เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | การร่ายรำของภาษา

ม.จ.จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี นามปากกา “พ. ณ ประมวญมารค” โอรสของ น.ม.ส. ผู้ทรงนิพนธ์บทกวีเรื่องสามกรุง เราเรียก ม.จ.จันทร์จิรายุวัฒน์ ว่า “ท่านจันทร์” ท่านมักคุ้นกับศิลปินชาวศิลปากกาท่าช้างเป็นอย่างดี ถึงกับมีอีกนามปากกว่า “นายโต๊ะ ณ ท่าช้าง”

เป็นผลให้ศิลปินชาวศิลปากรได้สมญานามต่อจาก “ท่านจันทร์” มี “ท่านอังคาร” คือ อังคาร กัลยาณพงศ์ “ท่านยูร” คือ ประยูร อุฬุชาฎะ หรือ น. ณ ปากน้ำ และ “ท่านกูฏ” คือ ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ

ท่านจันทร์เคยกล่าวด้วยวาจาเป็นส่วนตัวว่า

“บทกวีเป็นการร่ายรำของภาษา”

ทำให้เข้าใจคำว่า “แต่ง” ที่เราใช้กับคำประพันธ์ว่า แต่งหนังสือ แต่งกลอน ก็คือการ “แต่งตัว” ให้ภาษาหรืออักษรก่อนปล่อยออกไปร่ายรำในอีกนัยหนึ่งนั่นเอง

โดยเฉพาะการ “แต่งกลอน” หรือ “แต่งกวี”

ต้องพิถีพิถันเป็นพิเศษ

ดังอธิบายเรื่อง “สัมผัส” โดยยกกลอนพระอภัยมณีตอนเพลงปี่พระอภัยของท่านสุนทรภู่นั้น

กลอนเพลงปี่จำเพาะบทที่ยกมามีสามบทจัดเป็น “สูตรพิเศษ” สำหรับผู้รักจะแต่งกลอนและผู้จะศึกษาเรื่องกลอนโดยเฉพาะ ขอยกเป็นตัวอย่างซ้ำดังนี้

พระโหยหวนครวญเพลงวังเวงจิต

ให้คนคิดถึงถิ่นถวิลหวัง

ว่าจากเรือนเหมือนนกที่จากรัง

อยู่ข้างหลังก็จะแลชะแง้คอย

ถึงยามค่ำย่ำฆ้องจะร้องไห้

ร่ำพิไรรัญจวนหวนละห้อย

โอ้ยามดึกดาวเคลื่อนเดือนก็คล้อย

น้ำค้างย้อยเย็นฉ่ำชื่นอัมพร

หนาวอารมณ์ลมเรื่อยเฉื่อยเฉื่อยชื่น

ระรวยรื่นรินรินกลิ่นเกสร

แสนสงสารบ้านเรือนเพื่อนที่นอน

จะอาวรณ์อ้างว้างอยู่วังเวง ฯ

ผู้รักกาพย์กลอนพึงต้องจำให้ได้ ถือเป็น “กลอนครู” ได้เลยทีเดียว

ถอดรหัสความดีวิเศษของกลอน “เพลงปี่” สามบทนี้ ทำให้ได้บทเรียนสามประการคือ

พื้นเสียง ฐานเสียง ระดับเสียง

พื้นเสียง หมายถึง พื้นเสียงพยัญชนะเดียวกัน เช่น ก. ข. ค. ง. ฯลฯ อย่าง ข.ค.นี้ถือเป็นพื้นเสียงเดียวกันได้เช่นเดียวกับ ถ. ท. เป็นต้น

ฐานเสียง หมายถึง ตั้งอยู่บนฐานสระเดียวกัน เช่น สระอะ สระอา ฯลฯ เป็นต้น

ระดับเสียง หมายถึง ความเหลื่อมล้ำของเสียงอักษร ซึ่งมีทั้งระดับเดียวกันและต่างระดับกัน กำหนดด้วยวรรณยุกต์ ซึ่งผันไปตามพื้นเสียงของพยัญชนะนั้นๆ

เรื่องระดับเสียงนี้มีข้อพึงจำคือ รูปวรรณยุกต์เอก-โท-ตรี-จัตวานั้น มิอาจกำหนดเสียงได้ด้วยรูปวรรณยุกต์เสมอไป ด้วยมันย่อมผันไปตามพื้นเสียงของอักษรเป็นสำคัญ

เช่นคำ “แม่ค้า” ไม่หมายว่า “แม่” เป็นเสียงเอกตามวรรณยุกต์เอกหรือไม้เอก และ “ค้า” ก็ไม่หมายว่าเป็นเสียงโทตามวรรณยุกต์โทหรือไม้โท

โดยเสียงอักษรหรือเสียงคำ “แม่” เป็นเสียงโท “ค้า” เป็นเสียงตรี

คำแม่ค้าจึงเป็นเสียงโทกับเสียงตรี

ตามหลักการผันเสียงที่ถือเอาพื้นฐานเสียงของพยัญชนะเป็นสำคัญนั่นเอง

มี”เคล็ดไขเสียง” พอจะช่วยกำหนดรู้โดยทั่วไปได้ว่าคำใดเป็นเสียงใด โดยไม่ต้อพะวงว่าวรรณยุกต์ใดอยู่บนพื้นของฐานพยัญชนะใดอักษรใด

วิธีการคือ ให้เอาอักษร ก. (อักษรกลาง) เข้าไปจับ เช่นคำ “แม่ค้า” ถ้าเอาอักษร ก. เข้าจับเลียนเสียงก็จะเป็น “แก้ก๊า” (เขียนตามเสียง) ซึ่งบอกตามรูปวรรณยุกต์เป็นเสียงได้ว่า คือเสียงโทกับเสียงตรี

อักษร ก. จึงเป็นเหมือนกุญแจไขได้ทุกเสียงทุกอักษรทุกคำตามรูปวรรณยุกต์ของตัว ก. ที่เข้าไปจับนั้นๆ

ถ้าเป็นคำตายที่เมื่อเอาตัว ก. เข้าจับแล้วไม่อาจกำหนดด้วยวรรณยุกต์ได้ ก็บอกได้ทันทีว่าเป็นเสียงเอก

เช่นคำ “อยาก” เอา ก. เข้าจับได้คำ “กาก” อย่างนี้คือเสียงเอก

เสียงไทยนั้นมีเสียงเฉพาะเพียงห้าเสียงเท่านั้น คือ สามัญ-เอก-โท-ตรี-จัตวา

รู้พื้นเสียง รู้ฐานเสียง รู้ระดับเสียงได้แม่นยำเชี่ยวชาญแล้ว รู้ศิลปะหรือวิธีการนำเสนอตามจังหวะจะโคนของรูปแบบการประพันธ์นั้นๆ

บทกวีก็จะไพเราะงดงาม บรรเจิดบรรจงดั่งตัวละครที่แต่งองค์ทรงเครื่องสง่างามพร้อมออกร่ายรำบนเวทีได้ ณ บัดนั้นเลย

นี่ว่าจำเพาะด้วยรูปแบบเพียงเท่านั้น