อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : การเมืองเสียดุล

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบันและทิศทางในอนาคตมีสิ่งท้าทายหลายประการ

นักสังเกตการณ์ทางการเมืองต่อภูมิภาคนี้จำนวนไม่น้อยมอง แม้ว่าในแง่เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการลงทุนที่ดี และการค้าระหว่างประเทศยังเติบโต

หากทว่าเป็นที่คาดการณ์กันว่า ประเด็นการเมือง ดูจะมีผลต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้

ผมขอเสนอในสองประเด็น

ประเด็นแรกคือ เสถียรภาพทางการเมือง

ประเด็นที่สองคือ ประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้ง

ทั้งสองประการนี้ช่วยให้เรามองเห็นทิศทางและแนวโน้มทางการเมืองของประเทศต่างๆ ในปีหน้าเป็นอย่างน้อย

 

เสถียรภาพทางการเมือง

ดูเหมือนว่าเสถียรภาพทางการเมืองหรือการเปลี่ยนผ่าน (transition) ทางการเมืองในกัมพูชา มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซียในระยะนี้บ่งบอกความหวาดกลัว (fear) และความไม่แน่นอน (uncertainty) ต่อชนชั้นนำของแต่ละประเทศเกี่ยวพันกับคอร์รัปชั่น อัตลักษณ์และความไม่เท่าเทียมกันทั้งสิ้น

ในเมียนมา ฟิลิปปินส์ การเปลี่ยนผ่านของประชาธิปไตยค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นการปราบปรามโดยรัฐต่อกลุ่มผู้เรียกร้องเสรีภาพ ที่เป็นปัญหาใหญ่ยิ่งขึ้นคือ ความไม่มั่นคงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical uncertainty) อันเป็นฝีมือของสหรัฐอเมริกาซึ่งต้องเผชิญการท้าทายจากการทะยานขึ้นของจีน

ความไม่แน่นอนดังกล่าวเป็นภัยคุกคามและหยุดยั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย

นี่เป็นทิศทางที่น่าผิดหวัง ไม่ใช่เพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นจักรกลสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตและการลงทุนโดยเศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัวลง

แต่มองในแง่ดี ศักยภาพทางเศรษฐกิจของเอเชียและการปรับตัวควรดูความเป็นจริงของการพัฒนาการเมืองในภูมิภาคซึ่งกำลังดิ้นรนเพื่อหนีให้พ้นจากข้อจำกัดต่างๆ ทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์

 

6 ปีหลังทหารเข้าแทรกแซงทางการเมืองในไทยเพื่อยุติความรุนแรงและความวุ่นวายของความขัดแย้งทางการเมือง การเลือกตั้งหลังจากนั้นในที่สุดคือเดือนมีนาคม 2019 มีความหวังหลายประการต่อการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองนี้ให้ไทยกลับสู่รัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง และยุติความรุนแรงและการเผชิญหน้าทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสมาชิกคณะรัฐประหารเตรียมพร้อมให้กับรัฐบาลเลือกตั้ง แต่การแสดงตัวออกมาเป็นหัวหน้าพรรคและผู้สมัครเป็นนายกรัฐมนตรีโดยกลุ่มที่สนับสนุนทักษิณ ชินวัตร เมื่อกุมภาพันธ์ 2019 แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งที่ลึกซึ้งในกลุ่มชนชั้นนำที่ยังคงดำรงอยู่

นี่เท่ากับว่า การปกครองโดยทหารมายาวนานไม่มีผลในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ในสังคมไทยเลย

การเลือกตั้งของไทยเมื่อ 24 มีนาคม 2019 แม้ดำเนินไปด้วยดี แต่ก็ไม่มีใครเชื่อว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมาจะก่อให้เกิดเสถียรภาพ

ซึ่งผลก็ชัดเจนว่าไทยมีรัฐบาลผสมที่อ่อนแอของฝ่ายที่ทหารหนุนหลังและพรรคเล็กๆ ของฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อคนส่วนใหญ่ซึ่งในอดีตสนับสนุนพรรคการเมืองของทักษิณ

 

กัมพูชาซึ่งตอนนี้นายกรัฐมนตรีฮุน เซน เป็นผู้นำจากการเลือกตั้งที่ยาวนานที่สุดของเอเชีย กลับสถาปนาอำนาจสิ่งที่ซ่อนอยู่ในมือของเขาเป็นการเลือกตั้งที่มัวหมองเมื่อปลายปีที่แล้ว เพราะพรรคการเมืองฝ่ายค้านส่วนใหญ่ถูกสั่งห้ามหรือสั่งแบน

