ธุรกิจพอดีคำ | การเปลี่ยน “พฤติกรรม” คนในองค์กร มิใช่เรื่องง่าย แต่ก็มิใช่เป็นไปไม่ได้

“วัฒนธรรมใหม่ ที่ไม่เคยเกิดขึ้น”

ณ ห้องประชุมองค์กรยักษ์ใหญ่

กรวิชญ์ พนักงานชั้นผู้น้อย กำลังเสนอไอเดียใหม่ๆ ให้กับหัวหน้า

“พี่ครับ ทีมเราได้พัฒนาระบบข้อมูลแบบใหม่ ทำให้เข้าใจลูกค้าของผลิตภัณฑ์เราได้ดีขึ้นมากๆ ผลลัพธ์ไตรมาสที่แล้วเห็นได้ชัดเลยครับ”

พี่หัวหน้ากล่าวชม “ใช่ เยี่ยมมากเลย เราควรจะพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปนะ”

กรวิชญ์กล่าวเสริม

“วันก่อนพี่สมชาย ที่แผนกข้างๆ เขาสนใจว่าเราทำอะไร ผมเลยมีโอกาสไปอธิบายทีมเขา เขาสนใจที่จะใช้เครื่องมือของเราด้วยครับ ผมคิดว่า ถ้าเราไปช่วยเขาก็น่าจะดีนะครับ”

หัวหน้าเงียบไปพักหนึ่ง

“มันไม่ได้อยู่ใน KPI ของเรานี่ อย่าไปเสียเวลาเลย งานเราเยอะอยู่แล้ว”

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีหนังสือเล่มใหม่ที่ผมเฝ้ารอ

เฝ้ารอถึงขนาดสั่งซ้ำไปสองครั้งในเว็บไซต์ต่างประเทศครับ

อย่าบอกภรรยาผมนะครับ เขาจะว่าเอา

เล่มหนึ่งก็ราคาไม่ถูกเลย

หนังสือมีชื่อว่า “What you do is who you are” ครับ

คำขยายคือ “How to create your business culture”

แปลง่ายๆ คือ อะไรที่คุณทำ มันก็คือตัวคุณ เราจะสร้างวัฒนธรรมทางธุรกิจขึ้นมาได้อย่างไร

ผู้เขียนคือ “เบน โฮโรวิตซ์ (Ben Horowitz)” เจ้าของหนังสือชื่อดัง

“The hard thing about hard things” ที่เพิ่งจะมีแปล และกำลังโด่งดังในเมืองไทย

เล่มที่ผมพูดถึงวันนี้เป็นเล่มใหม่นะครับ เพิ่งออกมาเลย

เบนเป็นคู่หูกับมาร์ก แอนเดรสัน ผู้คิดค้น “เน็ตสเคป เนวิเกเตอร์ (Netscape Navigator)” อินเตอร์เน็ต เบราเซอร์อันแรกของโลก

เขาถือได้ว่าเป็นบิดาของการบริหารบริษัทยุคใหม่คนหนึ่งเลยก็ว่าได้ครับ

ซึ่งเรื่องของ “วัฒนธรรม” องค์กร ก็มีให้อ่านกันอยู่มาก

แต่ที่อ่านแล้วเอาไปใช้ได้จริงๆ ก็มีอยู่ไม่มาก

เล่มนี้เป็นหนึ่งเล่มที่แนะนำครับ

“วัฒนธรรม” องค์กรคืออะไร

ก็คงต้องถามเราท่านว่า เวลาฟังคำว่าวัฒนธรรม แล้วนึกถึงอะไร

วัฒนธรรมไทยคืออะไร

เราก็อาจจะนึกถึงการประพฤติปฏิบัติตัวของคนไทย

คนต่างชาติมา ก็ควรจะรู้สึกได้ว่า คนที่นี่ไม่เหมือนคนที่บ้านเขา

เวลาเราเจอกัน เราไหว้กัน

เราไม่เล่นหัวกัน เราเป็นคนสบายๆ ไม่คิดมาก

อ่อนน้อม ถ่อมตน มีมารยาท ชอบเล่นเฟซบุ๊ก

ซึ่งหลายเรื่อง ต่างชาติอาจจะไม่เข้าใจ

แต่เขาก็เคารพ และสามารถรู้สึกได้จากการพูดคุย อาศัยร่วมกับคนไทยเป็นระยะเวลาหนึ่ง

เช่นเดียวกันครับ

“วัฒนธรรมองค์กร” ก็คือ การประพฤติปฏิบัติตัวของคนในองค์กรนั่นเอง

คนภายนอกเดินเข้ามาสัมผัสแล้วรู้สึกได้

เอาไปบอกต่อ เอาไปเล่าต่อ ว่าองค์กรนี้เป็นอย่างไร

นั่นแหละครับ วัฒนธรรมองค์กรของคุณ

มิใช่กระดาษที่มีข้อความติดอยู่หน้าห้องประชุม

มิใช่คำพูดสวยหรูที่ผู้บริหารป่าวประกาศกับพนักงานว่าวัฒนธรรมองค์กรของตัวเองนั้นเป็นอย่างไร

มิใช่เอกสารบนสไลด์นำเสนอสวยๆ ในการประชุมผู้ถือหุ้นว่า วัฒนธรรมของเราเป็นอย่างไร

ทุกอย่างจบที่ “พฤติกรรม” ของผู้บริหารและพนักงานครับ

ในโลกยุคนี้ ที่ “ดิจิตอล” เข้ามา ทำให้ผู้บริหารคิดและพูดว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร

