่องการทหารก็เป็นผู้ชำนาญทั้งด้านยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ เป็นผู้นำทางทหารที่ดีเลิศในยุคสมัย” คำพูดนี้มาจากผู้ที่เคยทำงานกับเขามากว่ายี่สิบปี ดูอาจจะเป็นการเยินยอเกินจริงเหมือนในประเทศล้าหลังอื่นๆหรือไม่อาจเป็นที่สงสัย

เพื่อไขข้อสงสัย แมคมาสเตอร์ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนายุทธศาสตร์และยุทธวิธีกาต่อสู้กับการก่อการร้ายในปี 2006-2007 และความสำเร็จที่ใกล้จะถึงในซีเรียและอิรักในปัจจุบันเป็นเครื่องยืนยันประสิทธิภาพในการทำงานที่มีทั้งยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องและการมีระบบการวางแผนที่ดีร่วมกันอย่างสอดคล้อง

แมคมาสเตอร์ยังได้แสดงถึงการมีระบบของการเป็นทหารอาชีพและระบบการคัดกรองของสหรัฐฯที่ดี ซึ่งหมายถึงผู้นำทหารหน่วยใดหรือระดับใดก็ตามที่สามารถใช้กลยุทธและยุทธวิธีได้สำเร็จ จะมีการบันทึกวิธีการเฉพาะตนและเรียกชื่อกลยุทธหรือยุทธวิธีนั้นให้เป็นเกียรติและมีการนำไปเป็นบทเรียนสอนคนรุ่นต่อๆไป แมคมาสเตอร์ได้เคยแสดงความสามารถนี้มาแล้วเมื่อตอนเป็นผู้บังคับหน่วยรถถังสมัยยศร้อยเอกในสงครามอ่าวเปอร์เซียมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Battle of 73 easting ซึ่งกลยุทธนี้ทำให้กองร้อยรถถังของเขาเพียงลำพัง ๙ คันสามารถทำลายรถถังทหารอิรักจำนวนมากกว่า ๘๐ คันในขณะที่ตกอยู่ในวงล้อม แม้ว่าเทคโนโลยีจะต่างกันแต่ยุทธวิธีของแมคมาสเตอร์ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญทำให้ได้รับการบันทึกไว้เพื่อการศึกษาด้วย

สิ่งที่โดดเด่นของแมคมาสเตอร์คือการกล้าที่จะวิจารณ์กองทัพบกและวิจารณ์นโยบายการทหารในอนาคตของกระทรวงกลาโหมเองด้วย ด้วยเหตุที่มีความคิดทางยุทธศาสตร์ที่โดดเด่นมากจึงได้มาปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยกำหนดยุทธศาสตร์ทางทหารในอนาคต ที่เกี่ยวกับการฝึกอบรมและหลักนิยมทางทหาร หน่วยงานนี้ได้ถูกจัดตั้งขึ้นก่อนและเป็นผู้กำหนดรูปแบบทหารยุคศตวรรษที่ ๒๑ ที่ต่อมาได้เห็นในสงครามอ่าวเปอร์เซียจนตื่นตะลึงกันไปทั้งโลก

แนวคิดการจัดตั้งหน่วยงานการฝึกและหลักนิยมนี้ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากนักอนาคตศาสตร์ผู้เสียชีวิตไปแล้วชื่อว่า อัลวิน ทอฟเลอร์ ที่เขียนหนังสือคลื่นโลกที่สามที่ลือชื่อในศตวรรษก่อน นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนกองทัพสหรัฐฯใหม่อย่างสิ้นเชิงอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้

พลโท ดร. พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

อย่างไร แมคมาสเตอร์ได้กล่าวว่า กองทัพสหรัฐฯในขณะนี้เล็กเกินไปกว่าที่จะป้องกันตัวแล้ว สมควรที่จะทำให้สหรัฐฯเข้มแข็งขึ้นอีกครั้งหนึ่ง สิ่งนี้อาจจะสอดคล้องกับนโยบาย “สหรัฐฯมาก่อน” ของประธานาธิบดีทรัมป์ แต่จะสอดคล้องกับหัวหน้าคณะที่ปรึกษา แบนเนอร์และประธานาธิบดีหรือไม่ยังเป็นปริศนาต่อไป

นอกจากเป็นนักการทหารแล้ว แมคมาสเตอร์ยังเป็นนักวิชาการโดยศึกษาปริญญาเอกทางด้านประวัติศาสตร์และเขียนหนังสือที่ใช้อ่านนอกเวลาในวงการกองทัพมีชื่อว่า “การละทิ้งหน้าที่” ซึ่งศึกษาสงครามเวียดนามและวิจารณ์ว่าหากเหล่านายทหารยุคนั้นให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประธานาธิบดีและรัฐมนตรีในสมัยนั้นอย่างตรงไป ตรงมา สหรัฐฯก็คงไม่เกิดปัญหา

แมคมานัสยังได้มีโอกาสปฏิรูประบบการศึกษาในโรงเรียนทหารทุกระดับโดยให้นำวิธีการคิดด้วยการใช้เหตุผลแบบมีวิจารณญาณหรือการใช้เหตุผลเชิงวิพากษ์ (critical thinking) มาใช้ ซึ่งหมายถึงการคิดแบบที่ไม่รับคำสั่งเท่านั้น แต่วิจารณ์ ไต่สวนหาเหตุผลต่างๆ นำที่มา ที่ไปมาประกอบด้วยเสมอ ซึ่งเป็นวิธีการศึกษาในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ รวมถึงการสอบเข้าศึกษาในระดับชั้นบัณฑิตศึกษา ซึ่งต้องเป็นนักคิด นักวิจารณ์ นักวิพากษ์ อยู่ตลอดเวลา รวมถึงรู้จักการขุดลึกถึงต้นตอของปัญหาว่าเกิดจากอะไร ใครอยู่เบื้องหลังและด้วยวิธีการใดด้วย ทหารอาชีพของสหรัฐฯ จึงก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งโดยไม่สนใจว่ารากฐานของความคิดนี้คือทฤษฎีวิภาษวิธีของค่ายสังคมนิยม หากแต่รู้จักนำมาประยุกต์เพื่อความก้าวหน้าของกองทัพเอง