แต่การตัดสินใจล่าสุดของสหภาพยุโรปที่ผลักดันการยกเลิกสิทธิประโยชน์ข้อตกลงทางการค้าซึ่งให้ประโยชน์กับประเทศที่อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นเศรษฐกิจสำคัญของประเทศอย่างกัมพูชาเป็นอันตราย

การสั่งห้ามพรรคการเมืองฝ่ายค้าน Cambodia National Rescue Party ทำให้หัวหน้าพรรคการเมืองหลายๆ คนลี้ภัยไปต่างประเทศ

จนมองได้ชัดว่านี่เป็นโอกาสของการทำลายฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

 

นับเป็นครั้งแรกที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสันติในมาเลเซีย หลังจากการพ่ายแพ้ของพรรคแกนนำรัฐบาล United Malaysia National Organization ในการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว

ทว่าตอนนี้มีเงาทะมึนของ “การแตกตัว” ภายในรัฐบาลผสมชุดใหม่และความล้มเหลวต่อการพิจารณาตัดสินเอาผิดอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ที่ถูกกล่าวหาเรื่องทุจริต แม้ว่าการกล่าวหานาจิบเป็นการสูญเสียเครดิตความน่าเชื่อถือ โดยนาจิบขโมยเงิน 4 พันล้านเหรียญสหรัฐจากโครงการลงทุนของรัฐที่มีชื่อเรียกขานว่า 1MDB

ดูเหมือนว่าอดีตนายกรัฐมนตรีผู้อื้อฉาวนาจิบได้รับความนิยมทางการเมืองในหมู่คนส่วนใหญ่เชื้อสายมาเลย์ เพราะมองว่าเขายังคงรักษานโยบาย “ภูมิบุตร” ที่ให้สิทธิพิเศษต่อคนเชื้อสายมาเลย์

ซึ่งโครงการอื้อฉาวถูกมองจากคนมาเลย์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเอื้อคนมาเลย์

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมาเลเซียพัฒนาท่ามกลางระหว่างการใช้เล่ห์กลทางกฎหมายเพื่อเลื่อนการไต่สวนคดีของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ กับการก่อตัวของรัฐบาลผสมที่รวมตัวกันของคนหลายๆ เชื้อชาติที่นำโดยอดีตนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด

 

ในอินโดนีเซีย การรณรงค์เพื่อระบบรัฐสภา (parliamentary system) และระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ดำเนินไปเมื่อกลางเดือนเมษายน 2019 ความต่อเนื่องเป็นประจำสม่ำเสมอและมั่นคงของกระบวนการเลือกตั้งเกิดขึ้น โดยมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างสันติ 2 ครั้งตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา

แต่มีความกังวลเกิดขึ้นมาว่า ประเทศที่มีประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งการลงคะแนนเลือกตั้ง การก่อตั้งพรรคการเมืองและการรวมตัวของกลุ่มการเมืองทั้งฝ่ายศาสนาและกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิเสรีภาพ และอื่นๆ มากมาย

อย่างอินโดนีเซียกำลังอนุญาตให้กลุ่มชาตินิยมสุดขั้วและฝ่ายศาสนาสุดโต่งผลักดันประเด็นวาระของพวกเขาภายใต้ปัญหาต่างๆ ทางสังคมและเศรษฐกิจย่อมเป็นจุดนัดหมายการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ถ้าราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นและเยาวชนที่เรียนจบแต่ตกงานยังหางานทำไม่ได้

หากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการหยิบยกมาแก้ปัญหา ความไม่พอใจส่วนใหญ่สามารถเป็นช่องทางของกลุ่มอิสลามอนุรักษนิยมที่สนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีโจโก วิโดโยด (Joko Widodo) และคู่ชิงชัยนายพลปราโบโว ซูเบียงโต้ (Prabowo Subianto) ไปสู่อันตรายให้กลุ่มหัวรุนแรงตักตวงผลประโยชน์

ที่น่าสนใจมากคือ ในอินโดนีเซียขณะนี้และต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ มีการมองกันว่าใครก็ตามเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี กลุ่มอิสลามอนุรักษนิยมและการสนับสนุนโดยกลุ่มสุดโต่งชนะผู้แข่งขันทั้งสองฝ่ายเรียบร้อยแล้ว

หมายความว่า กลุ่มสุดขั้วฝ่ายไหนก็ตามก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองอินโดนีเซียเสียแล้ว

อินโดนีเซียตัวอย่างของประชาธิปไตย การปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จและการเลือกตั้งที่สม่ำเสมอและต่อเนื่องของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจก้าวสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเมื่อสังคมมีการเคลื่อนไหวและผลักดันโดยกลุ่มสุดโต่งฝ่ายต่างๆ

อาจกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองโดยการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นใประเทศไทย กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย กำลังก้าวสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง การเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังก้าวสู่การเมืองเสียดุลไปแล้ว

ประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้ง