ฉัตรสุมาลย์ : คนข้ามเพศชาวทิเบต

LGBTQ เป็นศัพท์ใหม่สำหรับชาวไทย ไม่ต้องพูดว่าสำหรับชาวทิเบตแล้วยิ่งใหม่มากๆ

ผู้เขียนเองได้สัมผัสชาวทิเบตมายาวนาน 30-40 ปี ทั้งที่อพยพออกมาในอินเดีย และที่อยู่ในประเทศทิเบต แต่ยังไม่เคยเห็นคนกลุ่มนี้ แม้สักคนเดียว

มาทำความเข้าใจกันนิดนะคะ สำหรับท่านผู้อ่านที่ยังไม่คุ้นกับคนกลุ่มนี้

L Lesbian หมายถึงหญิงรักหญิง ในกลุ่มนี้ ยังมีต่อยอดออกไปอีก เล่นบทเป็นชายหรือหญิงในความสัมพันธ์นั้น ถ้าเล่นบทชาย เรียกว่า ทอม ถ้าเล่นบทหญิง เรียกว่า ดี้

G Gay หมายถึงชายรักชาย และเช่นเดียวกันในความสัมพันธ์ของคู่นั้น อาจจะเป็น Gay king คือ เกย์ที่เล่นบทชาย กับ Gay queen เกย์ที่เล่นบทเป็นหญิง คนในกลุ่มนี้บางทีคนนอกดูไม่ออก แต่พวกเดียวกันเขาสามารถบอกได้

B Bisexual เป็นทั้งสองเพศในคนเดียวกัน เข้าใจว่า น่าจะเป็นคู่ของเลสเบี้ยนก็ได้ หรือเป็นคู่ของเกย์ก็ได้ หากผิดพลาดขออภัย

T Transgender คนข้ามเพศ เรื่องของชาวทิเบตในบทความนี้ อยู่ในกลุ่มนี้ค่ะ ผู้เขียนเข้าใจว่าเขาน่าจะมีการแปลงเพศโดยการทำศัลยกรรมแล้ว ไม่แน่ใจนะคะ ผู้รู้ช่วยอธิบายเสริมได้

Q Queer คนกลุ่มนี้ ผู้เขียนได้พบแล้วเหมือนกัน แต่ไม่ทราบว่าจะอธิบายอย่างไร เนื่องจากไม่จัดอยู่ใน 4 กลุ่มข้างต้น เขาต้องมีคำอธิบายเฉพาะแน่ๆ ที่ได้พบเห็นเป็นคนที่มีความรู้การศึกษาดี เป็นอาจารย์ก็มี

และบางคนแนะนำตัวเองเลยว่า เป็นเควียร์

 

ย้อนกลับมาเรื่องของเรา เธอชื่อ เท็นซิน มาริโกะ เท็นซินเป็นชื่อโหลมากๆ สำหรับชาวทิเบต แต่มาริโกะฟังดูเหมือนญี่ปุ่น อาจจะเป็นความจงใจของเธอที่จะมีชื่อเช่นนี้

เมื่อเธอปรากฏตัวครั้งแรกในสื่อตั้งแต่ ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) คลิปของมาริโกะปรากฏในสื่อครั้งแรก ค.ศ.2014 (พ.ศ.2557) เธอแต่งตัวเป็นหญิงและออกมาร่ายรำ เป็นที่ฮือฮากันมาในสังคมโซเชียลของชาวทิเบต แต่ในปีนั้น เธอปฏิเสธว่าไม่ใช่ตัวเธอ แต่ต่อมาเมื่อเธอออกมาเปิดตัวชัดเจนแล้วในปีรุ่งขึ้น เธอจึงยอมรับว่าคลิปนั้น เป็นตัวเธอเอง

เท็นซินเกิดเป็นชายในครอบครัวที่มีลูกผู้ชายหมด 6 คน

ครอบครัวของเธอเป็นครอบครัวชาวทิเบตที่อพยพตามองค์ทะไลลามะออกมาจากทิเบตตั้งแต่ ค.ศ.1959 (พ.ศ.2502) แล้วมาตั้งถิ่นฐานในรัฐหิมาจัลประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดีย

พ่อแม่ของเท็นซินน่าจะเป็นชาวทิเบตรุ่นที่สอง น่าจะนับเป็นชาวอินเดียโดยสัญชาติ แต่เชื้อชาติเป็นทิเบต

ครอบครัวของเท็นซินตั้งรกรากอยู่ในเมืองธารัมศาลา เมืองเล็กๆ ซึ่งเป็นที่ประทับขององค์ทะไลลามะด้วย

ด.ช.เท็นซินออกบวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 9 ขวบ พร้อมกับพี่ชาย เรียกได้ว่าเป็นวิถีชีวิตปกติในครอบครัวของชาวทิเบต ที่นิยมให้ลูกชายอย่างน้อย 1 คนได้ออกบวชในพระพุทธศาสนา

