เทศมองไทย : “ประชากรผู้ต้องขัง” กับกรณี “สมคิด พุ่มพวง”

กรณีของฆาตกรต่อเนื่องอย่าง “สมคิด พุ่มพวง” นั้นต้องนับว่าเป็นกรณีอาชญากรรมธรรมดาที่ไม่ธรรมดาเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่ว่า เมื่อกรณีนี้โด่งดังขึ้นมาในสังคมไทยเรา คำถามต่างๆ นานาก็เกิดขึ้นตามมามากมาย

สมคิดเป็นผู้ต้องหาคดีสังหารเหยื่อสตรีต่อเนื่องกัน 5 ราย เคยถูกจับกุมและถูกส่งฟ้องศาลเมื่อ 14 ปีก่อนหน้านี้ ศาลพิจารณาหลักฐาน พยาน ประกอบกับคำรับสารภาพของผู้ต้องหารายนี้แล้ว พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต ลดโทษลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต

ซึ่งโดยนัยตามกฎหมายก็คือ ศาลเห็นควรว่า นายสมคิดน่าจะต้องถูกจำขังอยู่ในเรือนจำไม่น้อยกว่า 50 ปี

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ สมคิด พุ่มพวง ได้รับการยึดถือว่าเป็น “นักโทษชั้นเยี่ยม” ระหว่างถูกคุมขัง ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษเรื่อยมา จนเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ก็ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระ

ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ นายสมคิดตกเป็นผู้ต้องสงสัยหลักในคดีฆาตกรรมพนักงานประจำโรงแรมวัย 51 ปีผู้หนึ่งในพื้นที่จังหวัดหนึ่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ กลายเป็นคนที่เจ้าหน้าที่ต้องการตัว “มากที่สุด” อีกครั้ง ตำรวจตั้งรางวัลนำจับสำหรับผู้ชี้เบาะแสจนนำไปสู่การจับกุมสมคิดได้ไว้ถึง 50,000 บาท

เมื่อ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา สมคิด พุ่มพวง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้บนขบวนรถไฟที่ปากช่อง นครราชสีมา

 

เอเอฟพีที่รายงานข่าวการจับกุมนี้ออกไปทันทีในวันเดียวกัน ให้ข้อมูลบางประการว่าด้วย “ประชากรผู้ต้องขัง” เพิ่มเติมเอาไว้ เสมือนหนึ่งเป็นการบอกเล่าพร้อมกับตั้งคำถามไปด้วยในตัว

“กรมราชทัณฑ์ของไทยระบุว่า ได้สั่งให้มีการทบทวนนโยบายการลดโทษของกรมไปแล้ว แต่ก็ระบุไว้ด้วยว่า ทางกรมกำลังทำงานกำกับดูแลผู้ต้องขังมากถึง 370,000 คน ซึ่งเกินกว่าศักยภาพของกรมถึง 3 เท่าตัว” เอเอฟพีระบุ

เอเอฟพีตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดประชากรผู้ต้องขังใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งทำให้ภาวะแออัดในเรือนจำยังคงเป็นปัญหาร้ายแรงอยู่ในเวลานี้

และยังอ้างข้อมูลจากสมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (เอฟไอดีเอช) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.หรือยูซีแอล) ที่เผยแพร่รายงานออกมาในเดือนนี้ไว้ด้วยว่า จำนวนผู้ต้องขังในประเทศไทยทะลุถึงจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อต้นปีนี้

โดยที่เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ที่ถูกลงโทษจำคุกในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติด

 

ในเว็บไซต์ของเอฟไอดีเอช เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา เพิ่งเผยแพร่รายงานที่ทางเอฟไอดีเอชร่วมกับองค์กรสมาชิกในประเทศไทย อย่างยูซีแอลจัดทำขึ้น หัวข้อของรายงานชื่อว่า “ต้นแบบชำรุด-การดำเนินงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศในเรือนจำ “ต้นแบบ” เพื่อผู้ต้องขังหญิงของไทย” ซึ่งเป็นรายงานที่จัดทำขึ้น หลังจากการเข้าเยี่ยมเรือนจำ “ต้นแบบ” 9 แห่งจาก 12 แห่ง ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2561 ที่กรมราชทัณฑ์กำหนดให้ทัณฑสถานหญิง 12 แห่งเป็นเรือนจำ “ต้นแบบ” โดยอ้างว่าเป็นการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จตามข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิงแห่งสหประชาชาติ

รายงานดังกล่าวระบุเอาไว้ดังนี้ครับ

“ข้อกังวลสำคัญยังคงเป็นเรื่องความแออัด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแทบทุกเรือนจำของไทย และส่งผลกระทบด้านลบต่อสภาพด้านอื่นๆ ของเรือนจำ เมื่อเอฟไอดีเอช/สสส.เริ่มต้นเข้าเยี่ยมเรือนจำในเดือนเมษายน 2561 อัตราการคุมขังในทุกเรือนจำ “ต้นแบบ” เก้าแห่งยังอยู่ในระดับสูง มากถึง 652% นับแต่นั้นมา จำนวนผู้ต้องขังรวมกันในเรือนจำทั้งเก้าแห่งยังเพิ่มขึ้นอีก 6%”

ส่วนข้อบกพร่องและปัญหาด้านอื่นๆ ที่พบและตั้งข้อสังเกตเอาไว้ มีตั้งแต่เรื่องการให้บริการพิเศษสำหรับผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์และผู้ต้องขังหญิงที่มีลูกอ่อน น้ำและสุขอนามัย รวมทั้งการขาดผ้าอนามัยและอุปกรณ์อาบน้ำในเรือนจำ คุณภาพของอาหาร บริการการดูแลสุขภาพ รวมทั้งสุขภาพจิต สภาพการใช้แรงงานผู้ต้องขัง การติดต่อกับโลกภายนอก และโอกาสที่จะได้รับนันทนาการ

และ “ประการสุดท้าย การลงโทษและการลงโทษทางวินัยที่ใช้กับผู้ต้องขังมักไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำระหว่างประเทศ”

“และในบางกรณีอาจถึงขั้นเป็นการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย”

 

รายงานชิ้นดังกล่าวชี้แนะเอาไว้ในตอนท้ายว่า

“รัฐบาลไทยจำเป็นต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่จะยอมรับและนำมาตรการเชิงนโยบายที่สำคัญมาใช้ เพื่อลดจำนวนประชากรในเรือนจำของประเทศ มาตรการเหล่านี้ควรรวมถึงการลดการเอาผิดทางอาญากับความผิดด้านยาเสพติดบางประเภท การอนุญาตให้จำเลยได้รับการประกันตัวระหว่างรอการพิจารณาสำหรับความผิดบางประเภท และการใช้วิธีควบคุมตัวนอกเรือนจำประกอบกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว”

ข้อเสนอแนะเหล่านี้ อาจแก้ปัญหาความแออัดในเรือนจำลงได้ แต่ถ้าจะแก้เงื่อนปมอย่างกรณีของสมคิด พุ่มพวง ให้ได้นั้น ยังจำเป็นต้องคิดต่ออีกมากเลยทีเดียวครับ