เหตุใดส่วนใหญ่แล้วจึงล้มเหลว

เพราะอาจจะมุ่งเป้าไปที่อยากจะเป็นอะไรมากจนเกินไป

จนลืมว่า การทำให้เกิดขึ้นนี่สิที่ไม่ง่าย

เพราะถ้าคุณอยากจะเปลี่ยน “วัฒนธรรม” องค์กรจริงๆ

สิ่งแรกที่ผู้บริหารจะต้องทำ

คือ “เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเอง” ครับ

ทำให้คนอื่นเห็นว่า คุณเปลี่ยนแล้วชัดเจน มิใช่เพียงคำพูดบอกให้คนอื่นๆ เปลี่ยน

ลูกน้องเห็น เขาก็จะเชื่อ แล้วอาจจะค่อยๆ เปลี่ยนตาม

บางคนไม่เปลี่ยน ก็ค่อยมาจัดการกัน

ในยุคดิจิตอล ที่ทุกคนอยากจะทำอะไร “รวดเร็ว (Agile)”

แต่ผู้บริหารยังคงถามหาเอกสาร ทำสไลด์ มากมายในการตัดสินใจ

ไม่ถ่ายโอนอำนาจให้ลูกน้องที่อยู่หน้างานที่เจอลูกค้าให้ตัดสินใจเพื่อลูกค้าทันที

“ความรวดเร็ว” ที่พูดถึง ก็คงจะเป็นเพียง “นิยายสวยหรู”

ในยุคที่ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องสำคัญ

คนในองค์กรต้องคิดร่วมกัน ออกความเห็น

แต่ผู้บริหารยังนั่งหัวโต๊ะ ทำหน้าตาเหมือนจะฟัง

หากแต่ว่าภายในใจพยายามโต้แย้งความเห็นอื่นๆ ราวกับคนอื่นนั้นไม่รู้เรื่อง

สรุปก็เอาตามความคิดของตัวเองเสมอ

ลูกน้องเขารู้สึกได้ครับ ว่าหัวหน้าฟังเขาจริง หรือเป็นเพียง “การแสดงที่ไปเรียนมาจากคลาสผู้บริหารราคาแพง”

วัฒนธรรมการ “เปิด” ให้ความคิดสร้างสรรค์ได้เกิด ก็คงจะไม่เกิด

สิ่งที่หัวหน้าได้ก็คงจะเป็น “ห้องประชุมเงียบๆ” ให้หงุดหงิดกัน

โดยที่ไม่รู้ว่า เหตุเกิดจากพฤติกรรมของตัวเองนั่นแหละ

ในยุคที่ “ความรับผิดชอบ (Accountability & Ownership)” และ “ความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust)” มีความสำคัญ

ใครตัดสินใจอะไร ก็รับผิดชอบ ทำให้มันสำเร็จ ไม่โยนไปโยนมา

หากลูกน้องเกิดคำถามว่า ทำไมหัวหน้าตัดสินใจอย่างนี้ ไม่เห็นด้วย

แทนที่จะได้มีการคุยกัน

หัวหน้ากลับบอกว่า “พี่ทำอะไรไม่ได้ หัวหน้าของพี่คนนั้นเขาบอกมาแบบนี้ ทำๆ ไปเถอะ”

โยนความผิดให้คนอื่น ไม่รับผิดชอบการตัดสินใจ แบบนี้เรียกว่าไม่มีความเป็นผู้นำ

ทีมงานก็คงจะทำคล้ายๆ กันในอนาคต

“เขาสั่งมา ฉันทำอะไรไม่ได้”

ก็จะไม่เกิด “วัฒนธรรม” ของการพูดกันต่อหน้า

เรื่องราวลับหลังที่ทำลายองค์กรก็จะเกิดขึ้น

ความเชื่อใจที่อยากให้เกิดขึ้น

ก็คงจะสวยงามบน “สไลด์” ต่อไป มิอาจทำให้เกิดขึ้นจริง

เรื่องราวเหล่านี้ในการเปลี่ยน “พฤติกรรม” คนในองค์กร

มิใช่เรื่องง่าย แต่ก็มิใช่เป็นไปไม่ได้

หากแต่ก็คงต้องยอมรับว่า ผู้บริหารที่ยุ่งและประชุมทั้งวัน

ไม่มีเวลามาคลุกคลีกับสภาพความเป็นอยู่ของพนักงานในองค์กรจริงๆ

ก็คงไม่สามารถจะเปลี่ยน “วัฒนธรรม” องค์กรได้อย่างปากพูดแน่ๆ

เห็นใจก็แต่ทีมงาน “HR” และ “Culture” ที่คอยจัดเวิร์กช็อป โปรโมตวัฒนธรรมองค์กรกันอย่างเหน็ดเหนื่อย

แต่ปราศจาก “การทำให้ดูเป็นตัวอย่างของผู้นำ”

แสงที่ปลายอุโมงค์ก็คงจะริบหรี่น่าดูทีเดียว

เดินหน้าสู้กันต่อไปครับ

หัวหน้าพูดจบ

กรวิชญ์มองไปที่ผนังห้องประชุม พบกับป้ายขนาดใหญ่

“Synergy คือ การประสานพลังข้ามแผนก จะทำให้องค์กรเราประสบความสำเร็จ”

…ถอนหายใจ…