เท็นซินจึงเติบโตในบริบทของสามเณรใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เรียนรู้พุทธศาสนาร่วมกับสามเณรทั่วไป

คุณลักษมี คานธี นักเขียนชาวอินเดียที่เป็นผู้สัมภาษณ์เท็นซิน มาริโกะ ไม่ได้เจาะลึกว่า สามเณรเท็นซินมีความรู้สึกอยากเป็นผู้หญิงตั้งแต่เมื่อใด

ต่อมาเมื่อเธอลาสึกและแปลงเพศแล้ว เธอน่าจะผ่านศัลยกรรมการแปลงเพศ นั่นหมายถึงตัดอวัยวะเพศชายออกไปด้วย เพราะเธอสามารถก้าวเข้าสู่เวทีประกวดนางงาม

จุดนี้เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของเธออย่างสิ้นเชิง เมื่อเธอได้รับเลือกเป็นนางงามทิเบต ค.ศ.2015 เท็นซิน มาริโกะ โด่งดังขึ้นมาชั่วข้ามคืน แสงไฟบนเวที และแสงไฟจากการสัมภาษณ์ออกสื่อต่างๆ พุ่งไปที่ตัวเธอ

 

เธอเล่าว่า ขึ้นชื่อก็เรียกเธอว่า “กะเทย” มาริโกะผ่านการดูถูกเหยียดหยามนานาประการ แต่เธอกลับมีความมั่นคง เพราะมีฐานจากการที่ได้รับการฝึกฝนในร่มผ้ากาสาวพัสตร์นั่นเอง

ตอนที่ยังเป็นสามเณร เธอได้รับการศึกษาอยู่ที่วัดสัมดรุป ดาร์เจย์ โชลิง ในเมืองดาร์จีลิ่ง เมืองที่อยู่เชิงเขาหิมาลัยทางเหนือของอินเดีย ต่อมาได้ศึกษาในสถาบันเทอร์การ์ ในเมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาลอีก 3 ปี ในสายของพระอาจารย์ยองเกมิงยุร์ ริมโปเช

ด้วยฐานการศึกษาพระพุทธศาสนามาเช่นนี้ เธอจึงไม่มีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์หรือเกลียดชังคนที่ไม่ยอมรับภาพลักษณ์ของเธอ

ทะไลลามะ องค์ที่ 14 องค์ปัจจุบัน ผู้เป็นประมุขของพระสงฆ์นิกายเกลุกที่ชาวโลกรู้จักกันดี ก็ยังไม่มีความเข้าพระทัยในเรื่องของ LGBTQ ท่านเคยแสดงความคิดเห็นตามแบบประเพณีนิยมว่าความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันนั้นผิดศีล

ใน ค.ศ.1997 เมื่อพระองค์ท่านได้พบกับตัวแทนของกลุ่มนี้ ทรงยอมรับว่า พระองค์มีความพร้อมที่จะพิจารณาคำสอนในพุทธศาสนา โดยเข้าใจว่า คำสอนเดิมนั้น ตั้งใจระบุถึงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เฉพาะถิ่น

ในวัฒนธรรมของชาวทิเบตเอง ไม่ยอมรับความสัมพันธ์ในเพศเดียวกัน จนสมาชิกในกลุ่ม LGBTQ ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการ

กลุ่ม LGBTQ อ้าแขนรับมาริโกะ โดยเฉพาะเมื่ออินเดียกำลังอยู่ในช่วงพิจารณาสิทธิของคนกลุ่มนี้ในเชิงกฎหมาย ใน ค.ศ.2018 ศาลสูงของอินเดียกฎหมายเดิมที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอังกฤษปกครองอินเดียที่ถือว่าพวกเกย์มีความผิดทางกฎหมาย

 

แม้ว่ามาริโกะใช้ชีวิตเป็นอุบาสิกา แต่เธอยังนับว่าตนเป็นผู้ปฏิบัติธรรม และยึดมั่นในคำสอนของพระพุทธองค์เป็นหลักในการดำเนินชีวิต เธออธิบายว่า การที่เธอเป็นดังที่เธอเป็นทุกวันนี้ได้ เพราะเธอค้นพบจิตที่บริสุทธิ์ในช่วงที่เธอบวชเรียนนั่นเอง

งานที่เธอทำในปัจจุบันจึงมักเป็นการรณรงค์ให้สาธารณชนมีความเข้าใจกลุ่ม LGBTQ มากขึ้น และด้วยพื้นฐานทางศาสนาทำให้เธอไม่เคยรู้สึกโกรธผู้คนที่ยังไม่เข้าใจเธอ บทบาทของเธอ คือ ทำให้คนข้ามเพศมีพื้นที่ในสังคม