แมคมาสเตอร์ถือได้ว่าเป็นผู้โดดเด่นในด้านการปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม รองหัวหน้าคณะเสนาธิการทหารบก (เทียบเท่า รองผู้บัญชาการทหารบกของไทย ซึ่งตามปกติกองทัพทั่วไปจะไม่มีผู้บัญชาการจนกว่าจะมีสงคราม) กล่าวว่า “มันน่าปลื้มใจอย่างยิ่งที่เห็นกองทัพบกให้รางวัลกับนายพลที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษในด้านการเป็นผู้นำความคิดและนวัตกรรม ทั้งยังแสดงออกว่าเป็นนักรบที่ยอดเยี่ยมในระหว่างการเป็นพลจัตวาด้วย”  ในขณะเดียวกันอดีตพลโทบราโน ที่เป็นผู้บัญชาการในอาฟกานิสถานเมื่อปี ค.ศ. 2003-2005 กล่าวในตอนที่แมคมาสเตอร์ได้ครองยศพลโทว่า “เป็นผู้ที่หายากยิ่ง ที่ทหารนายหนึ่งสามารถวิจารณ์ระบบกองทัพซ้ำแล้วซ้ำอีกจะสามารถได้รับยศระดับสูงเช่นนี้ได้”

ทหารอาชีพของสหรัฐฯ อาจยากที่จะเลียนแบบได้สำหรับประเทศล้าหลังส่วนใหญ่ของโลกที่ระบอบการปกครองยังไม่มั่นคง แต่วิธีการเช่นนี้ประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ก็เดินรอยตามอยู่ คู่แข่งอย่างรัสเซียก็ไม่น้อยหน้าทั้งได้รับการเตือนจากแมคมาสเตอร์ว่า เทคโนโลยีทางทหารรัสเซียนั้นเหนือกว่าสหรัฐฯ สมควรที่จะรีบปรับตัวโดยเร่งด่วน ซึ่งคงจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติของสหรัฐฯต่อไป

เมื่อกล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติของสหรัฐฯ จะมีการปรับเปลี่ยนทุก ๕ ปีโดยนักคิดจำนวนมากและสมาชิกรัฐสภาทั้งที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯและวุฒิสมาชิกจะมีการศึกษาอย่างรอบคอบ สิ่งที่น่าสนใจคือ ในกองทัพสหรัฐฯและนักยุทธศาสตร์สหรัฐฯ สนใจในเรื่องอนาคตศึกษากันอย่างมาก สมควรที่นักธุรกิจ นักศึกษา นักวิชาการไทยจะตื่นตัวกันให้มากขึ้นหรือมีสถาบันเรื่องนี้เป็นการเฉพาะอย่างจริงจัง แม้ว่าจะมีนักวิชาการเอกชนสนใจกันบ้างแล้วก็ตาม แต่การศึกษาอย่างเข้มข้น จนสามารถนำมาเป็นการกำหนดเทคโนโลยีสำคัญๆของชาติในอนาคต ๕ ปี หรือ ๑๐ ปีข้างหน้า หรืออาจจะถึง ๒๐ ปีเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่น่าจะมีความแตกต่างจากแผนพัฒนาฯปกติหรือยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีในปัจจุบันนี้อย่างมาก

การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติมีความสำคัญ หากมีความรู้จริง จีนอาศัย ๔ ทันสมัยนำการลงทุนจากตะวันตกเป็นฐานในการสร้างชาติได้ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา สิงคโปร์กำหนดเทคโนโลยีนำชาติเมื่อเกือบ ๒๐ ปีก่อนจนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วสำเร็จ ดังนั้นยุทธศาสตร์ชาติ จะ ๕ ปี ๑๐ ปี หรือ ๒๐ ปีนั้น เป็นไปได้ขอเพียงทราบวิธีการในเนื้อหาที่แท้จริงนั่นก็คือการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตัวเองขึ้นมาให้ได้และนำไปใช้ในการสร้างชาติได้จริงในเชิงพาณิชย์ ดังจะศึกษาได้จากนโยบายระยะยาวของประเทศต่างๆที่เจริญแล้วเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯที่ถือเป็นต้นตำรับของวิธีการนี้

สิ่งที่นำเสนอนี้ อาจมีหลายท่านกังขาว่าโฆษณาให้สหรัฐฯเกินไปหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลโทแมคมาสเตอร์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงใหม่ถอดด้าม หากแต่เจตนาที่แท้จริงคือการนำเสนอระบบของประเทศที่เจริญแล้วในหลายๆด้าน ทั้งการสรรหาบุคคล การบันทึกฝีมือและความสามารถของผู้ทำงานจริง การรู้จักที่จะวิพากษ์ วิจารณ์กันในกองทัพ การยึดมั่นในแผนของกองทัพ ไปจนถึงเรื่องระดับยุทธศาสตร์ อนาคตศึกษาและการนำมาปฏิบัติให้เป็นจริงอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ นี่คือวิถีของทหารอาชีพ วิถีของนักความมั่นคง และวิถีแห่งความมั่นคงของสหรัฐฯ ประเทศอื่นๆอาจมีดีกว่านี้ แต่ในเวลานี้ข่าวต่างๆล้วนเป็นเช่นนี้ หวังว่าจะเข้าใจ