มาริโกะได้เข้าพบพระอาจารย์คนสำคัญๆ ของทิเบต เช่น ท่านนัมคา ดริเม็ด ริมโปเช และซอกยี ริมโปเช พระอาจารย์ชาวทิเบตที่มีชื่อเสียง เธอเล่าว่า ท่านบอกกับเธอว่า

“มาริโกะให้เธอภูมิใจในตัวเอง เธอกำลังแสดงให้สังคมได้สัมผัสเรื่องใหม่ๆ” และสอนว่า “ให้เป็นตัวของตัวเอง”

 

เมื่อย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน มีการพูดคุยกันทางสื่อ นักการเมืองท่านหนึ่งเรียกร้องสิทธิให้กับคนกลุ่มนี้ เมื่อเลยมาพูดถึงสิทธิในการบวช จะเห็นว่า พระภิกษุ พระอาจารย์ต่างๆ เลือกที่จะไม่แสดงความเห็น เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเปราะบางต่อความรู้สึกของผู้คนในสังคมมาก

แม้ท่านธัมมนันทาเองท่านก็ไม่อยากพูด เมื่อซักไซ้หนักเข้า ท่านถามกลับว่า อยากรู้จริงๆ หรือ เราต้องมาทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า ทำไมถึงออกบวช เส้นทางการบวช เป็นเส้นทางที่พระพุทธองค์เอง เรียกว่า เป็นเส้นทางลัด คือเมื่อละวางเรื่องความผูกพันทางโลกย์ได้แล้ว การปฏิบัติที่จะละคลายทางจิต จะง่ายเข้า

ในลักษณะนี้ การบวชจึงไม่ควรมีคำว่า พระเกย์ พระตุ๊ด เพราะถ้ายังเป็นเกย์ เป็นตุ๊ดอยู่ ก็เรียกว่า เลือกแนวทางที่ตรงข้ามกับที่พระพุทธองค์รับสั่งว่า เป็นเส้นทางลัด

การบวช ไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นหน้าที่ในการสืบพระศาสนา คนที่เข้ามาในเส้นทางนี้ ต้องมีความตระหนักว่า ต้องสร้างศรัทธาให้เกิดในหมู่คนที่ยังไม่ศรัทธา สร้างศรัทธาให้เกิดกับคนที่มีศรัทธาอยู่แล้ว เขาจะได้ศรัทธายิ่งๆ ขึ้น

ทำไมต้องให้เขาศรัทธา

คนที่ออกบวชไม่ได้ทำมาหากิน มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อยู่ได้ด้วยการดูแลของญาติโยม วิถีชีวิตของพระ อิงอาศัยกับชาวบ้านเช่นนี้

ญาติโยมดูแลพระด้วยปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่ และยารักษาโรค ดูแลให้พอไม่ลำบาก แต่ไม่ใช่ฟุ้งเฟ้อ

คนที่ตัวสูงเกินไป เตี้ยเกินไป ก็ไม่บวชให้นะ อันนี้เราไม่พูดกันถึงสิทธิ แต่พูดถึงความเหมาะสมในการที่จะเป็นตัวแทนของพระศาสนาที่จะออกไปประกาศพระศาสนาในโลกกว้าง เพราะฉะนั้น หน้าที่และความรับผิดชอบที่จะบวช หรือไม่นี้อยู่กับอุปัชฌาย์อาจารย์ที่จะอบรมบ่มเพาะให้ผู้บวชสมกับที่จะเป็นนาบุญ คือ ญาติโยมเขาทำบุญด้วยแล้วเขาได้บุญ

จึงเรียกว่านาบุญ

 

มีญาติโยมมาบ่นให้ฟังว่า ที่เชียงใหม่ มีพระตุ๊ด พระแต๋ว มาก ที่ผ่านตาผู้เขียนน่าจะเป็นสามเณร โดยเฉพาะที่ไปเรียนหนังสือ คาดผ้ารัดอกลงมาอยู่ที่สะโพก เดินเอวอ่อนไป-มา บางรูปแต่งหน้า ทาปากด้วย เรื่องเช่นนี้ ก็อยู่กับเจ้าอาวาส เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัดที่จะช่วยกันกวดขัน เรื่องเช่นนี้สังคมต้องเข้ามาช่วยปราม โดยที่ทุกคนไม่ลืมว่า พระศาสนานั้น พระพุทธองค์ฝากไว้กับเราทุกคน

มาริโกะในเรื่องที่เล่านี้ เมื่อเธอแสดงตนว่าปรารถนาจะเป็นอีกเพศหนึ่ง เธอก็เคารพผ้ากาสาวพัสตร์ ลาออกมาดำเนินชีวิตเป็นอุบาสิกา ก็เป็นตัวอย่างที่น่าเคารพ